Skip to main content

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยกระดับเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระดับโลกตั้งแต่ต้นปี 2563 หลายประเทศประกาศล็อคดาวน์ ห้ามการเดินทางเข้าออกประเทศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีมากกว่า 103 ล้านคน เสียชีวิตแล้วกว่า 2.24 ล้านคน

วันที่ 2 เมษายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ มีผลในวันที่ 3 เมษายน 2563 โดยห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. โดยยกเว้นผู้ที่มีเหตุจำเป็นหรือผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าที่จำเป็นเพื่ออุปโภคบริโภค ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เชื้อเพลิง รวมถึงการเดินทางของประชาชนเพื่อเข้าหรือออกเวรทำงาน หรือการเดินทางมาจากหรือไปท่าอากาศยาน โดยให้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่นั้นๆ

การประกาศเคอร์ฟิวสิ้นสุดลงในคืนวันที่ 14 มิถุนายน กินเวลานานกว่า 2 เดือน

ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน หลายชีวิตต้องอยู่ในภาวะฉุกเฉินระดับที่มีชีวิตตนเองเป็นเดิมพัน เช่นกรณีของอธิพันธ์ ว่องไว ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ที่มีภาวะสมองพิการหรือซีพี (Cerebral Palsy: CP) ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีผู้ช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน

เรื่องราวต่อจากนี้ของอธิพันธ์เป็นตัวอย่างของช่องว่าง ความไม่เข้าใจ กรอบเกณฑ์ที่ไม่มีความยืดหยุ่น และระดับคุณภาพชีวิตคนพิการที่ยังไม่มีความเท่าเทียม

ในสถานการณ์ไม่ปกติ

อธิพันธ์เช่าห้องอยู่ตามลำพัง ถ้าคุณกำลังเกิดคำถามว่าทำไมไม่หาผู้ช่วยเหลือมาอยู่ด้วยเผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน คำตอบก็ง่ายมากคือเขาไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ ปัจจุบัน หลังเลิกงานในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล เขายังประกอบอาชีพเสริมด้วยการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเบี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือนไม่มีทางเพียงพอ

คืนหนึ่งในช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิว...

“ผมเป็นนิ่วในถุงน้ำดี อาการมันทรมานมาก จะปวดท้องตอนกลางคืน เคยติดเชื้อมา 2 ครั้ง ช่วงที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวหลัง 4 ทุ่มเขาไม่ให้ออกจากบ้าน เผอิญผมปวดท้องประมาณ 5 ทุ่มกว่า ตอนนั้นโทรหาผู้ช่วยให้มาแต่งตัวพาขึ้นรถก็ไม่มีใครกล้าเข้ามา โทรหาเพื่อนหลายคนที่มีรถมารับ แต่ว่าเพื่อนก็อยู่ไกลและไม่มีใครกล้าออกมา”

เมื่อผู้ช่วยเหลือปฏิเสธเพราะกลัวถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว อธิพันธ์จึงติดต่อไปยัง 1669 ซึ่งเป็นเบอร์ของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ที่ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 เจ้าหน้าที่ในสายถามเขาว่าปวดท้องมากี่วันแล้ว

“2 วัน แต่วันนี้หนักสุด” อธิพันธ์ตอบ

คำตอบจากปลายสายกล่าวว่า ถ้าปวดมา 2 วันแสดงว่ายังไม่ฉุกเฉิน สามารถรอถึงเช้าได้ แต่อาการปวดของอธิพันธ์ดูจะรอไม่ได้ เขาจึงโทรหา 191 สายของเขาถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิ บทสรุปไม่ต่างกัน เจ้าหน้าที่มูลนิธิไม่สามารถมารับตัวอธิพันธ์ส่งโรงพยาบาลได้เพราะติดประกาศเคอร์ฟิวและไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน

ในที่สุดเขาเลือกโทรหาเพื่อนอีกคนหนึ่งให้มารับและยืนยันว่า “ถ้าพี่โดนจับ ผมจะรับผิดชอบเอง พี่ไม่ต้องออกอะไรเลย” อธิพันธ์จึงถึงมือแพทย์

ในมือหมอ

แพทย์วินิจฉัยว่าอธิพันธ์ติดเชื้อในถุงน้ำดีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลนครปฐมเพื่อรับการผ่าตัด

