Skip to main content

“คนพูดว่าคนพิการเป็นคนสุดท้ายที่ถูกนึกถึง เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถามว่ามันเป็นแบบนั้นไหม ในแผนต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนพิการก็เหมือนคนอื่น คือเน้นการตั้งรับและถูกช่วย การช่วยเหลือนั้นไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของเขา”

ปี 2554 ประเทศไทยต้องเจอกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) thaiwater.net ระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 65 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน 13,425,869 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961 สาย

แม้ไม่มีตัวเลขจำนวนที่ระบุได้ว่า ในจำนวนประชากรทั้งหมดที่ประสบเหตุอุทกภัยในปีนั้นมีเท่าไหร่ แต่ก็พอจะทราบได้ว่า คนพิการในเวลานั้นย่อมเดือดร้อนกันไม่มากก็น้อย ทั้งด้านความช่วยเหลือ การอพยพที่ไม่ครอบคลุม จนไปถึงวิธีการการดูแลปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง คนพิการจึงยากลำบากในการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์

แม้จนถึงปัจจุบัน จะยังไม่มีอุทกภัยครั้งไหนใหญ่ใกล้เคียงกับปี 2554 แต่จากรายงานของ Climate Central โดยสำนักข่าวบีบีซี ว่าด้วยการเผชิญความเสี่ยงจากน้ำท่วมตามพื้นที่แนวชายฝั่ง ที่ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มีการคาดการณ์ว่าจะมีคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่า 12 ล้านคน โดยกรุงเทพมหานครเสี่ยงถูกน้ำท่วมในปี 2050 ซึ่งรวมถึงคนพิการด้วย เราลงพื้นที่คุยกับคนพิการ กู้ภัย นักวิจัย ถึงความกังวล ความคาดหวัง สะท้อนปัญหาจากเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 ถึงอนาคตว่ามีวิธีการหรือกลไก เพราะที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยในรอบปี เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนสิงหาคม น้ำท่วมภาคใต้ช่วงเดือนธันวาคม  จึงมีความจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมไว้สำหรับอุทกภัยรอบใหม่เป็นอย่างยิ่ง

ปทุมธานี: พื้นที่ท่วมฉับพลันที่คนพิการปรับตัวไม่ทัน

“ปี 54 น้ำเริ่มท่วมขึ้นสูงจนถึงจุดที่เราอยู่ไม่ได้จึงต้องหนี ตอนนั้นต้องใช้คน 5-6 คนเพื่อที่จะยกเราขึ้นรถกระบะ ยกไปทั้งคนทั้งรถเข็น รวมทั้งของเราออกไป หลังจากนั้นเราต้องไปอยู่ราชบุรีกับพี่สาว”

วัลลพ สาลี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการปทุมธานี ในปีที่มหาอุทกภัยมาเยือน เขาเป็นคนหนึ่งที่ต้องอพยพหนีน้ำไปยังที่ปลอดภัย วัลลพชี้ให้เห็นถึงระดับน้ำที่สูงเข้ามาในบ้าน แม้จะไม่สูงมากสำหรับคนทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดีเลยสำหรับคนพิการรุนแรงอย่างเขา

แม้จะไม่ต้องอยู่ท่ามกลางมวลน้ำที่ไหลโอบอยู่ร่วมเดือน วัลลพก็เล่าปัญหาที่เจอในฐานะคนพิการรุนแรงได้ เขาบอกว่า โดยทั่วไปคนพิการรุนแรงบางกลุ่มไม่สามารถปัสสาวะด้วยตนเองได้ และต้องใช้ถุงปัสสาวะที่ต้องผลัดเปลี่ยนทุก 10-15 วัน ผลที่เจอในช่วงน้ำท่วมคือการติดเชื้อ

“คนพิการรุนแรงจะมีเรื่องของสายฉี่ การสวนปัสสาวะ ต้องมีแพมเพิส ต้องมีคนช่วยเตรียม ไม่สามารถทำได้คนเดียว ของเราไปลำบากตอนที่อยู่ราชบุรี ตอนนั้นเราต้องไปเปลี่ยนสายฉี่ที่โรงพยาบาล เลยเลือกไปโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เราไปรออยู่ครึ่งวันกว่าจะได้เปลี่ยน พอจะได้เปลี่ยนก็มีนักศึกษาแพทย์มาดูเคสเราหลายคนทั้งที่เราไม่ได้อนุญาต ตอนนั้นรู้สึกอาย เขาไม่ได้ถามว่าเราโอเคหรือไม่ แต่เราก็ไม่อยากพูดอะไร พอกลับมาเราก็อาการไม่ดี ฉี่ออกมาเป็นเลือด ถึงได้รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ต้องกลับไปให้หมออีกโรงพยาบาลช่วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะต้องหนีน้ำท่วมและมาอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยการปรับตัวก็ต้องเปลี่ยน ถ้าเป็นคนพิการที่ไม่มีต้นทุนที่จะไปหาหมอไปบ่อย เขาจะทำอย่างไร”

