Skip to main content

“เพราะคนทั่วไปไม่ได้เกิดมาเข้าใจเรื่องคนพิการได้เลย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่านโยบายที่ทำ ตึกที่สร้าง ทางที่เดินเหมาะสมกับคนหูหนวกหรือคนพิการแค่ไหน เราต้องพยายามให้เขาได้ออกมาพูดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าคนส่วนมากไม่รู้จักคนส่วนน้อย ก็เหมือนผลักคนที่ตัวเองไม่รู้จักออกจากสังคม” แหวว-จารุณี จรัสเรืองชัย

จากการริเริ่มของนัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย ผู้ก่อตั้งองค์กร EDeaf : Education for the Deaf (เอ็ดเด็ฟ) ที่ชักชวนแหวว-จารุณี จรัสเรืองชัย มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเพื่อสร้างแพลทฟอร์มฟังคนหูหนวกเปิดใจ โดยมีภูมิ-ตฤณ เศวตณรงค์ เป็นเจ้าหน้าที่ Learning and development จนถึงวันนี้ EDeaf ก่อร่างสร้างรูปมาถึงซีซัน 3 ในโครงการจุดประกายฝันเด็กหูหนวกผ่านหลายกิจกรรมทั้งถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอ ออกแบบ เย็บปักถักร้อย ฯลฯ 

Thisable.me จึงชวนพวกเขาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้น แนวคิดและปัญหาด้านการศึกษาของคนพิการ จากภาพเล็กในโครงการสะท้อนถึงภาพใหญ่ในระดับสังคม  

จุดเริ่มต้นโครงการ

แหวว : การได้เข้าไปฟังน้องหูหนวก เล่าถึงโครงการที่ได้ไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าไปอยู่ในสังคมคนหูหนวก ในโครงการมีการเล่าประสบการณ์ของรุ่นพี่หูหนวกที่ใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นอย่างไร พวกเขาได้อะไรกลับมาบ้าง เราจึงได้รู้ว่า คนหูหนวกที่นั่นไม่รู้สึกตัวเลยว่าเป็นคนหูหนวกหรือคนพิการ ไม่รู้สึกแปลกแยกจากสังคม สามารถไปเรียนในโรงเรียนมัธยมที่มีทั้งคนหูดีและคนหูหนวก สังคมเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้และลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยลองในสังคมบ้านเรา หลังจากวันนั้นเราได้รู้อะไรหลายๆ เช่น ไวยากรณ์การใช้คำของคนหูหนวกที่ไม่เหมือนกับคนหูดี ควรใช้ศัพท์ที่เป็นรูปธรรม เพราะหากใช้นามธรรมคนหูหนวกจะไม่เห็นภาพร่วมกับเรา  น้องคนหนึ่งพูดว่าเขาอยากสื่อสารกับคนหูดีให้ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมยังไม่มีที่สำหรับคนหูหนวก เพียงเพราะคนหูดีไม่รู้จักภาษามือและคิดว่าคงสื่อสารไม่ได้ กลับกลายเป็นเส้นบางๆ ที่แบ่งระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก แนวคิดการทำโครงการต่างๆ เลยเกิดขึ้น 

โอกาสที่เข้าไม่ถึง

แหวว: โอกาสทางการศึกษาของคนหูหนวกมีน้อย หลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนสอนคนหูหนวกในปัจจุบันมีความเข้มข้นทางวิชาการไม่เท่ากับโรงเรียนเด็กหูดี และโรงเรียนคนหูหนวกแต่ละที่ก็มีความเข้มข้นต่างกัน นี่คือความไม่เท่าเทียมกัน พอเราเห็นเด็กหูหนวก 3 คนที่ไปอเมริกาแล้วเขากลายเป็นคนที่มั่นใจมากขึ้น เรายิ่งเชื่อว่าน้องๆ คนหูหนวกสามารถมั่นใจขึ้นได้ถ้าได้รับการส่งเสริม 