“ผมอยู่อำเภอพุทธมณฑลอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 15 นาที หน่วยงานทางการแพทย์ไม่เข้าใจว่าเวลาคนพิการเจ็บป่วยฉุกเฉินอาจใช้เกณฑ์ของคนทั่วไปมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ ผมไปถึงโรงพยาบาลพุทธมณฑลตอนตี 1 รอประมาณชั่วโมงหนึ่ง เขาก็ให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลนครปฐม พอแอดมิดเสร็จก็ปวดท้องตลอด หมอก็ดูอาการ แต่ไม่ให้ยาแก้ปวดท้อง ทรมานมาก

“ขอยาเขาก็ไม่ให้ เราก็ถาม หมอบอกว่าถ้าให้ยาแก้ปวดจะไม่รู้ว่าอาการของเราปวดมากหรือปวดน้อย ยามันจะไปช่วยทำให้เราหายปวด แต่เขาจะไม่รู้ว่านิ่วมันจะรุนแรงแค่ไหน จะหายไปเองไหม”

อาการปวดท้องเริ่มตอน 5 ทุ่ม ถึงโรงพยาบาลพุทธมณฑลตอนตี 1 ตี 2 ถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลนครปฐมเพื่อผ่าตัดโดยระหว่างนั้นไม่ได้รับยาแก้ปวดใดๆ จากตี 2 เวลาล่วงเลยจนถึง 4 โมงเย็น อธิพันธ์จึงได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าต้องผ่าตัด และได้เข้าห้องผ่านในเวลา 23.00 น.

สรุปคือเขาใช้เวลารอคอย 24 ชั่วโมงกว่าจะได้รับการผ่าตัด เป็นการรอคอยที่ยาวนานทีเดียวหากคิดว่าต้องทนกับอาการปวดท้อง

“ผมรู้สึกตัวอีกทีตอนตี 4 ในห้องไอซียู ใส่เครื่องช่วยหายใจ แล้วออกจากห้องไอซียูประมาณ 9 โมงหรือ 10 โมงเช้า พักฟื้นอยู่โรงพยาบาล 4 ถึง 5 วัน”

ในภาวะฉุกเฉินที่ต่างกัน

คุณคิดว่าเงื่อนปมที่บิดเป็นเกลียวในท้องของอธิพันธ์อยู่ตรงไหน? การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล?

ประเด็นที่อธิพันธ์ให้ความสำคัญยิ่งกว่าคือ ในการประกาศเคอร์ฟิว รัฐควรมีมาตรการที่ทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมีความเข้าใจตรงกัน ทำความเข้าใจกับประชาชนว่ากรณีไหนที่สามารถออกจากบ้านได้

“อย่างเพื่อนผมที่พิการต้องใส่สายสวนปัสสาวะ แล้วติดเชื้อตอนกลางคืน เขาโทรไปหา 1669 ทาง 1669 บอกว่ากรณีนี้ไม่ฉุกเฉินเพราะว่าเลือดไม่ออก คุณแค่ติดเชื้อ คุณรอได้ แต่การติดเชื้อของคนพิการมันสามารถทำให้คนพิการตายได้”

อธิพันธ์แสดงความคิดเห็นว่า เกณฑ์ที่ทาง 1669 ใช้กำหนดว่ากรณีไหนฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉินมีปัญหา เพราะใช้เกณฑ์เดียวกันกับคนไม่พิการ ซึ่งมีสภาพร่างกายแตกต่างกัน กรณีไม่ฉุกเฉินสำหรับคนทั่วไปอาจเป็นความฉุกเฉินยิ่งยวดสำหรับคนพิการที่หมายถึงมีชีวิตเป็นเดิมพัน

การติดเชื้อในคนพิการสุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่า มีโอกาสเจอภาวะแทรกซ้อนมากกว่า ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานยังไม่เข้าใจตรงกัน แม้กฎหมายดี สวัสดิการการรักษาดีและฟรี แต่เมื่อถึงหน้างานก็ขึ้นอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมีความเข้าใจการรักษาพยาบาลในคนพิการรุนแรงมากแค่ไหน

“ผมคิดว่าความเสี่ยงของคนพิการมันมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว เวลาเจ็บป่วยมันจะมีอาการแทรกซ้อนตามมาเยอะ สมมติถ้ามีโควิดรอบ 2 เกิดขึ้นผมอยากฝากไปยังหน่วยงานของรัฐว่าคุณต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง 1669 หรือกระทรวงสาธารณสุข หรือประชาชนว่ามีคนอยู่หลายกลุ่ม เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ คนที่เจ็บป่วยแล้วเดินทางลำบาก คุณจะมีมาตรการอะไรช่วยเหลือเขาตอนกลางคืนหรือว่าเวลาฉุกเฉิน ไม่ควรจะเอาเกณฑ์ของคนไม่พิการเป็นเกณฑ์ในการบอกว่าอะไรฉุกเฉิน อะไรไม่ฉุกเฉิน”

