Skip to main content

“คนตาบอดเปลี่ยนอาชีพได้ยากกว่าคนทั่วไป ขนาดคนตาดีตกงานก็ว่าลำบากแล้วแต่ก็ยังพอมีทางเลือกได้ว่าจะไปทำอะไรต่อ แต่พอเป็นคนตาบอด ไปสมัครงานคนก็ไม่ค่อยรับ และคงใช้เวลานานที่จะเปลี่ยนคนตาบอดให้ไปทำอาชีพอื่น แม้แต่การค้าขายออนไลน์ที่คนทั่วไปทำได้ไม่ยาก คนตาบอดก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนพอสมควรกว่าจะทำได้” - เอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ในช่วงเวลาที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงทำสถิติใหม่ตลอดเวลา และยอดผู้เสียชีวิตก็ไม่ลดลงแม้รัฐบาลจะออกกฎล็อคดาวน์เพื่อคุมเชื้อ หวังลดการแพร่ระบาด คนพิการคือคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าคนอื่นในสังคม   Thisable.me ได้มีโอกาสคุยกับสมาคมคนตาบอด เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ผลกระทบ อุปสรรคและการรับมือเมื่อตาบอดติดเชื้อโควิด

เอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเล่าว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นแย่ลงมาก มีผู้ติดเชื้อที่เป็นคนตาบอดเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดสองระลอกก่อนหน้าที่ไม่พบว่ามีคนตาบอดติดเชื้อ 

“รอบนี้การแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ในขณะที่วิถีชีวิตของคนตาบอดจำเป็นต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอก คนตาบอดทั้งประเทศมีประมาณสองแสนคน อยู่ในวัยแรงงานแปดหมื่นคน มากกว่าครึ่งประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าสลาก นวดแผนไทย เป็นผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถ Work From Home ได้ จำเป็นต้องออกมาประกอบอาชีพ หากไม่ทำก็ไม่มีรายได้เพื่อใช้จ่าย เมื่อออกมาทำงานนอกบ้านก็เสี่ยงรับเชื้อแบบเลี่ยงไม่ได้เพราะวิถีชีวิตของคนตาบอดต้องสัมผัส ไม่ว่าจะสัมผัสคนนำทาง สัมผัสกับวัตถุเวลาเดินไปยังที่ต่างๆ คนตาบอดไม่รู้ว่าตรงไหนเว้นระยะห่างได้ เลยทำให้การติดเชื้อมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงนี้ 

“สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้รับเคสแล้วส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โรงพยาบาลสนามหรือส่งไป Home Isolation ประมาณ 50 - 60 เคส นอกจากนี้ยังเริ่มมีผู้เสียชีวิตด้วย จำนวนที่กล่าวมายังไม่นับกลุ่มที่ไม่ได้ส่งผ่านเราทำให้อาจมีตัวเลขที่แท้จริงมากกว่านี้

“เราต้องยอมรับว่าพี่น้องคนตาบอดโดยเฉพาะในเขตเมือง เขาย้ายถิ่นมาเพื่อประกอบอาชีพ อยู่ด้วยกันเป็นชุมชน บางชุมชนอยู่กันเป็นร้อยคน พอมีคนหนึงติดเชื้อขึ้นมา คนอื่นๆ ก็ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อ เลยทำให้เคสค่อนข้างเยอะและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการแพร่ระบาดช่วงนี้ สิ่งที่ทำได้ก็คือการส่งต่อให้กับบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามคนพิการบางส่วนที่อาการไม่รุนแรง ก็เข้าโปรแกรม Home Isolation 

สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลง

ตามคำบอกเล่าของนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยระบุว่า ตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 1  จนถึงปัจจุบัน สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้จัดหาอุปกรณ์เครื่องป้องกันต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอลล์ และระดมรับบริจาคเพื่อส่งให้คนตาบอดทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังพยายามอำนวยความสะดวกให้คนตาบอดเข้าถึงสิทธิของภาครัฐ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน เรารักกันและเราชนะในช่วงแรกคนตาบอดยังไม่ติดเชื้อ แต่ว่าก็ออกไปทำงานไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ การสนับสนุนเงินและถุงยังชีพจึงจำเป็น 

แต่ในระลอกที่สามตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การช่วยเหลือปรับเปลี่ยนไปเน้นในเรื่องสวัสดิการทางการแพทย์และเศรษฐกิจ นอกจากการประสานส่งต่อผู้ป่วย อีกส่วนคือการประสานเรื่องวัคซีน และพาคนตาบอดไปฉีด เช่น วัคซีนที่จัดสรรผ่านสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูทางการแพทย์แห่งชาติ หรือวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ สมาคมฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ ผ่านเงินและของบริจาค ซึ่งมีความหนักหนากว่าช่วงแรกเนื่องจากสถานการณ์เกิดต่อเนื่องยาวนาน 

“ครั้งนี้มีร้านนวดเดือดร้อนมากขึ้น มีคนขอความช่วยเหลือมาประมาณ 550 แห่ง เราจึงได้ส่งเงินไปช่วยที่ละหนึ่งพันบาท รวมเป็นเงินประมาณห้าแสนกว่าบาท อีกส่วนหนึ่งคือถุงยังชีพ เราได้รับถุงยังชีพพระราชทานจำนวน 4,200 ชุด จากสภากาชาติไทย และถุงยังชีพจากพี่น้องประชาชนที่บริจาคเข้ามาอีก 1,000 กว่าชุด และได้รับความกรุณาจากบริษัทไปรณีย์ไทยในการจัดส่งสิ่งของต่างๆ ให้พี่น้องคนตาบอดโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ต้องยอมรับว่าความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือกล่องยังชีพต่างๆ เป็นเพียงการประคองสถานการณ์เฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

