Skip to main content

Apple เปิดตัวฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการทุกประเภท โดยมีความเชื่อที่ว่า การเข้าถึงเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นการก้าวหน้าไปอีกขั้นของประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท โดย Sarah Herrlinger ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายระบุว่า นโยบายเรื่องการเข้าถึง (Global Accessibility Policy and Initiatives) ของ Apple ช่วยขยายขอบเขตของนวัตกรรมให้กว้างไกลยิ่งขึ้น เข้าสู่ผู้คนได้มากยิ่งขึ้น

SignTime

เป็นบริการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่อำนวยความสะดวกในการติดต่อกับล่ามภาษามือโดยลูกค้าหูหนวกที่แวะเวียนไปร้าน Apple Store ในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส จะสามารถใช้ SignTime เพื่อเข้าถึงบริการล่ามภาษามือระยะไกลได้ ซึ่งจะช่วยลูกค้าในการสื่อสารกับ AppleCare และพนักงานด้วยการใช้ภาษามืออเมริกัน (ASL) ในสหรัฐฯ , ภาษามืออังกฤษ (BSL) ในสหราชอาณาจักรและภาษามือฝรั่งเศส (LSF) ในฝรั่งเศสได้โดยตรงจากเบราเซอร์ของทุกคน และมีแผนที่จะขยายบริการนี้ไปยังประเทศอื่นเพิ่มเติมในอนาคต

AssistiveTouch สำหรับ Apple Watch

ฟังก์ชันนี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับผู้ใช้งานซึ่งมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว AssistiveTouch สำหรับ Apple watchOS จะช่วยให้ผู้ใช้ที่มีความบกพร่องของแขนสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับหน้าปัดหรือปุ่มควบคุมเลย

ฟังก์ชันนี้ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวในตัว อย่าง Gyroscope และ Accelerometer และเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยแสง (Optical Heart Rate Sensor) การเรียนรู้ของระบบบนอุปกรณ์ ทำให้ Apple Watch สามารถตรวจจับความแตกต่างแม้เพียงการเคลื่อนไหวเล็กน้อยของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในร่างกายได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้งานเคอร์เซอร์บนหน้าปัดได้ด้วยการใช้ท่าทางของมือ เช่น การจีบนิ้วหรือการกำมือในการรับสายเข้า ควบคุมตัวชี้บนหน้าจอ และการเข้าถึงศูนย์การแจ้งเตือน และอื่นๆ

สำรวจรูปภาพด้วย VoiceOver

คุณสมบัติใหม่สำหรับ VoiceOver ที่ช่วยอ่านหน้าจอสำหรับคนตาบอดแและสายตาเลือนรางในการอัปเดตล่าสุด ได้เพิ่มฟังก์ชัน Image Descriptions มาใช้เพื่ออธิบายรายละเอียดต่างๆ ในภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ข้อความ ตารางข้อมูลและวัตถุอื่นๆ เช่น ผู้ใช้สามารถสำรวจรูปภาพของใบเสร็จได้เหมือนการดูตารางทั้งแถวแนวนอนและแนวตั้ง

VoiceOver ยังสามารถบรรยายตำแหน่งของผู้คน รวมถึงวัตถุอื่นที่อยู่ในภาพได้ด้วย เช่น "ภาพใบหน้าด้านข้างของคนผมหยิกสีน้ำตาล ศีรษะเอียงขวาเล็กน้อยและกำลังยิ้มอยู่"

เสียงพื้นหลัง Background Sounds

เสียงในชีวิตประจำวันอาจทำให้เสียสมาธิ รู้สึกหงุดหงิดหรือรู้สึกกดดันอย่างมาก Apple จึงแนะนำเสียงพื้นหลังใหม่ที่จะช่วยลดสิ่งรบกวนและทำให้ผู้ใช้มีสมาธิ รู้สึกสงบและได้พักผ่อน

เสียงดังกล่าวเป็นเสียงที่ทำให้รู้สึกถึงความสมดุล สว่างใสหรือมืดครึ้ม รวมถึงเสียงของท้องทะเล สายฝน หรือกระแสน้ำ เพื่อกลบสภาพแวดล้อมอันไม่พึงประสงค์หรือเสียงจากภายนอก เสียงนั้นสามารถผสมผสานหรือซ่อนอยู่ภายใต้เสียงอื่นๆ และเสียงของระบบได้อีกด้วย

เครื่องช่วยฟังและการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน Made for iPhone

ในการอัปเดตโปรแกรมอุปกรณ์รับฟัง MFi นั้น Apple ได้เพิ่มการรองรับเครื่องช่วยฟังแบบสองทิศทางใหม่ โดยมีไมโครโฟนในเครื่องช่วยฟังที่จะช่วยให้คนหูหนวกหรือหูตึง สามารถใช้งานโทรศัพท์และ FaceTime ได้แบบแฮนด์ฟรี

นอกจากนี้ยังเพิ่มการรองรับการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน แสดงเป็นแผนภูมิผลทดสอบการได้ยินในคุณสมบัติการช่วยปรับหูฟัง (Headphone Accommodations) ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งเสียงได้อย่างรวดเร็ว เช่น ขยายเสียงที่เบาให้ดังขึ้น และปรับความถี่บางช่วงเพื่อให้เหมาะกับการฟังของผู้ใช้

