Skip to main content

“เวลาคนไข้อยากฆ่าตัวตาย เขาจะรู้สึกสองจิตสองใจคือ ไม่อยากฆ่าตัวตายหรอกแต่ก็ไม่อยากอยู่ ถ้าเขามีความหวัง เห็นความหมายในชีวิต เขาก็อาจจะไม่อยากตาย”

“เราเคยมีเพื่อนคนหนึ่งเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย แม้ไม่ได้เป็นเพื่อนที่สนิทกันมาก แต่รู้สึกว่ากระทบจิตใจเยอะมาก เช่นเดียวกับที่เห็นจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาที่พบว่า ครอบครัวหรือคนรอบข้างของคนที่เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เขาจะทุกข์ทรมานมาก”

จากความสนใจความรู้สึกของคนไข้ที่อยากฆ่าตัวตายและความเสียหายทางจิตใจมากกว่าการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ทำให้ป้อ—พิสินี แดงวัง Co-Director: The Living Room Program/ Transitional Care Clinic/ Department of Psychiatry The University of Texas Health Science Center at San Antonio ผันตัวจากนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นมาเป็นนักจิตวิทยาดูแลคนไข้ที่มีความคิดฆ่าตัวตายอย่างเต็มตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นว่า ในทวิตเตอร์แอคเคาท์ Pisinee.D  มักจะโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตาย พร้อมกับติดแฮชแท็กเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตให้มากขึ้น เธอเชื่อว่าว่าโรคและวิกฤตการณ์ทางสุขภาพจิตอันนำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้เหมือนกับโรคทางสุขภาพกาย  

เนื่องในโอกาสเดือนแห่งการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตในประเทศสหรัฐอเมริกา Thisable.me จึงถือโอกาสพูดคุยกับเธอว่า ประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตายอย่างไรบ้าง  

ความหมายหรือนิยามของคำว่าสุขภาพจิตที่ดี

พิสินี: คนที่มีสุขภาพจิตดีคือ คนที่สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดี ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สุขภาพจิตดีมาจากปัจจัยชีววิทยา พันธุกรรม พื้นอารมณ์ของแต่ละบุคคล วิธีการเลี้ยงดู สภาวะทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม 

คนเรามักให้ความสำคัญสุขภาพกายมากกว่าสุขภาพจิต

เพราะสภาวทางจิตเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นและไม่สามารถสังเกตอาการเจ็บป่วยได้เหมือนร่างกาย ถ้าขาเจ็บ ขาหักก็ต้องเข้าเฝือก แต่เวลาที่สภาวะจิตใจได้รับผลกระทบ เรามองไม่เห็น พอมองไม่เห็นก็ยากที่จะสังเกตตัวเอง

องค์การอนามัยโลกบอกว่า สุขภาพกายและสุขภาพจิตต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นต้องดูแลทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน สุขภาพจิตที่ดีไม่ใช่ไม่มีโรคทางจิต อย่างที่บางคนรู้สึกว่า มาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องผิดปกติ ทั้งที่หากเป็นสุขภาพกายคุณสามารถหาหมอเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคได้ ฉะนั้นก็เช่นเดียวกัน คุณไม่ต้องรอให้ป่วยเป็นโรคทางจิตก่อนแล้วค่อยไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางสุขภาพจิต เราก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเดียวกันได้ ถ้าคนที่บ้านไม่มีประวัติความเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตก็อาจจะมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีโอกาสป่วย เพราะปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นวิธีการป้องกันโรคทางสุขภาพจิต วิธีการแรกคือ ออกกำลังกาย งานวิจัยจำนวนมากบอกว่า ถ้าสุขภาพกายดี สุขภาพใจก็จะดีตาม วิธีการต่อมาคือ การฝึกสติ เวลาทำจิตบำบัดนิยมใช้การฝึกสติ เพราะมีงานวิจัยรองรับว่า การฝึกสติช่วยทำให้ยอมรับกับปัญหาที่แก้ไขไม่ได้และช่วยให้ตอบสนองกับปัญหาได้ดีขึ้น เพราะเมื่อคนเราควบคุมปัญหาไม่ได้ ก็ยิ่งพยายามควบคุมให้ได้ สิ่งเหล่านี้ใช้พลังงานทางอารมณ์เยอะ โดยอาจไม่ได้ผลลัพธ์อะไรกลับมาเลย ดังนั้นคนต้องยอมรับว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรตอนนี้ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนไม่ได้ตลอดไป คิดเสมอว่าวันหนึ่งเหตุการณ์จะเปลี่ยนไป แล้วอารมณ์จะดีขึ้นตามเหตุการณ์ แต่ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยน เราก็ต้องใช้ทักษะการจัดการทางอารมณ์เพื่อช่วยให้ตัวเองดีขึ้น

หากเราไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมหรือปัญหาได้ จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา

ถ้ามีปัญหาแล้วแก้ไข้ปัญหาหรือปรับตัวไม่ได้ ส่วนนี้จะพัฒนาเป็นโรคทางสุขภาพจิต เช่น กลุ่มความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood Disorders) ส่วนใหญ่หมายถึงโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว หรือกลุ่มอาการวิตกกังวล (Anxiety Disorder) อีกกลุ่มหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ อาการบุคคลิกภาพบกพร่อง  (Personality Disorder) ที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน 

ดังนั้นก็แสดงว่าสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน 

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าต้องเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าเท่านั้นที่จะคิดฆ่าตัวตาย แต่คนที่ไม่เคยพบจิตแพทย์ ไม่เคยพบนักจิตวิทยาก็มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้เหมือนกัน ปัญหาสุขสุขภาพจิตหรือโรคทางจิตเวชเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น คนที่ชีวิตมีปัญหาแล้วรู้สึกว่าไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาได้จึงเลือกจบชีวิตตัวเองดีกว่า เพราะไม่สามารถทำให้ความเจ็บปวดทางใจที่เกิดจากปัญหาต่างๆ ทุเลาได้ บางคนมีรายได้จำนวนมาก แต่วันหนึ่งตกงาน ก็ทำให้เขานึกถึงเรื่องการฆ่าตัวตายได้เหมือนกัน หรือบางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย รู้สึกว่าไม่มีใครต้องการ เป็นภาระให้กับผู้อื่น ก็อาจจะคิดถึงการฆ่าตัวตายได้ ฉะนั้นการฆ่าตัวตายไม่สัมพันธ์กับโรคจิตเวชเสียทีเดียว

ปัญหาเล็กน้อยอย่างการนอนไม่หลับก็ส่งผลให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตายได้เหมือนกัน

แต่ละวันคนต้องการระยะเวลานอนไม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่ต้องการเวลานอนประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่บางคนก็ต้องนอน 9 ชั่วโมงถึงจะนอนเต็มอิ่ม ถ้านอนผิดปกตินิดหน่อยอาจจะยังโอเค แต่ถ้าเริ่มผิดปกติต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะเริ่มกระทบกับอารมณ์ ความคิด และทักษะการแก้ปัญหาที่มีน้อยลง คนที่นอนไม่ได้เป็นระยะเวลานานจะทรมานมาก สมมติเราคิดเรื่องที่เรากังวลหรือผิดหวังอยู่ แล้วเราไม่ได้นอน ความคิดเหล่านี้ก็จะวนกลับมาเรื่อยๆ หากถ้าไม่ได้พักความคิดด้วยการนอนหลับ ก็จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ 

ศาสตร์ของจิตบำบัดคือการเล่าความในใจให้ฟัง แต่คนไข้ไม่กล้าเล่าเพราะไม่ไว้ใจนักจิตบำบัด

