Skip to main content

“สื่อพยายามบอกว่า คนตาบอดพยายามมากกว่าคนตาดี แต่ไม่มีใครถามว่าทำไมต้องพยายามมากกว่า สภาพแวดล้อมแบบนี้จะไม่พยายามได้ยังไง ไม่ใช่คนตาบอดชอบพยายาม แต่เพราะตาบอดบวกสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรและเข้าไม่ถึงต่างหาก ก่อให้เกิดอุปสรรคมากกว่าชาวบ้านเขา คนตาบอดเลยยิ่งต้องพยายาม”

นี่เป็นสิ่งที่คนตาบอดคนหนึ่งรู้สึก แต่อาจเป็นสิ่งตรงข้ามกับที่คนในสังคมคิด ภาพโฆษณาครูตาบอดที่สอนนักเรียนเก่ง แต่น่าเสียดายที่ตาบอดหรือรายการทีวีที่บอกว่าการใช้ชีวิตประจำวันของคนตาบอดเป็นเรื่องพิเศษ ทำให้โลกของคนตาบอดดูเป็นเรื่องห่างไกลจากจินตนาการคนทั่วไปมากเหลือเกิน และสิ่งนี้สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของคนตาบอดยิ่งกว่าคำพูดเสียอีก

Thisable.me ชวนคุยกับ พีรพงศ์ จารุสาร ตาบอดที่นิยามว่าตัวเองก็คนตาบอดคนหนึ่งที่มีความธรรมดาเฉกเช่นคนทั่วไป แต่กลับเผชิญกับทัศนคติ ความเชื่อที่ต่างออกไปของสังคม จนส่งผลถึงกฎหมายและนโยบาย รวมทั้งความเข้าใจที่สังคมปฏิบัติต่อพวกเขาผ่านการใช้คำ การเลือกปฎิบัติ การมองว่าตาบอดคือเวรกรรม โดยหวังว่าความเข้าใจจะเป็นแสงแรกแห่งความหวังของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อคนตาบอดก็เป็นได้ 

ถอดรื้อมายาคติเรื่องคนตาบอด

พีรพงศ์ : สมัยก่อนไม่ว่าจะความพิการประเภทไหนก็ล้วนไม่เป็นที่ปรารถนาของคน คนถูกปลูกฝังและทำให้เชื่อว่าความพิการคือผลกรรมจากชาติปางก่อน ถ้าไม่อยากพิการก็ต้องทำบุญเยอะๆ หรือมองว่าใครที่เกิดมาพิการนั้นทำบาปกรรมไว้มากจนไม่มีความดีเหลือเลย พอเชื่อเช่นนี้ คนก็ไม่อยากมีคนพิการอยู่ในบ้าน แม้ว่าทุกวันนี้ทัศนคติแบบนี้จะค่อยๆ คลี่คลาย ไม่ชัดเจนเหมือนสมัยก่อน แต่การยกเรื่องบาปกรรมมาอ้างก็ยังคงมีอยู่ จนทำให้คนพิการถูกมองด้วยความเวทนาสงสาร

“พิ” แปลว่า “ไม่” “การ” คือ “การทำงาน”ถ้าแปลตรงๆ ก็คือทำงานไม่ได้ พอแปลอย่างนี้คนเลยเข้าใจว่า พิการเท่ากับทำงานไม่ได้ บวกกับในยุคนี้อวัยวะที่สำคัญที่สุดคือตา เพราะเราใช้ตาในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะมอง จำข้อมูล หรือสื่อสารคนจึงเกิดความสงสัยว่า ถ้าตามองไม่เห็นแล้วจะอยู่ยังไง  จนเกิดการทดลองปิดตาใช้ชีวิต ลองอยู่กับความมืด ผลยิ่งทำให้หลายคนมองว่าความมืดนั้นน่ากลัว แต่ลืมคิดไปว่าเรายังเหลือประสาทสัมผัสอีกตั้ง 4 อย่าง อย่างหู จมูก ลิ้นและสัมผัส แต่กลับไม่เคยนึกถึง ความกลัวและความไม่รู้เหล่านั้นทำให้ผมตกผลึกว่า คนมองภาวะตาบอดด้วยความกลัว  ทั้งที่อาจไม่เคยคุยกับคนตาบอดเลย ความไม่รู้และความกลัวนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เมื่อตาบอดแล้วคงทำอะไรไม่ได้  มองว่าคนตาบอดมีชีวิตที่ลำบาก พอเห็นคนตาบอดทำอะไรเองได้ก็บอกว่าคนนี้เก่ง แม่งเทพ เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ โดยลืมไปเลยว่าก่อนที่เขาจะเก่งหรือว่าอยู่ในจุดที่เราเห็นนั้นเขาผ่านอะไรมาบ้าง ได้รับการพลักดันยังไงบ้าง ใช้เวลากี่ปี เรื่องพวกนี้กลับไม่มีใครถามมองเพียงแค่ปลายทางผ่านความเก่งซะอย่างงั้น

