Skip to main content

"สังคมเราเป็นสังคมของคนหูดี หากเราเริ่มต้นรูปแบบของความเป็นไทยว่าต้องพูดภาษาไทย ก็เท่ากับว่าเราแยกคนหูหนวก รวมถึงคนไทยที่ไม่ได้พูดภาษาไทยออกไปจำนวนมาก 

ทั้งคนมลายูที่อยู่ภาคใต้ คนกะเหรี่ยงหรือม้งที่ไม่ได้พูดภาษาไทย จนทำให้พวกเขากลายเป็นคนอื่นที่อยู่ในสังคมไทย รวมไปถึงคนหูหนวกด้วย”

คุณเคยเห็นคนเปิดกล้อง โบกไม้โบกมือคุยโทรศัพท์ตามที่สาธารณะไหม พวกเขาไม่ได้เอาหูแนบโทรศัพท์แต่กลับเปิดกล้องหน้า แน่นอนล่ะว่าหลายคนไม่เข้าใจว่าพวกเขาทำอะไร และแม้พวกเขาเข้าใจว่าคนเหล่านั้นใช้ภาษามือ แต่ก็อาจไม่เข้าใจความหมายอยู่ดีถ้าคุณไม่ใช่คนหูหนวกหรือไม่เคยเรียนภาษามือ สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากระบบการศึกษาของคนทั่วไปนั้นก็ไม่เคยมีวิชาภาษามือให้เราได้เลือกเรียน 

เรารู้จักคนหูหนวกมากแค่ไหน รู้หรือไม่ว่าภาษามือมีหลายภาษาคุณเคยมีโอกาสคุยกับพวกเขาหรือไม่ วัฒนธรรมและสังคมของพวกเขาเป็นอย่างไร สังคมของพวกเขากว้างขนาดไหน และภาษาไทยที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยมีอิทธิพลในภาษามือมากขนาดไหน

ธงชัย วินิจกูล อาจารย์และนักประวัติศาสตร์ เคยอธิบายไว้ในหนังสือ คนไทยคนอื่น สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันว่า เป็นความจำเป็นของรัฐที่จะต้องสร้างคุณสมบัติเด่นของสังคมหรือกลุ่มชน ควบคู่กับการระบุคุณสมบัติที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น ฝรั่ง หรือประเทศเพื่อนบ้าน แม้ธงชัยจะไม่ได้พูดถึงคนหูหนวกโดยตรง แต่ก็พอทำให้เราเห็นภาพได้ว่า สิ่งที่คนหูหนวกไม่ได้ร่วมผลิตซ้ำซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นไทย ก็คือภาษาไทย ความแตกต่างทางภาษานี้ เป็นส่วนสำคัญในการแบ่งแยกคนหูหนวกออกจากสังคม โดยเฉพาะหากยิ่งไม่มีการสนับสนุนโดยรัฐเพื่อให้คนทั่วไปในสังคมเข้าถึงภาษามือ คนหูหนวกก็ยิ่งกลายเป็นคนอื่นที่อยู่ร่วมกับคนไทย ที่ใช้ภาษาไทยในการพูดและสื่อสาร  

ในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคนหูหนวก ของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า  คนหูหนวกคือชาติพันธ์ุหนึ่ง มีอัตลักษณ์และภาษาที่ชัดเจน แต่เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องนอกตำรา 

ชวนคุยกับ อาจารย์พฤหัส ศุภจรรยา อาจารย์หูหนวกและ อาจารย์ณัฐวิชญ์ ศุภสินธุ์ อาจารย์หูดีประจำภาควิชาหูหนวกศึกษา วิทยาลัยราชสุดา  มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงความเป็นอื่นที่เกิดขึ้น ทำไมคนหูหนวกเรียกตัวเองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ ทำไมคนหูดีถึงรู้จักคนหูหนวกน้อย และทำไมรัฐจึงให้ความสำคัญกับภาษามือและคนหูหนวกไม่มาก  

อาจารย์พฤหัส ศุภจรรยา (ซ้าย) และ อาจารย์ณัฐวิชญ์ ศุภสินธุ์ (ขวา)

 

Chapter 1 เป็นคนอื่นจากครอบครัว

 

คนหูหนวกมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมต่างจากคนอื่นหรือไม่ 

พฤหัส: คนหูหนวกก็เหมือนคนทั่วไป เพียงแค่ไม่ได้ยินเสียง เสียงเหล่านี้ไม่ใช่แค่คำพูด แต่หมายถึงเสียงทุกอย่าง ส่งผลให้คนหูหนวกทำอะไรเสียงดัง เช่น ทานข้าวไปเคาะโต๊ะไป นั่นเป็นเพราะเขาไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง พวกเขาอยู่ได้ด้วยการรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นภาษามือ 

ณัฐวิชญ์: สังคมเราเป็นสังคมของคนหูดี หากเรานิยามความเป็นไทยคือต้องพูดภาษาไทย คนหูหนวกก็ถูกแยกออกไป รวมถึงคนไทยที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาหลักด้วย พวกเขากลายเป็นคนอื่นที่อยู่ในสังคมไทยทั้งสิ้น คนกะเหรี่ยงหรือมลายูเขาไม่ใช้ภาษาไทยเลย และเป็นภาษาที่ต่างจากภาษาไทยโดยชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระบบไวยากรณ์ ระบบเสียง ความหมายคำ ปัญหาหนึ่งที่พวกเผชิญเช่นเดียวกับคนหูหนวกก็คือ การเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เพราะบ้านเราเน้นการสอนโดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลาง หรือถึงแม้เขาสามารถเรียนจบได้และต้องการสอบข้าราชการก็ต้องผ่านการสอบเป็นภาษาไทย กลายเป็นว่าเกิดความเสียเปรียบ คนหูหนวกเองก็เสียเปรียบแบบนี้ตั้งแต่ระบบการศึกษา การเข้าทำงาน เพราะทุกระบบจำเป็นต้องใช้ภาษาไทยเป็นแกนหลัก แต่คนหูหนวกใช้ภาษามือ

ในมุมนักภาษาศาสตร์จะรู้ว่า ในไทยมีคนใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นภาษาหลักประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเราพูดภาษาอื่น คนส่วนใหญ่ของไทยพูดภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มเดียวกับภาษาลาว แต่เมื่อแกนหลักของภาษาคือภาษาไทยภาคกลาง ภาษาย่อยอื่นๆ จึงกลายเป็นส่วนเกิน ทั้งที่ความจริงเราพูดภาษาอื่นมากกว่า

ชาติพันธ์ุคนหูหนวกแปลว่าอะไร

ณัฐวิชญ์: ชาติพันธุ์แปลว่าคน บางความหมายอธิบายว่าเป็นคนที่มีอำนาจน้อยในสังคม ไม่ใช่คนที่มีจำนวนน้อย คนอีสานเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจน้อย แต่คนภาคกลางเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจมาก คนหูหนวกเป็นคนชาติพันธุ์เพราะมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง วัฒนธรรมของเขาถูกกันออกจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นภาษา การศึกษา เหมือนกับคนชาติพันธุ์อื่น เช่น คนมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ แม้เด็กแถวนั้นพูดภาษามลายู แต่พอเข้าโรงเรียนต้องพูดภาษาไทย พวกเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องพูดไทย เรียนเรื่องประเทศไทย วัฒนธรรมไทย ศาสนาพุทธ หรือเข้าวัดไทยทั้งที่ตัวเองเป็นมุสลิม หากเรียนจบแล้วอยากเป็นข้าราชการก็ต้องสอบด้วยภาษาไทย ซึ่งยากสำหรับเขา เราจึงเห็นพวกเขาเข้ามาทำงานและมีโอกาสเข้ามากำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตัวเองได้น้อยมาก 

นี่คือส่วนหนึ่งของการกีดกันทางวัฒนธรรม ที่คนหูหนวกเผชิญเช่นเดียวกัน คนหูหนวกหลายคนถูกพัฒนาชีวิตแบบไม่ถามถึงความต้องการ คิดแบบแผนการศึกษาแล้วก็เอามาครอบให้คนหูหนวกทำตาม โดยไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดหน้าตาของการศึกษานั้นๆ   

