Skip to main content

"ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือไม่ ก็ควรได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในมหา’ลัยเท่ากับคนอื่น ถ้าเขาอยากสนับสนุนให้คนพิการมีสิทธิเข้ามาศึกษา ก็ต้องกล้าที่จะปรับให้คนพิการใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่นหรือให้มีศักดิ์ศรีความเป็นคนเหมือนกับคนอื่น ไม่ใช่จะข้ามถนนทีต้องให้คนอื่นมาคอยยกลงจากฟุตบาทที"

"เราจะเห็นว่ายิ่งเรียนในระดับที่สูงมากขึ้นเท่าไหร่ คนพิการก็เหลือน้อยลงมากเท่านั้น สะท้อนถึงกลไกหรือโครงสร้างว่า แม้การศึกษาภาคบังคับดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเริ่มมีคณะใหม่ๆ ที่เปิดให้คนพิการเข้าศึกษา แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ"

หลายคนคงไม่ทราบว่าหนึ่งในปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีรากฐานปัญหาคือด้านการศึกษา มีคนพิการเรียนจบระดับ อุดมศึกษา 1.04% มัธยมศึกษา 8.28% ประถมศึกษา 61.01% จากคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั้งหมด โดยเฉพาะระดับปริญญาตรี 0.16% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

ถ้ามองลึกลงไปเราอาจจะพบว่าปัญหาเรื่องการเข้าถึงโอกาสอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น หากอยากทำให้คนพิการเข้าถึงระบบการศึกษาที่เท่าเทียม มีหลายปัจจัยที่เราอาจต้องพินิจ ชวนคุยกับอดีตนิสิต นักศึกษา คนพิการ เล่าชีวิตการศึกษาและมหาวิทยาลัย เราอาจได้เห็นปัญหาและจุดเริ่มของทางแก้เรื่องนี้ก็ได้

นลัทพร ไกรฤกษ์

ตอนเด็กเราอยากเป็นหมอ เราชอบอ่านและจำชื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่พอรู้ว่า คนจะเรียนหมอต้องไม่พิการ เลยตัดตัวเลือกนี้ออกไป จากนั้นเราอยากเป็นครู แต่ก็มาพบอีกว่า หากเป็นครูจะต้องฝึกสอนในโรงเรียน แต่โรงเรียนหลายที่ไม่มีลิฟต์ เราน่าจะทำไม่ได้  กลายเป็นว่าความฝันของเราค่อยๆ ถูกลดลงไปทีละอย่างเพราะความพิการ จนเมื่อสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และที่บ้านสนับสนุนให้เรียน เราเลยเลือกเรียนศิลปะ

เราชอบวาดรูป แต่ไม่รู้ว่าเป็นความชอบจริงๆ หรือเพราะไม่มีทางเลือก ย้อนกลับไปตอนเด็ก เช้าๆ เราไม่เคยได้ลงไปเข้าแถวกับเพื่อน โรงเรียนเลยให้ครูมาสอนศิลปะเป็นการฆ่าเวลา จึงได้เรียนศิลปะตั้งแต่ชั้น ป.1 พอทำทุกวัน ก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี การเรียนศิลปะเปลี่ยนโลกเราเหมือนกัน จากที่ไม่ค่อยกล้าออกไปไหนกลับต้องออกไปวาดรูปที่ต่างจังหวัด ทั้งขึ้นเขา ลงทะเล เหมือนเป็นด่านแรกที่ทำให้รู้ว่าสามารถไปต่างจังหวัดกับคนนอกครอบครัวได้ และสนุกดีเหมือนกัน 