ศูนย์อพยพที่ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก

ยังมีคนพิการคนอื่นอีกมากที่ไม่สามารถย้ายออกจากพื้นที่ได้ เนื่องจากปัญหาหลากหลายประการ ทั้งความเป็นห่วงบ้าน ฐานะยากจน ไม่มีที่พักอาศัยหรือญาติพี่น้องในพื้นที่อื่น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ชี้ให้เราเห็นว่าโดยหลักแล้ว คนพิการทั่วไปในพื้นที่ต้องอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารศาลาวัดที่ยกสูงเหนือระดับน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าตามมาด้วยปัญหาการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ

“เหตุผลที่ทำให้วัดกลายเป็นศูนย์อพยพ ก็เพราะอาคารสถานที่ของวัดมีการยกสูง เช่น ศาลาการเปรียญ แต่ถ้าเลือกได้คนพิการก็ไม่อยากอยู่เพราะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะคนพิการผู้หญิง พวกเขาต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย เปลี่ยนแพมเพิส ซึ่งไม่มีห้องกั้นหรือพื้นที่ที่เป็นส่วนตัว หลายคนเขาก็อาจจะมองว่าไม่เหมาะสม ส่วนคนพิการเองก็อับอาย ให้ไปแก้ผ้า ขับถ่าย กลางที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่มีคนอยู่กันเยอะอย่างศูนย์พักพิงมันก็ลำบากใจ”

ภายหลังเมื่อศูนย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของวัดในการเป็นพื้นที่อพยพ เขาจึงพยายามไปให้ความรู้ว่าสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับคนพิการคืออะไร แต่ทางวัดเหมือนจะไม่เข้าใจเท่าไหร่ก็เลยไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผล เขาจึงทำสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่บริเวณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในละแวกนี้ รวมถึงจัดทอดผ้าป่าเพื่อสร้างห้องน้ำคนพิการ ไว้สำหรับคนพิการที่ไปทำบุญ และเผื่อในอนาคตถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ยังจะได้ใช้

“ควรมีสถานที่ที่หน่วยงานภาครัฐ หรือราชการเป็นผู้รับผิดชอบ จัดที่สำหรับคนพิการสามารถใช้ได้ ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติ คนพิการอยู่ที่ไหนอย่างไร จะแจ้งความจำนงได้อย่างไร ที่สามารถเคลื่อนย้ายคนพิการได้ในสภาวะน้ำท่วม”

“อีกเรื่องคือความเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือคนพิการนั้นเป็นสิ่งสำคัญ มีกรณีที่มีคนช่วยคนพิการแต่ไม่ยอมเอารถวีลแชร์เขาไปด้วย คนไม่พิการคงไม่คิดว่าวีลแชร์มีความสำคัญกับคนพิการอย่างไร อยากให้ลองคิดดูว่าเวลาคุณจะออกจากบ้านคุณก็ต้องนึกถึงรองเท้า คนพิการก็แบบนั้นเหมือนกัน วีลแชร์คือส่วนที่สำคัญที่สุดของคนพิการ มันเหมือนเท้าที่พาเราไปไหนมาไหนได้ สมมติว่าไม่เอาวีลแชร์เราไปด้วยแล้วเอาเราไปวางไว้ที่ศูนย์พักพิงสักแห่งหนึ่ง คนพิการคนนั้นก็ไปไหนไม่ได้วางอยู่ตรงนั้นเป็นภาระ”

กลไกหลังน้ำท่วม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2554 ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระคนพิการปทุมธานีเข้าใจและเรียนรู้ว่าการเตรียมพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ การจัดอบรมเรื่องการช่วยเหลือคนพิการในช่วงเหตุการณ์ภัยพิบัติจึงเกิดขึ้น โครงการเกิดขึ้นช่วงปี 2555 - 2557 เน้นการอบรมกับเยาวชนตามโรงเรียนในอำเภอจังหวัดปทุมธานี เรื่องการช่วยเหลือคนพิการ การช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย รับมือ เช่น พาคนพิการขึ้นลงทางลาด ย้ายขึ้นลงบันได การพาเข้าห้องน้ำ ขึ้นลงเตียง ขึ้นลงเรือ 