เป็นโชคดีที่นัท (ยุทธกฤต เฉลิมไทย) มีโอกาสทำงานร่วมกับคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา เลยมีโอกาสรู้ปัญหาภายในระบบ เราเลยได้เห็นภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นของเด็กหูหนวก แต่ละโรงเรียนมีการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ครูให้ความสนใจมากแค่ไหน งบประมาณเป็นอย่างไร พอได้มาแล้วก็ออกแบบกิจกรรมว่าเราจะทำอะไรดี 

สิ่งที่เห็นคือความไม่เท่ากันของแต่ละโรงเรียนขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของครู ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนาต่างกัน ครูบางท่านก็ใส่ใจมากๆ อยากจะส่งเสริมศักยภาพเด็กหูหนวก เขามองออกว่าสนับสนุนในด้านไหน ถ้าใครมีครูแบบนี้ เด็กโรงเรียนนั้นก็จะได้รับโอกาสที่มากกว่า อย่างโครงการในซีซั่นที่ 3 ที่เราทำงานร่วมกับโรงเรียนดอนบอสโกก็เห็นว่าน้องๆ มีศักยภาพ พวกเขากล้าแสดงออก นั่นเป็นเพราะฐานเดิมคือครูได้วางระบบเอาไว้ประมาณหนึ่ง 

ปัจจัยเรื่องครูก็เป็นส่วนหนึ่ง โรงเรียนสอนคนหูหนวกเองหลายๆ ที่ไม่ได้มีแค่คนหูหนวก เขาต้องรับหลายประเภทความพิการเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Learning Disability หรือกลุ่มคนพิการซ้ำซ้อน ผู้อำนวยการ โรงเรียนต้องดูหลายหน้างาน โอกาสในการส่งเสริมเด็กเฉพาะด้านมีน้อย เด็กหูหนวกไม่ถูกเน้นว่ามีความถนัดหรือความเชี่ยวชาญอะไร หลักสูตรสำหรับเด็กหูหนวกไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร อย่างหลักสูตรเด็กหูดีทั่วไปก็จะเห็นว่ามีการพัฒนาหลักสูตรตลอดเวลา แต่สำหรับเด็กหูหนวกนั้นการปรับปรุงการศึกษาขาดช่วง มีความต่อเนื่องไม่มากเท่าเด็กหูดี 

ช่องว่างระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก 

หนึ่งในปัญหาที่คนหูหนวกต้องเผชิญคือ ช่องว่างด้านการสื่อสารของคนหูหนวกกับคนหูดี สังเกตว่าคนหูหนวกค่อนข้างที่จะมีสังคมของตัวเองที่แข็งแกร่ง มีเพื่อนที่แน่นแฟ้น แต่นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งเขามีแต่เพื่อนที่เป็นคนหูหนวก วัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของพวกเขาผูกติดกัน 

เราคิดว่าควรจะหาโอกาสให้คนหูดีได้เข้ามาทำความรู้จักกับคนหูหนวกบ้าง เพื่อลดช่องว่างที่เกิดขึ้นตรงนี้ ทุกคนในสังคมควรสามารถสื่อสารกับคนหูหนวกได้ ครูอาสาที่เข้ามาเป็นวิทยากร 80-90 เปอร์เซ็น ไม่ได้เรียนภาษามือหรือรู้จักคนหูหนวกมาก่อน คนเหล่านี้เคยกลัวการสื่อสารกับคนหูหนวกทั้งนั้น กังวลว่าจะสื่อสารอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้  ไม่ใช่การเริ่มต้นด้วยการเรียนภาษามือให้คล่องแคล่วแล้วจึงไปรู้จักกับคนหูหนวก แต่เป็นการทำความรู้จักกันไปและเรียนรู้กันไป ซึ่งภาษามือจะเป็นเครื่องต่อเติมความสัมพันธ์ระหว่างนั้น เราอยากทำให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถคุยกับคนหูหนวกได้  สามารถเริ่มต้นจากการใช้มือ ท่าทาง พิมพ์หรือการเขียนคุยกันได้ 