บรรยากาศวิชาวัฒนธรรมคนหูหนวก

คนหูหนวกเริ่มต้นเรียนภาษามืออย่างไร

พฤหัส: ภาษาแรกของคนหูหนวกก็คือภาษามือ หลักๆ เกิดมาก็จะมีครอบครัว 2 ประเภท คือมีพ่อแม่เป็นคนหูดีหรือมีพ่อแม่เป็นคนหูหนวก สำหรับคนหูหนวกที่มีพ่อแม่เป็นคนหูดี มีโอกาสเจอปัญหาในการสื่อสาร ถึงพ่อแม่จะพยายามพูดแต่ลูกก็ไม่ได้ยินเสียง ส่งผลให้ระดับพัฒนาการทางภาษาของลูกช้ากว่าคนอื่น ในกรณีที่พ่อแม่และลูกเป็นคนหูหนวกทั้งครอบครัวและพวกเขาใช้ภาษาเดียวกัน บางครอบครัวก็ใช้ภาษามือธรรมชาติคือสร้างขึ้นมาเองเพื่อคุยกันในครอบครัว โดยมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง

คนหูหนวกที่โตมาในครอบครัวหูดี ถ้าพ่อแม่ไม่มีความพยายามสื่อสารกับลูกในทางที่ถูกต้อง คนหูหนวกก็จะมีพัฒนาการทางภาษาที่ช้า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารดีขึ้น พ่อแม่หลายคนก็ปรับตัว และรู้ว่าต้องดูแลลูกหูหนวกอย่างไร อย่างไรก็ดี ยังมีครอบครัวจำนวนมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่เลี้ยงลูกตามสัญชาตญาณ สิ่งเหล่านี้ปรับเปลี่ยนได้ด้วยความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมคนหูหนวก หรือการเรียนภาษามือเพิ่มเติม แต่ในไทยไม่ค่อยผลักดันเรื่องนี้ พ่อแม่ที่มีลูกหูหนวกพวกเขาก็ยังต้องดิ้นรนทำงานหาเงินจนการดูแลลูกหูหนวกอาจเป็นไปได้ยาก ระบบราชการจึงควรเข้ามาสนับสนุน อย่างน้อยที่สุดก็คือเรื่องการสื่อสาร 

พ่อแม่หูดีมีลูกหูหนวก มักสื่อสารกันไม่ค่อยได้ ภาพหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนหูหนวกไม่ค่อยเข้าใจพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เองไม่สามารถอธิบายความคิดเห็นและต้องการของตัวเองได้ การสอน ตักเตือน พูดคุย การแนะนำจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะสื่อสารกันเป็นคำๆ ไม่เป็นประโยค พ่อแม่หูดีบางคนไม่ยอมให้ลูกใช้ภาษามือ พอลูกใช้ก็ดึงมือลูกออก เพราะไม่ยอมรับความพิการที่เกิดขึ้นกับลูกของตัวเอง บางคนถึงขั้นไม่ยอมให้ลูกทำบัตรคนพิการเลยก็มี แต่หากพ่อแม่รู้ภาษามือก็จะสามารถอธิบายได้อย่างครบถ้วน รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการคุมกำเนิด การป้องกันการตั้งครรภ์ การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ หากดูต่างประเทศเราจะพบว่า คนที่เกิดมาหูหนวก พวกเขาได้รับการดูแลจากพ่อแม่เป็นอย่างดี มีฐานทางภาษา ดีกว่าคนหูหนวกในไทยมาก 

ที่สวีเดนมีกฎหมายว่า ถ้าพ่อแม่หูดีมีลูกหูหนวก พ่อแม่จะต้องไปเรียนหรืออบรมภาษามือ ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของคนหูหนวก โดยมีรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย รัฐไทยไม่สนับสนุนนโยบายอะไรแบบนี้ เพราะมองว่าเป็นภายในครอบครัวทั้งที่ควรจะเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ 