วัลลพ เล่าว่าที่เน้นกลุ่มเยาวชนเพราะเยาวชนเป็นกลุ่มที่เรียนรู้ได้ง่าย เข้าใจการปรับตัว การสอนจะช่วยให้พวกเขามีองค์ความรู้ติดตัวในการช่วยเหลือคนพิการคนอื่นในอนาคต หากเกิดเหตุ เยาวชนเหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือคนพิการได้อย่างถูกต้อง น่าเสียดายที่โครงการไม่ได้จัดต่อ เนื่องจากจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานจัดสรรงบประมาณ มองว่าซ้ำซ้อน เพราะตอนหลัง จังหวัดก็จัดการอบรมในลักษณะนี้ แต่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ยืนยันว่าทั้งรูปแบบการจัดงานและกลุ่มเป้าหมายของทั้งสองกลุ่มนั้นแตกต่างกัน และยังขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการ

ในด้านของหน่วยงานภาครัฐ เขามองว่าในช่วงหลังมีความสนใจกันมากขึ้น แต่ยังไม่มีแผนการจัดการและช่วยเหลืออะไร ในฐานะคนทำงานด้านคนพิการในพื้นที่ยังไม่พบ เขาคาดหวังว่า อย่างน้อยควรมีศูนย์อพยพช่วยเหลือที่รองรับคนพิการได้ในอำเภอหรือตำบล 
เพื่อการเข้าถึงง่าย

“สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำคือสถานที่ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ได้ใช้ มันควรจะต้องมี อย่างน้อยเอาไว้รองรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดในอนาคต วางไว้ 1 ที่ ในอำเภอหรือตำบลต่างๆ องค์ความรู้ก็ควรจะมี และก็ต้องมีคน ไม่อย่างนั้นพอเกิดสถานการณ์น้ำท่วมจริงก็ต่างคนต่างหนีกันไป คนที่ถูกทิ้งคือคนพิการ”

อยุธยา: ท่วมซ้ำซากแต่ยังขาดการช่วยเหลือระยะยาว

คล้ายกันกับปทุมธานี การขาดการเตรียมพร้อมและความรู้ยังเป็นสิ่งที่คนพิการเจอ โดยเฉพาะในช่วงการเกิดอุทกภัย อารี ทองเที่ยงธรรม นายกสมาคมคนพิการจังหวัดอยุธยา เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่เผชิญในช่วงปี 2554 เรื่องศูนย์พักพิงของคนพิการที่ไม่เข้าใจเรื่องคนพิการเท่าที่ควร เกิดปัญหาเรื่องห้องน้ำ ไม่มีทางลาด ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก การเข้าออกอาคาร ส่วนคนพิการที่ติดอยู่ตามบ้านก็ไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือเธอต้องขนคนพิการอย่างน้อย 6 คน ฝ่าน้ำท่วมไปส่งยังภาคตะวันออก เนื่องจากไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้  ในฐานะสมาคมคนพิการของจังหวัด เธออาสาเป็นตัวแทนในการประสานงานและทำให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

“มีคนพิการที่ต้องไปนอนชั้น 2 และไม่สามารถเปลี่ยนสายฉี่ได้ พวกเขาไม่สามารถออกไปไหนได้ ต้องอยู่แต่ในบ้าน จังหวัดที่ท่วมบ่อยอย่างอยุธยาแต่ไม่เคยมีการเตรียมพร้อมและป้องกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งที่เป็นทั้งจุดที่ท่วมบ่อยและรองรับน้ำ ควรมีการจัดการอย่างเป็นระบบได้แล้ว เหตุการณ์ปี 54 ที่ผ่านมาเราต้องเอาคนพิการไปส่งศูนย์พระมหาไถ่ถึง 6-7 คนเลย เพราะอยู่ตรงนี้ก็ไม่มีอะไรพร้อมจะช่วยเหลือดูแลเขา”

ควรมีศูนย์อพยพที่คนพิการเข้าถึงได้

แม้ว่าอยุธยาเป็นจังหวัดที่มีน้ำท่วมบ่อย โดยนอกจากปี 2554 แล้ว อยุธยายังมีน้ำท่วมอยู่เรื่อยๆ อย่างเช่นปี 60 ท่วมที่อำเภอบางบาล และอำเภอเสนา แต่การเตรียมพร้อมรับมือยังน้อยเกินไป อารีบอกว่า ยังไม่พบหรือเห็นกลไกการช่วยเหลือระยะยาวใดที่คนพิการในพื้นที่จะเข้าไปร่วมแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมได้ ศูนย์อพยพช่วยเหลือคนพิการยังไม่เคยถูกสร้างให้เคยเกิดขึ้น ทั้งสถานที่และบุคลากร 

