Skip to main content

อย่างที่รู้กันว่า ความร้อนจากภาวะโลกร้อนทำให้อุณภูหมิโลกสูงขึ้น หนำซ้ำประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้อากาศยิ่งร้อนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จนทำให้ฤดูกาล 3 ฤดู อย่างฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว เปลี่ยนเป็นฤดูร้อน ฤดูร้อนมากและฤดูร้อนมากที่สุด ซึ่งร้อนมากถึง 44 องศาเซลเซียส อากาศที่ร้อนทำให้หลายคนคนร้อนเนื้อร้อนใจ บางคนเป็นโรคจากความร้อน แต่สำหรับบางคนความร้อนกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลง ส่งผลทำให้กลายเป็นคนพูดไม่เก่งและไม่ค่อยออกไปพบปะสังสรรค์กับผู้คนเพื่อตัดปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น 

จากปัญหาดังกล่าว Thisable.me จึงชวนคุณอาร์วี มาพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจว่า สภาพแวดล้อมกระทบกับการได้ยินของเธออย่างไรบ้าง แม้ความผิดปกติทางการได้ยินของเธอเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ประสิทธิภาพการได้ยินที่ลดลงกลับทำให้ต้องเผชิญปัญหาหรือสูญเสียอะไรในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย 

จุดเริ่มต้นของปัญหาการได้ยินเฉพาะ ‘ช่วงบทสนทนา’

อาร์วี: เรามีปัญหาการได้ยินมาตั้งแต่เด็กคือจะได้ยินเสียงคนพูดคุยแค่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์และสามารถขยับเป็น 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนคนทั่วไปได้จากการอ่านปาก ตั้งแต่ช่วงประถมที่บ้านสังเกตว่าเรามีปัญหาทางการได้ยิน จึงพาไปหาหมอที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นได้เครื่องช่วยฟังแบบคล้องหู ซึ่งจะทำให้ช่วงการได้ยินส่วนที่มีปัญหาดังขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ช่วงที่ไม่มีปัญหาได้ยินดังขึ้นกว่าปกติจนหูทำงานหนักและมีปัญหา เราจึงหยุดใช้เครื่องช่วยฟังและพยายามปรับตัว ตอนเรียนอาจารย์สังเกตว่าเรามีปัญหาการได้ยิน ประกอบกับพ่อแม่สังเกตว่าการได้ยินเราแย่ลง จึงไปหาหมออีกรอบ จึงรู้ว่ากราฟการได้ยินของเราไม่เหมือนคนที่ได้ยินปกติซึ่งจะเป็นกราฟสโลป แต่ของเราเป็นกราฟหน้าตาคล้ายแอ่งท้องช้าง หมอจึงวินิจฉัยว่าประสาทหูชั้นในเสื่อม ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แค่ชะลอให้เสื่อมช้าลงและให้เครื่องช่วยฟังอันใหม่มา 

การใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ดีกับตัวเราเสมอไป

เครื่องช่วยฟังตัวใหม่ที่ได้มาล่าสุด เป็นตัวที่ราคาแพงขึ้นและคุณภาพดีขึ้น แต่ข้อเสียก็คือไม่สามารถใช้ได้ทั้งวัน การใช้งานมันทำให้เราใช้พลังงานเยอะจนร่างกายเพลีย ถ้าไม่ได้เจอเสียงคนใหม่ๆ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้ยินเสียงคนที่คุ้นเคยเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ สำหรับเราแล้วเครื่องช่วยฟังเหมาะกับคนที่ต้องไปเจอผู้คนใหม่ๆ ที่ต้องใช้การฟัง เครื่องช่วยฟังก็จะเสริมความมั่นใจให้มากขึ้น 

ความร้อนส่งผลต่อการได้ยินเสียง

อีกเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการได้ยินคือ ความร้อน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาแล้วเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน ความร้อนภายในร่างกายก็เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง แต่ถ้ามีความร้อนจากภายนอก เช่น แสงแดด ยิ่งช่วงหน้าร้อน แล้วการได้ยินจะยิ่งแย่ลงกว่าเดิม เราต้องใช้สมาธิในการฟังมากขึ้นร่วมกับการอ่านปาก ส่งผลให้ร่างกายใช้พลังงานสูงขึ้นจนความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น ถ้าวันนั้นเรามีเพื่อนอยู่ด้วย ก็จะให้เพื่อนช่วยแปลสิ่งที่คนอื่นพูดเพราะเราชินกับเสียงเพื่อนมากกว่าคนแปลกหน้า แต่ถ้าไม่มีเพื่อน บางครั้งก็ปล่อย ไม่คุยเพราะคิดว่าคนคงไม่อยากต้องมานั่งพูดซ้ำให้เราฟังหลายรอบ 

