Skip to main content

ในชุมชนคนหูหนวก กลุ่มคนข้ามเพศหรือทรานส์เจนเดอร์เป็นประชากรจำนวนไม่น้อย พวกเขามีตัวตนแต่ไม่เป็นที่มองเห็นในสังคมทั่วไป จนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ทั้งจากอคติทางเพศและความรู้ที่มีอย่างจำกัด

Thisable.me จึงชวนทรานส์เจนเดอร์หูหนวก 4 คน มาร์กี้, พิ้งค์, เค้กและแซก พูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาต้องฝ่าฝัน อคติ การเลือกปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และสิ่งที่พวกเขาอยากเรียกร้องในฐานะของทรานส์เจนเดอร์หูหนวก

มาร์กี้ - วิษณุ สาช่อฟ้า
Miss Deaf Queen 2020 

“ เราสนใจประกวดนางงามตั้งแต่ปี 2011 แต่รู้สึกว่าสภาพร่างกายของตัวเองยังไม่พร้อม จนกระทั่งปี 2019 เรามีความพร้อมและเตรียมตัวค่อนข้างดี หัวหน้างาน เพื่อนและครอบครัวก็เชียร์ให้มาสมัคร ก็เลยเข้าร่วมประกวดจนได้ตำแหน่งชนะเลิศ Miss Deaf Queen 2020 นอกจากประกวด เรายังทำงานเป็นฝ่ายบุคคลที่บริษัทเงินติดล้อได้ 7 ปีแล้ว

“ ตอนเริ่มเข้าเรียนอนุบาลเราใช้ภาษามือธรรมชาติ ไม่ใช่แบบที่คนหูหนวกใช้กัน ตอนประถมเราเรียนร่วมกับคนหูดีและคนหูตึง ที่โรงเรียนครูห้ามใช้ภาษามือแต่ให้อ่านปากอย่างเดียว แม้การเรียนไม่ได้มีอุปสรรค แต่ค่อนข้างลำบากเพราะเราไม่เข้าใจตอนครูสอน เพื่อนสนิทจึงเป็นคนสำคัญที่คอยเขียนอธิบาย ช่วงนั้นเราได้เรียนภาษาไทยจึงเข้าใจเรื่องคำและการสื่อสารกับคนหูดีเป็นอย่างดี แต่ก็มีเผลอเขียนสลับคำแบบไวยากรณ์หูหนวกบ้าง หลังจบ ป.6 ก็เข้าเรียน ม.ต้น ร่วมกับคนหูดี โรงเรียนนั้นไม่มีคนหูหนวกเลยเราจึงต้องใช้การเขียนเท่านั้น พอเริ่มมีเพื่อนหูหนวก เขาก็ช่วยสอนภาษามือให้เรา เราก็ฝึกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันสามารถใช้ภาษามือและอ่านปากได้ หากเป็นคนหูดีที่สนิทกันหรือคนในครอบครัวก็จะอ่านปากอย่างเดียว อย่างไรก็ดี ไม่ใช่คนหูหนวกทุกคนจะอ่านปากได้ เราจึงหวังว่าเพื่อนหูดีจะฝึกภาษามือเพื่อคุยกับคนหูหนวกคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถอ่านปากได้แบบเราด้วย 


มาร์กี้

“ เรารู้ว่าตัวเองอยากเป็นผู้หญิงช่วง ป.1 ตอนนั้นเห็นแม่แต่งหน้าเเล้วรู้สึกชอบ แม่สวยจังเลย เราขอแม่ลอง แม่ก็ให้ลอง หลังจากนั้นก็เเอบซื้อเครื่องสำอาง ซื้อแป้งพัฟมาเล่น กระทั่งพ่อแม่จับได้ตอนอายุ 12  พ่อเรียกเราไปคุยว่าเราอยากเป็นอะไร เราบอกพ่อว่าเรารู้สีกมีความสุขในการเป็นผู้หญิง ในการอยู่ร่วมกับผู้หญิง พ่อไม่ว่าอะไรเขาแค่อยากให้เรามีความสุขและเป็นคนดี หลังจากจบ ม.ต้น เราแต่งหญิงเต็มตัว เรียนรู้และเลียนแบบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงจากเพื่อนผู้หญิงและเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมหน้าอกในปี 2019 ตอนนั้นรู้สึกดีมากที่ได้ทำ เราทำจมูกในปี 2020 ตอนนี้ก็เก็บเงินต่อเพื่อทำอีก 3 อย่างคือแก้หูกาง ตา และแก้ไขหน้าผากช่วงโคนผม 