คำถามก็คือทำไมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีใครคำนึงถึง ขณะที่อยุธยามีจำนวนคนพิการประมาณ 20,000 คน อำเภอภาชีมีประมาณ 600 คน ทำไมถึงจะไม่น่าทำ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นว่าอุปกรณ์และสถานที่มันไม่พร้อมสำหรับคนพิการเลย คนที่มีกำลังทรัพย์ญาติก็พาหนีไปอยู่จุดที่ปลอดภัยแต่คนที่ไม่มีกำลังทรัพย์เขาก็ต้องอยู่ตามศูนย์เหล่านี้ ในฐานะรัฐผู้ถือทรัพยากร เธอมองว่านี่เป็นหน้าที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเริ่มแก้ไขผลักดัน 

“ปี 54 คนพิการส่วนใหญ่ก็ต้องไปอยู่ตามศูนย์ซึ่งเป็นวัด รวมถึงชาวบ้านประชาชนด้วย อีกส่วนก็ไปรวมกันที่ศาลากลาง แต่ทั้งหมดเหมือนกันคือไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก คนพิการอยู่ยาก การดูแลช่วยเหลือคนพิการต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วย จะอำนวยความสะดวกช่วยเหลือเขาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อาบน้ำขับถ่ายกินข้าว บนศูนย์อพยพตามวัดคนก็แน่นขนัดไปหมด ถ้าเราจะต้องไปฉี่ผ่านสายฉี่ คนที่อยู่แถวนั้นเขาจะรังเกียจไหม แพมเพิสอะไรต่างๆ ก็ไม่มี คนเป็นแผลกดทับจะทำยังไง ต้องจัดการอย่างไร ไอเดียการทำศูนย์เราคิดว่าเป็นไปได้ เริ่มจากมองหาจุดที่น้ำน่าจะท่วมน้อยหรือไม่ท่วม ทำให้เกิดความพร้อม ควรจะมีทุกจังหวัดในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ ตรงไหนมีความเสี่ยงมากก็ควรเปิด เน้นใกล้พื้นที่ปัญหาและชุมชนไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์ใหญ่”

ยังขาดคนทำงาน

นอกจากภาพความห่วงใยที่เกิดขึ้นกับอนาคตแล้ว เธอยังกังวลเรื่องของการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพราะจากน้ำท่วมหรือวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ยังต้องทำงานหลักทั้งในเชิงคนและประเด็น  จำนวนคนทำงานมีน้อยแต่ปัญหามีมาก คนที่มีบทบาทมากกว่าคือกลุ่มคนทำงานระดับท้องถิ่น อบต. อบจ. มากกว่าหน่วยงานกลางด้านคนพิการ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอของเธอ

“ตอนนั้นถามว่ามีหน่วยงานรัฐไหนเข้ามาช่วยเหลือไหมก็มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่ถามว่าเขาช่วยกลุ่มเราได้อย่างเดียวไหมก็ไม่ได้จะมีกลุ่มอื่นที่รอการสนับสนุนและช่วยเหลือ กำลังคนของเขาก็ไม่พอ แต่นอกเหนือจากนี้คนที่ดูงานเรื่องคนพิการในช่วงน้ำท่วมโดยเฉพาะก็ไม่มีเลยเพราะต่างคนต่าง เอาตัวเองเป็นหลักแล้วตอนนั้น คนที่จะมาช่วยเขาก็ช่วยในภาพรวมเป็นหลัก ไม่ได้รู้สึกว่าต้องแยกแยะว่าควรจะช่วยคนพิการก่อนหรือควรจะช่วยในจุดไหน น้ำท่วมแล้วทุกคนเสมอภาคซะงั้น” 

“หลังน้ำท่วมใหญ่ก็มีการพูดคุยอยู่บ้างในส่วนงานที่เกี่ยวข้องว่าควรจะทำอย่างไร จัดเป็นเวทีประชุมสัมมนาต่างๆ จังหวัดจะมีการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม ถอดบทเรียนกับปัญหาที่เกิดขึ้น หาวิธีการแก้ไขกัน พวกเขาควรต้องมีข้อมูล รายละเอียดที่ช่วยให้เขาทำงานง่ายขึ้นเมื่อเกิดปัญหา เป็นแผนที่เดินดินจุดสังเกตว่าจุดไหนมีคนพิการหรือกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ คนพิการควรจะมีสัญลักษณ์อะไร องค์การบริหารส่วนตำบลที่เราอยู่ก็ทำตรงนี้ แต่ที่อื่นไม่มั่นใจ”

