Skip to main content

การปฏิเสธผู้โดยสารน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในประเทศไทย ยิ่งกับคนพิการ แต่ในสหรัฐอเมริกาการปฏิเสธผู้โดยสารเป็นเรื่องใหญ่ และถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ จนมีการฟ้องร้องและสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่าล้านดอลลาร์ 

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า โตตุลาการผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้มีคำสั่งให้ Uber ต้องจ่ายเงิน 1.1 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ผู้หญิงพิการทางสายตาชาวอเมริกันหลังถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้บริการรวม 14 ครั้ง โดยชี้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ 

ลิซ่า เออร์วิ่ง พิการทางการมองเห็นและอาศัยอยู่ในย่านซานฟรานซิสโก เธอยื่นคำร้องตั้งแต่ปี 2018 ที่ระบุว่า เธอและสุนัขนำทางถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นรถรวมทั้งหมด 14 ครั้ง อีกทั้งยังถูกทิ้งให้ยืนรอกลางดึก ตากฝน หลายครั้งไปทำงานสายจนทำให้ถูกไล่ออกจากงาน และมี 2 ครั้งที่คนขับรถดูถูกและใช้คำพูดละเมิดสิทธิของเธอ กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โตตุลาการผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีคำสั่งให้ Uber จ่ายค่าเสียหาย โดยระบุเหตุผลว่า Uber ปล่อยให้คนขับรถที่มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติเพราะความพิการของผู้โดยสาร โดยไม่มีการดำเนินการลงโทษใดๆ แถมบริษัทยังแนะนำให้คนขับรถหาเหตุผล เพื่อปฏิเสธการรับผู้โดยสาร แม้จะถูกร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติก็ตาม และหากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติคนพิการของชาวอเมริกันปี 1990 (Americans with Disabilities Act- ADA) แล้ว จะพบว่า มีการกำหนดขั้นต่ำที่สุดของงานบริการต่างๆ เช่น จะต้องอนุญาติให้สุนัขนำทางเดินทางไปกับคนตาบอดได้ทุกที่ 

ที่ผ่านมา Uber ถูกคนตาบอดฟ้องร้องหลายครั้ง เช่นในปี 2014 สมาคมคนตาบอดสหรัฐอเมริกาฟ้อง Uber จากข้อห้ามเรื่องสุนัขนำทาง จนในปี 2017 Uber ตกลงที่จะแจ้งให้กับคนขับรถรู้ว่า พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยการให้บริการแก่ผู้โดยสารที่มีสุนัขนำทาง 

สำหรับในประเทศไทย การใช้สุนัขนำทางถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (8) ว่า คนพิการมีสิทธิที่จะนำสัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใดๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใดๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทางด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในแพลตฟอร์มของบริการรถสาธารณะต่างๆ ในปัจจุบันไม่ได้มีการระบุถึงเรื่องสุนัขนำทาง มีเพียงฟังก์ชันของการช่วยเหลือ (Assist) เท่านั้น

ที่มา https://www.theguardian.com/technology/2021/apr/02/uber-blind-passenger-ordered-to-pay