Skip to main content

ทำไมหมอไม่ยอมเซ็นต์ใบรับรองความพิการ ทั้งที่บางความพิการเห็นได้ประจักษ์ชัดเจนต่างกับคนพิการในต่างประเทศ​ที่แม้มีความพิการที่มองว่าเล็กน้อยเดินไม่ปกติ หูหนวกหรือตาบอดข้างเดียว 

อย่างไรก็ดี แม้มีความแตกต่างกันในเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิคนพิการ แต่หากย้อนดูตามนิยามความพิการพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550  ซึ่งนิยามถึงข้อจำกัดที่ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้แล้วก็จะพบว่า นิยามความพิการตามกฎหมายไทยไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากกฏหมายของคนพิการประเทศอื่นเลย 

เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยให้กระจ่าง Thisable.me ชวนแพทย์หญิงดลฤดี ศรีศุภผล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ร่วมพูดคุยถึงเรื่องเกณฑ์การรับรองความพิการ ไปจนกระทั่งการนำเอกสารนี้ไปยื่นต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

รูปดวงตาหนึ่งข้างและมีแท็กป้ายเขียนว่า yes และ no สลับซ้ายขวากันไปมา

 

ปัจจุบันใช้เกณฑ์อะไรรับรองความพิการ

พญ.ดลฤดี: ปัจจุบันใช้เกณฑ์ตาม คู่มือการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการ ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นเกณฑ์จดทะเบียนคนพิการในประเทศไทยโดยจะอัพเดททุกๆ 5 ปี ตอนนี้เล่มนี้เกิน 5 ปีแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือฉบับใหม่ ถ้าอยากรู้ว่าจดทะเบียนคนพิการได้หรือไม่ ยังไม่ต้องไปหาหมอ ให้ไปดาวน์โหลดไฟล์หนังสืออ่านดูก่อน

แต่ถ้าจะพูดถึงเบื้องหลังของเกณฑ์ในการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการปี พ.ศ 2555 เราต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นว่าทำไมต้องจดทะเบียนคนพิการ เราจดทะเบียนคนพิการไปเพื่ออะไรและประเทศอื่นจดทะเบียนคนพิการกันหรือเปล่า นี่เป็นคำถามที่หมอเองก็เอาไปหาคำตอบตอนเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ

ทำไมต้องไปหาคำตอบไกลถึงประเทศอังกฤษ

เพราะอังกฤษเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการแยกคนพิการออกจากคนไม่พิการ ตอนนั้นเปลี่ยนจากระบบเจ้าขุนมูลนายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ยุคนั้นเศรษฐกิจแย่ ไม่มีคนทำงาน คนจึงนั่งขอทานตามข้างถนนเยอะมาก รัฐจึงออกกฏเพื่อจำแนกว่าคนๆ นั้นเหมาะสมที่จะขอทานไหม กฏนี้ได้กำหนดให้คนที่บกพร่องทางร่างกาย เช่น คนป่วย คนบ้า คนแก่ที่ไร้เรี่ยวแรง มีใบอนุญาตให้ขอทานได้ หากไม่ได้ใบอนุญาตนี้พวกเขาก็ต้องทำงาน จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษเริ่มมีแนวคิดรัฐสวัสดิการที่ว่าทุกคนต้องมีมาตรฐานการครองชีพเท่าเทียมกัน ถ้าคุณตกงานเมื่อไหร่ รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยให้เบี้ยว่างงาน ส่วนกลุ่มที่ทำงานไม่ได้ เช่น ผู้ป่วย ผู้ป่วยเรื้อรัง และคนพิการ หากสามารถกลับทำงานได้ พวกเขาก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์จากรัฐ 