กู้ภัยกับการช่วยเหลือคนพิการในอุทกภัย

หนึ่งในส่วนงานที่สำคัญในช่วงของการเกิดอุกภัย กู้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ สำเริง ผลรัตน์ และ ฆนากร บัวเกตุ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังถึงการทำงานในปี 2554 ขอบเขตงานที่เป็นบทเรียนในการทำงาน และพัฒนามาสู่ขอบข่ายของการช่วยเหลือในอนาคต ทั้งเรื่องการเตรียมพร้อม แนวทางการช่วยเหลือ ป้องกัน ตั้งแต่ประสบเหตุจนไปถึงขั้นตอนอพยพ 

สำเริง ผลรัตน์ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนเทียนเมื่อปี 2554 อยู่ในฐานะตำแหน่งเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน ที่สถานีตำรวจดับเพลิงบางแค รับผิดชอบทั้งเขตบางแคหนองแขมและภาษีเจริญ เล่าว่า หน้าที่หลักของกู้ภัยคือการเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในบ้านโดยเฉพาะคนแก่และเด็ก รวมถึงคนพิการผู้ป่วยติดเตียงต่างๆ ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกมาเองได้ ต้องขนเคลื่อนย้ายพวกเขาออกมาให้ถึงที่ปลอดภัย แล้วจะมีหน่วยงานหรือญาติพี่น้องมารับช่วงต่อไป  

ฆนากร บัวเกตุ พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญงาน ระบุถึงแนวการทำงานที่เป็นแกนหลักของหน่วยงานด้านกู้ภัย ว่ามีหลักการหลายอย่าง ตั้งแต่การวางแผนการปฏิบัติการที่มีความจำเป็น การคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ทำความเข้าใจต่อประเภทและความช่วยเหลือแต่ละความพิการที่มีความต้องการแตกต่างกัน ข้อจำกัดคนพิการที่จะนำไปวิเคราะห์ร่วมในการให้การช่วยเหลือ เช่นการแจ้งเตือนที่ต้องคำนึงถึงคนพิการบางกลุ่ม เช่นคนพิการทางการได้ยิน ต้องใช้สัญลักษณ์ แสง ข้อความ แทนการใช้เสียงในการแจ้งเตือน หรือในกลุ่มคนตาบอด สัญลักษณ์ป้ายเตือน หรือรูปภาพอาจไม่เหมาะสม จึงควรมีการติดตั้งระบบเสียงและสั่นสะเทือนควบคู่ไปด้วย โดยภาพรวมคือ รูปแบบการเตือนภัยต้องมีมากกว่าหนึ่งช่องทาง ใช้ภาษาที่กระชับเข้าใจง่าย 

นอกจากนี้ การเข้าใจเรื่องความพิการยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะส่งผลถึงวิธีการช่วยเหลือ เช่น การเข้าถึงและการปฏิบัติต่อคนตาบอด คนหูหนวก คนนั่งวีลแชร์ ความพร้อมด้านอุปกรณ์ วิธีการเคลื่อนย้ายในแบบที่ปลอดภัย และคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ฆนากร กล่าวว่านี่เป็นหลักการคร่าวๆ ในการทำงานของกู้ภัย แต่ทั้งหมดก็ต้องอาศัยการเตรียมตัว ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ 

แนวโน้มที่มากขึ้นของผู้ป่วยติดเตียง

สำเริง เล่าให้เราฟังว่า แม้ในช่วงหลังจะไม่มีเหตุอุทกภัยร้ายแรงอย่างปี 2554 แล้ว แต่ก็ยังมีกรณีของคนพิการคนป่วยติดเตียงอยู่ และกำลังเพิ่มมากขึ้น สาเหตุมาจากที่ไทยก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ จึงมีความพยายามระบุกลุ่มคนเปราะบางเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการวางขอบเขตกันเป็นกระบวนการชุมชนให้มีการติดธงหรือสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อระบุว่าบ้านหลังนี้หรือกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เป็นการจัดวางลำดับความสำคัญของการทำงาน การมีข้อมูลชื่อที่อยู่ผู้ติดต่อญาติพี่น้องช่วยให้ทำงานง่ายมากขึ้น

