Skip to main content

ในทุกอย่างก้าวที่ออกเดิน เราหลายคนมีรองเท้าช่วยป้องกันเศษแก้ว หนาม ตะปูและสิ่งสกปรก  ขณะที่บางคนใส่เพื่อออกกำลังกาย เตะฟุตบอล วิ่งมาราธอนหรือเตะตระกร้อ  ทำให้รองเท้ากลายเป็นส่วนสำคัญของการเดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศนโยบายแบบรัฐนิยม ที่สนับสนุนให้ทุกคนใส่รองเท้า จนถึงวันนี้เราก็ยังไม่เลิกใส่รองเท้า

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะใส่รองเท้าอย่างเป็นปกติ คนพิการที่นั่งวีลแชร์จำนวนหนึ่งถูกถามว่า แล้วพวกเขาจะใส่รองเท้าไปทำไม? ในเมื่อไม่ได้เดิน แล้วรองเท้ามีไว้ใส่เดินอย่างเดียวจริงหรือไม่ และคนพิการที่เดินไม่ได้เขาใส่รองเท้ากันหรือเปล่า Thisable.me จึงชวนคุยกับคนพิการ 6 คนที่นั่งวีลแชร์ในชีวิตประจำวันว่า พวกเขาใส่รองเท้ากันหรือไม่ รองเท้าที่ใส่เป็นแบบไหน และรองเท้าที่ดีสำหรับคนพิการควรเป็นอย่างไร 

ผมรักรองเท้าผ้าใบ : ยศวัจน์ แบขุนทด

“ผมพิการตั้งแต่ 4 ขวบ เนื่องจากโดนรถชน ทำให้ร่างกายไม่มีความรู้สึกตั้งแต่ช่วงเอวลงไปจนถึงปลายเท้า แต่ก็เป็นคนรักรองเท้ามาก สำหรับผมรองเท้าเป็นสิ่งของแฟชั่นล้วนๆ เลย อย่างของยี่ห้อไนกี้ รุ่นจอร์แดน ผมมีประมาณ 7- 8 คู่ แต่ซื้อขายออกตลอด ข้อดีคือผมไม่เคยเดิน ยังไงรองเท้าก็ใหม่ คู่ที่ผมใช้ประจำคือคอนเวิร์ส ใช้บ่อยจนผ้าด้านบนของรองเท้าขาดเพราะวีลแชร์ชนนู่นชนนี่อยู่ตลอด แต่พื้นรองเท้ายังใหม่เอี่ยม เวลาขายผมก็จะบอกเขาว่า ของผมใหม่เพราะไม่เคยเหยียบพื้นเลย (หัวเราะ) อีกคู่ที่ชอบใส่ก็คือรุ่นแอร์ฟอร์ซวันเพราะใส่ง่ายและถอดง่าย แมทช์กับทุกชุดที่ผมมี 

“คนพิการแม้จะไม่ได้เดินแต่ก็ควรใส่รองเท้าเพื่อความปลอดภัย ยิ่งถ้าเท้าของเราไม่มีความรู้สึก ก็ยิ่งต้องระวังให้ดีเพราะตอนที่เข็นวีลแชร์อยู่เราจะไม่รู้เลยว่าเท้าร่วงหรือชนอะไรตอนไหน ซึ่งจะทำให้เกิดแผลและดูแลรักษายาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของบุคลิกภาพ สังคมเราให้น้ำหนักเรื่องการแต่งตัวค่อนข้างมาก ถ้าเป็นคนพิการแล้วแต่งตัวไม่ดี หรือดูสกปรกก็จะถูกมองไม่ดีด้วย ขนาดแต่งตัวปกติก็ถูกมองว่าน่าสงสารอยู่แล้ว ถ้าแต่งตัวไม่ดีก็คงจะไปกันใหญ่ 

“เดินไม่ได้แล้วจะซื้อรองเท้ามาใส่ทำไม ? ประโยคแบบนี้เคยมีเพื่อนๆ ผมถาม บางครั้งก็เป็นการแซวกันเล่นๆ ซึ่งผมก็ไม่ได้โกรธ บางคนก็บอกว่า คนเดินได้เขายังไม่ซื้อรองเท้าเยอะเท่ามึงเลย (หัวเราะ)

