Skip to main content

“เรื่องหนึ่งที่คนหูหนวกไม่ค่อยรู้ ก็คือเรื่องกฎหมายและสิทธิ จึงมักถูกห้ามและกดขี่ ไม่รู้ว่าบางเรื่องก็ทำได้ เวลาถูกเอาเปรียบก็สู้ไม่ได้ เช่น เมื่อคนหูหนวกท้องก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิของตัวเอง”

ในปี 2021 ยุคสมัยที่คนเข้าใจเรื่องเพศกันมากขึ้นกว่าเดิม เรื่องที่ไม่เข้าใจก็ถูกทำให้กระจ่าง อินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ทำให้เราเห็นบริบทผู้คนที่หลากหลาย โลกนี้ไม่ได้มีแค่หญิงชาย คำนำหน้าชื่อไม่อาจจำกัดคนไว้เพียงเท่านั้นได้ เราเข้าใจสิ่งที่เป็นและรู้สึก และที่สำคัญเรารู้สิทธิ รู้กฏหมาย มีสังคมที่เราปรึกษาได้ มีผู้คนที่พร้อมรับความหลากหลาย แต่นั่นก็ยังไม่ได้เต็มที่นักสำหรับคนหูหนวก ผ่านเรื่องราวที่พวกเราได้ยินผ่านนับดาว เธอจะเล่าให้เราฟังถึงปัญหาที่คนหูหนวกต้องเจอ โดยเฉพาะ LGBTQ+

Thisable.me คุยกับนับดาว องค์อภิชาติ ที่ด้านหนึ่งเธอคือผู้จัดงาน มิส&มิสเตอร์, มิสควีน, มิสซิสเดฟไทยแลนด์ แต่อีกด้านนึงนั้น เธอคือประธานชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง คอยทำหน้าที่อบรมและให้ความรู้เรื่องเพศ ซึ่งสำหรับคนหูหนวกเธอยังพบว่ายังขาดความเข้าใจอีกมาก รวมถึงโอกาสและอุปสรรคอีกมากมายที่คนหูหนวก LGBTQ+  ต้องเผชิญ แม้ในยุคที่เราจะรู้สึกว่าคนควรจะเท่ากันได้แล้ว 

ชมรมหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง 

นับดาว: ชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2010 เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนหูหนวก หูตึงที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนหูหนวกในประเทศอื่น หลังจากได้รับตำแหน่งประธานชมรมก็หวังว่าคนหูหนวกที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกกดขี่ จะได้รับการสนับสนุนเพื่อความเท่าเทียม นอกจากนี้ยังหวังให้ความรู้กับคนหูหนวกที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อพัฒนาพวกเขาให้เท่าเทียมกับทุกคนในสังคม

คนหูหนวกหลายคนมีความรู้ชุดเก่า เพราะพวกเขาถูกปลูกฝังมาแบบนั้น หน้าที่ของเราจึงเริ่มตั้งแต่การสอนวิธีป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอดส์หรือยาเสพติด และเชิญคนในกลุ่มต่างๆ มาให้ความรู้ความเข้าใจ เช่น มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เป็นต้น เรื่องหนึ่งที่คนหูหนวกไม่ค่อยรู้ ก็คือเรื่องกฎหมายและสิทธิ จึงมักถูกห้ามและกดขี่ ไม่รู้ว่าบางเรื่องก็ทำได้ เวลาถูกเอาเปรียบก็สู้ไม่ได้ เช่น เมื่อคนหูหนวกท้องก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิของตัวเอง มากที่สุดก็ทำได้แค่ปรึกษาพ่อแม่ แม้แต่การไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึง 