“ การเป็นผู้หญิงทำให้เรามีความสุข เมื่อก่อนตอนยังแต่งชายคนมองว่าเราเป็นเกย์ ผู้ชายก็ชอบถามว่าเราทำนมรึยัง บางคนก็มาลวนลามจับนู่นจับนี่ เราทั้งอายทั้งเจ็บใจ แต่พอเราแต่งหญิงก็ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์เหล่านั้น คนกลับสนใจเรามากขึ้น ตอนนี้ก็มีคุยๆ กับชาวต่างชาติ  แต่ยังไม่ได้เลือกใคร เราอยากเจอกันก่อนจะตกลงเป็นแฟนกัน

“ สิ่งที่ตื่นเต้นที่สุดตอนประกวดก็คือช่วงตอบคำถาม แค่คำถามง่ายๆ ก็ตอบไปทำภาษามือแบบสั่นๆ ไป แต่เมื่อตอบไปสักพักก็ชิน การประกวดฝึกให้เราเป็นคนตรงเวลา ตื่นเช้า ดูแลตัวเอง ขยันแต่งหน้าทำผม เพราะเราต้องหน้าเป็นตาให้กองประกวด ตอนประกาศว่าได้รางวัลชนะเลิศ เรารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำชื่อเสียงให้กับครอบครัว เราอยากให้คนหูหนวกได้มีโอกาสประกวดกับคนหูดี แม้มองว่าอาจจะสู้ไม่ได้ หรือไปแล้วก็น่าจะตกรอบแต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดี เราเองเคยเข้าร่วมเวที Miss Mimosa Queen Thailand ร่วมกับคนหูดี ตอนนั้นรู้สึกว่าสวยสู้คนอื่นไม่ได้ แม้ไม่ผ่านเข้ารอบแต่ก็ไม่เสียใจ ยินดีกับเพื่อนๆ ที่ผ่านเข้ารอบ

“ สิ่งที่อยากผลักดันคือเรื่องสมรสเท่าเทียม เราหวังว่าเราจะได้แต่งงานและใช้คำนำหน้าว่านางสาว ฟังจากหลายคนบอกว่า ต้องแปลงเพศก่อนถึงจะเปลี่ยนเป็นนางสาวได้ แต่สำหรับเราคิดว่าการแปลงเพศไม่ควรเป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนคำนำหน้า เพราะร่างกายและความรู้สึกของเราเป็นผู้หญิง เราเคยถามคนหูดีที่เคยแปลงเพศว่า การแปลงเพศเป็นอย่างไรและได้รู้ว่าการผ่ามีรายละเอียดเยอะมาก เราเลยมาทบทวนกับตัวเองว่ารับได้มั้ยถ้าไม่แปลงเพศ คำตอบคือรับได้ เราเลยไม่ทำ การแปลงเพศไม่สำคัญเท่าการยอมรับผ่านคำนำหน้าชื่อ  

“ ความฝันของเราในฐานะคนที่มีความหลากหลายทางเพศคืออยากช่วยเหลือและให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศแก่คนหูหนวก อยากได้รับสิทธิสมรส จดทะเบียนและการเปลี่ยนคำนำหน้า ในไทยคนที่มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนกันไม่ได้ ต่างจากในต่างประเทศที่ทำได้ เข้าใจว่าคนก็พยายามพลักดันให้ทำได้ เราอยากให้การต่อสู้ครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการผ่านกฏหมายในอนาคต นอกจากนี้หญิงข้ามเพศควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกับผู้หญิง ไม่อยากให้เกิดการดูถูกและเลือกปฏิบัติ เราเองเคยไปเที่ยวผับแล้วต้องเสียเงินเพิ่มเพราะร้านอ้างว่าเป็นสาวประเภทสอง ตอนนั้นเขาขอดูบัตรประชาชน แล้วบอกว่า เอ้า! คุณเป็นผู้ชาย และเรียกเงิน 200 บาท เราก็ยอมจ่าย ใจก็อยากฟ้องตำรวจแต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงต้องปล่อยไป หรือการห้ามเข้าห้องน้ำผู้หญิง ทั้งที่เราแต่งตัวและใช้ชีวิตแบบผู้หญิง จึงอยากให้สังคมเปิดใจกว้างกว่านี้ อย่าลดทอนทรานส์เจนเดอร์”