“เวลาเลือกซื้อรองเท้าผมจะเลือกเบอร์ที่ใหญ่กว่าเท้าผม 1 เบอร์ ให้ใส่แล้วไม่โดนนิ้วเท้า ไม่ดันให้งอ ส่วนสีและรุ่นผมจะเลือกตามที่ชอบหรือศิลปินที่เราชอบเขาใส่แบบไหนเราก็ซื้อตาม ล่าสุดมียี่ห้อไนกี้ รุ่นจอร์แดนที่เจบัลด์วิน ศิลปินทางฝั่งลาตินเขาทำออกมา ผมก็รีบตื่นขึ้นมากดจองเลย แต่กดไม่ทันจนต้องมาหาซื้อเอาเองทีหลัง หรือช่วงก่อนหน้านี้ก็ซื้อรองเท้ากระแสอย่างแอร์ฟอร์ซของจีดราก้อน 

“สำหรับผมรองเท้าผ้าใบใส่ไม่ยาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพิการของแต่ละคนและสรีระของเท้าด้วย อย่างเรื่องกางเกงยีนส์ก็เหมือนกัน ผมรู้มาว่าคนพิการไม่ค่อยได้ใส่เพราะใส่ยาก แต่ผมใส่จนเป็นปกติเพราะไม่มีใครห้าม อาจเป็นโชคดีที่พ่อแม่ไม่ขัดเรื่องการแต่งตัวหรืออยากทำงานอะไรเขาก็ไม่บังคับ แต่เข้าใจในสิ่งที่เราเป็น ผมชอบเขาก็โอเค

“ถึงขาจะไม่รู้สึก แต่เราก็มีความรู้สึกว่ารองเท้าคู่ไหนใส่สบายหรือเหมาะสำหรับเรา ผมเชื่อว่าคนพิการหลายคนก็รู้สึกแบบผม ถ้าใจมันใส่สบายก็คือใส่สบาย”


รองเท้าต้องเรียบง่ายและใส่สบาย : สุพัตรา แวววับ

“เมื่อก่อนชอบใส่รองเท้าผ้าใบแต่เดี๋ยวนี้ใส่รองเท้ารัดส้นเพราะผ้าใบใส่แล้วหลุดง่าย อาจเพราะเท้าเราบิด เวลาเคลื่อนตัวก็เลยหลุดออกเสมอ แต่รองเท้ารัดส้นไม่ค่อยหลุดแล้วก็ระบายอากาศได้ดีกว่ารองเท้าผ้าใบ ส่วนใหญ่เราเลือกรองเท้าจากความเรียบง่าย สีอะไรก็ได้และน้ำหนักเบา พื้นรองเท้าควรจะนุ่ม ไม่แข็ง เพราะเวลาที่นั่งนานๆ ส้นเท้าจะเป็นจุดรับน้ำหนัก ถ้าพื้นแข็งส้นเท้าก็จะพองได้ 

“รองเท้าของเราส่วนใหญ่มีแม่เป็นคนเลือกซื้อให้ เราก็บอกความต้องการไปว่าจะเอาแบบไหน เพราะตัวเองไม่ค่อยได้มีโอกาสออกไปข้างนอก ถ้าแม่ไปเจอคู่ไหนน่าใส่ก็จะซื้อมาฝาก อีกวิธีหนึ่งก็คือถ้าเห็นคู่ไหนน่าสนใจในแอพลิเคชันชอปปิ้งออนไลน์ เราก็จะสั่งมา

“รองเท้าเป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ คนพิการก็อยากจะใส่เหมือนกัน รองเท้าเป็นเรื่องของแฟชั่น เรื่องของความสวยงาม เป็นเรื่องความปลอดภัยของเท้า ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะรองเท้าช่วยกันไม่ให้เท้ากระแทกกับสิ่งของและยังทำให้แต่งตัวได้อย่างถูกกาลเทศะด้วย”

เลือกรองเท้าได้ก็เลือกชีวิตได้ : รณภัฎ วงศ์ภา

“เรามีรองเท้า 2 คู่ เป็นผ้าใบกับหุ้มส้นอย่างละคู่ เมื่อก่อนอยากใส่รองเท้าแตะแต่พอลองแล้วใส่ไม่ได้ หลุดและไหลออก เลยเปลี่ยนมาเป็นรองเท้าหุ้มส้นแทน เราเลือกรองเท้าจากความชอบบวกกับความคล่องตัว หลังๆ มาเราจะซื้อใหญ่กว่าเท้าอีก 1 เบอร์ เพื่อป้องกันหากเท้าบวมและทำให้ใส่ง่ายขึ้น แต่ถ้าเอาตามความชอบจริงๆ ก็ชอบที่จะใส่รองเท้าแตะมากกว่า 