ช่วงนั้นอังกฤษส่งทหารไปรบและตายเป็นจำนวนมาก จนไม่มีคนทำงาน ทำให้นายจ้างไม่มีแรงงานให้เลือก จึงรับคนพิการเข้าทำงาน แต่พอสงครามสิ้นสุดลง สถานการณ์ก็กลับสู่รูปแบบเดิมคือ มีแรงงานไม่พิการให้เลือกเยอะ คนพิการไม่ถูกจ้างและถูกผลักออกจากระบบแรงงาน ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินดูแลและให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มนี้มากขึ้น ในยุคนั้นวิธีการนับคนพิการในจึงไม่ขึ้นอยู่กับความบกพร่องของร่างกาย แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความต้องการของตลาดงานของประเทศ

ประเทศอังกฤษจดทะเบียนความพิการอย่างไร

ปัจจุบันอังกฤษมีสิทธิประโยชน์ให้กับคนพิการหลายรูปแบบมาก เช่น เบี้ยคนพิการ (Disability Living Allowance) และเงินสวัสดิการช่วยเหลือในกรณีที่เป็นคนพิการหรือมีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง (Personal Independence Payment) ไม่ว่าจะพิการมากหรือน้อยก็จะได้รับสิทธิประโยชน์มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมรรถนะทางร่างกาย

ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบคัดกรองการให้สิทธิประโยชน์คล้ายๆ กัน อ้างอิงตามแนวคิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities ;CRPD) ขององค์การสหประชาชาติหรือ ICF (International Classification of Functioning, Disability and Health) ที่กล่าวว่าความพิการไม่ได้อยู่ที่ความบกพร่องของร่างกาย แต่ความพิการเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายที่มีความบกพร่องกับอุปสรรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเมินยาก ในต่างประเทศนั้นพยายามจะประเมินให้ครบทุกส่วน ซึ่งอาจจะใช้เวลาถึง 3-12 เดือนกว่าจะได้ใบอนุญาตแต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิประโยชน์เท่าเดิมตลอดชีพ จะมีการประเมินใหม่เป็นระยะเพื่อดูว่าจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเทศใช้ระบบจดทะเบียนคนพิการเช่นเดียวกับประเทศไทย

ประเทศไทยมีวิธีการจดทะเบียนคนพิการอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยมีระบบจำแนกคนพิการ 2 วิธีคือ ระบบภายใต้สำนักงานประกันสังคมและระบบภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถ้าย้อนดูในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 จะเห็นว่า พ.ร.บ.จะจำแนกว่าใครเป็นคนพิการโดยนับจากจำนวนแขนขาอ่อนแรงหรือขาดหาย เช่น ถ้าแขนหายไปหนึ่งข้างพิการระดับ 3 แขนหายไปสองข้างพิการระดับ 4 ถ้าแขนขาหายมากกว่าสองข้างพิการระดับ 5 แต่ไม่ดูอย่างอื่นเลย ซึ่งวิธีแบบนี้เป็นวิธีโบราณที่เรียกว่า Barema Method  คือ คิดว่าอวัยวะร่างกายครบ 32 ประการเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอวัยวะบางอย่างหายไปคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วก็นำตัวเลขมาเทียบกับคู่มือ Barema Technic ว่าคนๆ นี้เป็นคนพิการหรือเปล่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมใช้วิธีนี้ จนกระทั่งหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนวิธีนิยามความพิการโดยอ้างอิงจากความบกพร่องของร่างกายบวกกับการประเมินความต้องการความช่วยเหลือจริงๆ โดยมีหมอ นักสังคมสงเคราะห์ร่วมประเมิน ในบางประเทศมีเจ้าหน้าที่ประเมินโดยเฉพาะ (Work Assessment Specialist) ช่วยประเมินโรคหรือความพิการในเชิงสมรรถนะ ซึ่งจะมีข้อกำหนดว่าถ้าสมรรถนะหายไปเท่านี้ จะได้รับเงินและความช่วยเหลืออะไรบ้าง 

