Skip to main content

คุณจะทำอย่างไร หากไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นในสังคมได้ ไม่แม้แต่จะสามารถพูดสองสามคำเพื่อสั่งข้าวสักจาน คุยประสานงานกับลูกค้า หรือไม่สามารถติดต่อร้องทุกข์ราชการได้เพราะไม่มีใครสามารถสื่อสารกับคุณได้เลย 

การสื่อสารไม่ได้ของคุณทำให้คุณรู้สึกได้ถึงการเป็นตัวประหลาด ถูกเลือกปฏิบัติทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต แม้มีความสามารถแต่ก็ถูกมองว่าทำงานไม่ได้ เพราะเป็นคนหูหนวก บางครั้งก็โดนโกงเงิน ขึ้นแท็กซี่ก็ถูกเรียกราคาเหมา หนำซ้ำเพื่อนของคุณก็ไม่เอาเข้ากลุ่มเพราะถูกมองเป็นตัวประหลาด 

สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์จริง ที่คนที่มีปัญหาทางการได้ยินเจอ เราจึงชวนพวกเขาทั้งสองคนมาสนทนาถึงประสบการณ์ชีวิตในบรรยากาศยามเย็นริมแม่น้ำเจ้าพระยา เธอคนแรกคือ มิว เป็นคนหูหนวก ส่วนอีกคน อิม เป็นคนหูตึง จะได้ยินเสียงในเวลาที่ใส่เครื่องช่วยฟัง ความพิการที่พวกเธอมีทำให้เห็นทั้งโลกที่คนหูตึงและคนหูหนวกต้องเจอในสังคม

ตัวประหลาด

อิมเล่าให้ฟังถึงปัญหาที่พบในวัยเด็ก ใส่เครื่องช่วยฟังทำให้เกิดความแตกต่างจากเพื่อนคนอื่น  เพื่อนๆ ก็มองว่าเธอเป็นตัวประหลาด จนต้องทำผมปิดบังหูเพื่อไม่ให้คนเห็นว่าใส่เครื่องช่วยฟัง 

“ตอนประถมไม่มีเพื่อนเพราะเขารังเกียจเราที่เราใส่เครื่องช่วยฟัง เราเข้าใจว่าตอนนั้น คนยังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการเท่าไหร่ เราเลยกลายเป็นตัวประหลาดต้องคอยเอาผมมาปิดหูไม่ให้คนอื่นเห็นว่าใส่เครื่องช่วยฟัง และกลายเป็นเด็กที่ต้องอยู่คนเดียว แม้จะพยายามเข้าหาเพื่อนแต่คนก็มองเราแปลกๆ ยิ่งไปกว่านั้นตอนทำงานกลุ่มก็ไม่มีใครเอาเข้ากลุ่มและเป็นตัวเลือกสุดท้ายเสมอ จนครูต้องจับกลุ่มให้ ช่วงนั้นเป็นช่วงชีวิตที่แย่มาก เราไม่มีช่วงเวลาชีวิตที่ดีเลยตอนนั้น  

“เราคิดอยากจะย้ายโรงเรียนตลอดเวลา แม้มีโรงเรียนคนหูหนวกแต่แม่อยากให้เรียนโรงเรียนทั่วไปมากกว่า  เพราะไม่โอเคกับรูปแบบการสอนที่นั่น เลยตองเรียนที่เดิม เราก็ทนอยู่แบบนั้นจนเรียนมัธยมถึงได้ย้ายโรงเรียน ปัญหาก็น้อยลงไป

“ช่วงเด็กๆ เราถูกแกล้งเป็นประจำ โดนเอาเศษขยะมาใส่รองเท้า ขโมยรองเท้า บางครั้งก็รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนเอาไป แต่ไม่สามารถเอากลับมาได้ ยายของเด็กที่ขโมยก็เข้าข้างหลานตัวเอง ทั้งๆ ที่มีหลักฐานเป็นชื่ออยู่ หรือแม้แต่โดนผลักตกน้ำก็เคยมาแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากเพื่อนมองว่าเราแตกต่าง เพราะเราใส่เครื่องช่วยฟัง ก็เลยไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนในเวลานั้น