นอกจากอากาศแล้วยังมีความร้อนจากท่อไอเสียรถยนต์และฝุ่นควันในกรุงเทพฯ มาเป็นปัจจัยที่ทำให้เราต้องคิดว่าเราจะเดินทางอย่างไร ช่วงเวลาไหน เราพยายามเซฟร่างกาย ไม่ให้เกิดความร้อนมากเกินไป เวลาอยากสื่อสารกับคนอื่น หูจะได้ไม่มีปัญหา หากนัดกันตอนกลางวัน ตอนเย็นเราจะไม่นัดใคร แต่ถ้ามีนัดตอนเย็น ตอนกลางวันเราจะพยายามไม่ไปไหน ไม่ทำกิจกรรมอะไรเพราะยิ่งทำความร้อนยิ่งเพิ่มมากขึ้น ร่างกายเรายิ่งเหนื่อยล้าเข้าไปอีก

ครั้งหนึ่ง เราอยากประหยัดเงินก็เลยตัดสินใจรอรถเมล์ รออยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ไม่มีรถเมล์มาจอดทั้งๆ ที่เป็นป้ายรถเมล์ การรอรถเมล์ในสภาพอากาศร้อนมากเป็นระยะเวลานาน ทำให้เราไม่ไหว หูไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยและเสียเวลาด้วย สุดท้ายก็ตัดสินใจนั่งแท็กซี่แทน 

ตัดสินใจกลับไปทำงานที่บ้านแทนที่จะอยู่กรุงเทพฯ ต่อไป 

หลายคนตัดสินใจทำงานอยู่กรุงเทพฯ เพราะเรื่องเงิน แต่เราคิดเรื่องสภาพแวดล้อมและการเดินทางเป็นหลัก เราสังเกตการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ตลอดว่าเป็นอย่างไร ช่วงแปดปีที่แล้วตอนเราเรียนปีหนึ่ง การเดินทางในกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง เราก็จะเผื่อเวลาสักหนึ่งชั่วโมงเอาไว้พัก แต่ช่วงปีสาม ระยะเวลาการเดินทางในกรุงเทพฯ ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราเริ่มคิดหนักแล้วว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในกรุงเทพ จึงทำให้เรานึกถึงสมัยตอนเข้ากรุงเทพใหม่ๆ ที่ป่วยหนักมาก เป็นไข้สองสัปดาห์เว้นสองสัปดาห์ กินยาบ่อยมากและป่วยหนักจนเป็นไซนัสทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ การกลับไปทำงานที่บ้านเลยแว็บเข้ามา เราไม่อยากทำงานหาเงินเพื่อเข้าโรงพยาบาล โชคดีที่มีธุรกิจที่บ้านจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านดีกว่า

ต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงได้ยินเสียงดีขึ้น 

ส่วนใหญ่จะนอนพักผ่อนไปเต็มที่ การพักผ่อนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้หูกลับมามีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าพักผ่อนไม่เต็มที่ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง

เราอยากปรับปรุงหรือแก้ไขสภาพแวดล้อมในไทยอะไรเพื่อการได้ยินที่ดีขึ้น 

อยากแก้ไขทั้งหมดเลย เพราะทุกอย่างในชีวิตเราสัมพันธ์กันหมด ประเทศเราจัดสรรทรัพยากรไม่ดีเท่าไร ตั้งแต่การออกแบบเมือง ขยายพื้นที่ของเมืองที่ทำให้ป่าในเมืองไทยค่อยๆ หายไป หรือแม้แต่วิธีการจัดการขยะที่ทำให้ไม่มีมลพิษทางกลิ่น เพราะเราก็มีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน กลิ่นเป็นสารพิษอย่างหนึ่ง ถ้าสูดดมไปมากๆ ก็จะทำให้ร่างกายป่วย หรือการจัดการมลภาวะมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมก็มีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ทุกประเทศต้องช่วยกัน

ฟังดูเป็นคำขอที่ยากเหมือนกัน แต่ปัญหาทุกอย่างอยู่รอบตัวเรา คนทั่วไปอาจจะไม่ได้สังเกตหรือมองเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหา แต่เราอ่อนไหวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปค่อนข้างง่าย เช่น อากาศและฝุ่น ทำให้เราต้องคอยสังเกตตลอดเวลา เราไม่อยากให้โฟกัสแค่คนปกติ อย่าลืมว่าคนที่ตกสำรวจ เช่น คนยากคนจน คนพิการก็ต้องเจอปัญหาเหมือนกัน ถ้าออกแบบเมืองให้ซัพพอร์ตคุณภาพชีวิต ทุกคนจะมีแรง มีพลังใช้ชีวิตต่อไป