การประเมินความพิการด้วยแนวคิด CRPD และ ICF จะประเมิน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Body Functions & Structure (ความบกพร่องของร่างกาย), Activity (ความยากลำบากที่จะทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อเทียบกันคนไม่พิการ) และ Participation (การสูญเสียความสามารถการทำกิจกรรมในสังคม) ระบบการจำแนกคนพิการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็พยายามผลักดันให้ใช้วิธีการนี้ แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะรูปแบบการจดทะเบียนคนพิการขึ้นอยู่กับหมอ หากหมอเซ็นต์ใบรับรองคนพิการให้ คนพิการก็สามารถนำไปยื่นต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อออกบัตรคนพิการ แต่เมื่อหมอนั่งอยู่ในห้องตรวจ แล้วหมอจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไข้มีระดับ Participation เท่าไร สมมติมีคนไข้นิ้วขาด 2 นิ้ว คนหนึ่งเป็นแม่ค้า อีกคนเป็นนักเปียโน ระดับขั้นของการมี Participation ที่สูญเสียนั้นจะไม่เท่ากัน ซึ่งต่างประเทศจะมีบุคลากรนอกเหนือจากแพทย์ร่วมประเมินส่วนนี้ แต่ประเทศไทยไม่ประเมิน ฉะนั้นถ้าบอกว่าประเทศไทยประเมินความพิการตามหลัก ICF หมอคงพูดได้ไม่เต็มปาก บอกได้แค่ว่าเราพยายามขยับให้เป็นไปตามหลัก ICF มากขึ้น จากเดิมที่ประเมินความพิการด้วย Body Functions & Structure อย่างเดียว ตอนนี้ขยับมาประเมิน Activity แล้ว เช่น การประเมินคนพิการทางการเคลื่อนไหว จะประเมินที่สมรรถนะการเดินหรือการใช้มือทำกิจกรรม ไม่ได้นับจำนวนแขนหรือขาที่อ่อนแรงเหมือนแต่ก่อน แต่ความพิการประเภทอื่น เช่น หูหนวก ตาบอด สติปัญญา ยังเน้นประเมินในระดับ Body functions & structure เป็นหลัก

การประเมินสมรรถนะหรือ Activity Level ต้องดูสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานของร่างกาย คนทั่วไปเวลาไม่สบายสมรรถนะก็จะลดลง แต่เมื่อหายแล้วก็มีสมรรถนะเท่าเดิม แต่ถ้าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ระดับสมรรถนะจะลดลงระยะยาวจนเกิดเป็นความพิการ ซึ่งหน้าที่ของคนสร้างเกณฑ์จะต้องกำหนดว่าสมรรถนะการทำงานของคนไม่พิการเป็นเท่าไร แล้วถ้าทำได้น้อยหรือไม่ได้จะถือว่าพิการ อย่างความพิการทางการเคลื่อนไหวจะกำหนดเกณฑ์ประเมิน Activity ว่าเดินได้ไม่ถึง 10 เมตร ถือว่าเป็นคนพิการ 

ในความเป็นจริง การกำหนดเกณฑ์ว่าใครพิการหรือไม่พิการขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลมีความสามารถที่จะสนับสนุนเงินและสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือคนพิการแค่ไหน หากกำหนดเกณฑ์ให้จดทะเบียนคนพิการให้ง่ายขึ้น คนที่มีสมรรถนะลดลงจากคนไม่พิการนิดเดียวก็นับเป็นคนพิการแล้ว จะทำให้จำนวนคนพิการเพิ่มมากขึ้น และเสียงของคนพิการก็จะดังจนได้รับความสนใจจากรัฐบาล

ตอนนี้เรื่องวิธีการประเมินคนพิการไม่ได้เอามาคุยกันอย่างแท้จริง เราจะเห็นในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 ว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหมอเป็นคนกำหนดเกณฑ์ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเราพยายามให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการกำหนดเกณฑ์เป็นหลัก แต่สุดท้ายหลักเกณฑ์การประเมินยังถูกกำหนดจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และไม่มี Work Assessment Specialist ช่วยประเมินเรื่อง Participation ทำให้การประเมินแบบองค์รวมที่ต้องทำงานประสานงานกับหลายหน่วยงานเป็นไปได้ยากมาก