“เราคิดว่า ถ้าครูพยายามอธิบายหรือสอน ให้ทุกคนเห็นถึงความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ สร้างบรรยากาศให้เด็กไม่ปฏิบัติอย่างแบ่งแยกกันและกัน หรือควรปฏิบัติกับคนหูตึงอย่างไร เราน่าจะไม่ถูกแบ่งแยกจากเพื่อนๆ”

สำหรับมิว เธอเติบโตมาค่อนข้างแตกต่างจากอิม เนื่องจากเธอเรียนในโรงเรียนสอนคนหูหนวกโดยเฉพาะ แต่เมื่อเรียนจบเธอก็พบว่าสังคมข้างนอกยังเข้าใจคนหูหนวกน้อยมาก ขนาดเมื่อเช้านี้ ตอนที่เธอกำลังออกจากบ้าน วินมอเตอร์ไซด์ก็ยังหยอกล้อเธอด้วยการเลียนแบบท่าภาษามืออย่างมั่วๆ 

คนหูหนวกเป็นคนเหงา

มิวสะท้อนว่า ไม่ใช่แค่เรื่องคำพูดเท่านั้นที่เป็นปัญหา ความไม่เข้าใจเป็นสิ่งที่คนหูหนวกต้องเผชิญ แม้แต่กับคนในครอบครัว บางครั้งคนหูหนวกใช้ชีวิตอย่างเหงาๆ เพราะคนในบ้านเป็นคนหูดีกันหมด เช่นเดียวกันที่เธอเป็นคนหูหนวกคนเดียวภายในครอบครัว การสื่อสารไม่ได้นั้นทำให้รู้สึกแปลกแยก

“เหงาจริงๆ เวลาดูทีวีกับคนในบ้านแล้วเขาหัวเราะกัน เราก็แกล้งหัวเราะไปกับเขาด้วย แต่ในใจก็คือไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงหัวเราะ บางครั้งก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขาบอกให้เรารอก่อน เวลามีข่าวอะไรถ้าไม่มีล่ามภาษามือเราก็ตามไม่ทัน ก็จะไม่รู้เรื่องเลย ในชีวิตมีแต่คำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ เราไม่รู้จะคุยกับใคร เวลาใช้ภาษามือกับที่บ้านเนื้อหาข้อความก็ตกหล่นเพราะสื่อสารได้เพียงข้อความสั้นๆ ที่ไม่มีรายละเอียด สุดท้ายเราก็ต้องเอาไปถามคนนอกบ้านหรือคนหูหนวกด้วยกัน หรือไม่ก็ถามล่ามภาษามือ

“คนในชุมชนบางคนคิดว่าเราไม่ได้เรียนหนังสือเพราะมองว่าคนหูหนวกน่าจะเรียนไม่ได้ กระทั่งหลังจบมหาวิทยาลัยและได้เข้าทำงาน ทำให้เขาได้เห็นว่าคนหูหนวกก็มีศักยภาพเหมือนคนอื่น โดยที่เราต้องพยายามและอดทนจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เราคิดว่าคนหูหนวกหลายคนน่าจะเจอสถานการณ์เช่นเดียวกัน และต้องอดทนต่อการไม่ยอมรับของคนในสังคมและคนรอบตัว” 

อิมเสริมว่า ภาษามือในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก หากไม่เข้าใจหรือใช้ภาษามือง่ายๆ อาจทำให้เนื้อหาไม่ครบ เราเป็นคนหูตึงยังพอสื่อสารได้จากการดูปากว่าพูดอะไร แต่ถ้าวันหนึ่งเรากลายเป็นคนหูหนวกร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็อยากให้แม่เรียนภาษามือไว้เพื่อใช้สื่อสาร