ถ้าคนไข้ไม่เล่าอาการให้ฟัง นักจิตวิทยาก็จะไม่รู้ เหมือนเวลาไปหาหมอ แต่เราไม่ยอมบอกหมอว่าเจ็บคอ แล้วบอกอาการอื่นแทน หมอเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราเจ็บคอ แต่ยังอาจจะส่องคอตรวจได้ว่าคอแดง แต่นักจิตวิทยาไม่มีเครื่องมือแบบนั้น เราไม่สามารถตรวจร่างกายแล้วบอกได้ว่าคนไข้เป็นอะไร ดังนั้นการสร้างสัมพันธ์ภาพทางวิชาชีพเป็นขั้นแรกที่นักจิตวิทยาต้องทำก่อนรักษา นักจิตวิทยามีจรรยาบรรณ ไม่อยากให้คนไข้รู้สึกไม่ไว้ใจจนไม่ยอมเล่าอะไร ตอนที่เราอยู่ไทย เราปฏิบัติตามจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด เราจะบอกคนไข้ว่า ‘ถ้าเจอกันข้างนอก จะไม่ทักนะคะ แต่ถ้าอยากทักก็เข้ามาคุยได้ แต่เราจะไม่คุยเรื่องในห้องบำบัด’ สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสัมพันธ์กันคนอื่น (Collectivism Culture) สมมติเจอหมอที่สยามพารากอน คนไทยบางคนก็จะคิดว่าจะไปทักหมอดีไหม ถ้าไม่ทักก็ดูไม่ดี แต่ที่อเมริกาจะไม่เป็นแบบนี้ เพราะเป็นสังคมปัจเจกนิยม เขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ง่ายกว่า

ที่อเมริกามีนักวิชาชีพจิตวิทยาเยอะมากและทุกคนมีจรรยาบรรณที่ต้องทำตาม หนึ่งในนั้นก็คือการรักษาความลับของคนไข้ บทลงโทษจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีคนไข้ร้องเรียน และถูกพิจารณาว่ารุนแรงและเป็นโทษกับคนไข้ เช่น นักจิตวิทยาไม่รักษาความลับของคนไข้ ส่งผลให้สภาพจิตใจคนไข้แย่ลง นักจิตวิทยาคนนั้นก็จะถูกลงโทษตักเตือน จนถึงยึดใบประกอบวิชาชีพ ทุกๆ 2 ปีจะต้องมีการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพโดยยื่นใบที่เรียกว่า Continue Education 30 หน่วยกิตไปด้วย นักจิตวิทยาจะต้องไปเวิร์กช็อปเพื่อเก็บหน่วยกิตในเวลา 2 ปี วิชาเรื่องจริยธรรมและการค้ามนุษย์เป็นวิชาที่บังคับให้มีในใบ Continue Education

อคติบางอย่างก่อให้ไม่เกิดการป้องกันการฆ่าตัวตาย

หลายปีก่อนเราโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ไว้ว่า ‘อคติต่อโรคจิตเวชมักจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวลังเลต่อการเข้ารับการบำบัดรักษาและทำให้สังคมขาดโอกาสในการทำความเข้าใจความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง’ ความจริงอีกรูปแบบหนึ่งที่หมายถึงก็คือ ผู้ป่วยโรคจิตเวชก็เหมือนคนทั่วไป ถ้าเขาได้รับการรักษาที่ดี เขาก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น การรักษาตั้งแต่แรกเริ่มนั้นช่วยได้เยอะมาก แต่พอสังคมพูดว่าการป่วยเป็นโรคจิตเวชไม่ดี จนทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวปฏิเสธความจริง และซ่อนคนป่วยทางจิตให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ให้ออกไปไหน เพราะรู้สึกว่าอาย การพูดถึงเรื่องโรคจิตเวชมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ จะทำให้คนไข้จะเข้าถึงการรักษามากขึ้น