ณัฐวิชญ์ : พ่อแม่หูดีที่ไม่ยอมให้ลูกใช้ภาษามือ เขาจะพยายามให้ลูกพูดได้ไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม หลายคนให้ลูกหูหนวกเรียนร่วมกับคนหูดี หมอบางคนก็เชื่อแบบนั้นว่าภาษามือคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่พูด หมอบางคนไม่ได้มองภาษามือว่าเป็นภาษา แต่มองว่าเป็นท่าทางที่ขัดขวางพัฒนาการของเด็ก พอเด็กหูหนวกไปเรียนร่วมกับเด็กหูดีทั้งที่ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ก็ส่งผลต่อพัฒนาการและความรู้ของเขา เขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ภาษามือก็ไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ อ่านก็ไม่ได้ จากที่แปลกแยกอยู่แล้วก็แปลกแยกหนักเข้าไปอีก

ประเทศในแถบยุโรป โรงเรียนที่ทุกคนเรียนร่วมกัน ถ้าห้องเรียนนั้นมีคนหูหนวก เขาก็จะให้เพื่อนๆ ไปเรียนภาษามือเพิ่มเติม หรือแม้แต่ในหมู่บ้านหรือชุมชนไหนที่มีคนหูหนวกอาศัยอยู่ เขาก็จะให้ญาติพี่น้องหรือคนที่อยู่บริเวณนั้นไปเรียนภาษามือ ไม่ใช่แค่พ่อแม่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเขามองว่าทุกคนควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดความแปลกแยก การสนับสนุนเรื่องนี้มีความจำเป็นมาก แต่อาจเกิดขึ้นยากในไทยเพราะพื้นฐานบ้านเราไม่ใช่รัฐสวัสดิการ สวัสดิการทุกอย่างเป็นเรื่องยาก แม้แต่สวัสดิการพื้นฐานที่ควรมี บางอย่างก็ยังไม่มี หากรัฐต้องการให้พ่อแม่เรียนภาษามือ รัฐจะต้องสนับสนุนรายได้ที่อาจสูญเสียไปจากการหยุดประกอบอาชีพด้วย 

อาจารย์พฤหัส ศุภจรรยา

 

Chapter 2 เป็นคนอื่นจากสังคม

 

ทำไมสังคมไทยถึงรู้จักคนหูหนวกน้อยเหลือเกิน 

ณัฐวิชญ์: เราต้องยอมรับก่อนว่าประเทศเรามีการสื่อสารและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ถ้าระบบราชการเราเปิดกว้างด้านภาษามากกว่านี้ ภาษาไทยไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาประจำชาติ ก็จะเกิดการยอมรับการมีอยู่ของภาษาอื่น อย่างในสหรัฐอเมริกาที่ไม่กำหนดภาษาประจำชาติ 

คนไม่มีความจำเป็นที่ต้องพูดเหมือนกันหรือใช้ภาษาเดียวกัน ระบบควรเปิดทางให้มีภาษาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย พวกเราจะยอมรับได้หรือไม่หากนายกรัฐมนตรีพูดภาษามาลายู หรืออาจมีคนมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดแปลกในสังคมเราเวลานี้ 

พฤหัส : ผมมีความรู้สึกแปลกแยกอยู่บ้างในฐานะเป็นคนหูหนวก  ตอนเด็กๆ เวลาเข้าไปเล่นกับเพื่อน ก็จะถูกคนหูดีล้อหรือแกล้ง พอโตขึ้นก็เข้าใจมากขึ้นว่าหูหนวกไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย ภาษามือไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย นี่เป็นภาษาของเรา แต่คนในสังคมรู้จักคนหูหนวกน้อยมาก ชอบเรียกพวกเราว่า คนใบ้ ซึ่งคำนี้กระทบจิตใจของคนหูหนวก เรามองว่าถ้าภาครัฐให้ความรู้ความเข้าใจและ ทัศนคติที่มีต่อคนหูหนวก อย่างน้อยที่สุดคือทำให้คนทั่วไปรู้ว่าไม่ควรเรียกคนหูหนวกว่าคนใบ้ ก็คงดี เพราะคำว่าใบ้ ในรากศัพท์ภาษาไทยแปลว่าไม่พูด คนเอามาเรียกเพราะคิดว่าคนหูหนวกไม่พูด ทั้งที่ความเป็นจริงภาษามือของเขาคือการพูด