////

แซก - ณัฐนันท์ จันทพันธ์
Miss Deaf Trans Thailand 2020

“ เราเป็นคนหูหนวกคนเดียวในครอบครัวและเข้าเรียนที่โรงเรียนโสตศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ตอนเด็กๆ ใช้ภาษามือตามหนังสือที่ครูให้ วันหนึ่งครูบอกว่าให้พาแม่ไปโรงเรียน เขาสอนภาษามือให้แม่ แม่เลยพอใช้ภาษามือได้นิดหน่อย บางทีก็ใช้ท่าทางธรรมชาติหรือบางครั้งก็คิดคำใหม่ แต่พ่อเราใช้ภาษามือไม่ได้เลย 

“ พอไปโรงเรียนแล้วมีปัญหา ครูก็เล่าให้แม่ฟัง พอกลับบ้านแม่ก็ดุว่าเราโดยที่เราไม่เข้าใจสักคำ เพราะเขาใช้การพูด ช่วงเด็กๆ เราเหงามากเพราะแยกกันอยู่กับพี่ จนกระทั่งช่วงหลังพี่ย้ายกลับมา เขาเรียนภาษามือเลยทำให้คุยกับเราได้ แต่พอมีปัญหากันช่วงจบ ม.6 เขาย้ายไปอยู่มุกดาหาร เราก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย 


แซก

“ ตั้งแต่ 5-6 ขวบเราก็เริ่มรู้ว่าอยากเป็นผู้หญิง อยู่แต่กับเด็กผู้หญิง สนิทกับเพื่อนผู้หญิง เราไม่อยากเล่นกับเพื่อนผู้ชายเลย ตอนกลางวันเราจะเล่นกับเพื่อนผู้หญิงมากกว่า แต่พอกลางคืนเราต้องกลับมาที่หอ เราถูกกลั่นแกล้ง โดนจับโน่นจับนี่ ด่าเราว่าเป็นตุ๊ด จับเราถอดกางเกง ถอดเสื้อผ้า บางคนก็มาลวนลาม นอกจากแผลใจเขาทำให้เรามีแผลตามร่างกาย รุนแรงจนถึงขั้นต้องเย็บ เหตุการณ์ตอนนั้นคือรุ่นพี่ผู้ชายบอกว่า คืนนี้ขอมีอะไรกับเรานะ เราวิ่งหนีจนตกไซต์ก่อสร้างไปโดนเหล็กเส้น  เย็บไปประมาณสี่เข็ม เราจะบอกครูก็ถูกขู่ไม่ให้พูด ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ตอนนีเราก็ไม่ได้รู้สึกโกรธรุ่นพี่พวกนั้นแล้ว 

“ การรังแกทำให้ช่วงเวลากลางวันที่เราอยู่กับเพื่อนหูดีนั้นมีความสุข ต่างจากตอนกลางคืน เราก็บอกพ่อแม่นะว่าอยากย้ายโรงเรียน แต่พอหูหนวกก็หาโรงเรียนยาก ยังดีที่ครูเข้าใจว่าสิ่งที่เราเป็นนั้นเป็นธรรมชาติของเรา ต่างจาก ผอ.ที่พูดว่าเราเป็นตุ๊ดเหรอ ให้ไปทำเกษตร ให้ไปปลูกต้นไม้สิ แต่ ผอ.คนใหม่ก็ใจดีและเข้าใจว่าเราเป็นแบบนี้ ที่บ้านที่ไม่เคยรู้ว่าเราอยากเป็นผู้หญิง เพราะเราเป็นผู้ชายให้พ่อแม่เห็น จนครูถ่ายรูปตอนเรารำส่งไปให้แม่ทางไลน์ บอกว่าลูกเป็นตุ๊ดนานแล้ว แม่ก็ไม่ว่าอะไร  