สำเริงเล่าว่าเคยเกิดกรณีของการที่มีผู้ป่วยติดเตียงโดนควันไฟจากที่เกิดเหตุใกล้ๆ เข้าไปจนเสียชีวิต เป็นเพราะไม่มีใครทราบว่าตรงจุดนั้นมีผู้ป่วยติดเตียงนอนอยู่ เพราะฉะนั้นจึงสำคัญมากในการมีข้อมูลจำเพาะเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่ามีจุดไหนที่ต้องระวัง ไม่ใช่เพียงที่เกิดเหตุ และสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีด้วย

“ยุคนึงท่านอดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดในการให้รถดับเพลิงมีวิลแชร์ติดไปด้วย เพราะเวลาเกิดเหตุ ถ้าเจอคนพิการหรือผู้ป่วยติดเตียง ถ้ามีวีลแชร์ให้เขานั่ง เขาจะพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง เราก็สามารถไปทำงานอื่นต่อ ก่อนหน้านั้นเคยมีคนไปเจอเคสแบบนี้แล้วก็พาขี่คอออกมา แนวคิดของเราเลยพยายามเปลี่ยนตรงนั้น แต่พอรองปลัดฯ ท่านนั้นหมดวาระเรื่องนี้ก็แผ่วไป” 

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า หากเกิดน้ำท่วมอีก ก็น่าจะสามารถช่วยเหลือคนพิการได้มากขึ้น เพราะมีข้อมูลอยู่ในมือมากกว่าเดิม “สมัยก่อนเราไม่เคย เราทำงานอย่างสะเปะสะปะไม่รู้ว่าใครอยู่ตรงไหน แต่เมื่อเรามีข้อมูลแล้ว ก็ช่วยในการระงับเหตุได้มาก”

เปิดแผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ

แผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 - 2564 คือการแสดงให้เห็นถึงการขยับขึ้นของแผนงานคนพิการด้านภัยพิบัติ โดยแผนนี้รับผิดชอบโดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งหวังวิสัยทัศน์ “คนพิการและผู้ดูแลมีความปลอดภัย ในสถานการณ์ภัยพิบัติ” และ 3 ยุทธศาสตร๋ ได้แก่ 

1. พัฒนามาตรการ ลดความเสี่ยงและเตรียมพร้อมให้คนพิการและผู้ดูแลจากสถานการณ์ภัยพิบัติ เช่น ประเมินสถานการณ์ จัดทำแผนที่คนพิการชุมชน ทำคู่มือเตรียมความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติ พัฒนาอาสาสมัคร/คนพิการ สำหรับการแจ้งเตือน เตรียมศูนย์พักพิงและศูนย์อพยพ มีตัวชี้วัดเป็น พม. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
(พก.) และองค์กรด้านคนพิการ 

2.พัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติและบูรณาการณการดำเนินงานในสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เครือข่ายในการบริหารจัดการภัยพิบัติ จัดระบบแจ้งเตือน หาช่องทางการสื่อสาร สร้างระบบการจัดศูนย์อพยพ ศูนย์พักพิง และพื้นที่ปลอดภัย มีหน่วยงานรับผิดชอบเป็น พม. พก. และองค์กรด้านคนพิการ 

3.เพิ่มประสิทธิภาพ การฟื้นฟูเยียวยาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 

โดยภาพรวม เช่น จัดทำคู่มือฟื้นฟูเยียวยา สำรวจข้อมูลปัญหา ปรับสภาพแวดล้อมหลังน้ำท่วม ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ การเยียวยา หน่วยงานรับผิดชอบเป็น พม. พก. และองค์กรด้านคนพิการต่างๆ 

Universal Design ไม่ควรถูกมองข้าม

สว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงาน ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ เป็นหนึ่งในทีมร่วมวิจัยชื่อ  “คนพิการและภัยพิบัติ: การให้อำนาจและการสร้างความสามารถในการปรับตัวรับความเสี่ยง (Disability and Disaster: Empowering People and Building Resilience to Risk)” ซึ่งทำให้เขาเห็นปัญหาเรื่องอำนาจและการปรับตัวของคนพิการในสถานการณ์ภัยพิบัติมากขึ้น

การขาดการเตรียมพร้อม ยังเป็นสิ่งที่สว่างมองเห็น เขาประเมินว่านโยบายในเรื่องการช่วยเหลือยังเป็นเรื่องของการตั้งรับและยังขาดการคำนึงเรื่องความต้องการของคนพิการมากนัก แผนการจัดการด้านคนพิการช่วงอุทกภัยยังขาดรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่อง Universal Design เขาบอกว่าการช่วยเหลือคนพิการไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องสงเคราะห์