นอกจากนี้ผมเองก็ไม่อยากยอมรับคำว่า ‘ผู้พิการทางการได้ยิน’ หรือ ‘ผู้บกพร่องทางการได้ยิน’ ที่ถูกใช้ในระบบราชการไทยเพราะ คำว่าผู้พิการทางการได้ยินมาจากภาษาอังกฤษคำว่า hearing impairment ถ้ามองอย่างเคารพวัฒนธรรมของคนหูหนวก ก็ไม่ควรใช้คำนี้ และใช้คำว่า Deaf ที่แปลว่าคนหูหนวกแทน เพราะคำนี้หมายถึงกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีภาษาเป็นของตนเอง พวกเขาใช้ภาษาที่มีการมองเห็นเป็นหลักไม่ใช่ภาษาผ่านเสียง แต่การเรียกว่า  hearing impairment คือการนับคนหูดีเป็นหลักแล้วมองคนหูหนวกว่า เป็นคนที่ไม่ได้ยิน ผ่านคำว่า impairment แปลว่า บกพร่อง การบอกว่าบกพร่องจึงพ่วงมากับการดูแล สงสารและสงเคราะห์

ภาษามือมีกี่ภาษา

พฤหัส : ไม่อาจทราบได้เพราะภาษามือแยกย่อยไปตามแต่ละประเทศ ผมอยู่ที่บ้านก็ใช้ภาษามือครอบครัว เรียกว่า  Homemade signed แม้แต่คำว่าพ่อแม่แต่ละครอบครัวก็แตกต่างกันไป บางครอบครัว ทำมือเป็นรูปหนวดหมายถึงพ่อ ลูบที่หน้าอกหมายถึงแม่ แต่บางคนก็ใช้นิ้วโป้งหมายถึงพ่อ นิ้วก้อยหมายถึงแม่ โรงเรียนคนหูหนวกจึงจะช่วยปรับความต่างนี้ให้ใช้ตรงกัน

ภาษามือแต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างกัน อย่างคำว่าส้มโอ วัฒนธรรมภาษามือของภาคเหนือ ก็จะทำมือเป็นคำว่าส้ม แล้วก็สระโอ ภาคอีสานจะทำมือเป็นลูกส้มโอครอบหัว ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า ภาษามือถูกสร้างขึ้นผ่านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนแต่ละพื้นที่ จากวัฒนธรรมกลายเป็นคำศัพท์

ณัฐวิชญ์ : ภาษาคือพลวัตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมทางภาษา มองในมุมนักภาษาศาสตร์ ภาษาไทยเป็นภาษาที่พยายามทำให้เกิดค่ามาตรฐาน จนทำให้คนหลุดออกจากกรอบเหล่านี้ เช่นเดียวกับภาษามือที่มีพลวัต มีความลื่นไหลไม่หยุดนิ่ง

 

Chapter 3 เป็นคนอื่นจากรัฐไทย

 

คิดว่ารัฐไทยมีความเข้าใจเรื่องคนหูหนวกและภาษามือมากน้อยแค่ไหน  

พฤหัส : ยังขาดความเข้าใจอยู่ กลุ่มคนหูหนวกพยายามสร้างความเข้าใจกับภาครัฐอยู่หลายครั้งว่า เราเป็นคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง เหมือนรัฐจะเข้าใจแต่ก็ไม่เข้าใจ แม้มีความพยายามเก็บข้อมูลแต่ก็ไม่เคยมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พอเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ เราก็ต้องมานั่งอธิบายใหม่ ขาดความต่อเนื่องในเรื่องนโยบายคนพิการ คนหูหนวกที่เป็นคนขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็เหนื่อยหน่ายและรู้สึกท้อ รัฐควรให้ความสำคัญมากกว่านี้ และอยากให้ลงมาเห็นว่าคนหูหนวกจริงๆ เป็นอย่างไร

ณัฐวิชญ์ : ตัวอย่างของความไม่เข้าใจ เช่น ในโรงเรียนสอนคนหูหนวก หรือบางคนเรียกโรงเรียนโสตศึกษา ก็ควรจะได้รับการประเมินแบบเฉพาะทาง แต่ปัจจุบันเมื่อครูต้องผ่านระบบส่วนกลาง ซึ่งน้อยมากที่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องคนหูหนวกหรือภาษามือ ปัญหาเฉพาะทางเช่นนี้ ทำให้คนที่เข้ามาไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญ บางคนก็ปรับตัวพยายามไปเรียนภาษามือเพื่อกลับมาสื่อสาร แต่ทำไปสักพักก็ถูกย้าย พอคนใหม่มาก็ไม่เป็นภาษามือเหมือนเดิม แม้โรงเรียนมีมาตรฐานของตัวเอง แต่ก็ไปต่อไม่ได้เนื่องจากข้อกำหนดส่วนกลางที่ไม่มีภาษามือในการสอบ 