คุณสมบัติเพิ่มเติมที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงหลังของปีนี้ได้แก่

>Sound Actions สำหรับ Switch Control ซึ่งจะมาแทนที่ปุ่มและสวิทช์ด้วยการใช้เสียง เช่น เสียงเดาะลิ้น เสียงเป่าปาก หรือเสียง "อี" สำหรับผู้ใช้ซึ่งไม่สามารถพูดได้และมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด

>การตั้งค่าจอภาพและขนาดอักษร สามารถปรับแต่งได้ในแต่ละแอป สำหรับผู้ใช้ที่ตาบอดสีหรือมีปัญหาทางสายตาอื่นๆ เพื่อทำให้มองเห็นหน้าจอได้ง่ายขึ้น ผู้ใช้จะสามารถปรับแต่งการตั้งค่าเหล่านี้ได้ในแต่ละแอปที่รองรับการใช้งานนี้

>การปรับแต่ง Memoji ใหม่ ที่แสดงตัวตนของผู้ใช้ได้มากยิ่งขึ้นด้วยท่ออ็อกซิเจน ประสาทหูเทียม และหมวกนิรภัยแบบนุ่ม เพื่อฉลองวันรณรงค์เรื่องการช่วยการเข้าถึงโลก (Global Accessibility Awareness Day)

>Apple Fitness+ จะนำเสนอการออกกำลังกายสำหรับทุกคน ตั้งแต่เทรนเนอร์ที่ใช้ภาษามือในการออกกำลังกายแต่ละชนิด ในการพูดว่า "สวัสดี" หรือ "เก่งมาก" ไปจนถึงช่วง "ถึงเวลาไปเดินแล้ว" ที่เปลี่ยนเป็น "ถึงเวลาไปเดินหรือเข็นรถกันแล้ว" สำหรับการออกกำลังกายด้วยวีลแชร์บน Apple Watch และวิดีโอทั้งหมดจะมีคำบรรยายแทนเสียงด้วย Fitness+ ยังจะมีการปรับแต่งการสาธิตของเทรนเนอร์สำหรับการออกกำลังกายแต่ละชนิด เพื่อให้ผู้ใช้ทุกระดับสามารถเข้าร่วมได้ และมีคำบรรยายแทนเสียงสำหรับการออกกำลังกายทุกชนิด

>คำสั่งลัดสำหรับ Accessibility Gallery จะใช้คำสั่งลัด Siri เพื่อติดตามการกินยา และช่วยเหลือการทำกิจวัตรประจำวัน และผ่าน Accessibility Assistant

>Today at Apple ที่นำเสนอเซสชั่นออนไลน์แบบสดที่ใช้ภาษามืออเมริกัน (ASL) และภาษามืออังกฤษ (BSL) ในเรื่องพื้นฐานการใช้ iPhone และ iPad สำหรับคนพิการ

>ใน App Store ลูกค้าจะสามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ Lucy Edwards อินฟลูเอนเซอร์บน TikTok ซึ่งเป็นคนตาบอดที่มามาแบ่งปันแอปการช่วยการเข้าถึงที่เธอชื่นชอบ เช่น แอปประจำวัน FiLMiC Pro ซึ่งเป็นหนึ่งในแอปวิดีโอที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ที่ตาบอดและตาเลือนราง

>Apple TV นำเสนอคอลเลกชันตัวละครผู้ฝ่ากำแพงแห่งอุปสรรค (Barrier-Breaking Characters) เพื่อร่วมฉลองการนำเสนอเรื่องความพิการทั้งบนจอและหลังกล้อง โดยจะนำเสนอการคัดสรรของแขกรับเชิญที่มาจากผู้สร้างและศิลปิน เช่น ทีมนักแสดงจาก “Best Summer Ever” ซึ่งจะมาแบ่งปันภาพยนตร์เรื่องโปรดของตนเอง และรายการเกี่ยวกับประสบการณ์การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์โดย Tennessee Loveless ศิลปินแนวป็อปอาร์ตและเออร์เบินโฟล์คชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากภาพประกอบสีสันสดใส และการเล่าเรื่องอันมีชีวิตชีวาของเขาผ่านมุมมองของผู้ที่ตาบอดสี

>Apple Books มีการเพิ่มเติมเรื่องน่าอ่านแนะนำจากนักเขียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ Judith Heumann พร้อมด้วยคอลเลกชั่นอื่นในอีกหลายๆ ธีม

>Apple Maps นำเสนอคู่มือใหม่จากมหาวิทยาลัย Gallaudet ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกสำหรับนักเรียนหูหนวก หูตึง และหูหนวกตาบอด ที่ช่วยเชื่อมโยงผู้ใช้กับธุรกิจและองค์กรต่างๆ ที่เห็นคุณค่า เปิดรับ และให้ความสำคัญต่อชุมชนคนหูหนวกและการใช้ภาษามือ

ภาพประกอบโดย กาญจนี สุคะมะโน