ทำไมคนหูหนวกและคนหูดีควรรู้จักกัน

เพราะคนทั่วไปไม่ได้เกิดมาเข้าใจเรื่องคนพิการได้เลย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่านโยบายที่ทำ ตึกที่สร้าง ทางที่เดิน เหมาะสมกับคนหูหนวกหรือคนพิการมากขนาดไหน เราต้องพยายามให้คนพิการหรือคนหูหนวกได้พูดออกมาว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าเราไม่ให้โอกาสให้พวกเขาได้พูด แล้วเขาจะกล้าพูดปัญหาของตัวเองได้อย่างไร ถ้าคนส่วนมากไม่รู้จักคนส่วนน้อย ก็เหมือนผลักคนที่ตัวเองไม่รู้จักออกจากสังคม 

ตอนที่เราไปอยู่ต่างประเทศ เราเห็นคนพิการในสังคมเยอะมาก เราถามเพื่อนว่าทำไมประเทศของคุณมีคนพิการเยอะ ทั้งคนนั่งวีลแชร์ คนตาบอด คนหูหนวก เพื่อนบอกว่าไม่ได้แปลกอะไร เป็นเรื่องปกติของสังคม เราเลยคิดได้ว่า จริงๆ แล้วคนพิการไม่เคยได้ออกมาใช้ชีวิตในสังคมเลย พวกเขาถูกเก็บให้อยู่แต่ในบ้าน ซึ่งนั่นเป็นการดูถูกศักยภาพของคน 

โดยหลักการเราคิดว่าเมื่อเราสร้างพื้นที่ขึ้นมา เราจะไม่มานั่งถามว่าทำแล้วคนพิการจะมาใช้หรือไม่ใช้ แต่ควรมีที่ให้เขา แล้วเมื่อไหร่ที่เขาอยากจะมาก็มา ทำให้มีตัวเลือก ในซีซัน 3 มีน้องหูหนวกอาสาเข้ามาเป็นวิทยากรด้วย นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้มองตัวเองเป็นเพียงแต่เป็นผู้รับเท่านั้น เขามองว่าตัวเองก็เป็นผู้ให้ได้ หรือในมุมของครูอาสา หรือวิทยากรที่เข้ามาให้ความรู้ บางคนก็แชร์ให้ฟังว่า แต่ก่อนของตัวเองได้เจอคนหูหนวกในที่ทำงาน ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ไม่กล้าเข้าทักทายซะด้วยซ้ำ แต่พอได้มาเข้าร่วมกิจกรรมก็พอได้เรียนรู้ภาษามือเบื้องต้นและเปิดใจให้กล้าที่จะลองคุยกับคนหูหนวกดู

อยากจะเรียนอะไร

ซีซันแรกเราไปที่โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ เริ่มต้นจากการหาครูและวิทยากรที่สนใจในด้านต่างๆ และไปนำเสนอกับน้องๆ ว่าอยากเรียนเรื่องอะไร คุยกับครูผู้สอน พ่อแม่ และน้องๆ จนเกิดเป็นรายวิชาต่างๆเพื่อให้พวกเขาเลือกเรียน เราให้พวกเขาเป็นแกนหลักเลยว่าสนใจเรื่องไหน หรือบางวิชามีน้องหูหนวกอยากเรียนมาก เราก็ไปหาครูที่สอนได้ 

ความสนุกของการออกแบบหลักสูตรคือ ได้เรียนรู้ว่าจะคุยกับน้องหูหนวกอย่างไร สื่อสารแบบไหนถึงเข้าใจ อย่างตอนที่ให้น้องเลือกว่าจะเรียนวิชาอะไร หนึ่งในนั้นก็มีวิชาการถ่ายภาพ ซึ่งจะมีไอคอนเป็นรูปกล้อง น้องบางคนก็ไม่รู้ว่ารูปกล้องถ่ายรูปหมายถึงวิชาอะไร บางคนเข้าใจว่าเรียนสอนการซื้อกล้อง หรือการซ่อมกล้อง รูปกล้องรูปเดียวตีความได้หลากหลาย เราก็ต้องเรียนรู้ตรงนี้ในทั้ง 3 ซีซัน ก็มีการปรับอยู่ตลอด มีหลากหลายวิชา ทั้งการถ่ายภาพ การทําวีดีโอ ออกแบบกราฟิก บางวิชาก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนอยู่แล้วในโรงเรียน แต่ก็ยังมีส่วนที่อยากเรียนเพิ่มเติมจากที่โรงเรียนไม่ได้สอน เราจึงจะต้องออกแบบว่าพวกเขาอยากเรียนอะไร และสิ่งไหนจะผลักดันเขาได้มากกว่า

