Skip to main content

“ผมคิดว่าไม่มีใครอยากขายความเวทนาของตัวเองเพื่อมีชีวิตรอด เมื่อเข้าถึงสวัสดิการคนพิการก็สามารถตัดสินใจเองได้มากขึ้น เช่นไม่จำเป็นต้องมานั่งง้อพ่อ ง้อแม่ว่าจะแต่งชุดแบบไหนเพราะเขามีเงินพอที่จะจ้างผู้ช่วยคนพิการ สามารถดูแลตัวเองได้ เข้าถึงอาชีพได้มากขึ้น”

กลางปีที่แล้วกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประกาศเพิ่มเบี้ยความพิการจาก 800 เป็น 1000 บาท ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า คุณจะต้องเป็นคนพิการที่ที่มีบัตรคนพิการและอายุไม่เกิน 18 ปี หรือมีทั้งบัตรคนพิการและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้นถึงจะได้  

การปรับเบี้ยเฉพาะกลุ่มครั้งนี้ทำให้คนพิการจำนวนมากออกมาแสดงถึงความไม่พอใจและตั้งคำถามว่า ทำไมคนพิการบางคนได้ 800 บาท แต่บางคนถึงได้ 1,000 บาท การได้เบี้ยความพิการไม่เท่ากันจะสร้างความเหลื่อมล้ำหรือไม่ หนำซ้ำบางส่วนยังสะท้อนว่า แม้ให้เป็น 1,000   บาท ก็ยังน้อยเกินไปและยังไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต 

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเบี้ยความพิการควรจะเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ ในแบบที่ใช้ชีวิตอิสระและพึ่งพาตัวเองได้  ThisAble.me เอาคำถามเหล่านี้ไปคุยกับ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ เจ้าหน้าที่เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมหรือ WeFair ว่าถ้าประเทศเรามีรัฐสวัสดิการและคนพิการได้เบี้ยความพิการ คุณภาพชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร 

คนพิการมีสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

ชูเวช : คนพิการมีงานทำอยู่น้อยมาก แค่ประมาณ 3 แสนคนจากคนพิการวัยทำงานล้านกว่าคน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างประจำประมาณหนึ่งแสนคน ที่เหลือก็ถูกระบุว่าเป็นเกษตรกร  เป็นลูกจ้างทั่วไป อีก  10 เปอร์เซ็นต์ที่มีงาน ก็พบว่าก็ไม่ได้รับเงินเดือนตามวุฒิที่ควรจะเป็น เช่น หากทำงานตามมาตรา 33 หรือ 35 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ถึงแม้จบปริญญาตรีก็ได้รับเงินเดือน 9,000 บาทเพราะเป็นโควต้าของคนพิการ หรือเป็นนโยบายของบริษัท คนพิการเป็นกลุ่มที่ค่าครองชีพสูงกว่าคนอื่น พวกเขาไม่สามารถนั่งรถเมล์ราคาถูกได้จึงต้องนั่งแท็กซี่ไปทำงาน บางคนมีค่าแพมเพิส ค่าบำรุงรักษาวีลแชร์ ค่าอุปกรณ์สวนปัสสาวะ ค่าเครื่องช่วยฟัง พวกเขาใช้ต้นทุนในการออกมาใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงาน เยอะกว่าคนทั่วไปมาก

เบี้ยความพิการอย่างน้อยที่สุดที่คนพิการจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ คือเท่าไหร่

เราต้องย้อนกลับไปดูแนวคิดก่อนว่า เบี้ยคนพิการมีไว้ทำไม หากตั้งต้นมาจากเพราะมองเห็นประชาชนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือมีข้อจำกัดในชีวิต ดังที่ในแต่ละประเทศมีมุมมองในการสนับสนุนประชากรในประเทศไม่เหมือนกัน หากเรามองว่าประชาชนมีข้อจำกัดในการดำรงชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของตัวเอง เช่น เกิดมาเป็นผู้หญิงแล้วมีเมนส์ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดของผู้หญิง ภาครัฐก็มีหน้าที่เข้าไปดูแลเรื่องผ้าอนามัยได้ หรือแม้แต่ถ้าเรามองว่า สายตาสั้นไม่ได้เป็นความผิดของบุคคล รัฐก็เข้าไปสนับสนุนแว่นตา ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าคุณมองการชดเชยอย่างไร ความพิการก็เช่นกัน หากไม่ใช่ความผิดของบุคคลก็เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องเข้ามาชดเชยข้อจำกัดในการดำรงชีวิตของคนพิการ