LGBTQ+

สมัยก่อน หากสังคมรู้ว่าคนหูหนวกเป็น LGBTQ+ ก็มักมองในแง่ลบ คนหูหนวกจึงไม่กล้าที่จะเปิดตัว ไม่รู้ว่าตัวเองทำถูกหรือทำผิด พ่อแม่คนหูหนวกก็มองว่า เป็นคนหูหนวกอยู่แล้ว ยังจะเป็น LGBTQ+ อีก ส่วนใหญ่จึงบังคับว่า ห้ามเป็น LGBTQ+ เป็นได้เฉพาะผู้หญิงหรือผู้ชาย คนหูหนวกก็ยอมทำตามที่ถูกสั่ง แม้ใจจริงอยากเป็น LGBTQ+ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อคนหูหนวกต้องการทำงานเช่นกัน เมื่อคนไม่ค่อยรับ LGBTQ+ หูหนวกเข้าทำงาน 

แต่เมื่อคนหูหนวกเริ่มเปิดตัวกันมากขึ้น เขาก็ยังรู้สึกได้ถึงความไม่เท่าเทียมกับกับผู้หญิงหรือผู้ชาย  เช่น โรงเรียนก็ยังไม่ยอมรับนักเรียน LGBTQ+ หรือการมองข้ามพนักงาน LGBTQ+  โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 หลายที่ไล่พนักงาน LGBTQ+ หูหนวกออก ส่วนผู้ชายกับผู้หญิงยังคงทำงานได้อยู่ LGBTQ+ กลายเป็นกลุ่มที่จะถูกเอาออกก่อนเสมอ เราจึงอยากให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น  LGBTQ+  ผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็ควรมองเรื่องความสามารถมากกว่า 

ในตอนนี้เราก็พยายามร่วมมือกับองค์กรต่างๆ รวมถึงมูลนิธิ สมาคม บริษัทของคนหูดี รณรงค์ให้เขาเห็นว่า LGBTQ+ หูหนวกมีความสามารถ อย่ามองแต่รูปลักษณ์ LGBTQ+ การมองว่า LGBTQ+ ชอบมีปัญหาหรือมักจะเป็นคนผิดเสมอนั้นไม่สมควร เราไม่อยากให้เกิดการเหมารวม จึงหวังว่าเมื่อเราเป็นประธานชมรมจะสามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ แก้ปัญหาเรื่องการทำงานของคนหูหนวก LGBTQ+ หูหนวกต้องมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย ผู้หญิง ต้องเคารพสิทธิของกันและกัน 

แม้ตอนนี้ LGBTQ+ อย่างเกย์ สาวประเภทสองหูหนวกจะเปิดตัวกันเยอะมาก แต่ทอมยังมีอุปสรรค พวกเขากลัว ยังไม่กล้าที่จะเปิดตัว  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจ ถ้ามีโอกาสก็อยากขอเชิญชวนคนที่มีความรู้เรื่องทอมมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อที่จะได้ผลักดันกันต่อไปในอนาคต 

ชีวิตของนับดาว 

ตั้งแต่เล็กจนโต เราชอบเล่นของเล่นของเด็กผู้หญิง พ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับว่าห้ามเล่น ในใจเรามองว่าครอบครัวรับรู้ตั้งแต่ตอนนั้น เราไม่เคยเปิดตัวเพราะรู้สึกอาย สังคมตอนนั้นยังไม่ได้เปิดกว้างและโรงเรียนของคนหูหนวกก็เขร่งครัด พอเห็นเราตุ้งติ้ง โรงเรียนก็ชอบมองว่าจะไปสอนน้องให้เป็น LGBTQ+ ครูจึงจับเราแยกจากทุกคน ช่วงนั้นเราต้องอดทนมากเพราะถูกกดดันเพียงเพราะอยากมีความสุข จึงหนีโรงเรียนบ่อยๆ เพื่อมากรุงเทพฯ 