เราประทับใจวิชา DIY เพราะเป็นการทำงานคราฟ ทำลูกปัดจนไปถึงสายคล้องแมส น้องหูหนวกจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาได้ยาก วิชาหนึ่งที่ท้าทายก็คือวิชาเต้น การออกแบบท่าทาง ทำอย่างไรให้คนหูหนวกสามารถเต้นได้ นี่เป็นสิ่งใหม่ที่พวกเรารู้ตอนมาทำโครงการ ครูอาสาต้องออกแบบหลักสูตรว่าจะสอนอย่างไรให้เข้าถึงน้องๆ ได้มากที่สุด เราประชุมกันทุกสัปดาห์ 

อีกวิชาก็คือการทำอาหาร เรามองหาสิ่งที่เป็นวิชาชีพได้มากขึ้น เพราะเรารู้ว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกมาก น้องหลายคนมีโอกาสเรียนได้แค่มัธยมหรือปวช. การทำอาหารเป็นสิ่งที่น้องหูหนวกบอกว่าสนใจและทำได้ เป็นการเพิ่มทักษะและหารายได้ให้กับพวกเขาด้วย แต่นี้ก็ยังเป็นโจทย์เบื้องต้น เราก็ต้องพยายามต่อไป เมื่อเขาได้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าออกมา เราจะผลักดันอย่างไรให้เกิดเป็นรายได้จริง 

สอนในสิ่งที่เด็กอยากเรียน

หลักการของเราคือ Human Center เราอยากให้เขาเป็นเซ็นเตอร์ สิ่งที่เรียนควรจะเป็นสิ่งที่เขาอยากรู้ด้วย เขาอยากจะได้อะไรเราอยากรู้ ในการออกแบบเราจำเป็นต้องให้พ่อแม่ได้รู้ด้วยว่าลูกๆ ของเขาอยากจะเรียนอะไร ไม่งั้นก็ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกต้องมาเรียน แต่พอมาคุยจริงๆ แล้วพ่อแม่ก็โอเคเพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ เขาเห็นว่า ลูกๆ อยากที่จะให้ถึงวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งหน้าตั้งตาที่จะมาเรียนกับพวกเรา 

ท้ายสุดแล้วการศึกษา ควรมองเรื่องของ อุปสงค์และอุปทานด้วย ถ้าไม่ยอมประเมินการศึกษา ก็จะไม่ตอบโจทย์ของนักเรียน  ยิ่งเป็นคนหูหนวก มีรายละเอียดที่จะต้องดูในเรื่องของการศึกษา เขายิ่งให้ความสำคัญน้อย เราพบว่าการศึกษาบ้านเราไม่สามารถทำให้เด็กตั้งคำถามจริงๆ ได้ 

บางคนคิดว่าการทำงานด้านคนพิการควรเป็นการทุ่มทุน เปรียบเทียบว่าคิดว่าต้องใช้ถึง 10 แต่ที่จริงแล้วใช้เพียงแค่ 2-3  เพื่อให้ได้เข้าใกล้คนพิการมากขึ้น ส่วนหนึ่งคนพิการเขาก็จะใช้ 2-3 ของตัวเองเพื่อขยับเข้ามาเช่นกัน คนพิการไม่ได้เกิดมาเพื่อได้รับเพียงอย่างเดียว เขาเป็นผู้ให้ได้ อย่างครูอาสาบางคนเข้ามาในโครงการเขาก็อยากจะให้ เพราะความสงสาร เราก็ต้องบอกเขาว่าสิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้และไม่ควร พยายามอธิบายให้เขาเห็นว่าสิ่งที่มีต้นทางมาจากความสงสารเป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างไร คุณมาให้ความรู้เขา ไม่ได้มาเพื่อสงเคราะห์