เลิกเรียกคนหูหนวกว่าคนใบ้ 

คำว่าใบ้เป็นคำที่เราได้ยินกันแพร่หลายกันจนเหมือนเป็นคำปกติ แต่จริงๆ แล้วคำนี้ไม่ใช่คำที่คนหูหนวกอยากให้ใช้ พฤหัส ศุภจรรยา อาจารย์ประจำภาควิชาหูหนวกศึกษา วิทยาลัยราชสุดา  มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า คำว่าใบ้หมายถึงคนไม่สามารถสื่อสาร ซึ่งไม่ใช่คนหูหนวกเพราะพวกเขาสื่อสารกันผ่านภาษามือ เช่นเดียวกับอิมที่เธอก็ไม่สบายใจเช่นกันเมื่อถูกเรียกแบบนี้ 

“คำว่าใบ้เป็นคำที่ไม่ควรเอามาเรียกคนหูหนวก คนหูหนวกเรามีชื่อ มีชื่อเล่น มีชื่อจริง มีภาษามือเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร  คำว่าใบ้ทำให้คนหูหนวกรู้สึกไร้ศักยภาพ ฟังแล้วไม่สบายใจแถมยังลดคุณค่าของคนหูหนวก อยากให้ทุกคนให้เกียรติโดยเรียกว่าคนหูหนวกหรือคนพิการทางการได้ยินก็ได้ ตอนเราเด็กๆ เราโดนเรียกทั้งอีใบ้ ไอ้หนวก แม้ในตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกว่าคำนี้เป็นคำหยาบเพราะไม่รู้ความหมาย แต่ก็รู้สึกว่าไม่ชอบ เพราะเราก็มีชื่อของเรา แต่พอรู้ความหมายของคำนี้ยิ่งไม่ชอบ” 

ภาษามือ คำว่า "แกล้ง"

เลือกปฏิบัติ

ความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบยังเป็นสิ่งที่มิวรู้สึกอยู่เสมอ อาจด้วยการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ หรือการไม่ยอมรับจากสังคมที่ทำให้เธอมักรู้สึกแบบนั้น

“เราเป็นคนหูหนวกที่ทำงานร่วมกับคนหูดี มักรู้สึกถึงการเอาเปรียบและการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม เช่น หลายครั้งเราถูกโยนงานมาให้จำนวนมากหรือบางครั้งก็โทษว่าเป็นความผิดของเรา ครั้งหนึ่งเคยถูกเพื่อนร่วมงานต่อว่า ทั้งที่ความจริงแล้ววันนั้นเราลาหยุด  มารู้ทีหลังว่าเพื่อนร่วมงานโยนงานมาให้ในวันที่เราไม่อยู่ จนกลายเป็นความผิดของเราและโดนต่อว่าแรงมากว่าไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็วนกลับมาต่อว่าว่าเป็นเพราะเราหูหนวกจึงทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ เขาว่าเราต่อหน้าคนเยอะมากจนเราหลบไปนั่งร้องไห้ที่ห้องน้ำ วันนั้นเสียใจมาก

“ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ในที่ทำงาน เพื่อนหูหนวกคนอื่นก็เคยเจอการกลั่นแกล้ง บางคนต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นทั้งที่เงินเดือนเท่ากัน จึงรู้สึกว่าตัวเองโดนกดขี่”

เช่นเดียวกับอิม เธอสะท้อนถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมในการทำงานว่า เมื่อคนหูหนวกไปสมัครงานก็มักได้ตำแหน่งชั่วคราวหรือเป็นลูกจ้างรายวัน น้อยคนที่จะได้เป็นพนักงานประจำ ในขณะที่คนอื่นได้ขึ้นเงินเดือน คนหูหนวกกลับไม่ได้ขึ้น เพื่อนร่วมงานหลายคนชอบตะโกนใส่คนหูหนวกทั้งที่รู้ว่าคนหูหนวกไม่ได้ยิน เขาเลือกสะกิดก็ได้ ทักมาทางแชทก็ได้แต่ก็ไม่ทำ เราเคยเจอคนเรียกเราด้วยการโยนของใส่ แบบนี้ไม่สุภาพ แม้เขาอาจจะทำเพราะขี้เกียจเดินลุกมาสะกิดแต่ก็เหมือนไม่ให้เกียรติเราอยู่ดี