สังคมคิดว่า ‘คนเป็นซึมเศร้ามักจะทำร้ายคนอื่น’

เวลาเราเห็นเห็นพูดแบบนี้ เราจะโกรธมาก สิ่งที่เราพยายามกันมาตลอดก็ต้องเริ่มใหม่ ตามสถิติแล้วผู้ป่วยจิตเวชมักจะเป็นเหยื่อของความรุนแรง เขามีโอกาสเป็นผู้ถูกกระทำมากกว่าคนทั่วไปถึง 10 เท่า เรารู้สึกแย่มากเวลาเห็นคนใช้ข้ออ้างของโรคที่หลายคนทนทุกข์ทรมาน เพื่ออธิบายพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง การทำแบบนี้หลายครั้งทำให้รอดพ้นจากความผิดไปได้ ที่อเมริกาก็เป็นเช่นเดียวกัน ในกรณีของการกราดยิง ถ้าผู้ต้องหาเป็นคนขาวก็จะบอกว่าป่วยจิตเวช แต่ถ้าเป็นคนชาติอื่นก็จะบอกว่ามีประวัติอาชญากรรม ฉะนั้นเราคิดว่ คนทำงานด้านสุขภาพจิตต้องให้ความรู้กับสังคมว่า การพูดแบบนี้ไม่ถูกต้อง

ในฐานะนักจิตวิทยาที่ทำงานโดยตรง คิดอย่างไรที่สังคมไทยบอกว่าคนฆ่าตัวตายเป็นคนคิดสั้น  

เราเคยโดนทัวร์ลงทวิตเตอร์ เพราะบอกว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว คนที่คิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย เขาคิดมาพักหนึ่งแล้ว แต่อาจจะเกี่ยวกับความหุ่นหันพลันแล่นและความก้าวร้าวหรือเห็นวิธีการฆ่าตัวตายโดยใช้ปืนยิง หรือกระโดดตึก จะทำให้คนคิดว่าเขาคิดสั้น ไม่คิดถึงคนข้างหลัง  แต่จากมุมมองของคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย เขามองว่าตัวเองเป็นภาระให้กับคนอื่น ทำให้ครอบครัวแย่ลง และการจากไปจะทำให้คนรู้สึกดีขึ้น 

บางคนคิดว่าการพูดว่า ‘ฆ่าตัวตายเป็นบาป’ หรือ คนฆ่าตัวตายเป็นคนเห็นแก่ตัว จะสามารถยังยั้งให้คนไม่ฆ่าตัวตายได้ 

ปัจจัยป้องกันการฆ่าตัวตายก็เกี่ยวกับสองเรื่องนี้ มีงานวิจัยบอกว่า ความเชื่อทางศาสนาสามารถยับยั้งให้คนไม่ฆ่าตัวตายได้ อย่างศาสนาพุทธบอกว่า ถ้าฆ่าตัวตายจะตกนรก เรามีคนไข้คนหนึ่งบอกว่า ถ้าต้องฆ่าตัวตายแล้วเกิดใหม่อีกรอบและมีชีวิตทุกข์ทรมานแบบนี้อีกครั้ง ก็ไม่ฆ่าตัวตายดีกว่า แล้วคนไข้อีกคนหนึ่งบอกว่าอยากตายมากเลย แต่ยังมีแม่อยู่ การดูแลแม่ก็อาจเป็นความหวังและความหมายของชีวิต อย่างไรก็ดี การบอกว่าฆ่าตัวตายเป็นบาปและคนฆ่าตัวตายเป็นคนเห็นแก่ตัวก็เป็นดาบสองคม ควรไตร่ตรองก่อนพูด การพูดเพื่อให้รู้สึกผิด นั้นอาจได้ผลลัพธ์ที่แย่ 