ช่วงที่มี PM 2.5 หรือช่วงโควิด-19 ส่งผลอย่างไรกับเราบ้าง

ช่วงที่มี PM 2.5 ทำให้หายใจติดขัด หายใจไม่ค่อยออก เราไม่สามารถระบายความร้อนในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายสะสมความร้อนมากขึ้น การได้ยินลดลง ตอนนั้นแค่กินข้าวยังทรมานเลยเพราะว่าหายใจไม่ออก 

ส่วนช่วงโควิด-19 คนในบริษัทกลัวมากจนไม่เปิดแอร์เพราะกลัวเชื้อแพร่กระจาย ปกติช่วงหน้าร้อนหรืออากาศร้อนมากๆ เราจะต้องเปิดแอร์ และอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเราต้องอ่านปากไปด้วย แต่ตอนนี้คนใส่แมสก์กันหมดเลย ก็ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร ยิ่งช่วงนี้คนที่พูดในทีวีก็ใส่แมสก์ ทำให้อ่านปากไม่ได้ ปกติก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่แล้ว ยิ่งเจอคนใส่แมสก์ทำให้พูดไม่ชัด ยิ่งฟังไม่รู้เรื่องเข้าไปอีก 

เราคิดว่า การสื่อสารกับประชาชนควรใช้แผ่นใสกั้นหรือใส่ Face Shield เพราะการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญมากที่สื่อควรคำนึงถึง ช่วงนี้เราจึงต้องให้เพื่อนช่วยแปลเป็นตัวอักษรแล้วอ่าน ไม่ค่อยฟังเอง เพราะทำงานมาทั้งวันก็เหนื่อยแล้ว เมื่อก่อนดูยูทูปเราต้องใช้สมาธิในการฟังมาก แต่ช่วงหลังช่องต่างๆ ทำซับไตเติ้ล ทำให้เราไม่ได้ใช้พลังงานมากในการโฟกัสเสียง และทำให้การดูยูทูบผ่อนคลายมากขึ้น

ถ้าสภาพแวดล้อมดี อากาศดี ประสิทธิภาพการได้ยินของเราก็จะขึ้น

เราเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงดอกซากุระบาน อากาศเย็นทำให้หูเราฟื้นตัวเร็ว บางทีพักแค่ 2-3 ชั่วโมงการได้ยินกลับมาดีขึ้นประมาณสัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเยอะมาก เราสนุกกับการเดินเที่ยวทุกวัน มีโอกาสได้เจอคนต่างๆในสังคม แต่ตอนไปเที่ยวเวียดนาม สภาพแวดล้อมและอากาศคล้ายๆ ประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควันจากรถยนต์ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันตก ต้องกินยาพาราเซตามอล กินน้ำเยอะๆ แล้วก็ใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าตอนไปญี่ปุ่น

ปัญหาที่เผชิญเมื่อประสิทธิภาพการได้ยินไม่เท่ากับคนอื่น 

เราเจอปัญหาเรื่องบูลลี่ตั้งแต่เด็ก คนอื่นไม่เข้าใจว่าเราเป็นอะไร บางคนบอกว่าเราไม่สมประกอบ เหตุการณ์ที่ยังจำได้ก็คือในคาบวิชาภาษาไทยจะมีให้เขียนตามคำบอก เราได้ยินไม่ตรงกับสิ่งที่ครูพูด สมมติเราได้ยินว่าขนมจีน แต่ครูอาจจะไม่ได้พูดคำนี้ ครูหัวเราะกลางห้อง หรือตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เราเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จะมีการรับน้องระบบโซตัส ก็จะมีคนหยิบปมด้อยของเราไปล้อว่า ‘ได้ยินผิดหรือเปล่า’ หรือ ‘พูดอะไรอ่ะ’ คำพูดนี้ค่อนข้างเจ็บนะ เพราะการที่เราฟังใครสักคนเราใช้ความพยายามมากที่จะตั้งใจฟังคนอื่น พยายามรักษาผลประโยชน์ตัวเองให้มากที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางครั้งเขามายืนรุมล้อมรอบเราประมาณสิบกว่าคน พยามยามพูดคุยปั่นหัวให้เราสับสน กล่าวหาว่าเราโกหก หรือเอาเรื่องที่เรามีปัญหาการได้ยินมาพูดด้วย ตอนนั้นรู้สึกว่าพยายามคุยแล้ว แต่คิดว่าคุยไปก็ไม่ได้อะไร เราพยายามหนีออกไปหาเพื่อน พอเรามีปัญหาด้านการฟัง ทำให้เราพูดไม่ค่อยเก่ง ตั้งแต่เด็กเราก็จะไม่ค่อยได้พูด ส่วนตัวถนัดการเขียนมากกว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เรามีอาการสั่นจนพูดไม่ได้ เราต้องเขียนว่าเกิดอะไรขึ้น แทนการเล่าให้ฟัง แต่รุ่นพี่ก็บอกว่าเขาคุยกันเฉยๆ แต่คุยแล้วมีคนล้อมขนาดนั้น มันไม่ใช่คุยแล้ว ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นบาดแผลที่ติดในใจเรามาจนถึงทุกวันนี้

