Skip to main content

ตั้งแต่ จ.เด็กๆ ภาพของคนพิการที่เขาเห็นนั้นมีไม่มาก ส่วนมากก็มาจากหนังจีนหรือละครไทย ความคุ้นเคยที่มีต่อความพิการจึงเกิดขึ้นจากการเลียนแบบสื่อเหล่านั้น Thisable.me ชวนคุยกับ จ. เขาผู้ซึ่งผ่านช่วงสมัยแห่งการทำความรู้จักคนพิการผ่านหนังจีนและละคร ในเรื่องทัศนคติของสังคมที่มีต่อความพิการตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันที่ความพิการถูกส่งต่ออย่างแนบเนียนผ่านความคิดของคนในสังคม

ความเข้าใจเรื่องความพิการ

เมื่อ 39 ปีที่แล้วตอนที่ จ. เกิด เขาเล่าว่าในยุคนั้นสังคมไทยยังไม่ค่อยตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนหรือการเคารพคนอื่นเท่าไหร่ เขาและเพื่อนโตมากับหนังจีนประเภท ‘เดชไอ้ด้วน’ ละครไทยและเรื่องเล่าประเภท 'ไอ้บอด ไอ้เป๋ ไอ้ใบ้' ในตอนนั้นเรียกได้ว่า การพูดจาแบบไม่ถนอมน้ำใจคนพิการยังเป็นเรื่องปกติของสังคม

"จะไปว่าคนยุคนั้นด้วยการใช้แว่นเคารพสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้ ตอนนั้นแบบเรียนก็มีแค่ ‘มานีมานะ’ การศึกษาไม่ได้สอนว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร กฎบัตรสหประชาชาติมีอะไรบ้าง ฮิวแมนไรท์ว๊อทหรือแอมเนสตี้คืออะไร เราก็ไม่รู้จัก"

สิ่งที่ จ. เจอในชีวิตเมื่อโตขึ้น ไม่ใช่การล้อเลียนความพิการแต่อย่างใด อย่างเมื่อเขาเดินทางไปไหนมาไหน ถึงแม้คนทั่วไปจะรู้ว่าเขามีความพิการแต่ก็ไม่ตะโกนว่า "เฮ้ย ไอ้ด้วนมาแล้ว" เหมือนในหนังหรือละครที่ดูเพราะสิ่งเหล่านี้ยังถูกจำกัดกรอบด้วยมารยาททางสังคมแบบซึ่งหน้าอยู่

“วันหนึ่งไปขึ้นรถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ก็ไม่น่าจะมีความรู้สูงเท่าไรแต่เขาเลือกใช้คำสื่อสารกับคนขับดีมาก เขารู้ว่าเราพิการแล้วเราจะลงรถเลยตะโกนให้คนขับรถได้ยินว่า "จอดป้ายด้วย ขาไม่ดีจะลง" ทำให้รถจอดสนิทเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้สองสามป้ายรถเมล์รีบเลยจอดไม่สนิท เรารีบจ้ำอ้าวเพราะอายที่เขาช่วยเหลือเราพิเศษกว่าคนอื่น แต่ก็รู้สึกดี”

เมื่อถาม จ.ว่า การใช้คำต่างๆ ในโซเชียล ที่หลายครั้งก็ถูกมองว่าเป็นการล้อเลียน เสียดสีคนพิการ เขามีความคิดเห็นอย่างไร จ.ตอบว่า โดยส่วนตัวแล้วการใช้คำในโซเชียลที่เหมือนจะล้อเลียนคนพิการ ตอกย้ำความพิการ จะถูกมองเป็นคำที่บูลลี่ไหมก็ขึ้นอยู่กับกาละเทศะ เขามองว่า หากการใช้ในโซเชียลเพื่อพูดถึงคนที่ไม่รู้จักก็อาจให้ความรู้สึกแบบหนึ่ง แต่หากใช้กับคนที่รู้จักก็เป็นอีกแบบหนึ่ง โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการใช้คำพวกนี้ อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่า ประสบการณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องส่วนบุคคล ตัวเขาไม่สามารถพูดแทนคนพิการได้ทั้งหมด ไม่สามารถฟันธงได้ว่าดี ไม่ดี ทำได้ ทำไม่ได้ แต่ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าการล้อเลียนเป็นเรื่องร้ายแรงเพราะเรายังอยู่ในยุคที่คนไทยพึ่งสร้างบ้านแทนการอยู่กระท่อมไม่ถึง 500 ปีเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาพัฒนาไปในทางที่ดีอีกระยะหนึ่ง