บางคนบอกว่า คนที่แสดงออกว่าอยากฆ่าตัวตายนั้นเรียกร้องความสนใจ 

เราเคยโพสต์เรื่องนี้ในทวิตเตอร์ว่า คนส่วนใหญ่มักคิดว่า คนที่บอกว่าจะฆ่าตัวตายนั้นจะไม่ทำ มองว่าการบอกคือการเรียกร้องความสนใจ นี่เป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะเวลาคนพูดว่าอยากจะฆ่าตัวตาย ไม่ว่าเขาจะเรียกร้องความสนใจหรือไม่ มันเป็นสัญญาณบางอย่างที่แสดงถึงความเจ็บปวดข้างใน หลายคนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนมาสนใจความเจ็บปวดทางใจที่เผชิญอยู่ จึงแสดงออกมาแบบนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปทำให้เขารู้สึกแย่ลง และควรช่วยดึงให้เขามีชีวิตอยู่ได้ทางใดทางหนึ่ง เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่า คนที่อยากฆ่าตัวตายจะอยากจริงๆ หรือพูดเพื่อเรียกร้องความสนใจ นักจิตวิทยาเองก็ไม่ได้สนใจว่าเขาเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า แต่สนใจที่เขาพูดแบบนี้ นั่นแปลว่าเขากำลังคิดเรื่องนี้ เราช่วยเขาก่อนด้วยการการพูดคุยสอบถามและติดตามพฤติกรรม 

วิธีการทำงานของนักจิตวิทยาที่บำบัดคนไข้ฆ่าตัวตาย

คนไข้ที่เข้ามาคลินิกเป็นคนไข้ความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย เราจะใช้ Clinical Interview ถามคนไข้ว่าเกิดอะไรขึ้นถึงมารับการบำบัด โดยถามค่อนข้างละเอียดว่าทำไมไปอยู่ที่โรงพยาบาล เกิดอะไรขึ้น และจะถามถึงประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก (Adverse childhood experiences; ACE) เช่น พ่อแม่หย่ากัน, การเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน, พ่อแม่มีประวัติจิตเวชหรือไม่, มีแอลกฮอล์ในบ้านหรือเปล่าหรือมีใครเคยติดคุกบ้าง แล้วก็ถามว่าตอนนี้ทานยาอะไรอยู่ไหม มีนักจิตบำบัดหรือเปล่า ดื่มแอลกฮฮล์ไหม ใช้สารเสพติดหรือเปล่า หลังจากนั้นจะเสนอแผนรับมือเมื่อคนไข้เกิดความคิดฆ่าตัวตายครั้งต่อไป (Crisis Response Planing; CRP) โดยเริ่มจากให้คนไข้เล่าเหตุการณ์ก่อนที่จะถูกส่งเข้าโรงพยาบาลว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็จะฟังและค่อยเข้าสู่กระบวนการสร้างแผนรับมือ ขั้นตอนที่ 1 นักจิตวิทยาจะถามว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่ากำลังคิดฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และทริกเกอร์ ขั้นตอนที่ 2 นักจิตวิทยาก็จะถามว่าคนไข้ว่า ไม่ได้รู้สึกแบบนี้ครั้งแรกใช่ไหม ที่ผ่านมาทำอะไรเพื่อผ่านเหตุการณ์เช่นนี้ขั้นตอนที่ 3 นักจิตวิทยาจะถามเขาว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้มีชีวิตอยู่ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะพูดถึงพ่อแม่ แฟน เพื่อน และสัตว์เลี้ยง ขั้นตอนที่ 4 นักจิตวิทยาจะถามเขาว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกจะมีใครช่วยเหลือได้บ้าง เราจะให้คนไข้เขียนแผนนี้ใส่กระดาษใบเล็กๆ เหมือนบัตรประจำตัวสอบและให้เก็บแผนนี้ไว้กับตัว ถ้าลองทำมาทุกขั้นตอนแล้วไม่ได้ผล เราจะสอนคนไข้ให้ไปห้องฉุกเฉิน โทรหาสายด่วนสุขภาพจิต หรือวอร์กอินเข้ามาขอความช่วยเหลือที่คลินิก 