ตอนเรียนมหา’ลัยนั้นไม่ได้เรียนตึกเดียวเหมือนตอนมัธยม พื้นที่ที่มหา’ลัยค่อนข้างกว้าง ต้องข้ามถนน หรือเปลี่ยนตึกเรียน บางครั้งเราเองไม่รู้ว่าเรียนที่ห้องไหนตอนลงทะเบียนเรียน พอตารางสอนออกมาห้องเรียนกลับอยู่อีกฟาก  ซึ่งมีถนนใหญ่กั้นและมีรถวิ่งตลอด จนบางเทอมหากเรียนไกลเราอาจไม่ได้กินข้าวกลางวันเพราะต้องเข็นวีลแชร์ไปเรียน ในขณะที่เพื่อนคนอื่นสามารถนั่งรถโดยสารของมหา’ลัยไปได้ แต่รถโดยสารของมหา’ลัยไม่ได้รองรับคนที่นั่งวีลแชร์เลย บางวิชาที่เราลงเรียนไปแล้วแต่เพิ่งรู้ว่าตึกที่เรียนไม่มีลิฟต์ก็อาจต้องถอนออก เพราะไม่อยากเป็นภาระเพื่อนที่ต้องแบกวีลแชร์ขึ้นห้องในทุกคาบ หอสมุดกลางเองก็ดีที่มีบันไดสูงกว่า 20 ขั้น แม้จะมีลิฟต์ขนของในชั้นล่างที่พอใช้ได้ แต่เราก็เข้าไม่ถึงและติดอยู่บริเวณเสากั้นมอเตอร์ไซค์รอบๆ ตึก เมื่อสอบถามรปภ. ก็ได้รับคำตอบว่าให้ยกข้ามมา ทั้งที่เราเป็นนิสิตคนหนึ่งควรได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเท่ากับนิสิตคนอื่นแต่กลับใช้ไม่ได้ โชคดีที่เพื่อนคอยช่วยเหลือกันและกันอย่างดีมาตลอด 

เราคิดว่าไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือไม่ ก็ควรได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในมหา’ลัยเท่ากับคนอื่น ถ้าเขาอยากสนับสนุนให้คนพิการมีสิทธิเข้ามาศึกษา ก็ต้องกล้าที่จะปรับให้คนพิการใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่นหรือให้มีศักดิ์ศรีความเป็นคนเหมือนกับคนอื่น ไม่ใช่จะข้ามถนนทีต้องให้คนอื่นมาคอยยกลงจากฟุตบาทที หากแค่วันสองวันก็ทำได้ แต่ถ้าต้องใช้ชีวิตแบบนั้น 4 ปี ก็ท้อและลดทอนความเป็นคนของเราด้วย วันไหนที่มหา’ลัยพร้อมสำหรับทุกคน คนพิการก็อยากเข้ามาเรียน ไม่เพียงแค่นั้นแต่นักศึกษาเดิมที่วันหนึ่งอาจจะประสบอุบัติเหตุและกลายเป็นคนพิการ เค้าก็ควรมีสิทธิที่จะเรียนและใช้ชีวิตต่อไปเหมือนอย่างที่เคยเป็น

ชมพูนุท บุษราคำ

เราอยากเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เพราะอยากทำงานสายครีเอทีฟ แม้จะสอบติด แต่เพราะมหา’ลัยอยู่ในเมือง สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ค่อยพร้อมสำหรับคนพิการ เลยตัดสินใจมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อมเนื่องจากบ้านเราอยู่ระยอง มีโรงงานเยอะ คิดว่าน่าจะนำมาต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต แต่พอเรียนไปสักพักนึงก็รู้แล้วแหละว่าไม่ได้ชอบเลย แต่ก็เรียนจนจบและทำงานสายครีเอทีฟอยู่ดี (หัวเราะ) 

ตอนเข้ามาเรียนธรรมศาสตร์แรกๆ หลายอย่างก็ยังไม่เข้าที่ ตึกไม่มีลิฟต์บ้างอะไรบ้าง เพื่อนก็คอยอุ้มเราขึ้นบันได หรือบางวิชาที่ต้องเข้าแลป ก็ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ หากเราชนหรือทำสารเคมีแตกก็อาจเกิดอันตรายได้ อาจารย์จึงบอกให้เราช่วยทำกับเพื่อน บางอย่างพอเราไม่ได้ลงมือทำก็ไม่ค่อยชำนาญ 