“รองเท้าป้องกันอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเท้า ด้วยความที่เท้าเราไม่มีความรู้สึกเวลาไปชนอะไรก็อาจไม่รู้ ถึงเป็นแผลก็ไม่รู้ นอกจากนี้การใส่รองเท้ายังบ่งบอกถึงตัวตนว่าเราเป็นคนแบบไหน แม้จะเป็นคนพิการก็ใส่รองเท้าไม่เหมือนกัน บางคนก็ใส่ผ้าใบ บางคนก็ใส่แตะ ขึ้นอยู่กับคนพิการแต่ละคนว่ามีโอกาสได้ตัดสินใจด้วยตัวเองไหม บางครอบครัวก็จะบอกว่าใส่ผ้าใบมันยุ่งยาก ให้ใส่อย่างอื่นที่ง่ายๆ ดีกว่า  ถึงแม้คนพิการเองจะอยากใส่ผ้าใบก็ตาม ฉะนั้นการเลือกรองเท้าก็ถือเป็นความท้าทายแบบหนึ่งของคนพิการในเรื่องการต่อรองกับครอบครัว ยิ่งหากใส่รองเท้าแล้วอับชื้นหรือเป็นแผล คนพิการก็จะถูกว่าอีกที่ไม่เชื่อฟัง 

“สำหรับเราเรามองว่า สิ่งสำคัญของการเลือกรองเท้าคือการได้เลือกเอง ไม่ต่างอะไรกับคนไม่พิการที่อยากจะมีชีวิตเป็นของตัวเองหรือเลือกสิ่งต่างๆ ในชีวิตตัวเอง ไม่ว่ารองเท้าหรือเสื้อผ้า การใช้ชีวิตด้วยคำบงการหรือข้อชี้แนะของคนอื่นอยู่ตลอดไม่ได้ทำให้รู้สึกมีคุณค่า 

หากแค่เรื่องซื้อรองเท้าคนพิการยังไม่มีอำนาจในการเลือกแล้ว นั่นอาจหมายความว่า อำนาจในเรื่องอื่นก็คงถูกจำกัดด้วย เช่น อยากกินอะไร อยากไปไหน ทำให้ทางเลือกของคนพิการที่มีน้อยอยู่แล้วนั้นน้อยลงไปอีก จนแทบไม่มีทางเลือกเหลือเลย 

“เราอยากเห็นรองเท้าผ้าใบที่มีซิปอยู่ตรงหัว เพราะเวลาคนพิการส่วนใหญ่ใส่เข้าไปแล้วข้อเท้าจะงอ ซึ่งจะทำให้ข้อเท้าเสียได้ ในประเทศไทยเรายังไม่เห็นใครแก้ปัญหาตรงนี้ ถ้าทำรองเท้านี้ขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับคนพิการ แต่คนที่เป็นเบาหวาน หรือคนที่มีปัญหาเรื่องสรีระเท้าก็น่าจะได้ประโยชน์เหมือนกัน”

คนพิการจะใส่รองเท้ายังไงก็ได้ : รุจิเรข คุมโสระ

“เรามีรองเท้า 3 คู่ เป็นรองเท้าผ้าใบกับรองเท้ารัดส้น แต่ส่วนใหญ่จะใส่แบบรัดส้นมากกว่า ก็เลือกใส่ให้เข้ากับชุด

“เราเลือกรองเท้าจากความชอบ ใส่แล้วดูดี แต่รองเท้าแตะหรือรองเท้าหูหนีบจะใส่ไม่ได้เพราะเท้าไม่มีแรงบีบ ใส่แล้วมีโอกาสหลุด รัดส้นกับผ้าใบจึงเป็นตัวเลือก ที่เหลือก็เป็นเรื่องของรูปทรงหรือสีที่แตกต่างกัน ใส่แล้วต้องไม่ดูแก่ เหมาะกับวัย เราคิดว่ารองเท้ารัดส้นใส่แล้วแอบดูแก่ แม่ชอบซื้อมาให้แล้วเราก็จะใส่เฉพาะตอนไปกายภาพเท่านั้น เวลาไปเที่ยวเราก็จะเลือกคู่อื่น 