“ สมัยมัธยมเรายังแต่งตัวคล้ายผู้ชาย คนมักมองว่าเป็นเกย์ พอเรียน ปวช.เราก็ยังแต่งตัวเป็นผู้ชาย เพื่อนมาถามว่า ‘เราเป็นใช่มั้ย เป็นแล้วทำไมไม่แต่งหญิงเลย’ เราเลยเริ่มแต่งหญิงตั้งแต่ตอนนั้น แรกๆ ก็เขิน ไม่ชินกับการแต่งหญิง ถ้าย้อนกลับไปดูภาพเก่าๆ จะรู้สึกว่าตลกจัง พอแต่งหญิงมาเรื่อยๆ ก็เริ่มชิน สิ่งที่เรากลัวจากการแต่งหญิงคือกลัวสังคมและคนทั่วไปมอง เราไม่อยากถูกหัวเราะ บางคนก็นินทาว่า เราแต่งตัวแปลกๆ เป็นกะเทยเหรอ ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้วอาจเพราะเราแต่งตัวเป็นหญิงมากกว่าเมื่อก่อน 

“ เราเคยขอครูนอนดึกเพราะอยากดูประกวด Miss Tiffany ครูก็ให้เราดู เราดูทุกเวที ตัดหนังสือดารา และรูปชุดราตรีเก็บไว้ในแฟ้ม ปี 2018 เพื่อนบอกให้เราไปสมัครแต่เรายังรู้สึกว่าไม่เป็นผู้หญิงพอ จนปี 2020 เราก็ตัดสินใจสมัคร แต่ก็ไม่บอกครอบครัวว่าไปประกวด แม่ดันไปเห็นรายชื่อจากกองประกวดเลยมาถาม เราตกใจมาก บอกไปว่าขอโทษ เราไม่กล้าบอกเพราะไม่รู้ว่าแม่อยากให้ประกวดหรือเปล่า แม่ตอบกลับมาว่า ‘แม่รักลูกนะ’ เราเลยมั่นใจในการประกวด ก่อนประกวดเรากินยาคุมล่วงหน้า 4 เดือน ฮอร์โมนเราไม่เห็นเปลี่ยนแปลงเลย ร่างกายดูเป็นผู้ชาย กล้ามใหญ่ กินยี่ห้อใหม่ก็ไม่เปลี่ยนแปลง พอเจอสวิง (Swing Thailand) มาให้ความรู้ ถึงรู้ว่ายาที่กินนั้นไม่ถูก เขาแนะนำยาฮอร์โมนที่ช่วยลดฮอร์โมนผู้ชาย เพิ่มฮอร์โมนผู้หญิง เราก็เริ่มมีนม แขนเล็กลง สุดท้ายก็ได้ตำแหน่ง Miss Deaf Trans Thailand 2020 

“ ความฝันของเราคืออยากจดทะเบียนสมรสและเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนางสาว  ที่ผ่านมาเสนอกฏหมายไปก็ถูกปัดตก เราอยากแปลงเพศ อยากเป็นนางแบบและอยากเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า ตอนนี้สังคมไม่รู้ว่าเราออกแบบเสื้อผ้าได้ ตัดเสื้อผ้าได้ เราไม่มีพื้นที่ เลยทำให้คนอื่นมองว่า เราจะทำได้เหรอ เราจึงอยากได้พื้นที่ในการโชว์ศักยภาพเพื่อให้สังคมเข้าใจว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน และอยากให้สังคมเปิดโอกาสให้ทรานส์เจนเดอร์ได้ทำงาน เป็นคนหูหนวกก็หางานทำยากแล้ว บางที่เข้าไปทำแล้วก็บังคับให้เราใช้การพูด ไม่ยอมให้เขียนหรือใช้ภาษามือหรือนินทาเรา หลายที่พอเป็นทรานส์เขาก็ยิ่งไม่รับ เราเคยไปสมัครที่หนึ่งเขาบอกว่าจะรับถ้าเราแต่งตัวเป็นผู้ชาย แม้อยากเก็บเงินทำงาน แต่ก็ไม่รับงานเพราะไม่อยากแต่งเป็นชาย จนทำให้ไม่มีเงินและต้องขอพ่อแม่ เลยอยากให้สังคมเปิดกว้างในความสามารถมากกว่าแค่เรื่องเพศสภาพ “