คำพูดแบบไหนที่ควรใช้เรียกคนตาบอด

ธรรมชาติของคนตาบอดไม่มีถ้อยคำให้บูลลี่มากนัก เพราะเขามีปัญหาแค่เรื่องตา  ต่างกับคนพิการประเภทอื่นที่อาจถูกเรียกว่า เป๋ ง่อย ลีบ ผมไม่เคยถูกเหยียดหยามเรื่องตาบอดจนเกิดปมด้อย ในขณะที่คนอื่นอาจจะเคยโดน เลยอาจจะเสนอการเรียกคนตาบอดไว้อย่างน้อย 2 คำก็คือ คำว่าคนตาบอดทั่วโลกเขาเรียกกันว่าอย่างนั้น อย่างองค์กรที่ผมสังกัดอยู่ ก็ชื่อสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เราไม่มีสมาคมคนพิเศษตา ไม่มีสมาคมคนพิการทางสายตา เรามีโรงเรียนสอนคนตาบอดและไม่มีโรงเรียนสอนคนพิเศษตาเช่นกัน

คำที่สองคือคำว่า พิการทางการเห็น อันนี้กฎหมายรับรอง ถ้าหากคุณรู้สึกว่าคำว่าตาบอดดูหยาบคาย กระดากปาก แสลงใจ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าแสลงใจใครนะ ก็ใช้คำนี้เลย

คำถามคือ เมื่อคุณใช้คำว่าคนตาบอดแล้วคนตาบอดรู้สึกยังไง ไม่มีใครตอบได้เพราะต้องถามเป็นคนๆ ไป นาย ก. อาจจะไม่ชอบ แต่นายเบียร์ ไม่รู้สึกอะไร สำหรับผมการเรียกว่าตาบอดไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือเลวลง ผมผ่านจุดนี้มาแล้ว แต่อย่าเรียกไอ้ก็แล้วกันมันหยาบคาย เช่น “ไอ้บอด” ผมไม่ชอบ เพราะหยาบคาย เปลี่ยนใหม่ได้ไหมเป็น “ท่านบอด” ผมรับได้ “ซุปเปอร์บอร์ด” ผมโอเค หากเราไม่แน่ใจ เราถามได้ คนเราคุยกันได้ ถามเลยว่า “ถ้าจะเรียกว่าคนตาบอด พี่โอเคหรือเปล่า” 

“ไปฟังหนังกันไหม” การถามที่ล้นเกิน

คนตาบอดจะรู้สึกหงุดหงิดมากถ้าการปฏิบัติอย่างแปลกแยกจากชาวบ้านผ่านภาษาที่คิดว่าดี เวลาเราจะชวนใครสักคนไปทำอะไรที่ใช้ตา เช่น ดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ดูสินค้า เราก็พูดได้ แต่พอเจอคนตาบอดจะมีความรู้สึกแปลกๆ เช่น เราจะชวนคนตาบอดไปดูหนังได้ไหม ถ้าเขามองไม่เห็น เอาอย่างนี้แล้วกันเปลี่ยนใหม่เป็นไป ‘ฟัง’ หนังกันไหมถามจริงว่า คนพูดเหรอว่าไปฟังหนัง ถ้าไม่พูดก็อย่าพูดกับคนตาบอดให้รู้สึกแปลกแยก ไม่ต้องสร้างคำอะไรที่แปลกประหลาด คุณก็พูดไปตามปกตินี่แหละ ลองสิครับ ลองชวนคนตาบอดไปดูหนัง บอกเขาเลย ว่าวันนี้ไปดูหนังกันไหม ถ้าชวนผม ผมก็จะตอบทันทีว่า “โอเค ใครจ่าย”