ดังนั้นทุกครั้งที่คนไข้กลับมาที่คลินิก เราจะถามว่าได้ใช้แผนนี้หรือเปล่า มีอะไรที่ต้องเขียนเพิ่มหรือตัดออกไหม เป้าหมายของเราคืออยากให้เขาจำแผนนี้ได้ เรารู้ว่าเขาจำไม่ได้หรอกเพราะจำยากและค่อนข้างเยอะ แต่หากนักจิตวิทยาคอยถามช่วง 2-3 อาทิตย์แรก หลังอาทิตย์ที่ 4 เขาก็จะเริ่มจำได้เองว่าต้องทำอะไรบ้าง หน้าที่ของเราจึงเป็นการเตรียมคนไข้ให้รับมือกับปัญหาได้ หากคนไข้ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรและกำลังจะฆ่าตัวตาย แค่ถ้าลองใช้แผนแล้วเวิร์ค ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะใช้แผนนี้ในครั้งต่อๆไปด้วย

เหตุผลของการทำแผนนี้ สืบเนื่องมาจากงานวิจัยที่พบว่า คนไข้ในวอร์ดจิตเวช ไม่ได้เรียนรู้ทักษะการจัดการความคิดฆ่าตัวตายสักเท่าไร เพราะระยะเวลาที่อยู่ค่อนข้างสั้น พอออกมาจากโรงพยาบาลจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตายอีกครั้งภายใน 90 วัน ดังนั้นช่วงเวลาที่เราบำบัดเขา จำเป็นเราต้องสอนทักษะเช่นนี้ให้กับเขา

คนไข้ที่มีประสบการณ์เฉียดความตายจะกลัวและไม่ฆ่าตัวตายอีกหรือไม่

เวลาคนคิดฆ่าตัวตายเส้นกราฟความรู้สึกจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเขาตัดสินใจได้ว่าจะฆ่าตัวตายกราฟกลับนิ่งเป็นเส้นตรง แต่การรอดชีวิตนั้นทำให้เส้นกราฟจะดิ่งลงมาเยอะมาก ฉะนั้นคนจะเรียนรู้ว่าการทำร้ายตัวเองทำให้ความเจ็บปวดทางใจลดน้อยลง คนจึงทำซ้ำเพื่อให้กราฟดิ่งลง ครั้งต่อๆไป หากเขาพยายามจัดการอารมณ์แล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง แถมยังเรื้อรังยาวนาน ก็จะมีโอกาสที่จะกลับไปคิดเรื่องฆ่าตัวตายซ้ำอีกครั้ง

นักจิตวิทยาลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำได้อย่างไรบ้าง

เราเป็นนักจิตบำบัดที่ใช้ Dialectical Behavior Therapy; DBTช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ได้แก่ 4 โมเดล คือ สติ (Mindfulness) , การอดทนต่อความทุกข์ที่ไม่สามารถจัดการได้ (Distress Tolerance ) ,  การจัดการอารมณ์ (Emotion Regulation) และสุดท้ายคือคือ การมีประสิทธิภาพทางสังคม (Interpersonal Effectiveness ) ในแต่ละโมเดลมีทักษะเยอะมากที่ต้องสอนคนไข้ แต่โมเดลที่เราเน้นก็คือ การอดทนต่อความทุกข์ที่ไม่สามารถจัดการได้เมื่อเผชิญความทุกข์ คิดอยากจะฆ่าตัวตาย หากความคิดเกิดขึ้นแล้วจะต้องทำอย่างไร ผ่านทักษะอะไรก็ได้ที่ทำให้เหตุการณ์ไม่แย่ลง เช่น ใช้น้ำแข็งมาโปะหน้าหรือกระโดดตบเร็วๆ 20 - 30 นาที นอกจากนี้โมลเดวนี้ยังสอนทักษะการยอมรับ (Radical Acceptance) ซึ่งทักษะนี้ทำยากมาก เพราะเราต้องยอมรับว่าเราทำอะไรไม่ได้ ต้องรอก่อน แล้วก็ทำสิ่งอื่น เช่น ไปเดินรอบบ้าน, ฟังเพลง, และดูหนัง เพราะเวลาเรารู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่งแต่ไม่สามารถ พอรู้สึกแบบนั้นบ่อยๆ ก็จะยิ่งเกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองมากขึ้น 