////

พิ้งค์ - ธีรพร เตียเจริญชัยโชติ
Miss Deaf T-Beauty Thailand 2020

“ เราเป็นคนเชียงใหม่ เกิดมาพร้อมกับภาวะหูหนวก 100 % ตอนเล็กๆ เราไม่เข้าใจหรอกว่าหูหนวกคืออะไร เห็นคนอื่นพูดก็พยายามพูด แต่ไม่เป็นภาษา เราพยายามคุยกับคนข้างบ้านแบบมั่วๆ แต่ก็ไม่รู้เรื่อง เขามาบอกพ่อแม่ว่าทำไมลูกคุณคุยยากจังเลย พ่อแม่ไม่รู้จะทำยังไง เขาก็เลยสื่อสารด้วยท่ามือธรรมชาติ เราก็จับท่าทาง จับสายตาพ่อแม่ว่าเขาพูดอะไร จากพี่น้อง 4 คนของเรามีเพียงน้องชายคนเดียวเท่านั้นที่ใช้ภาษามือได้ เขาจะคอยช่วยเหลือเรา เช่น สั่งอาหาร เขาเป็นห่วงเรามาก พอเราเข้าใจที่น้องคุยด้วยภาษามือ จึงเริ่มเข้าใจแล้วว่าเราพูดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ยินเสียง 

“ตอนอนุบาลเราเข้าเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านและมีครูที่ใช้ภาษามือได้นิดหน่อย แต่พอเข้า ป.1 เราต้องเข้าโรงเรียนที่มีแต่คนหูดี เราเองใช้ภาษามือธรรมชาติ แต่ทุกคนก็ไม่เข้าใจว่าทำท่าอะไร ครูจึงสอนเราเขียน สะกดคำ และครูเองก็ใช้ภาษามือไม่ค่อยได้ เราเลยลำบากมากในการพูดคุยกับคนอื่น เราขอนอนกับเพื่อนเพื่อนก็รังเกียจ กลัวที่เราใช้ภาษามือ เราเครียดนะเพราะคิดว่าคนอื่นรังเกียจที่เราพูดไม่ได้ อยากมีเพื่อนแต่เพื่อนก็เกาะกลุ่มกับคนที่พูดได้ แม้ครูบอกให้อดทนแต่เรารู้สึกเจ็บปวดมาก จนกระทั่งมีเพื่อนคนหนึ่งเข้ามาถามเราว่า ‘เธอพูดไม่ได้เหรอ’ เธอชวนเราเล่นทำกับข้าว เล่นแต่งหน้า ทำให้ชีวิตช่วงนั้นมีกำลังใจ 


พิ้งค์

“ ตอนกลางวันเราก็จะอยู่กับเพื่อนผู้หญิงคนนั้น แต่พอตกกลางคืนก็ต้องกลับหอพักกับเพื่อนผู้ชาย เราไม่อยากอยู่ร่วมกับเขา เวลาอาบน้ำเราก็ไม่อยากเข้าใกล้ เด็กผู้ชายรังเกียจเรา เขามองเราเป็นตัวโรคจิต พอตอนนอนเราก็ต้องนอนคนเดียว เหงามาก เราต้องอดทนให้ถึงเช้าเพื่อที่จะได้ไปเล่นกับเพื่อนผู้หญิงคนเดิม

“ เรารู้สึกตัวเองโง่มาก เรียนไม่รู้เรื่อง ล่ามก็ไม่มี ครูก็พูดอย่างเดียว เพื่อนก็บอกว่าก๊อปปี้ไปเลย ทำสอบก็ลอกเอา มันอึดอัด มันเก็บกด พอปิดเทอมเรากลับบ้านก็อยากจะระบายให้พ่อแม่ฟัง แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารเป็นคำพูดได้ บอกได้แค่ว่าโรงเรียนไม่ดี พ่อแม่ก็เลยตอบว่าให้เราสู้ๆ อยู่ที่นี่แหละดีแล้ว แต่สำหรับเราปัญหามันมากเกินจะแก้ได้ เลยได้แต่นั่งร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน กระทั่งจบ ม.3 เกรดเราน้อยมาก คนหูดีที่เป็นเพื่อนสนิทก็ปลอบว่า ไม่เป็นไรนะ เรารู้สึกขอบคุณที่เขาช่วยเหลือเราทุกอย่าง แต่เราก็ไม่อยากเรียนต่อ ม.4 ที่นี่อยู่ดี 