คนตาบอดสะเทือนใจมากกับเรื่องที่ผิดธรรมดา เช่น ถ้าคนตาบอดชมใครสักคนว่าน่ารัก แต่กลับกลายเป็นเรื่องระดับชาติ คนตั้งคำถามว่ารู้ได้ไงวะ เห็นก็ไม่เห็น ทั้งที่ความน่ารักไม่ได้ผ่านการมองอย่างเดียวเรื่องไหนที่คนตาบอดเปิดเผยและเขาคุยว่าได้ ก็เชื่อเถอะว่าได้ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป อย่าไปตั้งข้อสงสัยจนทำให้วงสนทนากร่อย เช่นเขาบอกว่า เฮ้ย คนนี้น่ารัก ก็น่ารักก็น่ารัก อย่างน้อยก็น่ารักในมุมของคนตาบอด ไปถามซะ “เฮ้ย ทำไมรู้ว่าน่ารัก ทำไมรู้ มองก็ไม่เห็น” คือถามจนกระทั่งบทสนทนากร่อย 

อีกเรื่องก็คือการเอาตาบอดไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นแง่ลบ เช่น ตาบอดคลำช้าง หรือในอีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า แก้ปัญหาแบบไม่รู้เหตุรู้ผล โง่เขลา เปรียบเทียบว่าปัญหาคือช้างใหญ่ เวลาคนตาบอดจับขาก็นึกว่าเป็นต้นเสา เวลาจับหูก็นึกว่าคือใบพัด ไม่สามารถมองภาพรวมทั้งตัวได้ คนเข้าใจว่าใช้มือคลำไม่สามารถทำให้แก้ปัญหาได้ดีเท่ากับมองเห็น ฉะนั้น การตาบอดจึงถูกเปรียบเทียบกับสิ่งที่แย่ๆ สิ่งที่เป็นความกลัว ความไม่รู้  คือ เรื่องนี้ผมยืนยันว่าไม่จริง คุณรู้ไหมว่าการคลำของคนตาบอดเป็นวิชาที่ต้องสอนเรียกว่า Orientation and mobility หรือการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว การใช้มือคลำหรือมือสัมผัสเป็นเอกลักษณ์ของคนตาบอด ไม่ได้อยู่ดีๆ จะทำกันได้มั่วๆ อาจารย์มณเฑียร บุญตันเรียกวิธีนี้ว่า คลำแบบบูรณาการ เพราะเราไม่ได้จับอยู่ที่เดียว แต่เราสำรวจจนทั่ว ผมไม่เถียงว่าการใช้ตามองนั้นเร็วกว่า แต่ความละเอียดไม่แน่ใจ น่าจะขึ้นอยู่กับทักษะ การใช้มือคลำกับตาเห็น ตาเร็วกว่าอยู่แล้ว แต่ความละเอียดรอบคอบนี่ไม่รู้ ซึ่งคนชอบเปรียบเทียบแบบนี้

อีกสำนวนอย่างตาบอดสอดตาเห็น หมายถึงความไม่รู้ เดาส่งๆ หรือสำนวนว่า ความรักทำให้คนตาบอด อันนี้ชัดเลยว่าหมายถึงการหลงจนขาดสติ ความตาบอดไปเปรียบเทียบกับความเขลา ความตาบอดทำให้เกิดความน่ากลัว สักวันหนึ่งถ้าตาบอดจะทำยังไง ตายซะดีกว่า ทำให้คนคิดหรือรู้สึกแบบนี้

นอกจากคนจะเอาตาบอดไปเปรียบเทียบกับความไม่รู้แล้ว ยังเปรียบเทียบกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตชีวา เพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งชื่อ “หนาวนี้พี่ตายแน่” เนื้อเพลงร้องว่า “กินข้าวบ่มีหยังกับ นอนบ่หลับก็บ่มีสาวกอด สาวตาบอดกอดได้ก็บ่อุ่น” ก็คือสาวตาบอดถึงกอดได้ยังไงก็ไม่อุ่น เนื้อหาสาระเขาต้องการจะสื่อว่า อากาศหนาว นอนไม่หลับเลย ต่อให้ได้สาวตาบอดมาก่อนก็ไม่อุ่น ประเด็นก็คือคนธรรมดากอดกันต้องอุ่นใช่ไหม แต่กอดคนตาบอดยังไงก็ไม่อุ่น เหมือนกอดเสากอดปูน  ผมก็ไม่แน่ใจว่าคนแต่งเคยกอดคนตาบอดหรือเปล่า  และผมก็ไม่รู้ว่า สาวตาบอดกอดอุ่นหรือไม่ แต่หนุ่มตาบอดกอดอุ่นหรือเปล่า อันนี้ผมยินดีให้พิสูจน์

