Skip to main content

หลายคนมักคิดว่าการสร้างสรรค์บทสัมภาษณ์นั้นขึ้นอยู่กับกองบรรณาธิการหรือขั้นตอนการพิสูจน์อักษรเพียงเท่านั้น แต่สำหรับบทสัมภาษณ์ของคนหูหนวกนั้นจะสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากไม่มี ‘ล่ามภาษามือ’ ที่ถ่ายทอดท่าทางภาษามือ ก็คงไม่มีใจความให้กองกองบรรณธิการได้ทำงานต่อ และคงไม่มีเสียงของคนหูหนวกออกสู่การรับรู้ของสังคม 

ชนากานต์ พิทยภูวไนย หรือมะปรางเป็นล่ามภาษามือในหลายโอกาส และเป็นล่ามภาษามือให้กับบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม วันตระหนักถึงตัวตนของทรานส์เจนเดอร์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Thisable.me  ทุกครั้งที่ล่าม เราเห็นถึงความตั้งใจที่จะถ่ายทอดข้อความของคนหูหนวกจึงทำให้เราอยากรู้จักตัวตนและวิธีการทำงานของมะปรางให้มากขึ้น  Thisable.me จึงชวนเธอมาเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตและ ประสบการณ์การทำงานในฐานะล่ามภาษามือในทุกวันนี้ 

ล่ามมะปรางใส่แว่นยิ้มกว้างให้กับกล้อง

จุดเริ่มต้นของการเป็นล่ามภาษามือ

ชนากานต์ :  ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบม.6 เราเห็นพี่คนหนึ่งทำท่ามือแปลกๆ อยู่ เราก็เดินไปถามว่าพูดได้หรือเปล่า ปรากฎว่าพี่เขาพูดได้ แต่กำลังใช้ภาษามือพูดกับคนหูหนวก แม้ตอนแรกเราอยากเรียนกฎหมายเพราะได้ช่วยเหลือคน แต่พอเห็นพี่เขาแปล ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ แล้วก็ได้ช่วยเหลือคนเหมือนกับเรียนกฎหมาย อีกอย่างคือภาษามือมีสอนไม่กี่ที่ สุดท้ายเราตัดสินใจมาเรียนภาษามือก่อน เพราะกฏหมายมีสอนเยอะแยะ เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ 

หลังจากเรียนจบเราทำงานที่ TTRS (ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย) มีหน้าที่แปลทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทาง TTRS ไม่ได้ให้บริการ หลังจากนั้นก็ลาออกมาอยู่หน่วยจัดบริการล่ามภาษามือ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มีหน้าที่จัดหาล่ามและเป็นล่ามให้ด้วย ทำได้สักพักก็ลาออกมาเป็นล่ามภาษามือฟรีแลนซ์

การเป็นล่ามภาษามือต้องทำอะไรบ้าง

หากต้องไปแปลที่ไหนก็ตาม เราจะแนะนำตัวก่อนว่า เขาเป็นคนหูหนวก และเรามาเป็นล่ามภาษามือให้เขา ที่ต้องอธิบายให้เข้าใจเพราะบางคนจะงงว่า เราเป็นใคร มายุ่งวุ่นวายทำไม เราเคยเจอคนที่อธิบายกี่รอบเขาก็ไม่เข้าใจ แม้จะอธิบายว่าเราเป็นล่าม บอกเขาว่าคนนี้พูดไม่ได้ เขาไม่ได้ยิน แต่เขาก็ไม่พูดกับเรา กลับไปเขียนใส่กระดาษแล้วยื่นให้คนหูหนวก ถึงเราพยายามอธิบายอีกครั้งว่าให้พูดมา เดี๋ยวเราแปลให้ แต่เขาก็เลือกเขียนใส่กระดาษ จนคนหูหนวกหันมามองหน้าเราเพราะงงว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นเราตัดสินใจไม่อธิบายต่อ แล้วบอกคนหูหนวกว่าเดี๋ยวออกมาข้างนอกจะแปลให้