“รองเท้าเป็นเรื่องของความสวยงาม จะให้นั่งวีลแชร์เท้าเปล่าก็คงไม่ได้ ต้องมองถึงเรื่องความสุภาพเรียบร้อยและความมั่นใจด้วย เราใส่เสื้อผ้าสวยๆ ก็ต้องมีรองเท้าที่เข้ากับชุด เท้าเปล่าก็ตลก นอกจากนี้ยังมีเรื่องความปลอดภัยเพราะรองเท้าช่วยป้องกันเท้าจากอุบัติเหตุ อย่างเรานั่งๆ อยู่เท้าก็อาจตกพื้น รองเท้าก็จะช่วยป้องกันนิ้วไม่ให้เป็นแผล หากดูรองเท้าเราจะพบว่ามีรอยถลอกเยอะมาก ลองนึกดูสิว่าถ้าไม่ได้ใส่ เท้าเราจะเป็นแผลมากขนาดไหน

“การใส่รองเท้า เสื้อผ้า หน้าผมของคนพิการก็เหมือนกับคนไม่พิการ ที่ช่วยเสริมความมั่นใจและบุคลิกภาพ การห้ามหรือบอกว่าเป็นคนพิการแล้วควรใส่อย่างไร ไม่ควรเกิดขึ้น อย่างช่วงแรกๆ ที่พิการ เราเจอคำถามที่ว่า จะใส่กางเกงขาสั้นทำไม ? เขาพยายามให้เราแต่งตัวแบบป้า ทำให้เราดูแก่จนขาดความมั่นใจ พอถึงจุดที่เราเริ่มดูแลตัวเองได้มากขึ้น เราก็แต่งตัวแบบที่เราอยากแต่งได้ 

“การมองคนพิการว่าต้องแต่งตัวเรียบง่าย เป็นคนดี เข้าวัดทำบุญตักบาตรอยู่ตลอดเวลา เป็นกรอบแนวคิดในสังคมที่ถูกส่งต่อมายาวนาน พอวันหนึ่งที่คนพิการเริ่มออกมาใช้ชีวิต ออกไปเที่ยว แต่งตัวหลายแบบ ก็ขัดกับภาพจำที่มองว่า คนพิการต้องติดเตียง นอนอยู่บ้านและเป็นภาระ ทั้งที่ในความเป็นจริงมีคนพิการที่ไปได้ไกลกว่านั้นอยู่เยอะแยะ

“เราอยากเห็นรองเท้าที่เหมาะสำหรับคนพิการมากขึ้น ถ้าเป็นแบบรัดส้นก็อยากให้มีรูปแบบหลากหลาย ดูทันสมัยและเป็นวัยรุ่น มีหลายสีให้เลือกได้ ถึงจะทำให้คนพิการใส่แต่ก็ควรสวยงามและมีความเก๋บ้าง”

รองเท้าสะท้อนบุคลิก : สว่าง ศรีสม

“เรามีแค่รองเท้าใส่ทำงานกับรองเท้าใส่อยู่บ้าน ส่วนมากเลือกรองเท้าโทนสีเข้มๆ อย่างสีดำหรือใกล้เคียง และใส่เบอร์ที่หลวมกว่าเท้านิดหน่อย เพื่อให้ไม่รัดมากจนเกินไป  

“ตอนเด็กๆ เราไม่ค่อยใส่รองเท้า อาจจะเป็นเพราะว่าอยู่บ้านนอกเลยไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่ บวกกับตอนนั้นไม่ได้เดินก็ไม่มีความรู้สึกนึกคิดว่าต้องใส่เลย จนมาถึงปี 2544 เริ่มมาเรียนที่โรงเรียนพระมหาไถ่ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ใส่และได้เห็นคนพิการนั่งวีลแชร์ใส่รองเท้า ตอนนั้นเกิดคำถามนะว่าคนพิการใส่รองเท้าไปทำไม แม้จะเห็นแล้วว่า พอใส่ก็ดูดีขึ้น แต่เราก็ยังไม่ได้ใส่ และใส่แค่ถุงเท้า จนกระทั่งปี 2546 เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แล้วออกไปไหนมาไหนมากขึ้นก็เริ่มใส่ พอจะไปซื้อรองเท้าก็ไม่รู้ว่าต้องซื้อที่ไหน ซื้อเบอร์อะไรเพราะไม่เคยใส่รองเท้าเลย ตอนนั้นลองซื้อมาใส่แล้วก็ปวดเท้ามากเพราะว่าเท้าเราไม่ได้มีสรีระแบบคนทั่วไป พอขนาดไม่พอดีกับเท้าก็เกิดอาการบีบจนปวด ต้องใช้เวลาเรียนรู้กันอยู่นานพอสมควร กว่าจะได้รองเท้าที่พอดีกับเท้าตัวเอง