คนจะบอกว่า อย่าไปคิดมาก ก็แค่บทกลอนพาไป ผมจะโต้ว่าจะไม่คิดมากได้ยังไง ในเมื่อคนร้องเพลงนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นราชาเพลงลูกทุ่ง เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงในสังคมยุคนั้น  คนจะคิดยังไง

“แม้ตาจะบอดแต่ก็มีสิ่งที่พระเจ้าให้มาทดแทน”

ประเด็นที่หนึ่งที่พูดไปก็คือ การจำกัดสิทธิ์ไม่ให้มีส่วนร่วม หรือการปฏิบัติต่อเราอย่างไม่ใช่คนทั่วไป บางประเด็นที่ต้องใช้ตาก็พยายามใช้ภาษาที่ประหลาดๆ ให้เรารู้สึกว่าเราแปลกแยก อย่างนี้คือการเบียดขับเราออกไป หรือไม่ก็ยกเราจนลอย จนเป็นซุปเปอร์ฮีโร่  ไม่เท่ากันจริงในแบบมนุษย์ 

เวลาคนคิดว่า คนตาบอดต้องร้องเพลงเพราะ มันก็ไม่ได้เป็นเพราะตาบอดจึงร้องเพลงเพราะ ซึ่งไม่มีหรอกอะไรบนโลกใบนี้ที่จะเกิดจากการบันดาลให้ ถ้าเราใช้หรือฝึกอวัยวะบ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นทักษะ ไม่เกี่ยวกับที่คนบอกว่าถ้าสูญเสียแล้วจะได้อะไรมาทดแทน คนที่ใช้หูฟังดนตรีได้ดีหลายคนก็ไม่ใช่คนตาบอด คนที่ชิมอาหารเก่งก็ไม่ใช่คนตาบอด ทำไมเขาแยกรสได้ดีล่ะ คือคนก็เชื่อแล้วก็เอาไปสร้างเป็นสื่อ เป็นเนื้อหา ผลิตคอนเทนต์เกิดเป็นความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน 

ที่สุดก็คือถูกยกย่องในเรื่องที่ธรรมดา เช่น คนตาบอดเดินขึ้นบันไดได้ คนถามว่า ทำไมไม่ตกบันได ผมก็จะบอกว่าเพราะเดินระวัง เพราะชิน ไม่ใช่ว่าตาบอดแล้วพระเจ้าประทานสมาธิมาให้  ผมคิดแบบนี้และไม่ใช่ข้อสรุปของทุกคนอย่างเวลาคุณเห็นคนตาบอดร้องเพลงเพราะออกทีวี ผมก็คิดว่า แน่นอนล่ะคุณต้องเห็นคนร้องเพราะแน่ เพราะหากร้องเพี้ยนใครเขาจะเอามาออกทีวีละครับ

“คนตาบอดนี่ผมรู้จักดี เจอเขาเดินผ่านหน้าบ้านทุกวัน”

มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเคยใกล้ชิดคนตาบอด บางทีเจอแค่คนสองคนก็นึกว่านี่คือคนตาบอดทั้งโลก เลยเอาวิธีเดียวไปจัดการกับคนตาบอดทั้งหมด นี่คือการเหมารวม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อคนตาบอดมาก เพราะพอคนคิดว่าคนตาบอดต้องการอะไรเหมือนกัน ก็ปฏิบัติเหมือนเดิมกับที่เคยทำหากเขาเคยช่วยดึงคนตาบอดข้ามถนน ก็คิดว่าจะต้องดึงคนตาบอดทุกคนข้ามถนน  จริงๆ ต้องให้เราเกาะข้อศอก แต่ที่ผ่านมาคือดึงไปเลย คนตาบอดหลายคนถูกช่วยผิดๆ ก็ปล่อยผ่าน ไม่ได้บอก คนช่วยก็ดีใจว่าได้ช่วยแต่ไม่ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด

ผมคิดว่า วิธีแก้คือ ต้องทำให้คนได้เห็น ได้เจอ ได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนตาบอดที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่การเจอกันทุกวัน แต่ต้องมีประสบการณ์ร่วมบางเรื่อง เช่น กินข้าวกับคนตาบอด เรียนหนังสือกับคนตาบอด พาคนตาบอดข้ามถนน ยืนฟังคนตาบอดร้องเพลง กินข้าวโดยมีคนตาบอดเป็นพนักงานเสิร์ฟ หรือชนแก้วกับคนตาบอดในคาราโอเกะ

ถ้ายังไม่เคยทำก็ต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ก่อน ให้คนตาบอดออกไปปรากฏตัว มีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้นผ่านการเรียน การทำงาน ผมเคยขึ้นลิฟท์ที่มีปุ่มเบรลล์ แล้วเพื่อนร่วมลิฟต์ถามว่า “นี่อักษรเบรลล์ใช่หรือเปล่า” ผมก็บอกไปว่าใช่ แต่ลิฟต์ดันไม่มีเสียง เขาก็ถามอีกว่ารู้ได้ไงว่าชั้นไหนถ้าไม่มีเสียง ผมจึงถามว่าทำไมคุณสนใจเรื่องเบรลล์ ทำไมรู้ว่าต้องเกาะข้อศอก จึงได้คำตอบว่า เคยเห็นในโทรทัศน์และมีเพื่อนบ้านเป็นคนตาบอด เราจึงต้องสร้างประสบการณ์แบบนี้เยอะๆ เพื่อลดความรู้สึกแปลกแยก

ที่สำคัญคือได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนตาบอด ต่อให้เรียนผมก็ไม่นับว่าเป็นประสบการณ์ร่วม เพราะการเรียนแบบโรงเรียนไทย ต้องมี Event บางเรื่องที่เราต้องสร้าง นี่คือสิ่งที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยพยายามทำคือเข้าไปร่วมกิจกรรมทุกอย่าง และปลูกฝังคนตาบอดให้มีวิถีชีวิตธรรมดา ตื่นเช้ามาไปทำงานออฟฟิศ เช่าห้องอยู่คนเดียว ซักรีดเสื้อผ้า ทำในสิ่งธรรมดาๆ ไม่ต้องโอเวอร์มาก แนวคิดของผมไม่เหมือนคนตาบอดรุ่นก่อนที่เน้นสร้างความอัจฉริยะ เราสร้างความธรรมดานี่แหละ

เพราะเป้าหมายของคนตาบอดคืออยากให้สังคมรู้ว่า คนตาบอดก็มีชีวิตทั้งดี ทั้งเลว เหมือนคนทั่วไป แต่สื่อไม่นำเสนอ กลับไปนำเสนอแต่ภาพความเก่งอย่างเดียว คนตาบอดที่เก่ง คนที่สอบเอนทรานซ์ได้  คนที่เรียนปริญญาเอกเป็นดอกเตอร์ ครูไอซ์ (ดำเกิง มุ่งธัญญา) ก็คือครูทั่วไป คุณไปถามว่าทำไมถึงได้เป็นครูอันนี้ผมเห็นด้วย แต่สื่อกลับยกการตาบอดเข้ามายุ่งเกี่ยว ตั้งคำถามว่า ตาบอดแล้วทำไมจึงอยากเป็นครู ทั้งที่จริงตาบอด ตาดีก็ไม่เห็นจะเกี่ยวกับความอยากเป็นครูตรงไหน คุณเสนอแค่วิธีการสอน ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปตอกย้ำว่า ‘เพราะความตาบอด  ความมุ่งมั่นพยายาม ทำให้เขาประสบความสำเร็จ’ คนเราก็พยายามทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรตกมาจากฟ้าหรอก 

เหมือนสื่อพยายามบอกว่า ครูไอซ์พยายามยิ่งกว่าคนตาดี แต่ไม่มีใครถามว่าทำไมต้องพยายามยิ่งกว่า ไม่หันกลับมาดูสภาพแวดล้อมแบบนี้จะไม่พยายามได้ยังไง ความพยายามแบบนี้เกิดจากพวกคุณทั้งนั้น ไม่ใช่แค่พวกคุณพวกผมก็ด้วย สุดท้ายก็ออกมาเป็นความพยายาม ประเด็นคือไม่มีใครเคยถามว่าทำไมเขาต้องพยายาม อ้อ เพราะเขาตาบอด ซึ่งไม่ใช่ตาบอดอย่างเดียวและพยายาม แต่เพราะตาบอดบวกด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรและเข้าไม่ถึงต่างหาก จึงก่อให้เกิดอุปสรรคมากกว่าชาวบ้าน คนตาบอดก็เลยต้องพยายาม