“ ครูแนะนำให้เราไปเรียนต่อที่โรงเรียนโสตศึกษาที่เป็นโรงเรียนเฉพาะทางของคนหูหนวก พ่อแม่ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าอยู่ไกล เราร้องไห้เลย เราอยากไปเรียนจนไม่รู้จะบรรยายความเจ็บปวดนี้ยังไง พ่อแม่ไม่เห็นว่าเราเจออะไรมาบ้าง ครูจึงช่วยอธิบายโน้มน้าวแต่พ่อแม่ก็ไม่ยอม จนใกล้เปิดเรียนเราก็หนีออกจากบ้านเพราะเราไม่อยากไป สุดท้ายเราจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพฯ 

“ มาโรงเรียนวันแรกทุกคนทำภาษามือใส่ ภาษามือจริงๆ ที่ไม่ใช่มือธรรมชาติ เราไม่รู้เรื่องเลย เหมือนเป็นคนใบ้ที่ใช้ภาษามือธรรมชาติ อยู่ที่นี่เริ่มใช้ภาษามือและเขียนหนังสือได้ รู้สึกมีความสุขและชอบที่นี่มาก จนเรียนจบและต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สาขาครูการศึกษาพิเศษ 

“ เราเคยเป็นครูพักหนึ่งแต่ก็มีปัญหาเรื่องเพศสภาพ เขามองว่าเป็นกะเทยจะทำงานได้เหรอ เป็นสาวสองเดี๋ยวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็ก โรงเรียนเองก็มีกฎว่าต้องแต่งตัวเป็นผู้ชาย ต้องตัดผมสั้น เรารู้สึกเจ็บใจมาก แบบนี้ไม่โอเคเลยตัดสินใจลาออก พ่อแม่บอกว่าอย่าลาออก เป็นครูน่ะดีแล้ว หลังจากนั้นเราเลยไม่คุยกับพ่อแม่อีกเพราะไม่รู้จะระบายกับพ่อแม่ยังไง จนทุกวันนี้เขาก็ยังอยากให้เราทำงานราชการ เราไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าราชการคืออะไร  จนน้องเล่าให้ฟังว่าการทำงานราชการมีสวัสดิการ ถ้าเกษียณแล้วก็มีเงิน พ่อแม่คงเป็นห่วงว่า อนาคตเราจะลำบากจึงอยากให้ทำงานราชการ แต่การเข้าทำงานราชการไม่ได้ง่าย ข้อสอบยากนะ เราเคยไปสอบมาแล้วแต่ก็ไม่ผ่าน ภาษาเป็นเรื่องยาก ยิ่งต้องสอบแข่งกับคนหูดี เราสู้เขาไม่ไหวจริงๆ

“ ตั้งแต่จำความได้ก็จำได้ว่าชอบเล่นกับผู้หญิงและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากเป็นผู้หญิงตอนไหน เราเคยร้องไห้เพราะอยากไว้ผมยาวแล้วครูให้ตัดผมสั้น ครูบอกว่า เห็นไหมเธอมีอวัยวะเพศไม่เหมือนเด็กผู้หญิง โตมาหน่อยโดนเพื่อนผู้ชายล้อว่าเราเป็นกะเทย จึงเข้าใจว่า อ๋อ..นี่เราเป็นกะเทย แรกๆ ก็รู้สึกเจ็บใจแต่เพื่อนผู้หญิงก็ให้กำลังใจ ช่วงหลังพอใครว่าอะไรมา เราก็จะตอบว่า เป็นกะเทยแล้วยังไง พอเพื่อนผู้หญิงชวนแต่งหญิงแล้วครั้งแรกเราไม่ชินเลย สังเกตว่าคนมอง ซุบซิบนินทา อาจเพราะเราผมสั้นทรงผู้ชายแต่ใส่กระโปรง แต่เราก็คิดบวกนะ ‘เค้าอาจจะมองเพราะเราสวยก็ได้’ หลังจบม.6 เราก็แต่งหญิงเต็มตัว เพื่อนบอกว่าถ้าจะเป็นผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิงที่ดูแลตัวเอง ช่วงนั้นเราไม่เคยเล่าให้พ่อแม่ฟังเรื่องการแต่งหญิง แต่เขาก็รู้จากครูหอพักและไม่ได้ว่าอะไร แม่บอกแค่ว่าเป็นได้แต่ห้ามบอกพ่อ น้องชายจึงอาสาคุยกับพ่อและพบว่าพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร พ่อเขาเฉยๆ จะศัลยกรรมก็ได้ให้หาเงินเอง แต่ขออย่างเดียวอย่าทำจนเกินเหตุเพราะเขาห่วงเรื่องความปลอดภัย เหมือนในข่าวที่ทำจมูกแล้วเน่าติดเชื้อ 