รูปคุณหมอดลฤดีหันหน้าไปทางขวา และยิ้มหวานอยู่

เหตุใดคนตาบอดหรือหูหนวกข้างเดียว ไม่ได้รับสิทธิคนพิการ

เราต้องดูว่ากำหนดเกณฑ์ไว้อย่างไร ปัจจุบันเราใช้เกณฑ์ประเมินระดับการมองเห็นหรือการได้ยิน ไม่ได้นับจำนวนตาหรือหู นั่นแปลว่าถ้าตาหรือหูอีกหนึ่งข้างยังทำงานได้ แปลว่ายังมีความสามารถในการมองเห็นและการได้ยินอยู่ แม้มุมมองการมองเห็นหรือการได้ยินจะไม่เท่ากับคนที่มีสองตา สองหู หากอยากปรับเกณฑ์ให้คนตาบอดหรือหูหนวกข้างเดียวถูกนับเป็นคนพิการ ก็ต้องปรับเกณฑ์คู่มือคู่มือการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการในเล่มถัดไป

ควรทำอย่างไรให้คนพิการมากพิการน้อยได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง

หมอคิดว่าการปรับเกณฑ์ให้จดทะเบียนคนพิการง่ายขึ้นไม่ใช่หัวใจสำคัญที่จะทำให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ทั่วถึง แต่เป็นการจดทะเบียนอย่างไรให้ได้สิทธิประโยชน์เหมาะสมกับคนพิการ เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะพิการมากน้อยเราก็ได้สิทธิประโยชน์เท่ากันหมด 

ประเทศตะวันตกเขาจะไม่นับว่าประเทศเขามีคนพิการกี่คน เพียงแต่ต้องการแยกคนกลุ่มนี้ออกไปเพื่อให้สิทธิประโยชน์ แต่ประเทศไทยมีฐานคิดต่างจากประเทศตะวันตก ความคิดการช่วยเหลือคนพิการบ้านเราคือการให้ทาน จะเห็นได้จากเงินคนพิการเดือนละ 800 บาทเท่ากัน โดยไม่ปรับตามความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนพิการ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก็ไม่ได้มีแนวคิดสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง 

ตอนที่หมอเพิ่งกลับจากอังกฤษก็คิดว่าประเทศไทยควรรื้อระบบการจดทะเบียนใหม่ ต้องมีการประเมิน Participation ซึ่งต้องใช้เวลา 3-6 เดือนและต้องมีศูนย์ประเมินความพิการโดยเฉพาะขึ้นมา มีหมอเฉพาะทางและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานโดยตรง ถ้าจะลงทุนเพื่อให้เกิดระบบการประเมินครอบคลุมขนาดนี้ เราต้องดูว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่สอดคล้องกับผลการประเมิน ถ้ายังได้เบี้ยคนพิการ 800 บาทเท่าเดิม ก็ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน

ถ้าเราไม่สามารถรื้อรากถอนโคนระบบการประเมินความพิการให้เหมือนประเทศอื่นได้ สิ่งที่พอทำได้คือทุก 5 ปีต้องขยับเกณฑ์ให้กว้างขึ้น คนพิการจะได้รับการจดทะเบียนมากขึ้น มีคนพิการเยอะขึ้น จึงทำให้เสียงคนพิการดังขึ้นจนสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมได้