“ทำ...ไว้มาก ชาตินี้เลยเกิดมาตาบอด”

ความพิการเป็นบาปกรรม เป็นแนวคิดรากฐานที่ส่งต่อมาจากคนยุคก่อน  “เขาเกิดมาพร้อมกับบาปกรรม ถ้าใช้คนตาบอดทำงาน ชาติหน้าเดี๋ยวก็ตาบอดเหมือนเขาหรอก” แม้แต่คนตาบอดเองก็เชื่อเหมือนกัน บางคนเชื่อว่าเป็นผลกรรมจากชาติปางก่อ จึงส่งผลให้ตาบอด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำอะไรพิเศษ เช่น กินมังสวิรัติทุกวันพระ ไม่ดื่มเครื่องดองของเมาในวันพระใหญ่ ใส่บาตรทุกเช้าและทำบาปน้อยลง ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดี เช่นเดียวกับคนตาดีที่มีความเชื่อเหมือนกัน ผมจึงอยากเปลี่ยนให้ทุกคนคิดว่า เรื่องนี้มันก็เรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องเฉพาะคนอย่าไปเหมารวม เพราะวันหนึ่งคุณอาจเจอคนตาบอดที่แม่งดิบเถื่อน ไม่รู้ว่าวัดวาเป็นยังไง สวดมนต์ไม่เป็นก็ได้  คือ “หมอดูบอกให้ทำบุญกับคนตาบอด” 

ผมเคยเจอคนวิ่งตามและดึงเสื้อบอกให้หยุดเดิน แล้วก็เอาเหรียญสิบมายื่นให้ เขาบอกว่า “หมอดูทักว่าถ้าเจอคนตาบอดให้ทำบุญ” ผมก็ถามไปว่า “คุณหาเงินได้เดือนละเท่าไหร่” แต่เขายังหาไม่ได้เพราะเป็นนักศึกษา ผมบอกไปว่า “ผมหาเงินได้เดือนละ 15,000 (ในตอนนั้น) ผมเรียนจบปริญญาตรีแล้วเรียนยูทาห์ (ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์) ตอนนี้นัดเพื่อนกำลังจะไปกิน MK เงิน 10 บาท ของคุณไม่พอหรอก ถ้าจะทำบุญคุณต้องทำให้พอ มื้อนี้ผมจะเลี้ยงเพื่อนด้วย แถมผมชอบกินเป็ดย่างอย่างน้อยก็กล่องละ 200 บาท” 

เขาเงียบกริบ ผมนึกว่าผมจะโดนอะไรสักอย่างหรือเปล่า จึงเอาเงิน 10 บาทคืนไปก่อนบอกว่า “ถ้าอยากจะทำบุญก็ไปทำที่วัด คุณเลือกหน่อยได้ไหม ถามก่อนได้ไหมว่าคนตาบอดอย่างผมมีคุณภาพชีวิตยังไง เงิน 10 บาท ก็ไม่พอใช้ แถมยังรู้สึกว่าคุณเหยียดหยามผมเหมือนขอทานเลย เปลี่ยนจากเงิน 10 บาทเป็นแบงค์ 500 สิ” เขาก็รับเงินคืนแล้วก็เงียบไป 

หรืออีกครั้งยืนรอรถเมล์ก็มีป้ามาถามว่า “ถ้าป้าจะให้เงินสัก 5 บาท จะเป็นยังไง” ผมก็ตอบว่า “ป้าหาเงินได้เดือนละเท่าไหร่ก็เก็บไว้ใช้เถอะครับ ผมไม่เดือดร้อน”ผมไม่ว่าใครเรื่องความเชื่ออย่างบาป-กรรม แต่ไม่ควรให้ความเชื่อส่วนตัวมากระทบความรู้สึกคนอื่น คนตาบอดหลายคนโกรธ ไม่พอใจ ตกใจ เราไม่ใช่ขอทาน ทุกคนก็มีสิทธิ เสรีภาพที่จะทำในสิ่งที่เชื่อ แต่ก่อนจะเสนออะไรให้คนตาบอดก็ควรถามก่อน เวลาตักบาตรอย่าถามพระ พวกเราเป็นคนตาบอดซึ่งคุณถามก่อนได้ หมอดูทักอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คุยก่อนอย่าพึ่งแสดงเจตนารมณ์อะไร คนไม่รู้จักกันก็ตกใจที่อยู่ดีๆ ยื่นเหรียญสิบให้ 