“ มีช่วงหนึ่งเราได้รับโอกาสแปลงเพศฟรี หลังผ่านด่านสัมภาษณ์ต่างๆ ของโครงการ เราก็ได้อันดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการแปลงเพศเลย เราก็บอกทุกคนว่าเราพร้อม พร้อม พร้อม ทุกอย่าง หมอบอกว่าคุณจะต้องแยงโมไปตลอดชีวิตนะ เราก็บอกว่าโอเค จนตอนนี้เราก็แยงมา  9 ปีแล้ว และเราน่าจะเป็นทรานส์เจนเดอร์หูหนวกคนแรกที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อนๆ ก็มาถามว่า ทำแล้วจะเป็นบ้าเสียสติจริงไหม เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าก่อนที่จะผ่าตัดได้ต้องมีการตรวจร่างกาย ตรวจโรคว่าเราทำได้ไหม ปัจจุบันมีคนหูหนวกประมาณ 3 คนที่แปลงเพศ  สิ่งที่เราอยากทำต่อก็คือหน้าอก  ยังไม่รู้ว่าพ่อจะยอมหรือเปล่า รอพ่อทำใจได้เราก็จะผ่า 

“ ครั้งแรกที่ประกวดคือในปี 2011 เราแพ้ ตอบไม่ตรงคำถาม เดินก็ไม่สวย ใส่ส้นสูงไม่เป็น ปี 2017 ก็ไปสมัครใหม่และได้รองอันดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ จนปี 2020 ก็ประกวดใหม่จนได้ตำแหน่ง Miss Trans Beauty Thailand 2020 เราหวังว่าตำแหน่งนี้จะสามารถเป็นกระบอกเสียงให้คนหูหนวก สร้างพลังให้กับคนหูหนวกในการเป็นผู้นำ และทำให้คนหูดีเห็นศักยภาพของคนหูหนวกด้วย

“ เราฝันอยากให้รัฐเห็นว่ามีคนหูหนวกที่เป็นทรานส์เจนเดอร์อยู่และพวกเขามีปัญหาอุปสรรค เราเป็นทรานส์เจนเดอร์แต่ไม่มีกฏหมายไหนให้สิทธิในการแต่งงาน บางครั้งก็หงุดหงิดจนอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เราอยากมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้หญิง รัฐควรช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการการทำงาน เพราะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นหางานยาก บริษัทไม่รับเข้าทำงานเพราะมองว่าสาวสองต้องโรคจิต มี HIV ต้องขายตัว ต้องขี้ขโมย ฯลฯ ถึงแม้รับเข้าทำงานก็มองเราด้วยสีหน้าหวาดระเเวง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เกิดได้กับทุกเพศ จึงอยากให้คนพยายามปรับตัวและเข้าใจเหมือนในต่างประเทศที่ไม่ดูถูกและตีตราพวกเรา”

////

เค้ก - นพคุณ แก่นสาร
รองอันดับหนึ่ง Miss Queen Thailand 2020

“ เราหูหนวกตั้งแต่กำเนิด จึงเรียนในโรงเรียนของคนหูหนวก แม่บอกว่าตอนท้องเราเขาไม่สบายจึงเกิดมาหูหนวก เราใช้ภาษามือกับแม่ แต่พ่อใช้ภาษามือไม่ได้ แม่จึงกลายเป็นล่ามไปโดยปริยาย แต่ช่วงนี้ก็เหมือนจะลืมแล้วเพราะเราไม่ได้กลับบ้าน

“ ตอน ป.4 เรารู้ว่าตัวเองอยากเป็นผู้หญิง ก่อนหน้านี้เราเล่นกับเพื่อนผู้ชาย แต่พอเริ่มเล่นกันรุนแรงเราก็กลัว หันมาเล่นแต่กับเพื่อนผู้หญิง เล่นแต่งตัว ทำผม ตอนที่อยากเป็นผู้หญิงมองว่าแม่เข้าใจนะ แต่พ่อไม่เข้าใจ ต้องรอถึงปี 2 พ่อถึงยอมรับในการแต่งหญิง เพราะเขาไม่เข้าใจสังคมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ  เขากลัวสังคมสาวสอง มองว่าสังคมสาวสองไม่ดี เขาได้ยินมาว่ากะเทยชอบทำร้ายร่างกาย ขายตัว ขี้ขโมย เป็นโรค ส่วนตัวเรามองต่างออกไป เรามองว่าสังคมนี้ก็ดี อะไรที่ดีไม่ดีก็แยกแยะได้ ยิ่งเราทำตัวดีพ่อแม่ก็เริ่มยอมรับ อย่างไรก็ดี สังคมภายนอกยังคงมองด้วยความไม่เชื่อว่าคนหูหนวกจะเป็นทรานส์เจนเดอร์ เขามองว่ามีแค่หญิง - ชาย เราจึงเคยโดนมองว่าเป็นคนแปลก เป็นสาวสองเหรอ เหมือนคนบ้า เขามองเราแบบนี้ 