“รองเท้าเป็นเรื่องของการสะท้อนบุคลิก ไปทำงานก็ใส่รองเท้าก็แบบหนึ่ง อยู่บ้านก็ใส่รองเท้าก็อีกแบบหนึ่ง แม้จะไม่ได้ใส่เดินแต่รองเท้าก็สะท้อนเรื่องเหล่านี้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะแต่งตัวให้ดูดี อย่างน้อยก็เพื่อความสบายใจของเรา

“เรื่องเสื้อผ้าหรือบุคลิกภาพของคนพิการในสังคมก็เคยมีการพูดถึงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยถูกผลักออกมาทำอย่างเป็นรูปธรรม เราก็ไม่เคยเห็นว่ากางเกงที่ดีและเหมาะกับคนพิการเป็นอย่างไร กระโปรงสำหรับนั่งวีลแชร์เป็นอย่างไร หรือรองเท้าที่ตอบโจทย์กับคนพิการทางร่างกายเป็นอย่างไร”

ขาเทียมเป็นเหมือนรองเท้า : ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

“รองเท้าที่มีส่วนใหญ่เป็นรองเท้าผ้าใบ ก่อนที่เราจะพิการก็ใส่รองเท้าเหมือนคนทั่วไป แต่พอใส่ขาเทียม ก็คิดว่าไม่ต้องใส่รองเท้าแล้ว พอลองใส่ขาเทียมถึงได้รู้ว่าก็ต้องซื้อรองเท้ามาใส่ด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องอุปกรณ์เลย อาศัยปรึกษาจากคนที่ใส่ขาเทียมด้วยกันว่าต้องใส่รองเท้าแบบไหน ขนาดประมาณเท่าไหร่ ถึงได้รู้ว่า สิ่งสำคัญคือต้องเลือกรองเท้าที่บาลานซ์ได้ดี

“จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยสนใจเรื่องรูปลักษณ์เท่าไหร่ แต่จะพิจารณาว่าใส่แล้วหลุดไหม ทำให้เรากล้าเดินไหม เพราะหากใส่ขาเทียมแล้วจะต้องเดินไม่ใช่นั่งแต่นั่งวีลแชร์ รองเท้าจึงมีความหมายต่อการเดินมาก ถ้าเราไม่มั่นใจเราจะไม่อยากเดิน เวลาซื้อก็จะซื้อรองเท้าผ้าใบคล้ายๆ กัน 2 คู่ ไว้สลับกันใช้ ความยากของการซื้อคือเราไม่ชอบลอง เพราะต้องใช้เวลากับการถอดและใส่รองเท้านานกว่าคนอื่น เลยแก้ปัญหาด้วยการจำว่าใส่ไซส์อะไร ยี่ห้อไหน แล้วก็บอกเขาไปเลยโดยไม่ลองเพราะใส่ได้แน่ๆอยู่แล้ว 

“การใส่ขาเทียมเป็นเรื่องยากเหมือนกัน ต้องใช้เวลา ถ้าจะเปลี่ยนรองเท้าให้กับขาเทียมก็ต้องถอดขาออกมา แล้วถึงจะใส่ได้

พอเจอคนถามว่าพิการแล้วอยากแต่งตัวหรือใส่รองเท้าแฟชั่นไปทำไมหรือเดินไม่ได้แล้วใส่รองเท้าทำไม เราคิดว่า ก็เหมือนกับที่คนทั่วไปซื้อต่างหูมาใส่เพราะเป็นภาพลักษณ์และความมั่นใจ ของหลายอย่างก็เป็นเรื่องของสังคมที่มองมา ต่อให้นั่งวีลแชร์หรือใส่ขาเทียม เราก็ยังเลือกรองเท้าและใส่รองเท้าเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์มากขึ้น 

“การใช้ขาเทียมไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนที่หายจากความพิการและการใส่รองเท้าส่งเสริมให้เรา ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ความพิการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องยอมรับ มั่นใจ และเราจะไม่ยอมให้ใครมากำหนดให้เราเป็นอะไรที่ไม่ได้อยากเป็น”