“ส่วนตัวเป็นคนเชื่อเรื่องฟรีสปีซอ่ะครับ ใครจะว่าเราไอ้ด้วนก็เป็นสิ่งที่เขาพูดได้ แค่พิมพ์คีย์บอร์ดใครๆ ก็ทำได้ แต่เราก็เชื่อว่าคนที่ล้อเราก็จะได้รับผลกรรมตามทัน เขาอาจจะประสบอุบัติเหตุจนพิการแบบเราหรือไม่ชาติหน้าอาจเกิดมาขาด้วน เรื่องนี้ไม่ต้องไปควบคุมอะไร ยกเว้นการหมิ่นประมาทที่ทำให้เกิดความเสียหายทางกฎหมาย คนพิการไม่ได้เปราะบางถึงขนาดต้องไปเซ็นเซอร์คำพูดของใครต่อใคร"

ความพิการที่ถูกส่งต่อ

จ.เล่าว่า เขาเติบโตขึ้นมากับความคิดที่ว่า ความพิการเป็นผลพวงของบาปในศาสนาพุทธและยิ่งถูกตอกย้ำด้วยภาพที่นำเสนอผ่านสื่ออย่างภาพของคนพิการที่นั่งเศร้าๆ ในละครหลังข่าวหรือรายการเกมโชว์ในทีวีที่มีเพียง 4-5 ช่อง แต่พอมีเครื่องวิดีโอเข้ามาเขาก็รู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไป (อายุ 10 ขวบประมาณปี 2535)

“การเช่าม้วนตลกคาเฟ่มาดูนี่เปิดโลกเราเลยเพราะทำให้เห็นว่าคนพิการไปเล่นตลกก็ทำให้คนอื่นตลกได้ แม้ในหนังกับในละครก็มีแต่ไม่เท่าม้วนวิดีโอตลกคาเฟ่"

จ.เล่าว่า ไม่ใช่แค่ความพิการที่เข้าสู่วงการบันเทิงหรือพื้นที่ในสื่อด้วยการใช้ความตลกขบขัน แต่กลุ่มคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศเป้นคนกลุ่มแรกที่บุกเบิกในพื้นที่สื่อกระแสหลัก ดังจะเห็นได้จากรายการ เกมโชว์หรือแม้แต่ในละครตลก ที่มักใช้คนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อสร้างความบันเทิงอยู่บ่อยๆ เขาไม่แน่ใจว่ากระบวนการนำมาซึ่งการถกเถียงเรื่องคนพิการที่ใช้ความตลกนี้ละเมิดสิทธิหรือเหมาะสมหรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเติบโตเรื่องการพูดคุยในประเด็นความพิการในบ้านเรา ก็ล้วนเติบโตมาจากการถกเถียงบนเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม

ไม่ต้องการความพิเศษจึงปกปิด

หลายครั้งที่คนทั่วไปมักหาหนทางในการช่วยเหลือคนพิการ โดนไม่รู้ว่าคนพิการต้องการสิ่งนั้นหรือเปล่า เช่นเดียวกับ จ.เขารู้สึกว่า มีบ่อยครั้งที่เขาได้รับการช่วยเหลือจากคนรอบข้างเป็นพิเศษ จนมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากเกินไป เมื่ออยากมีความกลมกลืนกับสังคมจึงต้องปกปิดความพิการของตัวเองเพราะไม่อยากให้คนอื่นปฏิบัติตัวกับเขาแบบแปลกๆ หรือเอ็นดูเขาเกินกว่าคนปกติทั่วไป

