Skip to main content

การนำเสนอภาพจำของคำว่าคนพิการผ่าน  ThisAble.me แค่สื่อเดียวคงไม่สามารถลบภาพลักษณ์คนพิการดูน่าสงสารหรือเป็นภาระของผู้อื่นได้ สื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ยังเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและการรับรู้ของสังคมในวงกว้าง หากภาพจำที่น่ารันทดอดสู การมองคนพิการด้วยความสงสารนั้นถูกช่วยกันทำให้ลดน้อยลง  สังคมก็คงมองเห็นคนพิการในฐานะของคนที่มีศักยภาพมากขึ้น

ภาพลักษณ์ของคนพิการถูกสื่อฉายซ้ำๆ จนคนเข้าใจผิดว่าคนพิการทำอะไรเองไม่ได้นี้เอง ทำให้ ThisAble.me ชวนอาจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถกว่าสื่อกระแสหลักต้องต้องนำเสนอเรื่องราวคนพิการอย่างไร เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ส่งผลให้คนพิการใช้ชีวิตได้ และทำให้ผู้อ่านรู้เท่าทันนัยยะที่แฝงมากับความสงสารและความตลกขบขับของคนพิการ

เป็นภาพชื่อเรื่องที่มีพื้นหลังเป็นรูปอาจารย์เจษฎาหันไปด้านซ้าย และมีแสงอ่อนๆ ส่องลงหน้า

ที่ผ่านมาสื่อนำเสนอภาพลักษณ์คนพิการอย่างไร

ดร.เจษฎา : ประมาณสี่ห้าปีที่ผ่านมา ผมทำวิจัยใหักับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องภาพลักษณ์ของคนชายขอบที่ถูกนำเสนอในสื่อ หนึ่งในนั้นก็มีคนพิการด้วย งานวิจัยแบ่งทำเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือวิเคราะห์ว่าสื่อนำเสนอภาพลักษณ์คนพิการอย่างไรบ้าง ปรากฎว่าภาพของคนพิการในสื่อมีอยู่น้อยมาก แนวทางที่สื่อนำเสนอมี 2 แบบ ได้แก่ 1. นำเสนอแบบเวทนานิยมคือ คนพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดูน่าสงสาร และ 2. นำเสนอความพิการเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องที่ไม่เต็มบาท เรื่องคนไม่เต็มคน แล้วก็ล้อเลียนเขา แต่กลับถูกเอาไปเชื่อมโยงกับคำเชิงลบ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้จากงานวิจัยครั้งนั้น

การสื่อสารเรื่องคนพิการเปลี่ยนไปบ้างไหมในช่วงที่ผ่านมา 

เห็นความแตกต่าง แต่ไม่แตกต่างมาก ความแตกต่างเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อด้วย สมัยก่อนสื่อกระแสหลักเป็น Gatekeeper คอยกลั่นกรองคอนเทนต์ ควบคุมภาพการนำเสนอ ส่งผลให้ภาพคนพิการฉายซ้ำในรูปแบบเดิมอยู่ตลอดเวลา ช่วงหลังมีสื่อโซเซียลมากขึ้น ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้กลุ่มคนที่เป็นคนชายขอบกลุ่มต่างๆ มีพื้นที่บนสื่อมากขึ้น ได้นำเสนอเรื่องราวของตัวเขาโดยไม่ต้องรอสื่อกระแสหลักมานำเสนอ ถ้ารอสื่อกระแสหลัก ก็คงไม่มีคนทำ อีกเหตุผลหนึ่งคือโซเซียลมีเดียทำให้ใครก็นำเสนอประเด็นได้ แม้แต่ประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่เคยมอง คนในโซเซียลมีเดียก็สามารถพูดถึงจนสื่อกระแสหลักต้องหันมามองได้ เช่น การประท้วงเรื่องลิฟต์คนพิการ อย่างไรก็ดีผมว่าก็ยังมีน้อย ข่าวกระแสหลักต้องนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถอดรื้อมายาคติว่าคนพิการไม่ใช่คนที่ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเขาได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม

นอกจากนี้เราต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างผ่านการออกแบบนโยบายต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม ผมอยู่ญี่ปุ่นมานาน และเห็นว่าคนพิการไม่ได้มีความแตกต่างกับคนที่ไม่พิการเลย เพื่อนคนญี่ปุ่นที่เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันเขาเป็นคนพิการ แต่ก็ไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ อยู่คนเดียวได้ เขาทำได้เพราะระบบขนส่งดี พอไม่มีสิ่งกีดขวาง คนพิการก็คือคนๆ หนึ่งที่ทำอะไรเองได้เหมือนคนทั่วไป แต่คนไทยมักมีทัศนคติว่าถ้ามีลูกพิการ แล้วพ่อแม่หรือใครสักคนจะต้องมาดูแลคนพิการ เสมือนเสียกำลังคนไปถึงสองคน ฉะนั้นหากทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ คุณจะได้ทรัพยากรมนุษย์หนึ่งคนและยังได้ทรัพยากรคนรอบข้างคนพิการอีกสองสามคนด้วย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ไม่มองว่าคนพิการคือภาระ ผมจึงมองว่าสื่อกระแสหลักยังทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดีพอ 

สื่อกระแสหลักหรือโซเซียลมีเดีย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ได้มากกว่ากัน

สื่อกระแสหลักมีอิทธิพลมากกว่า ในด้านหนึ่งเราอาจต้องผลักให้ประเด็นเรื่องคนพิการไปอยู่ในสื่อกระแสหลัก แต่ก็ต้องทำงานควบคู่กันไปในโซเชียล ช่องทางมันก็จะมากกว่าการมีแค่ทางใดทางหนึ่ง 

ภาพอาจารย์เจษฎาเอามือใส่กระเป๋ากางเกงด้านซ้ายและยืนยิ้มอยู่


ทำไมภาพความน่าสงสารของคนพิการจึงขายได้  

ภาพเหล่านี้เร้าอารมณ์เชิงดราม่า เหมือนเราดูละครที่มีนางเอกชีวิตรันทด โดนกลั่นแกล้ง เรายังชอบเลย เรื่องคนพิการก็เป็นชีวิตคน มันเร้าอารมณ์เหมือนกัน อะไรที่มันดูเป็นเรื่องน่าทึ่งก็มักเรียกเรตติ้งให้ทุกคนสนใจและทำเงินได้

ถ้าอยากลบภาพ ‘คนพิการ = คนน่าสงสาร’ ผู้ผลิตสื่อควรทำอย่างไร

ควรเพิ่มตัวละครคนพิการเข้าไปในละคร ไม่จำเป็นต้องให้คนพิการเป็นพระเอกนางเอก เป็นตัวละครใดก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ให้คนไปปรากฎอยู่ในพื้นที่สื่อ ทำให้คนดูรู้ว่าคนพิการใช้ชีวิตปกติเหมือนคนที่ไม่พิการได้ มีพิธีกร ผู้ประกาศข่าว ดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์เป็นคนพิการ เช่น คุณกฤษนะ ละไล ผู้สื่อข่าวเนชั่นที่นั่งวีลแชร์ เราก็เห็นว่าเขาทำหน้าที่ตรงนี้ได้เต็มที่ โดยไม่ได้มองว่าพิการหรือไม่พิการ สื่อควรให้พื้นที่กับคนแบบนี้มากขึ้น กำจัดค่าที่นิยมที่คัดกรองคน อย่างเช่น หากคนพิการสมัครเป็นดารา นางงาม ผู้ประกาศข่าว พิธีกรก็จะมักถูกคัดออก เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ลักษณะของคนที่จะมาอยู่บนหน้าจอทีวีได้ เปลี่ยนเป็นดูที่ความสามารถ ให้โอกาสและพื้นที่เขาในการแสดงความสามารถ

ช่อง ThaiPBS ก็พยายามนำเสนอเรื่องคนพิการแต่คนก็ไม่ค่อยดู ผมก็เสนอให้ทำเป็นละคร คนก็จะรับแนวคิดและความคุ้นเคยเข้าไปแบบเนียนๆ ภาษาอังกฤษเขาเรียก Sugarcoat เราต้องเคลือบน้ำตาลให้คนกินง่ายๆ ผมจะยกตัวอย่างวิธี Sugarcoat ในละครว่า เมื่อหลายสิบปีที่แล้วมีซีรีส์ของบริษัทซีเนริโอ เรื่องรักแปดพันเก้า เป็นซีรีส์ที่มีคู่รักหลายคู่ แล้วหนึ่งนั้นเป็นคู่ชายชาย ซึ่งย้อนกลับเมื่อ 10-15 ปีที่แล้วละครชายชาย คนดูอาจจะรู้สึกอี๋ รู้สึกไม่ดีกับความรักเพศเดียวกัน จุดจบของคู่รักชายชายจึงถูกจินตนาการว่าต้องจบแบบรัดทดใจ แต่พอถูก Sugarcoat ด้วยซีรีส์รักแปดพันเก้า คนกลับมาเชียร์ความรักคู่นี้ ขนาดแม่ผมเป็นคนหัวโบราณมาก ไม่ยอมรับเรื่องความรักเพศเดียวกันเลย เขาก็ดูเรื่องนี้จนวันหนึ่งมีฉากตัวละครชายสองคนนี้กลับมาดีกัน แม่ผมยังหันมาคุยกับผมเลยว่า ‘อ้าวดีกันแล้วเหรอ’ อันนี้คือความสำเร็จของการ Sugarcoat เขารับรู้ว่าแล้วว่าความรักเพศเดียวกันไม่ได้ต้องจบแบบเดิมๆ เท่านั้น