พอเรามองว่าประชาชนมีความต้องการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เราก็จะคิดบนจำนวนเงินที่พวกเขาอยู่ได้จริงๆ เช่น เพื่อจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่ามือถือ ค่าอาหาร แต่ถ้ามองเพียงแค่ให้มีข้าวกิน เราก็จะให้จำนวนเงินแค่พอให้ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ ทีนี้ก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทหรือเบี้ยคนพิการ 800 บาท ถูกมองจากมุมมองแบบไหน และเราคาดหวังคุณภาพชีวิตแค่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาบอกว่าพอหรือไม่พอเราต้องถามประชาชนว่ามีจินตนาการต่อคุณภาพชีวิตที่ดีได้แค่ไหน

ในตอนที่เบี้ยคนพิการแจกครั้งแรก คนพิการยกมือไหว้ขอบคุณ อบต.ท่วมหัว เพราะมองเป็นบุญคุณที่มาแจกเงิน คนพิการไม่รู้เลยว่านี่เป็นสิทธิของเขา ภาษีของเขา จนวันเวลาผ่านไป คนพิการเริ่มบอกว่าแค่นี้ไม่พอ หมายความว่า คนเริ่มจินตนาการถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เลยสามารถบอกภาครัฐได้ว่าต้องการอะไรและแค่ไหนถึงพอ

ที่ไอร์แลนด์เบี้ยความพิการถูกให้รายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 203 ยูโรหรือประมาณ 7,900 บาท รวมๆ แล้วก็ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดมาจากฐานค่าครองชีพของคน ไม่ได้คิดบนฐานเส้นความยากจน อย่างไรก็ดี หากคิดบนเส้นยากจน เส้นความยากจนของคนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 2,900 บาทต่อเดือน เป็นเงินที่คำนวณแล้วว่า สามารถอยู่แบบพอซื้ออาหารราคาถูกได้ทุกมื้อ แต่เบี้ยความพิการก็ยังน้อยกว่า 3,000 บาท หรือยังไม่ถึง 1 ใน 3 เสียด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าจิตนาการต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศนี้ยังมีน้อยมาก คนอาจมองว่าสังคมเปี่ยมไปด้วยน้ำใจในการบริจาคและสงเคราะห์ จนประเทศไทยติดอันดับเรื่องเกี่ยวกับการทำบุญสงเคราะห์ แต่ก็ยังเป็นประเทศที่ยากจนและเหลื่อมล้ำที่สุดในด้านทรัพย์สิน สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การสงเคราะห์ แบบคนดีในไทยไม่ได้แก้ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ ฉะนั้นเบี้ยคนพิการที่เพียงพอ คือ เบี้ยที่คนพิการจินตนาการต่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้เพียงพอ 

ถ้าถามผม ผมคิดว่า น้อยที่สุดควรอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ตามเส้นความยากจน แต่ถ้าสิ่งที่อยากให้เกิดก็อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะคนที่ไม่มีอาชีพ

ทำไมรัฐต้องการันตีรายได้คนทั้งประเทศ

1% ของประชากรเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศซึ่งถือครองทรัพย์สินอยู่ 50% จากทั้งหมด 10 % ที่รวยรองลงมาครองทรัพย์สินอยู่ประมาณ 76 %   ดังนั้นจะเหลือคนอีก 90 % ที่ถือครองทรัพย์สินอร่วมกันยู่ประมาณ 20  % การรับประกันคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศไม่ได้เป็นเรื่องเกินเลย ในเมื่อเรารวมตัวกันก่อตั้งเป็นรัฐ เอาเงินภาษีมารวมกันก็เพื่อดูแลประชาชน  ถ้าเราอยากให้ทุกคนดูแลตัวเอง ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีก็ได้หรือเปล่าฉะนั้นการจ่ายภาษีก็คือการ กลับคืนสู่สาธารณูปโภคและหลักประกันในชีวิตอยู่แล้ว