“นอกจากนี้คือชื่อของคนหูหนวกจะหายไป เมื่ออยู่ในออฟฟิศ ทั้งที่เราบอกตลอดว่าชื่อของเราต้องทำภาษามืออย่างไร แต่ก็ไม่มีใครเรียก มีบางคนที่พยายามสื่อสารผ่านการเขียนหรือพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นมากกว่า”

มิวเสริมว่า สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน คนหูหนวกสามารถใช้ TTRS หรือศูนย์ล่ามภาษามือออนไลน์คอยช่วยเหลือในการทำงานได้ แต่คนหูดีบางคนกลับไม่เข้าใจ หรือไม่อนุญาตให้ใช้เพราะไม่เข้าใจว่าคนหูหนวกต้องการล่ามภาษามือ และไม่ตระหนักว่าล่ามคือสิทธิของคนหูหนวกที่ควรได้รับ

ถูกล้อเลียน

มิวระบุว่า บางครั้งคนในสังคมเลียนแบบท่าทางของคนหูหนวก ทำให้เธอรู้สึกไม่ดีที่ภาษาของคนหูหนวกกลายเป็นเครื่องมือเล่นตลก บ้างก็เอามาล้อเล่นกัน  เหมือนไม่เคารพภาษาที่คนหูหนวกใช้จนทำให้คนหูหนวกถูกเข้าใจผิด หลายครั้งคนล้อเลียนคนหูหนวกว่า ไอ้ใบ้ เพื่อนของเธอถูกล้อด้วยคำเช่นนี้จนกดเก็บอารมณ์และอยากฆ่าตัวตาย

เช่นเดียวกับอิม เธอมองว่า บางครั้งสื่อก็นำเสนอภาพของคนหูหนวกอย่างไม่เข้าใจ เมื่อแสดงไม่ถูกต้องก็อาจทำให้คนอื่นในสังคมเข้าใจว่าคนหูหนวกเป็นแบบนั้น หรือชอบทำแบบนั้น ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ การพูดคุยหรือทำความรู้จักคนหูหนวกก่อนจึงจำเป็นมาก

“เวลาไปซื้อของก็โดนล้อเลียนจากคนขายของ บางคนก็ย้ำว่า ห๊ะๆ อะไรนะๆ ทำเหมือนไม่เข้าใจที่คนหูหนวกบอก ตอนเราไปโรงพยาบาลถึงแม้จะย้ำกับพยาบาลว่า เราไม่ได้ยิน รบกวนช่วยบอกหน่อยถ้าถึงคิว แต่พยาบาลก็ละเลย ไม่ใส่ใจ เราต้องไปนั่งใกล้ๆ หน้าห้องตรวจเพื่อคอยฟังเสียงเรียกจากหน้าห้องตรวจ พยาบาลก็มาว่าว่าเกะกะทางเดิน พอไม่ให้ไปนั่งใกล้ๆ เราก็ไม่ได้ยินเสียงเรียก  พอไปห้องตรวจช้า เขาก็เอ็ดเราด้วยเสียงดังอีกว่าเรียกนานแล้วแต่ไม่เข้าไป

“พอมีโควิคแล้วทุกคนใส่หน้ากาก บางครั้งมีฉากกั้น ทำให้การสื่อสารลำบากมาก มองไม่เห็นปาก อ่านปากไม่ได้ เราฟังได้บ้างแต่ก็ไม่ชัด ทำให้เวลาซื้อของคนหูหนวกมักโดนโกงราคา แม้ค้าคิดว่าพูดไม่ได้ก็ไม่รู้เรื่องหรอก บางคนก็คิดว่าเป็นคนต่างชาติ แท็กซี่ก็ชอบคิดราคาแบบเหมา เราคิดว่า คนควรตระหนักเรื่องข้อจำกัดของคนอื่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อกันได้อย่างเคารพและไม่ทำให้อีกฝั่งรู้สึกไม่ดี

มิวส่งท้ายว่า อยากให้ทุกคนให้เกียรติคนหูหนวก โดยเฉพาะในสื่อหรือข่าวสารต่างๆ ควรใช้คำว่าคนหูหนวก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนหูหนวกต้องการเพื่อสร้างความเข้าใจต่อคนในสังคม