สังคมข้างนอกโรงเรียนไม่มีปัญหาสำหรับเรา ต่างจากโรงเรียนที่มองว่าเราแปลก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยเราได้เรียนรู้เรื่องสาวประเภทสองจากคนหูดี ตอนนั้นรู้สึกว่าสุดยอดมาก จึงเริ่มพยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง เรียนรู้ประสบการณ์การกินยา เริ่มแต่งตัวเป็นผู้หญิง อยากมีหน้าอก จากตอนแรกที่ไม่มีความรู้แล้วกินยาเองจนปวดไปหมด ฝากเพื่อนผู้หญิงไปซื้อเสื้อในเพราะไม่กล้าซื้อเอง 

การเป็นคนหูหนวกที่เป็น LGBTQ+ มีอุปสรรคมาก เราฝันอยากจะเรียนนิเทศศาสตร์ เพราะรักในการเขียนบทภาพยนตร์ ตัดต่อถ่ายทำและชอบการแสดง แต่สังคมทำให้ความฝันดับลงเพราะเขาไม่ให้โอกาส สุดท้ายก็ต้องไปเรียนสาขาอื่น เช่นเดียวกับคนหูหนวกหลายคนที่มีความฝัน อยากเรียนในบางสาขาแต่ก็ไม่มีโอกาส จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำงานที่อยากทำ 

แม้แต่เรื่องเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมธนาคารก็มีปัญหาสำหรับคนหูหนวก เพราะจะต้องมีพยานไปด้วยเสมอ ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมยังไม่ให้โอกาสกับคนหูหนวกเท่าที่ควร แสดงให้เห็นว่า คนหูหนวกมีความฝันแต่สังคมยังไม่เปิดรับ 

การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนหูหนวก

ส่วนมากคนหูหนวกจะเชื่อคนหูดีหรือคำแนะนำของเพื่อน จน ไม่ค่อยได้ไปพบแพทย์ เมื่อก่อนนี้คนหูหนวกก็กินยาคุมแบบผิดๆ จนมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ เราจึงร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ อบรมขั้นตอนที่ถูกต้องให้กับทุกคน หลายคนตกใจเพราะเป็นเรื่องใหม่มาก 

ในตอนนี้ก็พยายามให้คนหูหนวกได้เรียนรู้และดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง ให้ความรู้ว่าถ้าคนหูหนวกไม่สบายแล้วต้องไปพบแพทย์ก็เอาล่ามไปได้ คนหูหนวกบางคนไม่รู้ว่าล่ามใช้บริการฟรี ก็เลยไปเองและใช้วิธีเขียนคุยกับหมอ บางทีก็ไม่เข้าใจ ยิ่งตอนนี้ทุกคนใส่แมสก์เขาก็ไม่รู้ว่าหมอพูดอะไร คนหูหนวกก็จับคำพูดไม่ได้ บางทีหมอก็ไม่ยอมเขียน หลายครั้งคนหูหนวกอยากจะเปิดบริการล่ามภาษามือออนไลน์ (TTRS) และหันกล้องไปหาหมอ หมอก็บอกว่าห้ามเปิด การพบแพทย์สำหรับคนหูหนวกจึงเป็นอุปสรรคมาก 

เราอยากให้ภาครัฐสนับสนุนคนหูหนวกให้ได้รับการอบรม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ และความรู้ด้านกฎหมาย  นอกจากนี้องค์กร บริษัทต่างๆ ควรเปิดโอกาสให้กับคนหูหนวก LGBTQ+ อย่างเท่าเทียม โดยดูจากความสามารถเป็นหลัก เราอยากให้สังคมรับรู้ว่า ทุกวันนี้มีคนหูหนวกที่เป็น LGBTQ+ และคนหูหนวกก็อยากเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ เช่นเดียวกัน เพราะพวกเราก็มีความฝันที่อยากเห็นความเท่าเทียมเหมือนกับคนอื่นในสังคม

ถ้าคุณเป็นคนหูหนวก หูตึงที่เป็น LGBTQ+ เผชิญกับปัญหา รู้สึกเก็บกด หรือโดนกดดันต่างๆ สามารถมาปรึกษาทางชมรมหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง

หรือปรึกษามูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ 

 

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