ตำแหน่งที่ล่ามยืนมีความสำคัญมาก ล่ามควรอยู่ฝั่งเดียวกับผู้พูดและตรงข้ามกับคนหูหนวก เพราะคนหูหนวกจะรู้ว่าล่ามกำลังแปลให้ใคร ใครเป็นคนพูดกับเขา เวลามีงานที่ต้องขึ้นเวที แม้ทางผู้จัดจะจัดตำแหน่งให้ล่ามแล้ว แต่เราจะถามคนหูหนวกว่าตรงนี้เห็นมือชัดเจนไหมและไม่ตัดสินว่ามุมนี้ดีที่สุด หรือถ้าผู้จัดไม่ได้จัดตำแหน่งไว้ให้ล่าม เราก็ต้องเป็นคนถามว่าผู้พูดยืนอยู่ตรงไหน มี PowerPoint ไหม เพื่อหาตำแหน่งที่คนหูหนวกเห็นทั้งผู้พูด ล่าม และ PowerPoint 

ล่ามมะปรางกำลังประสบการณ์ทำงานล่ามอย่างสนุกสนาน

 

ล่ามต้องแปลทุกอย่างที่ได้ยินเลยใช่ไหม 

เราทำหน้าที่แปล พูดอะไรมาก็แปลหมด ถึงแม้ว่าจะคำด่า หรืออะไรที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนหูหนวกและหูดี ถ้าคนหูหนวกเขาอยากด่ากลับ ก็ให้เขาด่า 

เวลาแปลให้เคสที่ทะเลาะกันนั้น ล่ามต้องจัดการตัวเองให้ได้ มันเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ก็ต้องยอมรับว่าล่ามเป็นเครื่องมือที่มีความรู้สึกเพราะล่ามเป็นคนไม่ใช่คอมพิวเตอร์ เราเป็นคนที่เซนซิทีฟกับเรื่องครอบครัว บางครั้งก็ไม่อยากแปลเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ้าขัดกับความรู้สึกเรา เราก็มักมีอารมณ์ร่วม แต่ล่ามไม่ควรมีอารมณ์ร่วมในประเด็นที่แปลอยู่ ล่ามควรทำหน้าที่แค่แปล ทำให้ทุกครั้งที่แปลต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ เราก็จะหลุดทันที

นอกจากนี้แม้จะบอกว่าล่ามมีจรรยาบรรณ แต่ล่ามก็ยังเป็นคน คนหูหนวกไม่ได้ไว้ใจล่ามร้อยเปอร์เซ็นต์ ล่ามเองก็ต้องสร้างความไว้ใจว่าคนหูหนวกสามารถพูดได้ทุกอย่างและล่ามจะไม่เอาเรื่องนี้ไปเผยแพร่ต่อ 

ถ้าคนหูดี คุยกับคนหูหนวกผ่านล่าม บ่อยครั้งจะหันไปมองล่ามแบบอัตโนมัติ การมองแบบนี้ถูกต้องไหม และคนหูดีควรทำอย่างไร

ต้องมองที่คนหูหนวก ทำเหมือนล่ามไม่มีตัวตนตรงนั้น ก่อนที่จะคุยกับคนหูหนวก คนหูดีบางคนจะขอคุยกับล่ามก่อน แต่เราจะบอกเสมอว่ามีอะไรคุยกับคนหูหนวกโดยตรงได้เลย เดี๋ยวเราแปลให้ เราจะไม่รับสารมาแล้วค่อยบอกคนหูหนวกเพราะคนหูหนวกจะรู้สึกว่าทำไมคุยเรื่องของเขากับคนอื่น ทำไมไม่คุยกับเขาโดยตรง

ล่ามมะปรางยืนพึงราวบันไดสกายวอล์ค

 

ถนัดแปลเรื่องอะไรมากที่สุด

เราไม่ได้ถนัดเรื่องไหนที่สุด แต่ช่วงนี้คลุกคลีอยู่กับกองประกวดของกลุ่มหูหนวกที่เป็น LGBT เลยทำให้เราคุ้นชินการใช้ภาษามือของเขาและซึมซับภาษามือที่เกี่ยวกับ LGBT ความคุ้นเคยก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาว่าเราคลุกคลีอยู่กับคนหูหนวกกลุ่มไหน