ถ้าคนไข้คิดอยากจะฆ่าตัวตาย เขาสามารถโทรหาเราได้ 24 ชั่วโมง แต่เวลาโทรมาจะเน้นย้ำว่าไม่ใช่การบำบัดแต่โทรมาทบทวนว่า มีทักษะอะไรบ้างที่หยุดความคิดฆ่าตัวตาย เราก็จะบอกคนไข้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งวิธีการนี้ได้ผลดีมากในการลดการฆ่าตัวตายซ้ำ  

ที่อเมริกาคนไข้ต้องออกไปหานักจิตบำบัดเองหรือว่ามีนักจิตบำบัดที่โรงพยาบาล

มีทั้งสองแบบ อย่างคลินิกที่เราทำงานก็มีนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดเป็นสิบคน มีจิตแพทย์ประมาณ 13-14 คน หากยิ่งต้องทำงานกับคนไข้ความเสี่ยงสูง เราต้องมีครบทีม นอกจากนี้ก็มีนักจิตวิทยาทำงานในคลินิกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเขาสู่ระบบการทำงานใหญ่ก็สามารถทำงานได้ หรือมีจิตแพทย์ที่ทำงานคนเดียวโดยไม่มีนักจิตวิทยา แม้แต่คลินิกหมอทั่วไปก็มีนักจิตวิทยาอยู่ ดังนั้นนักจิตวิทยาจะสกรีนอาการเบื้องต้นก่อนส่งไปให้จิตแพทย์ โมเดลการรักษาที่นี่จะต่างจากเมืองไทย อย่างตอนเราเป็นนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลไทย เราเป็นเพียงนักจิตวิทยาคนเดียว ในบรรดาจิตแพทย์จำนวนมาก เห็นได้ชัดว่ามีสัดส่วนไม่เท่ากัน ส่งผลให้การรักษาด้วยยาและจิตบำบัดไม่สามารถไปด้วยกันได้ อีกทั้งคนไทยเองก็นิยมหาจิตแพทย์มากกว่าด้วย

เพราะอะไรทำให้อเมริกาสนใจเรื่องสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายมากขนาดนี้

การมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเป็นสาเหตุให้คนทำงานไม่ได้ เวลาเราผลิตคนคนหนึ่งขึ้นมานั้นใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะ อีกประเด็นหนึ่งคือเราเชื่อว่าสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้ จากข้อมูลวิจัยพบว่า การทำงานเรื่องสุขภาพจิตสามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้เยอะมาก เพราะการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้นกระทบคนตั้งแต่ 10 - 50 คน  ยิ่งถ้าคนที่ฆ่าตัวตายใกล้ชิดกับเราแค่ไหน เราก็มีสิทธิฆ่าตัวตายสูงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ คนที่นี่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากให้ความเคารพความเป็นคน แคร์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคน ไทยเราก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นแต่ก็ไปติดปัญหาเชิงระบบที่กดขี่ให้คนไม่มีทางเลือก ไม่สามารถมีนักจิตวิทยาอย่างทั่วถึง ฉะนั้นอุปสรรคทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าคนไข้ไม่สามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการได้ นักจิตวิทยาก็ช่วยอะไรไม่ได้อยู่ดี แม้แต่ในอเมริกาที่แม้ประเด็นนี้มาไกลมาก แต่ก็ยังมีประเด็นบางประเด็นที่ต้องต่อสู้กันต่อไป