หากถามว่าทำไมจึงต้องถ้วนหน้า สาเหตุเป็นเพราะกระบวนการคัดกรองความยากจนยิ่งทำให้คนตกหล่น เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือเบี้ยเด็กเล็ก 0-6 ปี งานวิจัยระบุว่า จะมีคนตกหล่นประมาณ 28 %หรือแม้แต่เรื่องคนพิการกับการเข้าถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็พบว่ามีแนวโน้มว่าคนพิการจะ เข้าไม่ถึง อีกสาเหตุคือความรั่วไหล นโยบาย วางเงินของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นลักษณะของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนชั้นกลางมีโอกาสจับจ่ายใช้สอย แต่อาจเข้าไม่ถึงรากหญ้า พวกเขาอาจจะไม่เคยเข้าถึงตัวเงินจริงๆ เช่นเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีลักษณะเป็นเครดิต  เงื่อนไขแบบนี้ อาจทำให้คนจนไม่ได้รับประโยชน์เท่ากับการให้แบบถ้วนหน้า

รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่โอเวอร์เกินจริงหรือเปล่า

ไม่โอเวอร์เลย ฟินแลนด์และเดนมาร์กเริ่มมีรัฐสวัสดิการ ในตอนที่ประเทศอยู่ในภาวะหลังสงคราม ไม่ได้เริ่มตอนที่ประเทศตัวเองร่ำรวย แต่เขาเห็นว่านี่คือหนทางที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนตัวเองดีขึ้น คนไม่ต้องไปก่ออาชญากรรม คุณคิดว่า ปัญหาอาชญากรรมในประเทศนี้เกิดขึ้นเพราะคนอยากจะก่ออาชญากรรมเหรอ คำตอบคืออาชญากรรมเป็นเพราะความยากจนต่างหาก ถ้าหากคุณรับประกันว่าคนจะมีอาหารกิน มีที่อยู่ คุกคงมีคนน้อย แม้แต่ปัญหาทิ้งลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงแทนพ่อแม่ ก็จะลดลง 

ถ้าดูสัดส่วน GDP ในประเทศเราจะพบว่างบที่ใช้ในนโยบายรัฐสวัสดิยังน้อย บางคนเปรียบเทียบว่ารัฐสวัสดิการเป็นภาระทางการคลัง เช่น ฝรั่งเศสของเขาเก็บภาษีเกือบ 40% ประเทศเราอยู่ที่ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ น้อยมากๆ 

ถ้ามีรัฐสวัสดิการชีวิตคนพิการจะเป็นอย่างไร

จะไม่มีรายการทีวีมานั่งถ่ายคนพิการเพื่อขอรับบริจาคหรือมีดาราหน้าหนวดคนไหน ถ่ายรูปกับคนพิการออกทีวีแล้วก็มาขอรับบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ อะไรแบบนี้จะลดลงหรือกระทั่งไม่มีเลย

ไม่ใช่แค่คนพิการ ผมคิดว่าไม่มีใครอยากขายความเวทนาของตัวเองเพื่อมีชีวิตรอด เมื่อเข้าถึงสวัสดิการคนพิการก็สามารถตัดสินใจเองได้มากขึ้น เช่นไม่จำเป็นต้องมานั่งง้อพ่อ ง้อแม่ว่าจะแต่งชุดแบบไหนเพราะเขามีเงินพอที่จะจ้างผู้ช่วยคนพิการ สามารถดูแลตัวเองได้ เข้าถึงอาชีพได้มากขึ้น เราจะเริ่มเห็นความเท่าเทียมมากขึ้นในระดับวัฒนธรรม หลายคนที่เคยเป็นวิศวกรเมื่อพิการก็ต้องตกงาน ถ้าเรามีสวัสดิการที่ดีพอวิศวกรคนนั้นก็อาจจะสามารถกลับมาทำงานได้ เป็นวิศวกรที่นั่งวีลแชร์เพราะอาคารสถานที่ต่างๆ จะปรับให้เอื้อกับเขาในการทำงาน

