Skip to main content

วันนี้ (28 เม.ย.) ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งโรงเรียนออทิสติกขึ้นที่ จ.สุพรรณบุรี  เป็นโรงเรียนที่ดูแลเด็กออทิสติกในพื้นที่ภาคกลางทั้งหมดตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในลักษณะแบบประจำหรือไปกลับ ภายใต้การดูแลของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในขณะที่นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) แสดงความกังวลว่าจะเกิดการเลือกปฏิบัติ พร้อมแนะให้สร้างการเรียนรวมในโรงเรียนกระแสหลักให้เข้มแข็ง และมีโรงเรียนเฉพาะเป็นทางเลือกเท่านั้น
 
โดยเบื้องต้นจะใช้โรงเรียนสุพรรณบุรีปัญญานุกูลนำร่องเพื่อดูแลกลุ่มเด็กออทิสติกพื้นที่ภาคกลางทั้งหมดใน 13 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร อ่างทอง ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ หลังจากนี้ สพฐ.จะนำเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อพิจารณาและนำไปสู่การตั้งงบประมาณในปี 2566 โดยจะสร้างโรงเรียนออทิสติกให้ครอบคลุมทุกภาคอย่างเป็นทางการต่อไป

อย่างไรก็ดี ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ระบุผ่านแฮชแทกที่ว่า  #โรงเรียนทางเลือกVSโรงเรียนทางหลัก #Alternative School VS Inclusive School #เลือก(ที่จะ)ปฎิบัติ(ดี ) หรือ เลือกที่จะปฎิบัติอย่างทั่วถึง #ช่วยเด็กหลัก 100  ทิ้งเด็กนับ10000   

โดยชูศักดิ์ได้กล่าวถึงเหตุผลที่อาจทำให้ต้องตั้งโรงเรียนออทิสติกเพราะความแออัดของโรงเรียนการศึกษาพิเศษในปัจจุบัน ที่มีนักเรียนแน่นโรงเรียน ความต้องการโรงเรียนประจำสำหรับผู้ปกครองไม่มีทางเลือก อีกทั้งโรงเรียนเรียนร่วมหรือ Inclusive Education ไม่ตอบโจทย์
อย่างไรก็ดี เขาได้ให้ความเห็นแย้งว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว มีข้อถกเถียงเรื่องโรงเรียนเฉพาะ ว่าควรมีเท่าที่จำเป็น ตั้งแต่ปี คศ.1900 และควรเน้นให้เด็กเรียนใกล้บ้านผ่านการเรียนรวมเป็นหลัก แม้แต่ใน CRPD หรืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาติ ก็สนับสนุนหลักการการเรียนรวมมากกว่าการเรียนในโรงเรียนเฉพาะ และมีงานศึกษาวิจัยมากมายที่ระบุถึงเรื่องนี้

หรือแม้แต่ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่รัฐบาลกำลังจะนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ มาตรา 14 มีการกำหนดว่าการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษต้องสามารถเข้าเรียนและร่วมกิจกรรมต่างๆ ในสถานศึกษาเดียวกับผู้เรียนทั่วไปได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีระบบห้องเรียนคู่ขนานอยู่แต่ สพฐ.ไม่ยกระดับและเพิกเฉยการพัฒนาระบบเรียนรวม

นอกจากนี้ การสร้างโรงเรียนเฉพาะทางใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ต้องมีการก่อสร้างอาคารจำนวนมากแต่ละแห่งกว่า 20 หลัง งบกว่า 100 ล้านและต้องมีงบดำเนินการ เช่น บุคลากรเพื่อดูแลเด็กที่ละประมาณ 200 คน เขาจึงตั้งคำถามต่องบประมาณส่วนนี้ และที่ผ่านมาสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) และสภาคนพิการทุกประเทศแห่งประเทศไทยได้เคยทำเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการเรียนรวมอย่างจริงจัง จนขยายไปนับหมื่นแห่ง แต่ปรากฎว่าสถานศึกษาไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรม ทำให้คุณภาพการเรียนไม่เต็มที่ โรงเรียนบางแห่งต้องระดมทรัพยากรกันเอง  สิ่งเหล่านี้ไม่ตรงกับหลักการของรัฐธรรมนูญ และแสดงถึงประสิทธิภาพในการจัดการการเรียนรวมของ สพฐ. ว่าทำไมมุ่งสร้างโรงเรียนเฉพาะทาง โดยที่ไม่ลงทุนในการศึกษาระบบหลักและระบบห้องเรียนคู่ขนานระดับตำบลและระดับอำเภอ เขาตั้งคำถามว่า นโยบายดังกล่าวนั้น “ยึดเด็กเป็นสำคัญหรือยึดเด็กเป็นตัวประกัน” เนื่องจากโรงเรียนเฉพาะทางจะพรากเด็กออกจากครอบครัว

ชูศักดิ์ทิ้งท้ายว่า ขอให้พัฒนาระบบการเรียนรวมให้ดีและกว้างขวางทั่วถึง แล้วค่อยมาหารือกันเรื่องสร้างโรงเรียนเฉพาะความพิการ ซึ่งองค์การคนพิการเห็นว่ายังจำเป็นต้องมี แต่น่าจะเป็นทางเลือกมากกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันและไม่ควรปล่อยให้ระดับปฎิบัติการตัดสินตามความคิดของตัวเอง ควรรับฟังความคิดเห็นในเขิงกว้าง ทราบว่าขณะนี้ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการหลายท่านกำลังดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อเสนอให้มีการก่อสร้างโรงเรียน ไปกันใหญ่แล้ว คงต้องถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าคิดอย่างไร ท่านเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่แต่มีการชงเรื่องเสนอโดยอ้างว่าสอดคล้องนโยบาย 12 ข้อ

อ้างอิง https://www.facebook.com/photo?fbid=4477295275618764&set=a.216948521653482