“น้ำท่วม 54 เหมือนไฟไหม้ฟาง หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นก็มีการเตรียมการอยู่บ้าง แต่พอหลังจากนั้นมันก็ซาไป มีคนพูดว่าคนพิการเป็นคนสุดท้ายที่ถูกนึกถึง เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นถามว่ามันเป็นแบบนั้นไหม ในแผนต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนพิการก็เหมือนคนอื่น คือเน้นการตั้งรับและถูกช่วย การช่วยเหลือนั้นไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของเขา 

“มีเหตุการณ์ที่พาคนตาบอดไปอยู่ในศูนย์อพยพ ถามว่าเขาจะใช้ชีวิตได้ไหม คนนั่งวีลแชร์ไปอยู่จะสามารถเข้าห้องน้ำได้อย่างไร ใช้ชีวิตกับคนทั่วไปอย่างไร เพราะไม่เคยมีการเตรียมการ ในกฏหมายระบุว่าแค่ให้ช่วย เป็นกลุ่มความช่วยเหลือพิเศษหรือด่วนที่สุดก็แล้วแต่การใช้คำ แต่การเขียนหรือระบุถึงความจำเป็นพื้นฐานที่คนพิการต้องมีอะไรบ้างไม่เคยเขียน นั่นเป็นมิติที่หายไป

“สุดท้ายแล้วเรื่อง Universal Design ก็เป็นสิ่งจำเป็น เราไม่ได้กังวลในการที่จะต้องไปอยู่ศูนย์อพยพ เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วเราก็เข้าใจได้ เพียงแต่ความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ก็ควรที่จะเข้าถึงได้ และใช้มันอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ วิธีการช่วยเหลือต่างๆ เจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครก็ควรที่จะต้องผ่านการอบรม ไม่ใช่แค่การช่วยแต่การช่วยแล้วต้องถูกวิธี และควรถามความต้องการของเขา ไม่ใช่การคิดแทน ครอบงำทำให้ นี่เป็นสิ่งที่คนพิการสะท้อนออกมา” 

“จริงๆ แล้ว อนุสัญญาหรือกฎหมายด้านคนพิการระหว่างประเทศอย่าง CRPD หรือ Incheon Strategy ก็พูดถึงหลักการคร่าวๆ แต่สิ่งสำคัญจริงๆ คือแผนภายในประเทศ ที่ยังขาดความรอบด้าน ไม่ได้มองถึงความต้องการของแต่ละบุคคล การเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของคนพิการ ในแผนบอกว่าจะช่วยเหลือคนพิการเป็นคนแรก ควรจะใส่เรื่องอำนวยความสะดวกและแผนกับความต้องการลงไปในแผนงานด้วย ช่วงที่ยังไม่เกิดเหตุอะไรก็ควรจะมีการปรับปรุง ให้สามารถใช้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา ก็จะได้สามารถอยู่ได้”

“พอไม่ได้เกิดเหตุ หรือเกิดเหตุไม่ได้บ่อยก็ทำให้คนตระหนักถึงคุณค่าเรื่องนี้ไม่มาก แต่ทั้งที่ความจริงแล้วเหตุมันเกิดอยู่เรื่อยๆ แม้จะไม่ได้เป็นเหตุใหญ่ที่เกิดขนาดนั้น แต่ไม่ใช่ว่าอนาคตจะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มีเราก็ยังขาดการตระหนักรู้และการเตรียมพร้อม จะไปรอตื่นตัวอีกทีก็ตอนที่มันเกิดเหตุแล้ว”

“จริงๆ เคยมีคนพูดถึงการทำแผนที่ชุมชน เป็นการสำรวจว่ามีใครในพื้นที่ที่ต้องการการช่วยเหลือพิเศษ ว่าอยู่ตรงไหนจุดใด ไว้สำหรับให้คนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เคยมีกรณีที่เด็กออทิสติกถูกไฟช็อตตายคาบ้าน ซึ่งถ้าเราทราบก่อนก็จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือเขาได้อย่างทันท่วงที อย่างคนพิการทางสติปัญญาบางคนก็อาจจะไม่ทราบได้ว่าการใช้ปลั๊กไฟในช่วงน้ำท่วมก็ทำให้เสี่ยงไฟช็อต”

บางที่ก็ทำได้ บางที่ก็ทำไม่ได้ ปัญหารากจากโครงสร้าง

ปัญหาเรื่องโครงสร้างองค์กร เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการทำงานด้านคนพิการ สะท้อนถึงปัญหาในช่วงน้ำท่วมที่ทำให้เห็นว่า ทำไมบางภาคส่วนของประเทศถึงทำงานได้ดี มีแผนรองรับ แต่ทำไมบางส่วนยังขาด ไม่เคยถูกเหลียวแล หรือไม่มีแผน หรือมีก็ขาดการมีส่วนร่วม ปัญหาด้านการขาดการบูรณาการข้อมูลระหว่างองค์กรเอง จึงทำให้งานด้านคนพิการกับภัยพิบัติถูกมองข้ามไป ไม่มีเจ้าภาพหรือองค์กรแม่ในการทำงาน