การทำบุญคนให้ต้องมีความสุข และคนรับก็ต้องมีความสุขด้วย บางครั้งการทำบุญกับคนพิการก็ส่งผลดี ผมเองช่วงโควิด-19 ก็สั่งข้าวแกงมากิน คนขายบอกว่า เขาลดให้ถือว่าช่วยกันช่วงโควิด ผมก็ขอบคุณ เพราะปลายเดือนก็ต้องประหยัด แม้ก็รู้ว่า เขาอาจจะช่วยเพราะเราตาบอด แต่เราก็คิดว่าจะตอบแทนเขาด้วยการให้ทิปเขากลับคืนบ้าง

ผมจะบอกว่าการที่คุณเห็นคนพิการเป็นวัตถุแห่งบุญผมไม่ว่า คุณอาจจะคิดว่าทำบุญแล้วก็ได้บุญมากเป็นความเชื่อ แต่ควรกันถามกันถ้าคนรับเขาไม่เต็มใจก็อย่าไปยัดเยียด บาปกรรม หรือเวลาไปซื้อของเขาเห็นว่าเราตาบอดก็แถมให้อันนี้ก็เรียกว่าบุญ ถ้าเขาบอกว่าผมก็มีเงินผมก็ซื้อได้แต่คุณก็ไปยัดเยียดอันนี้ก็ไม่เรียกว่าบุญแล้ว

เมื่อความเชื่อสะท้อนเป็นกฎหมาย 

ทัศนคติความเชื่อและความศรัทธาเป็นเหตุใหญ่ของทุกสิ่งในโลกนี้ กฎหมายนั้นสะท้อนความเชื่อ เรื่องคนพิการในไทยจึงกลายเป็นเรื่องสงเคราะห์ ไม่ค่อยมีสภาพบังคับหรือต่อให้มีสภาพบังคับจริงคนก็พยายามหลีกเลี่ยง เช่น ข้อกำหนดการจ้างงานคนพิการ 1: 100 คนเขา ที่ยังไม่ครบ สถานประกอบการณ์บอกว่าจ้างคนพิการไม่ได้หรอก เพราะหาคนพิการไม่ได้ หรือจ้างไปก็ไม่รู้จะให้ทำอะไร เพราะเขาก็อยากให้พนักงานทำงานได้เยอะที่สุด ไม่เปิดโอกาสให้คนพิการได้ลองหรือไม่ก็จะเลือกคนที่ตาเลือนลาง ไม่ใช่คนตาบอดสนิท

ต้องใช้เวลานานแค่ไหนเพื่อแก้ปัญหา 

อาจต้องข้ามเจนเนอเรชั่นเลยในการแก้ปัญหาเรื่องทัศนคติ  เรื่องนี้พูดกันมา 80 กว่าปีแล้ว หลังมีโรงเรียนสอนคนตาบอด เราต่อสู้เรื่องการถูกเลือกปฏิบัติจนได้มาหลายอย่าง แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่แก้ไม่ตก เช่น หากพ่อแม่ให้มรดกกับลูก ก็มองว่าลูกตาบอดจะรักษามรดกได้ไม่ดีเท่าลูกตาดี เลยแบ่งมรดกให้ลูกตาดีมากกว่า หรือผู้ชายตาบอดหากไปจีบผู้หญิง พ่อแม่เขาก็ถามว่า จะดูแลลูกสาวฉันได้หรือเปล่า? เพราะเขาเชื่อว่าคนตาบอดดูแลลูกเขาได้ไม่ดีเท่าคนตาดี 10 ปีก่อนที่เริ่มทำงานคนยังมีความคิดแบบเก่าแบบนี้ แต่คนรุ่นนี้เริ่มที่จะตั้งคำถาม ต่อความเชื่อและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสมาคมคนตาบอดเพิ่งรับสมาชิกใหม่ 2-3 ท่าน เขาสนใจว่าไลฟสไตล์เราเป็นยังไงและไม่ถามว่าทำได้ไหม และคอยสังเกต ฉะนั้นคนเจนเนอเรชั่นใหม่นั้นคือความหวัง