ในบางสัปดาห์ของการเรียนการสอนล่ามอาสาก็ไม่สะดวกที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรม แต่เราก็ไม่สามารถที่หยุดเรียนได้ เราต้องยังทำต่อ ให้ครูอาสาร้องสื่อสารกับน้องให้ได้เป็นการวาด การพิมพ์ หรือทำยังไงก็ได้เพื่อให้เกิดการสื่อสาร พูดคุยถามไถ่ สิ่งเหล่านี้ทำได้อยู่แล้ว 

ก้าวต่อไป

ในทุกๆ ซีซีนเรามีทีมงานที่ทำหน้าที่ Learning and Development ซึ่งไม่ได้จะดูเฉพาะแค่ตัวหลักสูตรอย่างเดียว เขาจะดูรูปแบบการเรียนการสอนของครูอาสาที่เข้าไป อะไรเหมาะหรืออะไรไม่เหมาะกับน้องหูหนวก จะนำไปเสนอกับคนที่เกี่ยวข้องก็ได้ว่าการเรียนการสอนที่ดีสำหรับคนหูหนวกเป็นอย่างไรเราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราทำดีที่สุด แต่ก็เป็นสิ่งที่ได้มีการทดลองแล้ว เราอยากให้คนมีอำนาจเข้ามารับฟังว่าคนหูหนวกต้องการอะไร อะไรที่ปรับและพัฒนาได้เราก็อยากให้เกิดขึ้น เราอยากจัดฟอรั่มที่มีครูและผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนคนหูหนวก มานั่งคุยกัน แชร์ร่วมกันว่าอะไรเวิร์คหรืออะไรควรเลิก 

สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะลองทำเหมือนกันก็คือเป็นรูปแบบของการไปทัวร์ ตามโรงเรียนหรือทำเป็นค่าย 3 -5 วัน สำคัญก็คือเราไม่ได้อยากจะหยุดอยู่แค่สอนน้องๆ คนหูหนวก ความรู้หรือทักษะที่เราได้ก็อยากจะนำไปใช้ในการทำงานอื่นๆ ให้มากขึ้น ในวันหนึ่งที่เรามีโอกาสทำงานในภาพใหญ่มากขึ้น ข้อมูลที่เราเคยทำมาก็จะเป็นประโยชน์ในการทำงาน อย่างน้อยก็เสนอได้ว่าอะไรเหมาะและดีกับคนหูหนวก 

ความคาดหวังของเราเราอยากเห็นหลักสูตรการเรียนการสอนของคนหูหนวกที่มีมาตรฐานมากกว่านี้ มีเนื้อหาสอดคล้องและเป็นสิ่งที่เขาอยากจะเรียนจริงๆ สิ่งเหล่านี้เราไม่เคยถามคนที่เรียนเลย จะดีแค่ไหนถ้าคนหูหนวกได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่ตัวเองต้องเรียนและนี่เป็นสิ่งที่เด็กไทยทุกคนควรจะได้รับ 

ตฤณ เศวตณรงค์ (ภูมิ) Learning and development

ภูมิ : เราเข้ามาช่วยงานโครงการผ่านการแนะนำของเพื่อน ไม่รู้จักคนหูหนวกมาก่อน เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ภาษาและการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของวิชาจิตวิทยาที่เราเรียน เลยเกิดความสงสัยว่าคนหูหนวกที่ไม่สามารถพูดและฟังได้ พวกเขาจะมีพัฒนาการทางภาษาอย่างไร เราเข้ามาทำในทีม Learning and Development ดูเรื่องของการวิเคราะห์วิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพ ในการเรียนการสอน การสื่อสารระหว่างทีมงาน ครูอาสาและนักเรียน ถ้าเจอปัญหาหรือข้อสงสัยในกระบวนการเรียนการสอนเราก็จะเก็บสิ่งเหล่านั้นมาทำข้อมูล และนำมาปรับปรุง 