“ตำบลเสริมงาม จังหวัดลำปาง  มีการทำวิจัยเรื่องการช่วยเหลือคนพิการ  เพื่อประเมินว่าในชุมชนของเวลาเกิดภัยพิบัติจะต้องช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ตรงไหน ออกแบบการช่วยเหลืออย่างไร มีหลายพื้นที่ที่ทำแบบนี้ โดยส่วนใหญ่พื้นที่ที่ทำแบบนี้ เป็นเพราะมีหน่วยงานคนพิการที่ทำงานเข้มแข็ง เป็นหน่วยงานเอกชนหรือ NGO ที่ทำงานร่วมกับ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่คำถามคือในพื้นที่ที่ไม่ได้มีองค์กรแบบนี้ จะทำอย่างไรมันก็ไม่มีกระบวนการเกิดขึ้น หรือถึงมีหน่วยงานคนพิการก็อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องนี้สักเท่าไร” 

“ผมคิดว่าเรื่องขององค์กรคนพิการเองก็มีส่วนสำคัญ อาจจะเป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างขององค์กรคนพิการในบ้านเราด้วยว่า มันถูกแบ่งแยกเป็นประเภท ไม่ใช่ประเด็น อย่างสมาคมคนตาบอดเรื่องการศึกษาก็ต้องดู ภัยพิบัติก็ต้องดู การเดินทางก็ต้องดู หน่วยงานเดียวต้องดูสารพัดเรื่อง สุดท้ายก็เลือกได้แค่บางเรื่อง อาจจะเป็นเรื่องที่คนสนใจมากหรือเป็นเรื่องที่แหล่งทุนสนใจมากกว่า ถ้าแหล่งทุนไม่สนใจเรื่องภัยพิบัติ มันก็ไม่มีการผลักดันเรื่องนี้ออกไป หรือบางเรื่องก็จะถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว การแตกตัวการทำงานตามประเภทความพิการก็เป็นเรื่องลำบากเหมือนกันนะ นี่อาจจะเป็นข้อเสียก็ได้”

“ข้อค้นพบจากงานวิจัยที่เกิดขึ้นก็คือ บางหน่วยงานก็ไม่ได้มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ ซึ่งจะไปโทษเขาก็ไม่ได้ องค์กรคนพิการเองก็มีข้อจำกัดเรื่องนี้ทรัพยากรไม่พอ คนทำงานน้อย 1 คนทำงานดูเป็น 10 เรื่องก็ทำให้ลดทอนประสิทธิภาพในการทำงาน การผลักดันประเด็นต่างๆ ก็แย่ลง หรือไม่คืบหน้า อาจจะควรมีการคุยว่าองค์กรคนพิการในประเทศไทยควรจะต้องทำงานอย่างไร โดยเฉพาะในสภาพที่ 1 องค์กรดูหลายเรื่อง แล้วซ้ำกันไปเรื่อยๆ อย่างเรื่องการศึกษาก็มีอยู่ในทุกสมาคมคนพิการ เพียงแต่ว่าไม่ได้ทำด้วยกัน”

“เรื่องนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการควรจะต้องทำงานด้วยกัน แต่ที่ผ่านมาผมเข้าใจว่ามันไม่มีเจ้าภาพ ที่จะทำให้ 2 หน่วยงานนี้มาเจอกันได้ ทั้ง 2 หน่วยมีสถานะเป็นกรมเหมือนกัน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เรื่องคนพิการ ในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ไม่ค่อยมี ในขณะที่กรมคนพิการ คนที่สนใจเรื่องภัยพิบัติก็มีอยู่น้อย เราจะทำอย่างไรให้ 2 หน่วยงานนี้มาเจอกันเอาความรู้ของทั้งสององค์กรมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน แต่วันนี้เหมือนจะแยกกันทำอยู่”

อ้างอิง

บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554, คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ [เข้าถึงข้อมูล ธันวาคม 2563]

โลกร้อน: งานวิจัยล่าสุดคาด 12 ล้านคนในไทยจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชายฝั่งเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น, บีบีซีไทย, 31 ตุลาคม 2562

เผยแพร่ครั้งแรกใน ประชาไท 

https://prachatai.com/journal/2021/01/91098