Skip to main content

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ การเมืองเข้ามามีบทบาทในความคิดของคนรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนหลายคนพูดว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนและล้วนเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งในการดำเนินชีวิต ถึงแม้เราไม่เข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่การเมืองก็จะเข้ามายุ่งกับเราอยู่ดี

เมื่อไม่นานมานี้ หลายที่ได้จัดชุมนุมประท้วงโดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในหลายเรื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและเดินทางมาร่วมการชุมนุมประท้วง แม้จะมีคนพิการไปร่วมอยู่บ้าง แต่ก็ยังเรียกได้ว่าประปราย เหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้เราไม่ค่อยเห็นคนพิการ คงหนีไม่พ้นเรื่องสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย Thisable.me จึงชวนทุกคนสำรวจ สอดส่องเส้นทางของสถานที่และบริเวณโดยรอบของพื้นที่ชุมนุมยอดฮิตในกรุงเทพฯ ทั้งฟุตปาธ, ทางลาด, บันได, ลิฟต์และห้องน้ำว่าแต่ละที่นั้นเอื้อและพร้อมสำหรับคนพิการในการไปม็อบขนาดไหน

Skywalk แยกปทุมวัน

 

 

สกายวอร์คปทุมวันเป็นสถานที่ที่ถูกใช้จัดการชุมนุมบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่อยู่ใจกลางเมือง มีรถไฟฟ้าและห้างสรรพสินค้าอยู่บริเวณโดยรอบ พื้นที่บนทางเดินลอยฟ้ามีลักษณะเรียบ มีหลังคาและเปิดโล่งบางช่วง ตั้งอยู่ระหว่างห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ หอศิลป์กรุงเทพฯ และมาบุญครอง ทางเดินด้านบนปูด้วยอิฐบล็อคคอนกรีต พื้นค่อนข้างเรียบ ไม่ขรุขระ วีลแชร์สามารถใช้งานได้สะดวก แต่ไม่พบเห็นเบรลล์บล็อกสำหรับนำทางคนพิการทางการมองเห็น

การเดินทาง

สถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดคือ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 3 เมื่อลงมาจะพบลิฟต์ยกวีลแชร์ติดอยู่ข้างบันได คนพิการจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อใช้เครื่องยก นอกจากนี้ยังสามารถเดินเชื่อมเข้าทางเดินลอยฟ้าได้จาก ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัพเวอรี่ชั้น M, มาบุญครองชั้น 2 และหอศิลป์กรุงเทพฯชั้น 3

ป้ายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่หน้าลิโด้ คอนเน็ค ซึ่งในจุดนี้ไม่แนะนำคนที่ใช้วีลแชร์เพราะไม่มีลิฟต์ที่เชื่อมขึ้นมายังทางเดินลอยฟ้า หากต้องการลงที่จุดนี้จริงๆ จะต้องข้ามถนนด้วยการขึ้นสถานีรถไฟฟ้าสยาม บนชั้น 2 ของห้างเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์หรือดิจิตอล เกทเวย์เดิม มายังสยามเซ็นเตอร์แล้วจึงต่อขึ้นทางเดินลอยฟ้า อีกป้ายรถเมล์จะอยู่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ คนพิการที่ใช้วีลแชร์ต้องเข้าไปในมาบุญคลองเพื่อใช้ลิฟต์ขึ้นมายังทางเดินลอยฟ้า แต่เนื่องจากทางเท้าด้านล่างค่อนข้างขรุขระ พื้นอิฐไม่เสมอกัน อาจเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และเมื่อถึงหน้าห้าง ให้มุ่งหน้าเลยบันไดมาสักนิด ถึงช่วงโค้งแล้วจะเจอทางลาดเข้าตัวอาคาร

ห้องน้ำ

ห้องน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่ในหอศิลป์ฯ กรุงเทพ ซึ่งมีทางเข้าจะเชื่อมกับทางเดินลอยฟ้า

ที่นี่มีห้องน้ำสำหรับคนพิการบริการอยู่ทุกชั้น โดยหอศิลป์เปิดทำการ 11.00-21.00 น. หากการชุมนุมกินเวลาดึกกว่านั้น ก็อาจจำเป็นที่ต้องใช้ห้องน้ำในห้างสรรพสินค้าอีกสองแห่งที่มีทางเชื่อมติดกับทางเดินลอยฟ้าแทน ซึ่งเปิดทำการถึง 22.00 น.