และไม่ใช่แค่เรื่องโรงเรียนคนหูหนวกแต่ระบบราชการก็เป็นแบบนี้ การรับคนทั้งหมดสอบจากส่วนกลาง ทำให้ปัญหาคนหูหนวกไม่ถูกรับรู้ ขาดการตะหนักเรื่องความหลากหลายด้วยมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่ยึดโยงแบบเดียว จนมองข้ามคนที่แตกต่าง อย่างการที่วัฒนธรรมหลักถูกจัดให้เป็นของคนหูดี แล้วบอกให้คนหูหนวกต้องเรียนรู้ เช่น เรื่องระดับของการพูด การใช้ภาษาต่างๆ มารยาทบนโต๊ะประชุมของคนหูดีเป็นอย่างไร ทำไมไม่ควรเคาะโต๊ะหรือทำให้เกิดเสียงที่น่ารำคาญ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่คนหูหนวกไม่ได้คำนึงถึง เพราะพวกเขาไม่ได้ยิน 

ณัฐวิชญ์ : ผมคิดว่าเพราะเราอยู่ร่วมกัน เราเรียนรู้เขา เขาเรียนรู้เรา เราต้องยอมรับว่าคนนั้นต่างกัน แต่เราจะเรียนรู้ร่วมกันได้  

ปัจจัยอะไรที่จะทำให้คนทั้งสองกลุ่มอยู่ร่วมกันได้

พฤหัส : มีวิธีการมากมายเลย แต่ถ้าดีที่สุดก็อยากเชิญชวนให้มาเรียนภาษามือ เรียนรู้ นำไปใช้ และเข้าใจคนหูหนวกมากขึ้น จะได้ไม่มองว่าคนหูหนวกใช้ภาษามือแล้วเป็นเรื่องตลก เราคาดหวังว่าวันหนึ่งภาษามือจะถูกยอมรับมากขึ้นและคนหูดีจะมีทัศนคติที่ดีต่อภาษามือ  

ณัฐวิชญ์ : ผมคิดว่าคนรอบตัวมีส่วนสำคัญ ที่จะต้องเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของคนหูหนวกก่อน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ผู้ดูแล ควรได้เรียนรู้และใช้ภาษามืออย่างคล่องแคล่วเพื่อสื่อสารกับคนหูหนวก คนทั่วไปที่อยากรู้จักคนหูหนวกก็ลองทักทายใช้ภาษามือเบื้องต้น ความเป็นเพื่อนมนุษย์สำคัญที่หนึ่ง ภาษาที่ใช้เป็นเรื่องถัดมา 

อาจารย์ณัฐวิชญ์ ศุภสินธุ์

รัฐทำอะไรได้บ้าง 

พฤหัส : อยากให้รัฐลงมาเห็นและสัมผัสให้เข้าใจปัญหาว่าคนหูหนวกเผชิญปัญหาอะไร จะได้ไม่มองว่าเราขาดแค่เรื่องงบประมาณหรือทุนในการสนับสนุนเพียงอย่างเดียว    

ณัฐวิชญ์ : คิดว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ ในนโยบายสาธารณะต่างๆ คนที่เกี่ยวข้องควรมีสิทธิกำหนด ไม่ใช่แค่ผู้มีอำนาจที่สามารถกำหนดได้ เช่น โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลต้องมีมาตรฐานทางการศึกษาแตกต่างกับโรงเรียนส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา วิธีเรียน วัฒนธรรม รวมทั้งเป้าหมายของผู้เรียน ควรจะเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายหรือมาตรฐานการศึกษาในพื้นที่ตัวเอง 

ล่ามภาษามือ 

  1. เพ็ญพักตร แก้วดี 

  2. ศักดา โกมลสิงห์