เค้ก

“ เราโดนอบรมเลี้ยงดูมาว่าถ้าจะเป็นกะเทยต้องเรียบร้อย ยิ่งเราหูหนวกแล้วใช้ภาษามือ คนยิ่งมองว่าเราแสดงสีหน้าท่าทางโอเว่อร์ ก็มองว่าเราแปลกอีก 

“ ที่ผ่านมาไม่เคยคิดว่าจะประกวด แต่คนรอบตัวก็สนับสนุน แม่บอกให้เราไปประกวดนางนพมาศ แต่เราก็อาย รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยก็อยากให้ประกวดร่วมกับคนหูดี เเต่เราก็อาย จนตอนทำงาน หัวหน้างานบังคับให้เราไปประกวดนางงามโรงงาน แล้วเราได้ที่หนึ่งเวทีโรงงาน ตอนนั้นภูมิใจมากว่าเราก็ทำได้ กระทั่งมาประกวด Miss Deaf Queen 2020 พ่อแม่สนับสนุน เพื่อนก็สนับสนุน เราก็เลยลองดูจนได้รองอันดับหนึ่ง และได้เรียนรู้หลายอย่างมาก ทั้งบุคลิกภาพ การช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนคนหูหนวก และการสนับสนุนให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

“ สังคมคนหูหนวกไม่เข้าใจว่า เอดส์และ HIV ต่างกันอย่างไร มีความรู้เรื่องโรคติดต่อน้อย เพราะในโรงเรียนไม่ได้มีการสอน พวกเขาเอาไปไปใช้ไม่ได้ บางทีเด็กก็เลยคิดไปเองอย่างผิดๆ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะผลักดันให้มีการอบรมความรู้แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง และขาดล่ามที่มีความรู้เฉพาะ ทั้งที่จริงแล้วควรมีล่ามที่มีความรู้เรื่องนี้เพื่ออธิบายได้ชัดเจน ล่ามที่ไม่มีความรู้เรื่อง LGBT และโรคติดต่อ ไม่กล้าที่จะทำท่ามือให้ชัดเจนเพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย ทำให้คนหูหนวกไม่เข้าใจความรู้เหล่านั้น 

“ เมื่อก่อนนี้ภาษามือเป็นอุปสรรคในการเป็นแฟนกัน ช่วงแรกๆ แฟนไม่ยอมให้ใช้ภาษามือเมื่ออยู่ข้างนอก เขาบอกเขาอายที่คนอื่นมองว่าเราหูหนวก เราไม่ชอบใจเวลาที่แฟนมาบังคับให้เราต้องพิมพ์เพื่อคุยกัน  ถ้าเราใช้ภาษามือเขาก็จะเอามือมาตบมือเราลง ไม่ยอมรับวัฒนธรรมของคนหูหนวก แต่ในตอนนี้เขาก็ปรับตัวมาเรียนภาษามือ ใช้ภาษามือคุยกับเรา ไม่บังคับให้เราพิมพ์อีกแล้ว

“ ความฝันของเราคืออยากจดทะเบียน อยากแต่งงาน อยากให้ทุกคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะกับกลุ่มหูหนวกที่คนมักไม่ยอมรับการจดทะเบียนของเรา สิ่งที่ยังค้างอยู่และยังไม่สำเร็จคือการแปลงเพศ ที่ต้องอาศัยความพร้อมทางการเงิน เรายังต้องบาลานซ์ความฝันนี้กับภาระการดูแลครอบครัว ในตอนนี้จึงยังทำให้สำเร็จไม่ได้ "
 

ล่ามภาษามือ ชนากานต์ พิทยภูวไนย