เวลาใช้ชีวิตปกติเราจะไม่ได้โฟกัสเสียงรอบข้าง เพราะมันทำให้เราเสียพลังงาน ถ้าไม่มีใครพูดกับเราก็จะไม่ได้สนใจมาก แต่จะมีปัญหาตอนที่มีคนพูดกับเรา เรียกชื่อเราแล้วพูดเรื่องที่อยากพูดมาเลย เราโฟกัสเสียงไม่ทัน ทำให้บางทีเขาต้องพูดซ้ำกับเราอีกรอบ เพราะยังจับใจความไม่ได้ คนทั่วไปเรียกชื่อแล้วพูดโดยที่ไม่ต้องหันไปฟังก็ยังได้ยินเสียง แต่เราต้องให้เรียกชื่อแล้วรอเราหันหน้าไปก่อนแล้วค่อยพูด เราจะรับสารได้เต็มที่ พอเป็นแบบนี้บางคนก็จะคิดว่าเราไม่ได้สนใจฟังที่เขาพูด 

รอบตัวมีคนที่มีปัญหาการได้ยินน้อยมาก เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรบ้าง ทำให้เราต้องสังเกต คอยเรียนรู้ พยายามช่วยเหลือตัวเองตลอดเวลา เพราะพ่อแม่ก็ไม่ได้มาช่วยแก้ปัญหาได้ตลอด เราจึงรู้สึกโดดเดียวพอสมควรที่ต้องพยายามด้วยตัวเอง

อยากให้คนอื่นเข้าใจหรือปรับตัวให้เขากับเราอย่างไรบ้าง

เราอยากให้คนอื่นเข้าใจว่าเราก็มีจุดที่ต้องการให้ช่วยเหลือ เราพยายามสุดความสามารถที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันภายใต้เงื่อนไขเยอะแยะ

สังคมมองว่าสิ่งที่เป็นตอนนี้ดีที่สุดแล้ว แต่มันดีที่สุดเมื่อ 10 - 20 ปีก่อน แต่มันไม่ได้ดีที่สุดตอนนี้ เพราะว่าคุณตกสำรวจคนบางกลุ่ม เราไม่ต่างจากคนพิการที่ต้องการคนซัพพอร์ต อยากให้คนในสังคมเข้าใจว่าไม่มีอะไรดีที่สุด เรายังต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ที่มีสังคม สามารถทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่ถูกกักขังไว้แล้วทำอะไรไม่ได้

มีอะไรที่อยากบอกให้คนทั่วไปเข้าใจเรามากขึ้นไหม

อยากจะบอกคนที่ชอบบูลลี่คนที่มีปัญหาทางการได้ยินว่า เขาตั้งใจฟังสิ่งที่คุณพูดมาก จะดีมากถ้าไม่บั่นทอนความตั้งใจด้วยการบูลลี่ การคุยกับคนจะต้องปรับไปตามสภาพของแต่ละคน การแสดงออกทางภาษากายของคนฟังก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางใจเราได้เหมือนกัน เวลาอ่านปากเราจะเห็นว่าคุณแสดงสีหน้า ท่าทางอย่างไร สีหน้าเป็นสิ่งที่ทำให้จับสังเกตได้ว่าคุณฟังหรือไม่ฟัง ถ้าเห็นว่าคนไม่รับฟัง เราจะเสียใจมาก เราก็เหมือนคนทั่วไปที่อยากจะระบาย อยากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อยากให้คนใส่ใจสิ่งที่พูดเหมือนกัน