แผนที่โดยรอบของ สกายวอร์คแยกปทุมวัน

ทางเดินระหว่างบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติไปยังสกายวอร์คแยกปทุมวัน พื้นปูด้วยอิฐบล็อกคอนกรีตเรียบเสมอกัน

ลิฟท์ยกวีลแชร์บริเวณบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ

ลิฟท์ยกวีลแชร์ในหอศิลป์ฯกรุงเทพ ติดตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของตัวอาคาร เชี่อมกับสกายวอร์คและบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสถานที่ที่คนมักปักหลักชุมนุมประท้วงมานานหลายทศวรรษ ตั้งอยู่ระหว่างถนนราชดำเนินและถนนดินสอ โดยการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมามักใช้พื้นที่ครึ่งหนึ่งของถนนเพื่อปราศรัย บนฝั่งร้านแมคโดนัลและโรงเรียนสตรีวิทยา พื้นทางเดินโดยรอบเป็นอิฐบล็อกที่ไม่สม่ำเสมอกัน มีเสากั้นมอเตอร์ไซค์เป็นระยะ มีทางต่างระดับ ทางแคบ มีทางลาดและเบรลล์บล็อกประปราย แต่ยังพบเกาะกลางถนนที่ไม่มีทางลาด ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่ผู้ที่นั่งวีลแชร์หากต้องการข้ามถนน

การเดินทาง

 สถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดคือ MRT สามยอด ซึ่งอยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร สามารถใช้วีธีการต่อรถมอเตอร์ไซค์ รถเมล์ หรือแท็กซี่ได้หากไม่มีปัญหาในการขึ้นลงรถ สำหรับคนที่ใช้วีลแชร์และต้องการปั่นวีลแชร์มา ให้ออกจากสถานีบริเวณทางออก 1 เมื่อออกมาแล้วเลี้ยวซ้าย ไปตามทางจนสุดและเลี้ยวซ้ายอีกครั้งก็จะมุ่งหน้าเข้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างทาง มีฟุทปาธขนาดความกว้างที่วีลแชร์ไปได้และพื้นค่อยข้างเรียบ แต่ก็มีบางช่วงที่มีกระถางต้นไม้และสิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงทางแคบที่ไม่มีทางลาดอยู่ จำเป็นต้องหาคนช่วยในการยกขึ้นลง อย่างไรก็ดีระหว่างทางมีวัดและอาคารต่างๆ ที่เหมือนจะเป็นทางลัดได้ แต่ถ้าหากใช้วีลแชร์ แนะนำว่าไม่ควรเข้าเพราะประตูวัดบางประตูมีธรณีประตู ซึ่งคนนั่งวีลแชร์ไม่สามารถผ่านไปได้

ห้องน้ำ

 ห้องน้ำที่ใกล้ที่สุดจะอยู่ในร้านแมคโดนัลซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีห้องน้ำคนพิการ  เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและแคบ และมีรถห้องน้ำบริการอยู่บริเวณรอบนอกซึ่งคนพิการที่นั่งวีลแชร์ไม่สามารถใช้บริการได้เช่นกัน

แผนที่โดยรอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ทางม้าลายบริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเบร็ลบล็อกและทางลาด แต่เกาะกลางถนนยังคงมีฟุตบาท ซึ่งอาจจะลำบากต่อผู้ที่ใช้วีลแชร์

พื้นฟุตบาทโดยรอบปูด้วยอิฐบล็อก ไม่ค่อยสม่ำเสมอกัน แต่พื้นที่ทางเดินค่อนข้างกว้างพอที่วีลแชร์จะผ่านไปได้

 