เราได้เห็นอะไรเยอะแยะ ตั้งแต่ความแตกต่างระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก ในด้านของศักยภาพการคิดและการแก้ปัญหา ทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เป็นความต่างคือคนหูหนวกไม่สามารถได้ยินเลยทำให้เขาไม่สามารถพูดได้ นำมาสู่ปัญหาเรื่องการสื่อสาร ศักยภาพของคนหูหนวกจึงด้อยกว่าคนหูดีในเรื่องของการศึกษา หนึ่งในนั้นคือเรื่องของโรงเรียน ที่จะต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับคนหูหนวกค่อนข้างมากและปัญหาในภาพความเป็นจริงก็พบว่าคนหูหนวกมีโอกาสในการรับความรู้ไม่เท่ากับคนอื่นๆ เพราะมีทักษะการอ่านและการเขียนที่ด้อยกว่า จากที่พบคือหูหนวกส่วนมากจะอ่านไม่ค่อยได้ เขียนไม่ค่อยออกเพราะพัฒนาการทางภาษาของเขาตั้งแต่เด็กๆ น้อยกว่าคนทั่วไปนี่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาด้านการศึกษาของคนหูหนวก  

โครงการมีเป้าหมาย 3 อย่างหลักๆ คือ 1. เพิ่มโอกาสทางการศึกษา 2. เพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้กับนักเรียนหูหนวกเพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีความพิการ ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองมีความรู้สึกด้อยกว่านักเรียนที่ไม่มีความพิการ 3. สถานที่ของเขาในสังคม จุดยืนต่างๆ เราอยากให้ดีขึ้น ซึ่งผมมีวิธีการประเมินผล 4 แบบ เพื่อที่จะวัดความสำเร็จของโครงการ และเป็นการเก็บข้อมูลด้วยได้แก่ 1.คือจะต้องมีการประเมินทักษะการเรียนรู้ มี Pre Test และ Post Test 2. ความมั่นใจในตัวเอง ตั้งแต่ก่อนและหลังโครงการดูว่าน้องมีความมั่นใจที่มากขึ้นหรือเปล่า 3.ทัศนคติต่อคนหูดีและคนหูหนวกที่มีให้แก่กันเป็นอย่างไร 4. ความรู้สึกต่อการสื่อสาร คือรู้สึกดีกับการสื่อสารกับฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในซีซั่นหน้าถ้าเกิดพี่นัดอนุมัติให้ใช้ 

ผมก็ยังคิดว่าเรายังมีข้อจำกัดอยู่ แม้ด้านหนึ่งเราจะมองว่า เราสามารถสื่อสารกันได้แบบมนุษย์ต่อมนุษย์ แต่เราต้องใช้เทคนิคในการพูดกับเขา และในหลายๆครั้ง เราก็พูดกับเขาไม่รู้เรื่องตามที่เราต้องการ การทักทายถามไถ่เบื้องต้นไม่เพียงพอในการสนทนาเรื่องที่สำคัญ และไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ยังไม่ลึกและมีคุณภาพมากพอ บางครั้งในวิชาเรียนเราก็สื่อสารกัน ไม่ได้เวลาเราถามคนหูหนวกว่าสงสัยตรงไหนไหม บางครั้งคนหูหนวกเขาก็ขี้เกียจตอบเพราะรู้ว่าบางครั้งถามมาแล้วก็ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถใช้ภาษามืออย่างคล่องแคล่วได้เท่ากับเขา 

สังคม

สิ่งที่คนในสังคมพอจะทำได้ก็คงเป็นเรื่องของความเข้าใจ เหมือนกับที่เมื่อก่อนคนไม่เข้าใจว่าซึมเศร้าเป็นยังไงหรือออทิสติกเป็นยังไง แต่ปัจจุบันก็เข้าใจมากขึ้น ทิศทางจะดีมากขึ้นถ้ามีการเรียนรู้และมีการเรียนการสอน ในโรงเรียนในเรื่องของลักษณะของความพิการ ถ้าหากทำให้เกิดพื้นที่ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวกมากขึ้นเรื่องทัศนคติโดยรวมในสังคมที่เป็นปัญหาอยู่ก็จะลดน้อยลง อีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยได้คือการมีนโยบายที่สนับสนุนกับคนพิการที่มากขึ้น 