“มันไม่ใช่อารมณ์แปลกแยกนะ แต่รู้สึกต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากเกินไป พออยากกลมกลืนกับสังคมเลยต้องปกปิดความพิการ กันไม่ให้คนเอ็นดูเรามากกว่าปกติ”

สำหรับ จ.แล้ว เขาไม่เคยเจอประสบการณ์การแกล้งกันเพราะความพิการมาก่อน ตัวเขาเองเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัด เล็กๆ ในชนบท เพื่อนทุกคนจึงรู้จักกันเป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อเขาเข้าโรงเรียนประจำอำเภอและเรียนสายอาชีพที่วิทยาลัยเอกชนก็ไม่มีการแกล้งอะไร

“ผมไม่รู้เหตุผลจริงๆ ว่าทำไมไม่โดนแกล้ง อาจจะเพราะคนเชียงใหม่ไม่ค่อยแกล้งกันมั้งหรือเพราะผมอาจจะชอบเข้าสังคม มีเพื่อนเยอะ ไม่ได้เก็บตัวอยู่คนเดียว”

สำหรับ จ.เขามองว่า การใช้แว่นเพื่อมองการบูลลี่ในปัจจุบันอาจใช้ไม่ได้เมื่อพูดถึงการล้อเลียนในสมัยก่อน ในช่วงปี 1990-2000 ที่เขาโตขึ้นมา การใช้คำพูดล้อเลียนยังเป็นคำพูดธรรมดาทั่วไปของคนยุคนั้น รวมทั้งถึงแม้ว่าปัจจุบันในโลกโซเชียลจะสร้างความหนักรู้เรื่องการบูลลี่ค่อนข้างกว้างขวาง แต่ในสังคมชนบทที่เขาอาศัยอยู่ก็ยังคงมีบรรยากาศแบบเดิม ไม่เปลี่ยนไปในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาเท่าไหร่นัก คนในสังคมไม่ได้โอ๋เขามากขึ้น ยังคงใช้มารยาททางสังคมแบบไทยๆ อยู่เหมือนเดิม

ทำให้ความพิการเป็นเรื่องปกติ

เนื่องจาก จ.มีเพื่อนเยอะ โดยเฉพาะเพื่อนในกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางสังคมหรือคนที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชนซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องสิทธิทางสังคมด้านต่างๆ ที่ดูก้าวหน้า เรื่องคนพิการก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกยกระดับขึ้น จ.ยกตัวอย่างของเรื่องคนพิการในรอบ 10-20 ปีที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ก็คือเรื่องเบี้ยความพิการ เงินกู้ให้คนพิการประกอบอาชีพ สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพของคนพิการดีขึ้น นอกเหนือจากนี้ก็คิดว่ายังไม่มีเรื่องไหนที่สามารถวัดผลได้ชัดนักในสังคมไทย ในชีวิตประจำวัน ตัวเขาเองจึงพยายามพูดถึงความพิการอย่างปกติที่สุด นำเอาความพิการมาพูดคุยถกเถียงโดยไม่ต้องเป็นเรื่องที่ระมัดระวังเกินไปหรือไม่ต้องทำให้เป็นเรื่องตลกขบขันเกินไป

“ในโลกโซเชียลมีการนำเรื่องคนพิการมาเล่นตลกขบขันบ้าง ตัวเองก็ยังเอาความพิการของตนมาล้อบ้าง แต่ก็แค่ในพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่เล่น ๆ นะเพราะเราคิดว่าเรากำลังเล่นเฟสบุ๊ค เล่นโซเชียลอยู่ ด้วยวัยจะ 40 ปีแล้วเราไม่ได้จริงจังกับพื้นที่นี้ แต่ในอนาคตถ้าพื้นที่นี้มันซีเรียสเพิ่มมากขึ้น เราก็ต้องมาพิจารณาการโพสต์อะไรของเราให้รอบคอบขึ้น นี่พยายามพูดแทนแก้ตัวแทนให้คนเล่นโซเชียลคนอื่น ๆ ที่ชอบล้อคนพิการด้วยนะ แต่ถ้าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เราก็ไม่ว่าอะไรพวกเขา”