ผมเชื่อว่า ทุกคนในโลกมีความหลากหลายแต่ละคนมีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน ความคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน ฉะนั้นอย่าทำอะไรที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จงอยู่ร่วมกันแบบเคารพ ในฐานะหุ้นส่วนของสังคมและคนพิการก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตปกติสุขเหมือนเรา แค่นี้สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังสักที ไม่ใช่เพียงแค่วาทกรรม ถ้าเราเชื่อว่าตาบอดไม่ต่างจากความอ้วน ดำ ขาว สูง ยาว ที่เป็นอัตลักษณ์ ไม่ใช่ปม เราก็ต้องปฏิบัติต่อคนทุกคนเท่าเทียมกัน  หากเราสร้างอะไรสักอย่างคนพิการก็ต้องมีส่วนร่วมพัฒนาและได้ประโยชน์ด้วย อาจต้องมีระบบโควต้าเป็นทางเลือกสุดท้าย และควรออกแบบสภาพแวดล้อมให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัด ต้องทำแบบนี้ถึงจะเป็นสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างจริงจังไม่ใช่แค่วาทกรรม

กรณีของ ส.ส.ที่ใช้คำเปรียบเปรยความพิการ ผมว่าเขาพูดไม่คิด เคยชินที่จะเปรียบเทียบความพิการกับอะไรแย่ๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในสภาผู้แทนราษฎร สส.ฝ่ายค้านพรรคหนึ่งก็เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า  “การได้ส.ว.ชุดนี้มาทำงาน ก็เหมือนได้คนแขนด้วนมาทำงาน

” ฉะนั้นคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องคิดเยอะๆ ก่อนจะพูด คนคาดหวังว่าคุณจะเป็นผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติ พูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ฉะนั้นคนที่ทำควรรับผิดชอบและสู้กันทางกฎหมายต่อไป 

ตัวร้ายต้องพิการและเส้นกั้นระหว่างการล้อเลียนและล้อเล่น

ผมรับได้ที่เอาตาบอดมาเจือกับความบันเทิง แต่เส้นแบ่งของการล้อเลียนกับการล้อเล่นนั้นห่างกันนิดเดียว ความบันเทิงจะไม่เป็นปัญหาตราบที่ไม่ก้าวล่วงคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่ผมรับไม่ได้ คือเอาความพิการไปเป็นผลกรรม เช่น คนนี้เลวตั้งแต่เรื่อง โกงสารพัด สุดท้ายรถชนแล้วก็ตาบอด มีชีวิตอยู่แบบลำบากยากเข็ญ นั่งบนสะพานลอยเสื้อขาดๆ ให้คนผลัดกันมาทำบุญทำทาน พนมมือสั่นๆ    บางเรื่องมีบทคนตาบอดสุดท้ายก็ต้องจบแบบผิดหวัง หรือไม่ก็ตาย อย่างหนังเรื่อง ‘โทน’ เพื่อนพระเอกที่หน้าตาผิดปกติ ถูกเล่นโดย สังข์ทอง สีใส  ซึ่งแม้บทจะใจดี ดูแลเพื่อนดีมาก แต่ตอนจบก็ถูกฟ้าผ่าตายเพราะไปช่วยพระเอก นางเอก

ละครบางเรื่องก็นำเสนอว่า คนไม่พิการเกิดอุบัติเหตุจนต้องใช้ชีวิตแบบตกระกำลำบาก อย่างในเรื่อง ‘แก้วตาพี่’ พอพระเอกตาบอดก็อยู่แบบลำบากยากเข็ญ แต่ตอนจบกลับหาย กลายเป็นตาดีจึงมีความสุข ทำไมจึงไม่จบโดยให้พระเอกมีความสุขกับความพิการ เปลี่ยนให้เขามีความสุขในแบบที่เขาเป็นได้ไหม ตาบอดก็บอดไปสิ หากสังคมพยายามทำแบบนี้ ความพิการก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ มองว่าพิการชีวิตก็มีความสุขได้  อย่าเอาความพิการมาเชื่อมโยงกับความทุกข์ไปเสียหมด