พื้นถนนบริเวณโดยรอบมีเสากั้นมอเตอร์ไซค์ แต่มีระยะห่างพอที่วีลแชร์จะผ่านไปได้ รวมถึงมอเตอร์ไซค์ก็น่าจะผ่านได้ด้วยเช่นกัน พื้นถนนเป็นปูนมีลักษณะขรุขระ

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของไทย ตั้งอยู่บนแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการชุมนุมประท้วงหลายต่อหลายครั้ง นอกจากนี้ยังถูกใช้จัดรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ เพราะสถานที่แห่งนี้มีความทรงจำในอดีตให้หวนกลับมานึกถึงเสมอ

บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มีประตูทางเข้า - ออกทั้งหมด 4 ประตู โดยประตูที่ใกล้ที่สุดคือ ประตูท่าพระจันทร์ ซึ่งมีพื้นทางเดินจะเป็นปูนเรียบ ไม่ขรุขระ มีทางลาด ผู้ที่นั่งวีลแชร์สามารถใช้งานได้สะดวก แต่ไม่เห็นเบรลล์บล็อกสำหรับคนพิการทางด้านการมองเห็น

การเดินทาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน สถานีที่ใกล้ที่สุดคือ MRT สามยอด  และสามารถนั่งรถโดยสารของมหาวิทยาลัยต่อมาได้ โดยรถโดยสารจะออกวิ่งทุกๆ 1 ชั่วโมง และวีลแชร์สามารถขึ้นได้ ทางเดินบริเวณฟุทปาธด้านนอกเป็นทางเดินเป็นอิฐบล็อก พื้นเรียบไม่ขรุขระ แต่ไม่มีทางลาดขึ้นลงบริเวณที่จอดรถเมล์ หากเดินทางด้วยรถเมล์จะต้องอาศัยคนช่วยยก

ห้องน้ำ

 ห้องน้ำที่ใช้ได้อยู่ตามคณะต่างๆ และบางที่มีห้องน้ำคนพิการ หากไม่เปิด สามารถไปใช้ที่ตึกสำนักงานที่อยู่ตรงข้ามคณะศิลปศาสตร์ได้ แต่ไม่สะดวกสำหรับคนนั่งวีลแชร์เพราะมีฟุตปาธและต้องขึ้นบันไดไปอีก 6 ขั้น ในห้องน้ำแคบและมืดมาก โดยห้องน้ำชายจะอยู่ชั้น 1 ส่วนห้องน้ำหญิงจะอยู่ที่ชั้น 2 โดยต้องขึ้นบันไดไป แม้ตัวตึกมีลิฟต์แต่ค่อนข้างแคบและอาจไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ใช้วีลแชร์มากเท่าที่ควร

แผนที่โดยรอบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ลานปรีดี พนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทางลาดเพื่อขึ้นไปยังลานปรีดี พนมยงค์ เป็นพื้นกรวดล้าง ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตรกว่า ผู้ใช้วีลแชร์สามารถผ่านไปได้

ทางเข้ามหา’ลัยบริเวณประตูท่าพระจันทร์ เป็นพื้นกรวดล้างไม่มีเนิน

 

จากการสำรวจสามที่ที่มักใช้เป็นสถานที่ในการชุมนุมนั้น พบว่า การเดินทาง สถาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่พร้อม ทำให้คนพิการเกิดอุปสรรคอย่างมากในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การเดินทางเข้าร่วมของคนพิการจึงมาพร้อมกับต้นทุนที่มากกว่า เพราะพวกเขาอาจต้องเช่ารถ เรียกแท็กซี่ หรือไหว้วานคนอื่นในการช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่ในการแสดงออกของคนพิการน้อยลงตามไปด้วย เกิดการจำกัดอุดมการณ์และความต้องการที่จะแสดงจุดยืนเพราะความล้าถอยของสวัสดิการภาครัฐที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นหากสวัสดิการขั้นพื้นฐาน  สิ่งอำนวยความสะดวกและการเข้าถึงต่างๆ นั้นดี คนพิการเองก็จะสามารถเรียกร้อง และเข้าร่วมการมีส่วนร่วมทางสังคมได้มากขึ้น