ปัจจุบันเรื่องเบี้ยเป็นเรื่องที่แทบจะไม่ได้อยู่ในความสนใจหลักของคนพิการ เพราะน้อยจนไม่รู้ว่าจะพูดถึงทำไม แต่เบี้ยนั้นสำคัญ ตอนนี้คนพิการคนหนึ่งอยากจะซื้อรองเท้าใหม่สักคู่ ก็ต้องรอเบี้ยคนพิการ ถึงจะน้อยแต่ก็เป็นอำนาจในการตัดสินใจของเขาที่ไม่ต้องขอพ่อแม่ ไม่ต้องขอญาติพี่น้อง ไม่ต้องถูกมองด้วยสายตาที่เป็นภาระ ต่อให้น้อยก็เป็นศักดิ์ศรี คนพิการในต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงขนส่งมวลชนสาธารณะ แค่ออกจากบ้านไปโรงพยาบาลก็ต้องเหมารถไปไปกลับ 500 บาทเป็นอย่างน้อยแล้ว เบี้ยแค่นี้ไม่มีทางพอ

ผมเคยคุณนายมาบริจาคของที่มูลนิธิหนึ่งเป็นวีลแชร์ประมาณ 100 กว่าคัน เขาก็นัดรับของถ่ายรูปกับเราตามปกติ เราก็ส่งตัวแทนขององค์กรไป แต่ว่าสิ่งที่ เขาพูดกลับมาก็คือไม่มีคนพิการที่ดูจนกว่านี้หรือ พอเขาใช้คำนี้ เราก็เลยเข้าใจแล้วว่าเขาต้องการภาพอะไร เขาต้องการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม คุณเป็นคนพิการอย่างเดียวคุณไม่ควรได้รับของแต่คุณต้องจนด้วยในสายตาผู้บริจาค ซึ่งเราคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสะอิดสะเอียนมาก นี่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการ คนจะไม่ต้องมานั่งทำให้ตัวให้ดูจนเพื่อเข้าถึงสิ่งของ ไม่ต้องขายความเวทนาตัวเอง

หรือผู้สูงอายุที่รับเบี้ยประมาณ 600 บาทแต่ข้าราชการเกษียรได้ 2-3 หมื่น หากเราถามว่ารายได้หลักของประเทศคืออะไรคำตอบคงเป็นภาคการบริการ ภาคการท่องเที่ยวและภาคเอกชน ไม่เห็นมีนักท่องเที่ยวคนไหนบอกว่า ระบบข้าราชการไทยดีจังเลย มีแต่บอกว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานเราห่วยแตกพนักงานเอกชนและบริการเป็นกลุ่มที่หารายได้หลักให้กับประเทศแต่กลับมีรายได้หลังเกษียณแค่ 600 บาทต่อเดือน นี่เป็นหลักฐานสำคัญเลยว่าเราไม่ได้จริงจังกับการดูแลคนในประเทศนี้ แต่เราจริงจังกับองคาพยพของการปกครองในระบบข้าราชการ ข้าราชการก็ไม่กล้าตั้งคำถามกับผู้บังคับบัญชา เพราะหากต้องออกจากราชการแล้วก็จะไม่ได้รับสวัสดิการในบั้นปลาย กลัวพ่อแม่จะไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ดังนั้นถ้ามีรัฐสวัสดิการที่เท่ากัน ข้าราชการไม่ต้องกังวลว่าสวัสดิการของตัวเองจะหายไป กล้าแข็งข้อกับนโยบายหรือคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมเพราะไม่ว่าอยู่ในระบบหรือนอกระบบ คุณภาพชีวิตก็ไม่ต่างกัน ถ้าสวัสดิการดี จะไม่มีเงื่อนไขที่ชนชั้นนำใช้ควบคุมประเทศ เราอยากอยู่ในสังคมที่ข้าราชการพร้อมจะยิงประชาชนแล้วบอกว่านายสั่งมา กันจริงๆ เหรอ 

ฉะนั้นเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องการเมือง ไม่ว่าคุณหรือองค์กรคนพิการจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง คนพิการมีแต่เรื่องคุณภาพชีวิต ก็อย่าลืมว่า ภาษีที่ถูกเรียกร้องให้กลับมาเป็นสวัสดิการเพื่อคนพิการก็เป็นเรื่องการเมืองแล้ว