นอกจากตั้งศูนย์ประเมินความพิการ ยังต้องช่วยให้คนพิการได้รับสิทธิมากขึ้น

โครงสร้างของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำให้การช่วยเหลือคนพิการไปได้ช้า บุคลากรของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่ละจังหวัดไม่ได้ดูแลเรื่องคนพิการอย่างเดียว เขาดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งหมด ถ้าต้องมาทำงานเรื่องคนพิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะคนพิการแต่ละประเภทมีความต้องการไม่เหมือนกัน ก็ยากต่อการทำงาน เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถทำงานให้ดีกว่านี้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าบุคลากรมีความรู้เรื่องคนพิการน้อย ครั้งหนึ่งคนไข้เป็นสโตรค มาหาหมอตอนที่มีอาการไปแล้วประมาณเดือนครึ่ง หมอประเมินแล้วว่าอาการอ่อนแรงไม่สามารถฟื้นฟูให้เป็นปกติได้ จึงรีบเซ็นต์ใบรับรับรองความพิการเพื่อเขาได้สิทธิคนพิการและกลับมารับการฟื้นฟู แต่พอคนไข้นำเอกสารไปยื่นจดทะเบียนที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่บอกว่ายังรักษาไม่ครบ 3 เดือน คุณหมอเซ็นต์เอกสารให้ผิด ทั้งที่คู่มือบอกว่าต้องมีอาการไม่น้อยกว่า 3 เดือนหรือตามดุลพินิจของแพทย์

ทำไมประเทศอื่นที่เคยเป็นเหมือนประเทศไทย ถึงใช้แนวคิด ICF ประเมินได้

บางประเทศเป็นประเทศเล็ก มีจำนวนประชากรน้อย อย่างไต้หวันเป็นประเทศเอเซียแรกๆ ที่ปรับการประเมินคนพิการด้วยแนวคิด ICF ซึ่งจุดเปลี่ยนเริ่มมาจากกระทรวงสาธารณสุขเอง กลุ่มแพทย์ที่ทำหน้าที่ประเมินคนพิการเขาวางแผนการประเมินไปถึงขั้น Participation เพื่อให้เกิดการประเมินที่สมบูรณ์ แต่ประเทศไต้หวันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรสูงมาก เขามีหมอจำนวนมากที่จะลงทุนทำเรื่องแบบนี้ได้ แตกต่างกับประเทศไทย ถ้าไม่ใช่หมอฟื้นฟูจะเข้าใจเรื่องคนพิการน้อย เกณฑ์บ้านเราจึงถูกออกแบบให้ง่ายกับหมอ เพื่อให้หมอทั่วไปสามารถประเมินได้ แต่แม้มีคู่มือ ก็ไม่ใช่ว่าหมอทุกคนจะประเมินได้เหมือนกัน เพราะลักษณะความพิการในชีวิตจริงมีความหลากหลายมาก

หากไทยเปลี่ยนมาใช้แนวคิด ICF ในการจดทะเบียนคนพิการจะเป็นอย่างไร

จะทำให้การทำงานยุ่งยากกว่าเดิม เพราะต้องประเมินเยอะขึ้น ก่อนหน้านี้พวกเราพยายามผลักดันให้เกิดการประเมินในส่วนของ Activity แต่ส่วนที่ประเมินไม่ได้อย่าง Participation กับ Environment  ก็ยังไม่เกิดขึ้น

หมอทั่วไปไม่รู้จัก ICF แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากเซ็นต์รับรองความพิการให้ ตอนที่เราเก็บข้อมูลทำงานวิจัย มีโอกาสได้คุยกับหมอระบบทางเดินปัสสาวะท่านหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่ามีคนไข้ที่ฉี่ไม่ได้ต้องใช้สายสวนปัสสาวะตลอดชีวิต หมอปัสสาวะก็โวยวายว่าคนไข้ผมกระเพาะปัสสาวะพิการ ก็พิการเหมือนกัน เราจึงเห็นได้ว่าเกณฑ์ที่ใช้ประเมินทุกวันนี้ไม่ได้ครอบคลุมการทำงานทุกส่วนของร่างกาย หมอส่วนใหญ่รู้ว่าปัญหาของคนไข้คืออะไร แต่ไม่เข้าใจกระบวนการกำหนดเกณฑ์การจดทะเบียนคนพิการ ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องหมอไม่เซ็นต์รับรองความพิการให้ คิดว่าอาจจะเป็นปัญหาเรื่องกฎหมาย ในต่างจังหวัดมีเจ้าหน้าที่เกณฑ์คนมาจดทะเบียนคนพิการเพื่อทำผลงาน แต่บางคนไม่ได้เข้าเกณฑ์การจดทะเบียนคนพิการ เพื่อนหมอบางคนถูกคนไข้ขอร้องให้เซ็นต์รับรองความพิการให้หน่อย เพื่อเอาใบนี้ไปฟ้องคู่กรณีว่าทำให้ทุพพลภาพถาวร กลายเป็นว่าคู่กรณีก็ไม่ยอมและมาเอาเรื่องหมอ