“เราคิดว่าไม่มีใครเก่งที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครมีโอกาสได้แปลเรื่องนั้นบ่อยกว่ากัน ก็จะทำได้ดีและชินกว่า ถ้าไปแปลเรื่องใหม่เราจะไม่คุ้น เหมือนกับว่าเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นใหม่ ”

ล่ามเป็นส่วนสำคัญของภาพลักษณ์คนหูหนวก

คนหูหนวกจะถูกมองแบบไหน ล่ามเป็นส่วนสำคัญอย่างตอนแปลการประกวดของกลุ่ม LGBT  มีล่ามนั่งแปล 4-5 คน เราก็ช่วยกัน เพราะเราไม่ได้รู้จัก คุ้นเคยกับท่ามือของผู้เข้าประกวดทุกคน ตอนแปลบนเวทีต้องใช้ความรู้ทั้งหมดที่ล่ามมีเพื่อถ่ายทอดข้อมูลออกไป บางคำเราก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่ล่ามจะติดอยู่ตรงนั้นไม่ได้ เราก็ต้องแปลต่อเพราะคนที่รอฟังจะไม่ได้สาร ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามแปลออกมาให้ตรงกับที่คนหูหนวกต้องการสื่อด้วย

“เรามองว่าการแปลหน้าเวทีนั้นยาก การนั่งคุยกันแบบไม่เป็นทางการแบบนี้เปิดช่องว่างให้ล่ามสามารถถามคนหูหนวกว่าเราเข้าใจสิ่งที่เขาพูดถูกต้องไหม เรามีความสุขกับการแปลได้ถูกต้องตามที่คนหูหนวกต้องการสื่อสาร”

ล่ามมะปรางยืนแล้วมีพื้นหลังเป็นรถเมล์สีส้ม

 

ภาษามือของกลุ่ม LGBT มีความเฉพาะตัว  ล่ามเรียนรู้คำศัพท์เหล่านั้นอย่างไร

อย่างคำว่าแยงโม เราต้องรู้ว่าคนที่แยงโมเขาทำท่ากันยังไง เพื่อจะได้เข้าใจว่าคำนี้แปลว่าอะไร ภาษามือคือภาษาภาพ แต่ไม่ใช่ภาษาท่าทาง บางคนเข้าใจว่าใช้ท่าทางคุยกับคนหูหนวกแล้วเขาจะเข้าใจ มันไม่ใช่ ภาษามือมีไวยากรณ์ มีการบัญญัติคำขึ้นมา แต่บางคำก็ยังไม่มี เช่นคำว่า ฮอร์โมนชาย ฮอร์โมนหญิง ล่ามต้องไปหาความหมายของคำว่าฮอร์โมน แล้วเอาความหมายไปคุยกับคนหูหนวก แล้วให้เขาตกลงกันว่าจะใช้มือแบบไหน 

“ภาษามือก็เหมือนภาษาไทย มีการคิดค้นขึ้นมาใหม่ตลอด แต่ล่ามไม่ได้เป็นคนตัดสินใจใช้ภาษามือ ล่ามเป็นแค่คนให้ความหมายสำหรับบางคำที่ยังไม่มีในภาษามือ แต่คนหูหนวกจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้คำไหน ”

เมื่อก่อนคำว่า Sex Worker ที่คนทั่วไปใช้ คนหูหนวกบางกลุ่มไม่ใช้คำนี้ เพราะมองว่าเป็นคำหยาบ เขาก็ใช้คำอื่นแทน

คนหูดีมองการสื่อสารของคนหูหนวกเป็นอย่างไรบ้าง 

เขามองว่าคนหูหนวกเขียนไม่รู้เรื่อง เราต้องเข้าใจว่าคนหูหนวกใช้ภาษามือเป็นหลัก เขาเขียนน้อยมาก ถ้าเขาฝึกเขียนบ่อยๆ ก็เขียนได้เหมือนกัน แต่บางครั้ง แม้แต่คนหูดีเองก็เป็นคือ คำไหนที่ไม่ได้เขียนนาน เราก็เขียนผิดเขียนถูก จึงไม่อยากให้มองว่าการเขียนไม่รู้เรื่องเป็นเรื่องตลกขบขันหรือเป็นเรื่องแปลก  