ที่ธรรมศาสตร์มีศูนย์ดูแลและช่วยเหลือนักศึกษาพิการโดยเฉพาะ เวลาเรามีปัญหาก็สามารถเข้าไปคุยที่ศูนย์นี้ได้ เขาก็จะส่งเรื่องไปที่คณะ ด้วยความที่มหา’ลัยกว้าง การจะทำอะไรเพิ่มหรือสร้างอะไรใหม่ก็ค่อนข้างง่าย มีช่วงหนึ่งที่เราไปขอดำเนินการเรื่องลิฟต์ เพราะตึกเรียนไม่มีลิฟต์ เขาก็รับเรื่องแล้วแก้ไขให้ รวมถึงทางเดินที่ส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อคนพิการจึงทำให้เราใช้ชีวิตได้ปกติ สามารถไปไหนมาไหนกับเพื่อนได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก

เราเป็นคนมองโลกในแง่ดี เวลามีปัญหาอะไรเราจะคิดก่อนว่าเกิดจากปัจจัยภายในหรือภายนอก ถ้าเกิดจากปัจจัยภายในเราก็แก้ไขที่ตัวเราเอง แต่ถ้าเกิดจากปัจจัยภายนอกก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน อาจสำเร็จบ้าง ผิดหวังบ้าง ตอนอยู่มหา’ลัยเราทำกิจกรรมเยอะมาก เป็นคนชอบเข้าสังคมเลยได้เจอเพื่อนจากคณะอื่น ได้แลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน อาจเพราะสังคมที่ธรรมศาสตร์ค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ว่าเราจะไปไหนหรือทำอะไร เพื่อนหรือคนในมหา’ลัยก็มองเราเป็นคนปกติทั่วไป ไม่ดูถูกเหยียดหยาม แตกต่างจากสังคมข้างนอกที่ยังเจอสายตาหรือการกระทำแปลกๆบ้าง เราเข้าใจนะว่าสังคมข้างนอกกว้างใหญ่กว่าในมหา’ลัย จึงทำให้ทัศคติ ความเคยชินของผู้คนแตกต่างกัน แต่พอคนอื่นเห็นว่าเราก็ทำงานได้ มีความสามารถ คนก็ยอมรับเรามากขึ้น

จิณจุฑา จุ่นวาที

เราอยากเรียนสื่อสาร เพราะชอบพูดคุยกับคนอื่นๆ จึงได้สอบเข้าที่คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่มหา'ลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แต่เนื่องจากตอนนั้นทางมหา'ลัยยังไม่สามารถรองรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวได้ จึงย้ายมาเรียนคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดแทน เนื่องจากคิดว่าได้สื่อสารเหมือนกัน

ตอนเข้ามาแรกๆ คิดว่าจะได้เรียนสื่อสารบ้าง ได้พูดคุยกับลูกค้าบ้าง แต่ไม่ใช่เพราะสาขานี้เรียนเพื่อไปเป็นผู้บริหาร พอรู้แบบนี้เราก็ปิดกั้นตัวเอง ไม่อยากเรียนแล้ว คิดว่าจะซิ่วออก จนตอนปี1 เทอม1 เราไม่ตั้งใจเรียนเลย ไม่อ่านหนังสือ ใจมันไม่มา แต่เพื่อนและอาจารย์ก็เข้ามาพูดคุยและให้คำแนะนำต่างๆ เราจึงกลับมาทบทวนอีกครั้ง และตัดสินใจเรียนต่อ เพราะมองว่าสามารถเรียนเพื่อไปเป็นนักการตลาดได้ และคิดว่าสามารถปรับวิชาเรียนกับสิ่งที่ชอบให้ไปด้วยกันได้ พอลองเปิดใจเรียนเราก็สนุกนะ เจอเพื่อนดี สังคมดีด้วย 

ตอนแรกเราอยู่หอนอก แต่ลำบากเลยย้ายมาอยู่หอใน ช่วงแรกหอในไม่มีทางลาด มีแต่บันได มหา’ลัยก็ทุบแล้วทำให้ใหม่ รวมถึงห้องน้ำที่เขาก็ทำให้ใหญ่กว่าเดิม ค่อยๆ ปรับกันไป รถของมหา’ลัยก็ปรับโดยติดเครื่องยก แต่ใช้ไปสักพักก็พัง ไม่ได้ซ่อม ก็มีดีบ้างไม่ดีบ้างปนกันไป 