ชีวิตเป็นเรื่องรอไม่ได้ อาจมองได้ว่าจากเริ่มมีอาการปวดท้องถึงได้รับการผ่าตัด อธิพันธ์รอถึง 24 ชั่วโมง เราไม่สามารถรู้ได้หรอกว่า อาการของอธิพันธ์นั้นไม่ฉุกเฉินจริงหรือไม่ และสามารถรอได้ตามที่ 1669 ระบุได้หรือเปล่า อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะรอได้หรือรอไม่ได้ก็ตาม หากอยู่โรงพยาบาล อธิพันธ์จะได้รับน้ำเกลือ ได้รับยาฆ่าเชื้อ ตรงกันข้ามหากไม่ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลแล้วเกิดติดเชื้อแบบรุนแรงจนเสียชีวิต แล้วใครจะรับผิดชอบกับการตายของเขาหรือคนพิการคนอื่นๆ ทำไมต้องรอให้เกิดเหตุขึ้นก่อนแล้วจึงแก้ปัญหา

ในความไม่เท่าเทียม

อธิพันธ์ยังเล่าประสบการณ์ของตนว่า

“ถ้าคุณเป็นคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล คุณไปอยู่โรงพยาบาลคุณจะเหมือนคนไร้ญาติ คุณจะเป็นคนไข้ที่ไม่มีใครมาดูแล เพราะผมเคยครับ ตอนนั้นผมป่วยผมเข้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครปฐม แล้วหาผู้ช่วยไม่ได้ ผมปวดฉี่จะให้พยาบาลหยิบกระบอกฉี่ให้ เขาถามว่าญาติไปไหน พยาบาลไม่ได้เป็นผู้ช่วยนะ พยาบาลมีงานเยอะแยะ เขาก็ไม่หยิบให้เรา ผมเลยคิดว่าถ้าเป็นคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีคนช่วย ไม่มีการจ้างพยาบาลพิเศษหรือผู้ช่วย ถ้าป่วยหนักๆ ไปนอนโรงพยาบาลแล้วจะเข้าห้องน้ำยังไง จะอยู่ยังไง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ยังมีช่องว่างในแต่ละโรงพยาบาลที่ไม่เท่ากัน บางโรงพยาบาลในกรุงเทพพยาบาลก็บริการดี หมอบริการดี แต่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดมาตรฐานยังไม่เหมือนกัน”

สวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึง แต่ดูเหมือนจะยังไม่เท่าเทียม จากกรณี 1669 ไล่เรียงมาถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางของคนพิการ ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนพิการยากกว่าคนทั่วไป ยิ่งถ้าเป็นคนพิการรุนแรง การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเข้าถึงการรักษายิ่งเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องใช้รถฉุกเฉิน ฉะนั้นหากการตีความคำว่า ฉุกเฉิน ด้วยเกณฑ์เช่นที่ผ่านมา เท่ากับว่าคนพิการจะมีต้นทุนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่สูงกว่า

อธิพันธ์เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่จะมีระบบรับส่งคนพิการฉุกเฉินตอนกลางคืน

“อยากให้กระทรวงสาธารณสุขทำความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการให้มากกว่านี้ว่า กรณีฉุกเฉินของคนพิการเป็นยังไง คนพิการที่ใส่สายปัสสาวะมีโอกาสเป็นอะไรบ้าง คนพิการที่เป็นซีพีมีอาการชักเกร็งตอนกลางคืนมีผลกระทบอะไรหากไม่ได้รับการรักษา ถ้าบอกว่ารอได้แล้วคนพิการคนหนึ่งเสียชีวิตขึ้นมาจากการที่คุณบอกว่าไม่ฉุกเฉิน ใครจะรับผิดชอบ”

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเรื่องราวความฉุกเฉินที่ถูกมองว่าไม่ฉุกเฉินในภาวะฉุกเฉิน อันเกิดจากการละเลยความแตกต่างหลากหลายในสังคม

 

#มนุษย์กรุงเทพฯxThisablexกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์