สื่อมักเรียกคนหูหนวกว่าใบ้ เราก็ต้องคอยอธิบายว่า คนหูหนวกไม่ใช่คนใบ้ คนหูหนวกคือ คนที่สูญเสียการได้ยิน แต่ไม่ได้สูญเสียการพูดเพราะเขายังมีกล่องเสียงอยู่ ถ้าเขาได้รับการฝึกฝน เขาก็พูดได้ คนหูหนวกบางคนพูดได้คล่องแคล่ว แต่เขาจะพูดเฉพาะกับคนที่ไว้ใจเท่านั้น บางทีมีคนหูดีถามคนหูหนวกว่าพูดได้ไหม เรารู้ว่าคนนี้พูดได้เพราะเคยได้ยินเสียง ก็จะเชียร์ให้เขาพูด เพราะถ้าคนหูหนวกพูดได้จะมีโอกาสได้งานทำมากกว่า 

ล่ามมะปรางยืนอยู่ริมถนนที่มีรถเมล์สีแดงครีมวิ่งผ่าน

 

เพราะคนหูหนวกดูไม่แตกต่างจากคนทั่วไป ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าคนหูหนวกต้องการอะไร 

อาจารย์หมอคนหนึ่งถามว่า คุณรู้ไหมว่าคนพิการประเภทไหนน่าสงสารมากที่สุด คนอาจจะตอบว่าคนพิการด้านอื่นที่ไม่ใช่คนหูหนวก แต่อาจารย์หมอบอกว่าคนหูหนวกคือคนพิการที่น่าสงสารมากที่สุด เพราะคนหูหนวกไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป ทำให้คนไม่ได้ถามว่าคนหูหนวกต้องการอะไร 

พ่อแม่คนหูหนวกเล่าให้ฟังว่า แม้จะให้เงิน ให้โทรศัพท์ อยากได้อะไรพ่อแม่ให้ได้หมดทุกอย่าง แต่ทำไมลูกไม่อยากอยู่บ้าน ไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ เราก็ย้อนกลับไปถามพ่อแม่ว่า รู้ไหมว่าคนหูหนวกต้องการอะไร ถ้ากลับบ้านไปแล้วคุยกับใครไม่ได้ ไม่มีใครรับฟัง ตรงนั้นก็ไม่ใช่พื้นที่ของเขา คนทุกคนต้องการที่จะระบายความอึดอัดในใจออกไป เขาคุยกับพ่อแม่ไม่ได้ แล้วจะให้เขาคุยกับใคร เขาก็เลยออกไปหาเพื่อนที่คุยภาษามือกันรู้เรื่องดีกว่า

แล้วคนหูหนวก-หูดี จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร 

เรามองว่าไม่จำเป็นที่ใครต้องเปลี่ยนมาอยู่อีกด้านหนึ่งแต่ควรมีจุดตรงกลางที่จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันว่าคนหูหนวกสื่อสารได้ด้วยวิธีไหนบ้าง คนหูหนวกคนนี้เขียนคุยได้ คนหูหนวกคนนี้อ่านปากได้ คนหูหนวกคนนี้ต้องใช้วิธีการพิมพ์คุย ฯลฯ ไม่จำเป็นว่าคนหูดีต้องเรียนรู้ภาษามือให้ได้เพื่อคุยกับคนหูหนวก หรือคนหูหนวกต้องพูดให้ได้ พอสังคมมีคนหูดีเยอะกว่าและมีคนหูหนวกอยู่แค่ไม่กี่คน สังคมก็มักบอกว่าคนหูหนวกต้องพูดให้ได้ เรารู้สึกว่าเรื่องนี้นั้นบีบบังคับเกินไป ไม่ใช่ว่าเขาฝึกพูดไม่ได้ เพราะเราเห็นคนหูหนวกหลายคนพยายามฝึกพูด ฝึกสื่อสารกับคนหูดีอยู่แล้ว แต่คำถามคือ แล้วคนหูดีได้พยายามคุยกับคนหูหนวกเพียงพอหรือยัง

 
คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