แม้ทุกมหา’ลัยของรัฐจะมีกองทุนสนับสนุนคนพิการจนเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งก็เป็นสิทธิขึ้นพื้นฐาน แต่ต้องถามว่า การเปิดรับคนพิการ เป็นเพราะอยากรับคนพิการเข้าไปศึกษาจริงๆ หรือเพื่อหน้าตาทางสังคม เพราะหากอยากให้เขาเรียนจริงๆ ก่อนที่จะเปิดรับคนพิการ บุคลากรควรจะมีทัศคติที่ดีต่อคนพิการก่อน คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มองคนให้เท่ากัน หากรับคนพิการเข้ามา แต่ว่าทัศนคติ สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสถานที่ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้พร้อมสำหรับคนพิการ แล้วมาบอกว่าค่อยมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ตอนนั้นก็ไม่ทันแล้ว เราลำบาก เพราะคุณไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่แรก เราเสียเวลา เสียโอกาสในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ กลายเป็นถ้าคนพิการอยากจะเข้าเรียนที่ไหน ก็ต้องมานั่งศึกษาเองว่ามหาลัยที่เราต้องการเข้าไปเรียนนั้นพร้อมสำหรับเราไหม ทั้งที่เขาควรจะมีสิทธิเรียนในสถาบันหรือคณะที่อยากเรียน ถ้าหากสามารถสอบเข้าไปได้เหมือนกับคนอื่น

กฤษณ์พงษ์ เตชะพลี

เรามีความฝันว่าอยากเป็นครู ตอนมัธยมชอบสายสังคม ชอบอธิบายแลกเปลี่ยนประเด็นกับเพื่อนๆ คนที่เป็นต้นแบบของเราก็เป็นครูกันเยอะ แต่คำว่า ‘นักกฎหมาย’ ยังห่างไกลกับเรามากในตอนนั้น ตอน ม.6 เรายื่นโควต้าเรียนดีไปที่คณะครุศาสตร์ เอกสังคม มหา’ลัยเชียงใหม่ แต่โดนปฏิเสธเนื่องจากมีรุ่นพี่ตาบอดที่เรียนไม่จบค้างอยู่เยอะ สุดท้ายก็ได้เรียนที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เราใช้เวลาเรียน 3 ปีครึ่ง อาศัยช่วงซัมเมอร์ลงเรียนไปด้วยเลยจบเร็ว จบมาก็ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายที่สมาคมคนตาบอด ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติหรือการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ถ้าตอนนี้มีโอกาสก็ยังอยากเรียนต่อเพื่อเป็นอาจารย์มหา’ลัย 

การเรียนกฎหมายต้องอาศัยการอ่านและจำ การมองไม่เห็นเป็นอุปสรรคในการอ่านหนังสือปกติ ทำให้เราต้องอ่านหนังสือเบรลล์ อย่างไรก็ดีหนังสือเบรลล์มีจำกัด ไม่ครอบคลุมเนื้อหาหรือความต้องการของเราทั้งหมด เราเลยเน้นฟังมากกว่า ปัญหาอยู่ที่ว่า พอเราฟัง แม้จะเข้าใจเนื้อหา สามารถนำมาคุยและสอนเพื่อนได้ แต่เราไม่สามารถนำมาเขียนลงในข้อสอบได้ถูกต้อง กลายเป็นว่าพอเกรดออก เรากลับตกวิชาคณะทุกตัวเลย จึงได้ไปคุยกับอาจารย์และพบว่าตนเองมีปัญหาในการเขียน หลังจากนั้นเมื่อปรับและแก้ไข มีเพื่อนคอยตรวจและช่วยเหลือจนเข้าใจหลักการเขียนที่ถูกต้องก็ไม่มีปัญหาแล้ว คะแนนขึ้นมาในระดับกลางค่อนไปทางดีเลย

การเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์นั้นถือว่า โชคดีกว่าหลายๆ มหา’ลัย เพราะธรรมศาสตร์มีศูนย์ช่วยเหลือนักศึกษาพิการโดยเฉพาะ การแก้ปัญหาต่างๆสะดวกและยืดหยุ่นพอสมควร มีทางลาดและลิฟต์เยอะพอสมควร สื่อการเรียนก็มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้ จึงทำให้เรามีอิสระในการถ่ายทอดความรู้เพื่อวัดผลได้เต็มที่ 

อย่างไรก็ดี ทางเลือกด้านการศึกษาสำหรับคนพิการในประเทศไทยยังถือว่าน้อยอยู่ เนื่องจากมีข้อจำกัดอย่างคำอ้างว่า ‘ไม่พร้อม’ ทางเลือกที่เปิดให้ก็อาจจะไม่เหมาะหรือไม่ใช่สิ่งที่คนพิการอยากเรียน จึงทำให้คนพิการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการศึกษาไม่ว่าจะในระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่านั้น เราจะเห็นว่ายิ่งเรียนในระดับที่สูงมากขึ้นเท่าไหร่ คนพิการก็เหลือน้อยลงมากเท่านั้น สะท้อนถึงกลไกหรือโครงสร้างว่า แม้การศึกษาภาคบังคับดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเริ่มมีคณะใหม่ๆ ที่เปิดให้คนพิการเข้าศึกษา แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

ผมมองว่า เราควรจะให้เด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กไม่พิการได้ตั้งแต่ประถม คนพิการคนไหนพร้อมก็ควรผลักดันและสนับสนุนให้เข้าโรงเรียนรวม โรงเรียนทั่วไปจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านความพิการให้ความรู้แก่ครูผู้สอน แต่หากความพิการเป็นอุปสรรคในการรับรู้หรือตอบสนอง ก็เห็นด้วยที่มีโรงเรียนเฉพาะทาง แต่โรงเรียนเฉพาะทางไม่ควรเป็นโรงเรียนขั้นพื้นฐานของเด็กพิการ เพราะการจับคนพิการไปเรียนรวมกัน ยิ่งเป็นการตัดคนพิการออกจากสังคมและพวกเขาจะปรับตัวกับสังคมภายนอกได้ยาก

ฉายวิชญ์ สุจริตกุล 

ผมเรียนมัธยมต้น ปวช. ปวส. แล้วก็ขึ้นมหา’ลัย ตอนแรกผมเรียนคณะบริหารธุรกิจ ที่มหา’ลัยเอเชียอาคเนย์ แต่เรียนไม่ไหวเลยมาทางสายดนตรี เพราะผมเองเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก จนเรียนจบที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ตอนเรียนอยู่ที่มหา’ลัย ถึงแม้จะมีบางวิชาที่ยากแต่ผมก็มีความสุขเพราะเจอสังคมและคนรอบข้างดี ผมอยากไปเรียนทุกวันเพราะอยากเจอเพื่อนและอาจารย์ ทุกคนคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำผมเสมอ แม้มีภาวะดาวน์ซินโดรมแต่ทุกคนต่างบอกว่าผมกลมกลืนไปกับคนปกติแล้ว 

ผมเรียนสหวิทยาการดนตรี คือไม่ได้เจาะจงลงไปที่เครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง เล่นทั้งระนาด เปียโน แล้วก็ร้องเพลง ผมไม่ได้เป็นคนเก่งมาก แต่อาจารย์ก็เห็นว่าเราเรียนได้ พอเรียนจบแล้วผมได้ทุนเรียนเต้นที่ดีแดนซ์ จากนั้นก็ไปเป็นครูสอนเต้นที่โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค แล้วก็สอนน้องๆ ที่สมาคมผู้พิการทางสติปัญญาด้วย 

ผมมองว่า สถานศึกษาไม่ควรปิดกั้น ควรเปิดโอกาสให้คนพิการทุกกลุ่ม ทุกประเภทได้เรียนจนถึงระดับอุมดมศึกษาหรือสูงกว่านั้นในแบบที่เท่าเทียมกับคนปกติ