แก่นของปัญหา

สิ่งที่เราทำในปัจจุบันเป็นการแก้เพิ่มพื้นที่แต่ยังไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาอยากเป็นรูปธรรม สิ่งที่จะมีประสิทธิภาพในการนำพาคนหูหนวกให้มีศักยภาพที่ดีทัดเทียมกับคนหูดีในสังคมก็คือเรื่องพัฒนาการทางภาษาที่เท่าเทียมมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีโอกาสก็อยากเห็นโครงการที่มุ่งเน้นไปในเรื่องของพัฒนาการทางภาษาของเด็กหูหนวกมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันง่ายเพราะจะต้องใช้ความชำนาญเงินและบุคลากรที่มากขึ้น

จากการทำงานที่ผ่านมาเราคิดว่าควรจะต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น เขารู้สึกว่าตัวเองด้อยจริงหรือเปล่า รู้สึกว่าถูกกดขี่จริงหรือเปล่า แล้วไปกดขี่เขาจริงหรือเปล่า สิ่งที่เราตั้งจุดประสงค์ไว้อาจไม่ใช่ก็ได้ เรื่องการทำงานที่ผ่านมาคนที่เข้ามาช่วยงานโครงการก็เป็นคนที่มีทัศนคติกับคนหูหนวกดีมาก ส่วนทัศนคติของคนหูหนวกที่มีกับเราก็ดีอยู่แล้ว ในด้านของการสื่อสารระหว่างกันก็ดูไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้มีอะไรเพิ่มและไม่ได้มีอะไรลด เพราะคนที่เข้ามาทำงานก็มีความเข้าใจเรื่องคนหูหนวกประมาณหนึ่งแล้ว ข้อสังเกตหนึ่งก็คือเป็นไปได้ไหมที่บางคนที่ไม่ชอบหรือไม่พยายามเข้าใจคนหูหนวกหรือเปล่าซึ่งคนเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้ามาทำงานในโครงการของเรา ไม่เช่นนั้นโครงการของเราก็ไม่ช่วยอะไรมากนัก คนที่ชอบคนหูหนวกก็เลือกที่จะเข้ามาทำโครงการ และควรจะปรับเปลี่ยนทัศนคติเขาก็ไม่มาเข้าโครงการ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นคำถามที่เรายังต้องคุยกันภายในว่าจะทำยังไงต่อไป 

สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือข้อระวังในเรื่องของการทำงานจิตอาสาคืออย่าติดกับดักคุณธรรม อย่าคิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ดีและอย่าคิดว่าเพราะเราเป็นคนดีจึงทำแบบนี้ หัวใจเปลี่ยนโลกไม่ได้แต่สิ่งที่เปลี่ยนโลกก็คือหัวใจและทักษะ โครงการจิตอาสาหลายโครงการเน้นในเรื่องของการช่วยคน บอกว่าทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งไม่ได้ดีที่สุดเท่าที่คนควรจะได้รับ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาเราไม่ต้องการแบบนั้น เวลาเราซื้อคอร์สไปเรียนอะไรสักอย่างเราก็ไม่ต้องการซื้อเพื่อไปเรียนกับจิตอาสาที่มาสอน เราอยากได้ทักษะและความรู้จากผู้ที่มีความชำนาญ บางคนชอบพูดว่ามีก็ดีกว่าไม่มี เราอาจสอนสิ่งที่ผิด ความมั่นใจผิดๆ รวมถึงเราอาจจะกินพื้นที่ของคนอื่นที่เขามีศักยภาพมากกว่าในการทำเรื่องนี้ การติดกับดักคุณธรรมจึงส่งผลถึงคนที่ได้รับและเสียเวลากับทุกฝ่าย