อะไรบ้างที่ช่วยให้เปลี่ยนระบบการให้สิทธิคนพิการในไทยได้

การเปลี่ยนทัศนคติ คนพิการและคนไม่พิการยังเชื่อว่าความพิการเป็นเรื่องเคราะห์กรรม เชื่อว่าเป็นความโชคร้าย เชื่อว่าตนเองสมควรได้รับความช่วยเหลือและไม่เชื่อว่าความช่วยเหลือเป็นสิทธิของตนที่ควรได้ คิดว่าเงินช่วยเหลือแค่ 800 บาทเป็นบุญมากแล้ว ถ้าคนยังเชื่อแบบนี้หมอหรือนักเคลื่อนไหวก็ไม่สามารถส่งเสียงช่วยเหลือได้ ตอนหมอไปเรียนที่อังกฤษ คนที่นั้นมีแนวคิดระบบทางสังคม (Social Model) สูงมาก และไม่สนใจเรื่องแนวคิดทางการแพทย์ (Medical Model) เลย ความพิการไม่ใช่เรื่องของร่างกายแต่เป็นเรื่องของสังคม จึงทำให้คนพิการอังกฤษค่อนข้างเกลียดหมอ โดยเฉพาะหมอฟื้นฟูที่ในอดีตเคยกดขี่คนพิการให้อยู่แต่โรงพยาบาล คนพิการในอังกฤษจึงต้องการปลดแอกจากหมอ 

ตอนที่เราทำงานที่สถาบันสิรินธร เรามีแนวคิดระบบทางสังคมมากกว่าคนไข้ที่เข้ามาแอดมิทอีก คนไข้ส่วนมากที่เข้ามามองว่าเขาไม่อยากเป็นคนพิการ หมอต้องเปลี่ยนเราเป็นคนปกติให้ได้ แนวคิดแบบนี้ทำให้แม้พิการ 3-5 ปีแล้วยังทำใจไม่ได้ เพราะฐานคิดก่อนที่จะมาเป็นคนพิการมองว่า พิการคือเรื่องโชคร้าย ไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ พอตัวเองกลายเป็นคนพิการ ก็รู้สึกว่าชีวิตสิ้นหวัง ขณะคนที่มองว่าพิการหรือไม่พิการเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต ความพิการไม่ได้กระทบต่อการมีความสุข การมีงานทำหรือไม่มีงานทำ พอเขาพิการก็จะยอมรับความจริงเร็วและใช้ชีวิตง่ายขึ้น 

ซึ่งประเทศอังกฤษหรือประเทศอื่นๆ มีความคิดว่าความพิการเป็นเรื่องของสังคมมากกว่าประเทศไทย เพราะรัฐพยายามให้คนพิการออกไปใช้ชีวิตข้างนอก คนพิการสามารถออกนอกบ้านได้ เดินทางด้วยรถไฟฟ้า ไปเที่ยวได้ พอเห็นแบบนี้ทุกวัน คนในสังคมก็เปิดใจยอมรับมากขึ้น ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการจดทะเบียนหรือสิทธิประโยชน์ ฉะนั้นเราคงไม่สามารถเปลี่ยนระบบได้รวดเร็วนัก หากวิธีคิดที่มีต่อคนพิการยังไม่เปลี่ยน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนพิการและคนไม่พิการก่อน สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการถึงจะเปลี่ยนตาม