ภาพถ่ายแค่ครี่งหน้าอก อาจารย์เจษฎาใส่แว่นสีน้ำตาลแล้วหันไปมองด้านขวา


แล้วผู้ผลิตนำเสนอภาพลักษณ์คนพิการได้รูปแบบไหนได้บ้าง

ผมมองว่าละครเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะคนดูละครเยอะ อย่างละครที่ดังและเป็นกระแสมากๆ เช่น บุพเพสันนิวาสหรือกรงกรรมที่ตัวละครทุกตัวในเรื่องดังหมดทุกคนเลย ผมยังแอบคิดเลยว่า หากหนึ่งในนั้นมีคนพิการเป็นนักแสดงจะดีแค่ไหนที่ทำให้คนได้เห็นศักยภาพของคนพิการ

แต่หากสื่อยังยืนยันว่า จะทำแบบเดิมเพราะมองว่าคนดูชอบดู ผมก็คิดว่าไม่ต่างอะไรกับการผลิตซ้ำฉากข่มขืนในละคร ที่ละครต้องมีฉากข่มขืน ก็เพราะเรตติ้งดี โดยไม่สนใจว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร อันนี้ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามต่อความเป็นสื่อมืออาชีพในปัจจุบันที่ใครๆ ก็มองว่าตัวเองเป็นสื่อได้ อะไรจะทำให้คุณต่างจากสื่ออื่น คุณต้องตระหนักว่าทำไมคุณนำเสนอภาพลักษณ์คนพิการอย่างน่าเวทนาหรือมองว่าเป็นตัวตลก การนำเสนอแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ชมอย่างไร พวกเขาจะมีภาพจำของคนพิการแบบไหน และจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อคนพิการอย่างไร

แต่ก็มีรายการบางรายการเปิดโอกาสให้คนพิการมาโชว์ศักยภาพแต่ก็ยังนำเสนอแบบเวทนานิยม มองว่าคนพิการต้องการความช่วยเหลือ ถึงมาออกรายการ แสดงความสามารถเสร็จก็ให้เงิน แล้วก็จบ แต่ไม่คิดต่อว่าหลังจากเงินหมดคนพิการจะทำอย่างไรต่อ 

มีวิธีไหมที่จะทำให้คนสนใจเรื่องคนพิการหากไม่นำเสนอว่าคนพิการน่าสงสาร

หากพูดถึงธรรมชาติของคน คนทั่วไป คงไม่มีใครมาตั้งใจเสิร์ชหาคำว่าคนพิการ นอกจากเขาจะสนใจจริงๆ หรือทำวิจัย ดังนั้นผมมองว่าสื่อต้องนำเสนอแบบเนียนๆ เอาเข้ามาแทรกซึมอยู่ในความคิดคนให้ได้ หรือการดูซีรีส์ต่างชาติก็เปิดโลกให้คนรู้ว่าภาพคนพิการที่ต่างประเทศเป็นแบบนี้ แล้วคนดูกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยไม่มีแบบนี้บ้าง 

สื่อญี่ปุ่นนำเสนอภาพคนพิการอย่างไร

ญี่ปุ่นมีรายการพวกนี้น้อยมากเพราะรายการพวกนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสังคมที่ไม่เท่าเทียม จึงต้องเอาเรื่องของคนที่ด้อยกว่ามาให้คนที่มีโอกาสมากกว่าดู หนำซ้ำยังให้มีส่วนร่วมในการทำบุญและบริจาคเงินอีก ผมไม่ว่าว่าไม่ดี เพราะแต่ละคนมีวิธีการทำอะไรเพื่อสังคมไม่เหมือนกัน แต่สิ่งนี้ก็อาจตอบคำถามที่ว่า ทำไมรายการแบบนี้ยังอยู่ได้