Skip to main content

สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยออกหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการอย่างครอบคลุมสำหรับกลุ่มคนพิการในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ชี้ข้อมูลยังไม่เพียงพอ ยังไม่เห็นมาตรการรองรับหากคนพิการเป็นผู้ป่วย เสนอต้องจัดสร้างหรือใช้สถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่คนพิการข้าถึงได้ ตั้งแต่ขั้นตอนเข้าตรวจคัดกรอง กักตัว ไปจนถึงการรักษา และต้องทำให้มั่นใจว่า หากมีคนพิการรุนแรงติดเชื้อ จะมีแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ช่วยอย่างเหมาะสม โดยมีใจความดังนี้

เรื่อง ขอให้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและดูแลคนพิการอย่างเหมาะสมในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ละลอกใหม่ ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อง่ายและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้ออย่างมาก โดยเฉพาะคนพิการที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งมีการกำหนดแนวทางการจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospital) และแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักและลดความแออัดโดยไม่จำเป็นในสถานพยาบาล

สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรคนพิการได้แก่ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ มีความห่วงใยต่อคนพิการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ละลอกใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากคนพิการยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีความจำเป็นจากช่องทางต่างๆ ในการดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับบุคคลภายนอกหรือคนในครอบครัว และการต้องสัมผัสพื้นผิวต่างๆ รวมถึงการเว้นระยะห่างกับบุคคลภายนอกมีความยากลำบาก ดังนั้นกรณีหากมีคนพิการที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องได้รับการตรวจและการดูแลรักษา สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรขับเคลื่อนเชิงนโยบายจึงใคร่ขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแนวทางการปฏิบัติและดูแลคนพิการอย่างเหมาะสมตามประเภทความพิการ ดังนี้

1.การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและการจัดพื้นที่เหมาะสมตามสถานที่ที่รัฐกำหนดเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

2.กรณีคนพิการรุนแรง ติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่สามารถสื่อสารและตัดสินใจได้ด้วยตนเองและคนพิการที่มีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติและดูแลให้เหมาะสมในระหว่างการดูแลรักษา

3.จัดให้มีช่องทาง รูปแบบข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 และกระบวนการขั้นตอนวิธีการตรวจคัดกรอง การดูแลตนเอง จนถึงการดูแลรักษา เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและกระบวนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

4.ควรจัดให้มีการบูรณาการความร่วมมือด้านการส่งเสริม ป้องกัน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลด้านคนพิการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศและเครือข่างองค์กรคนพิการ

5.ควรจัดให้มีมาตรการ และวิธีการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนสำหรับคนพิการ โดนคำนึงถึงข้อจำกัดอันเนื่องจากสภาพความพิการ โรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อประกอบการจัดลำดับเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

6.ควรจัดให้มีช่องทางและมาตรการพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจไวรัสโควิด-19 สำหรับคนพิการรุนแรง ติดเตียง หรือคนพิการที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปรับการตรวจในสถานที่ที่รัฐกำหนด เช่น จัดให้มีชุดตรวจไวรัส covid-19 สำเร็จรูป เป็นต้น

ทั้งนี้สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยใคร่ขอความอนุเคราะห์ที่ท่านให้เปิดโอกาสให้องค์กรคนพิการทุกประเภทและภาคีเครือข่ายองค์กรคนพิการได้เข้าไปมีส่วนร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติและดูแลคนพิการอย่างเหมาะสมในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงกำหนดให้มีการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับกลุ่มเป้าหมายคนพิการ

นอกจากข้อเรียกร้องของสภาคนพิการทุกประเภทฯ แล้ว ขณะเดียวกันบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย (Ekkamol Kia Phaetthayanan) ก็ได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการดูแลคนพิการเช่นเดียวกัน ใจความว่า

" คนตาบอดเรากลัวติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับที่ไม่ต้องการเป็นผู้แพร่เชื้อโควิด-19 ให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว แต่เงื่อนไขในการดำรงชีวิตของพวกเราทำให้พวกเราตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ โควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้พวกเราจึงอยากขอให้รัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเร่งรีบจัดหาวัคซีนให้กับคนตาบอดและคนไทยทุกคนให้ได้กลับมาใช้ชีวิต อย่างเป็นปกติสุขและด้วยความสบายใจโดยเร็วครับ
 
ระหว่างการลงพื้นที่ชุมชนที่มีคนตาบอดอาศัยอยู่ทั้งในเขตเมืองและชนบทหลายครั้ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผมได้พูดคุยกับคนตาบอดที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ค้าสลาก นักร้องนักดนตรี และหมอนวด ซึ่งมีจำนวนรวมกันนับหมื่นคน ส่วนใหญ่บอกกับผมว่า แม้จะทราบดีถึงความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด-19 จากการออกไปทำงาน เพราะงานที่ทำจะต้องพบปะกับคนจำนวนมากและโดยวิถีชีวิตของคนตาบอดจะต้องอาศัยการสัมผัสกับทั้งผู้คนและวัตถุต่างๆ แต่ก็ยังต้องเลือกที่จะออกไปทำงานต่อไปเนื่องจากไม่ได้มีเงินเดือนประจำ หากวันไหนไม่ไปทำงานก็จะไม่มีรายได้มาเป็นค่าอาหารค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และเลี้ยงดูคนในครอบครัว พี่น้องหลายคนเป็นกำลังหลักในการส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด พี่น้องกลุ่มเดียวกันบางคนยังต้องหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรหลาน กลัวติดเชื้อก็กลัว Work from home ก็ทำไม่ได้ ออกไปทำงานแม้จะมีรายได้ลดลงและอยู่บนความเสี่ยงก็ยังต้องทำครับ
 
ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อหลายพันคนต่อวัน มีผู้ป่วยสะสมหลายหมื่นคนและเริ่มมีคนตาบอดได้รับเชื้อแล้ว โดยที่ทางเลือกในการประกอบอาชีพของคนตาบอดมีจำกัด ประกอบกับวิถีชีวิตที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้คนและวัตถุได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคนตาบอดตกเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ผมจึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องทุกท่าน เร่งรีบจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนตาบอดเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนโดยเร็วครับ "