Skip to main content

กรมสุขภาพจิตขอวัคซีนโควิดให้คนพิการทางสติปัญญา ด้านสภาคนพิการฯ จ่อเสนอให้คนพิการฉีด พ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มพบการติดโควิด-19 ในกลุ่มคนพิการทางสติปัญญา กลุ่มออทิสติก สมาธิสั้น และแอลดี (Learning Disability) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ลำบากหากติดเชื้อ และต้องเข้าไปอยู่ที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม กรมสุขภาพจิตจึงหารือกับกรมควบคุมโรคเพื่อขอรับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ของสถาบันราชานุกูล และรับการฉีดในช่วงปลายเดือน พ.ค.2564

ด้านชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมออทิสติกไทยระบุกับ Thisable.me ว่า วัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มออทิสติก ดาวน์ซินโดรม กลุ่มสติปัญญาและการเรียนรู้ เป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นมาเฉพาะสำหรับกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากมีเด็กกลุ่มนี้อาจได้รับเชื้อและใช้เวลานานในการส่งตัว อธิบดีกรมสุขภาพจิตเห็นว่าถ้าไม่มีมาตรการในการป้องกันจะทำให้เด็กมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เลยออกมาตรการฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มนี้และครอบครัว 

“เนื่องจากเด็กหลายคนดูแลตัวเองไม่ได้ เมื่อน้องต้องเข้าระบบการฉีดวัคซีนปกติที่รอนาน เขาจะมีปัญหาเรื่องอารมณ์ พฤติกรรมและการรอคอย การจัดทีมเฉพาะจะช่วยสร้างความเข้าใจและทำงานง่ายขึ้น โดยจะมีการฉีดครั้งแรกวันที่ 28 พ.ค.นี้และจะขยายพื้นที่ต่อไปหลังจากถอดบทเรียนและเรียนรู้จากครั้งแรก

“ ใครที่สนใจก็ไปลงทะเบียนที่หน้าเพจของสถาบันราชานุกูลผ่าน QR Code เพื่อลงทะเบียนรายละเอียดต่างๆ เช่น อายุและการแพ้ยา ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยครั้งนี้คนในครอบครัวสามารถไปฉีดได้ด้วยไม่เกิน 5 คน แต่ต้องเป็นคนที่อยู่บ้านหลังเดียวกัน เพราะหากฉีดให้น้องคนเดียว คนอื่นก็สามารถนำมาติดให้กับเด็กๆ น้องต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีถึงจะฉีดได้ เพราะถ้าต่ำกว่านั้นก็มีความเสี่ยง 

“ที่ผ่านมาก็มีกรณีของคนพิการทางสติปัญญาติดโควิดอยู่เหมือนกันเพราะการระวังตัวเอง หรือการใส่หน้ากากเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กกลุ่มนี้ จากข้อมูลของศูนย์ก็มีอยู่ประมาณ 3-4 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ติดมาจากผู้ปกครอง หนึ่งในนั้นมีกรณีที่ผู้ปกครองที่เสียชีวิตด้วย  และการกักตัวหรือตรวจรักษาก็เป็นเรื่องยากเพราะเด็กไม่เคยห่างแม่เลย ยิ่งถ้าต้องอยู่โรงพยาบาลสนามเขาอาจนอนไม่ได้หรือตื่นมาร้องกลางดึกและรบกวนคนอื่นได้ ส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งกับเด็กและผู้ปกครองรวมถึงคนที่ต้องกักตัวร่วมกัน เพราะฉะนั้นกรณีโรงพยาบาลสนามเฉพาะด้านก็เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา”

ในส่วนของความพิการประเภทอื่น ชูศักดิ์อธิบายว่า ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามหาสถานที่ที่เหมาะสมในการเป็นโรงพยาบาลสนาม และจะยื่นเรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับคนพิการทุกประเภทเข้าสู่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในเดือนนี้   

“ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดูสถานที่ที่มีความเหมาะสมและความพร้อมสำหรับการกักตัวเพื่อดูอาการจากโรคสำหรับคนพิการที่คนพิการเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม และเดือนนี้จะมีการประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งสภาคนพิการจะนำเสนอเรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับคนพิการทั้งประเทศเข้าสู่ที่ประชุมด้วย 

“อีกกลุ่มหนึ่งที่หมอค่อนข้างเป็นห่วงมากก็คือกลุ่มอาการจิตเภท กลุ่มไบโพล่าหรืออารมณ์สองขั้ว เนื่องจากอยู่ในสภาวะความกดดันและมีความเครียดสูงในช่วงนี้ หากต้องไปกักตัวร่วมกับคนมากๆ ที่โรงพยาบาลสนาม ก็อาจเกิดภาวะความเครียดได้ 

“วันนี้ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนพิการคนใดมีความสงสัยหรือความกังวลว่าลูกจะติดโควิดเนื่องจากอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์ 1479 ซึ่งเป็นสายด่วนเฉพาะคนพิการ โทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีก 1 เบอร์ก็คือ 1300 ของ พม. สองหมายเลขนี้จะติดต่อโดยตรง คอยประสานงานกับกรมควบคุมโรคเพื่อดูแลต่อไป ส่วนคนที่ยังปลอดภัยก็อย่าได้ประมาท อย่าลืมล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน หากิจกรรมให้ลูกทำเพื่อลดบรรยากาศความเครียด หรือปรึกษาไปยังองค์กรตามประเภทความพิการของท่านก็ได้ ตอนนี้หลายๆ ที่ก็มีกิจกรรมหรือคนคอยให้คำปรึกษา”

https://workpointtoday.com/ko10052564/?fbclid=IwAR3dSn17OeWCZDMhCU7a_CoA7SFZ0sTF6QdCpJZeZuom1bF2THhQjbn_FUo