“ปัญหาที่เกิดในตอนนี้คือ แม้จะระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่ปริมณฑลให้กับคนตาบอดได้ในระดับหนึ่ง แต่ในต่างจังหวัดยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเพราะไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพ คนพิการยังไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มลำดับแรกๆ เหมือนกับคนอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่ม 7 โรคร้ายแรง หากถูกจัดเป็นกลุ่มแรกๆ คนพิการในต่างจังหวัดก็จะเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรมีหน่วยงานช่วยลงทะเบียนให้คนพิการ เนื่องจากคนพิการหรือคนตาบอดไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางสมาร์ตโฟนได้ 

“พี่น้องในต่างจังหวัดหลายคนยังไม่มีช่องทางเข้าถึงวัคซีน คนต่างจังหวัดเริ่มมีติดเชื้อเหมือนกับในกรุงเทพฯ ต่างกันที่ความแออัดในกรุงเทพมีมากกว่า เลยทำให้การเข้าถึงการรักษายากขึ้น แม้ว่าจะมีโรงพยาบาลสนามคนพิการแล้วก็ตาม แต่เตียงก็มีจำกัด ถ้าคนพิการติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดความยากลำบากในการส่งตัว”

จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

บิ๊กเบล กฤษณ์พงษ์ เตชะพลี เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้รับหน้าที่ประสานงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ เล่าให้ฟังว่าแม้จะมีความหนักใจอยู่ไม่น้อย ในการทำหน้าที่เพราะต้องแบกรับความกดดันของผู้ป่วยและญาติ แต่เขาและทีมก็ยินที่จะเป็นคนทำหน้าที่ประสานและส่งต่อเพราะทราบดีว่าช่วงนี้คนตาบอดอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก 

“ประมาณต้นเดือนกรกฎาคมเคสคนตาบอดเริ่มเยอะขึ้น หน่วยงานราชการก็แน่น ทำให้เราจำเป็นต้องคัดกรอง และส่งให้กับทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในการประสานส่งต่อ ส่วนคนตาบอดที่อยู่ในระดับสีเขียวและสามารถแยกกันอยู่กับที่บ้านได้ สมาคมก็จะช่วยลงทะเบียนทางเว็บไซต์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อทำ Home Isolation 

ปัญหาที่เจอก็คือ แม้คนตาบอดจะรู้ว่าเพื่นตัวเองติด แต่ตัวเองก็หาจุดตรวจไม่ได้ คนตาบอดหลายคนจึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้เพราะไม่มีผลยืนยัน 

“ตอนนี้มีอยู่ 2 แบบคือ ดำเนินการด้วยตัวเองผ่านทางแฟนเพจต่างๆ หรือติดต่อไปที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจไม่ได้อยู่ในระบบของสมาคมฯ แต่ที่เราดูแล ณ ตอนนี้ (25 กรกฎาคม 2564) มีผู้ติดเชื้อจำนวน 44 ราย และมี 3 รายที่เสียชีวิต ส่วนต่างจังหวัดเราคิดว่ายังมีอีกเยอะ

“คนตาบอด 80 เปอร์เซ็นท์เป็นกลุ่มสีเขียว อาการไม่หนัก มีประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเหลืองหรือแดง แต่เรากลับไม่สามารถส่งต่อได้เพราะโรงพยาบาลสนามคนพิการจะดูแลได้ในระดับแค่สีเขียวเท่านั้น เราก็เลยต้องประสานทางเพจ เช่น เส้นด้าย ให้เข้าไปดูแล การส่งต่อจึงต้องบริหารจัดการช่องทางให้ดี เพราะถ้าส่งไปที่ พ.ก.ทั้งหมด เคสก็แน่นเกินไป กว่าจะได้รับความช่วยเหลือก็ใช้เวลาหลายวันถึงหลายสัปดาห์ 

“ตอนนี้ถ้ามีช่องทางไหนที่โปรโมตว่าให้ติดต่อไป เราก็พยายามติดต่อไป แต่พอแจ้งว่าเป็นคนพิการ คนก็คิดว่ากระทรวงพ.ม.ทำ และตีกลับมา เป็นวงจรที่ไปต่อไม่ได้ บางทีเราก็โดนปฏิเสธจากกลุ่มอาสาต่างๆ ทั้งที่การประสานตรงนั้นรวดเร็วกว่า มีเคสหนึ่งที่หาเตียงให้ไม่ได้เลยเกือบ 10 วัน จนเพจเส้นด้ายติดต่อกับช่องสาม พอออกสื่อ เลยทำให้ได้ตรวจเอกซเรย์ปอดและพบว่าเชื้อลงปอดทำให้อยู่ในระดับสีเหลือง พอโรงพยาบาลสนามคนพิการดูแลไม่ได้ ก็ต้องส่งทางโรงพยาบาลสนามบุษราคัมต่อไป แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ไวกว่านี้ เชื้อก็อาจจะไม่ลงปอด

“เราพยายามบอกผู้ป่วยเสมอว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ไม่อยากให้ความหวังเขา หากมีช่องทางไหนช่วยกันประสานก็ประสานไปเลย พอระบบเราไม่ดี ประชาชนต้องวิ่งเข้าหาทุกช่อง จนข้อมูลทับซ้อนกัน เวลาจัดคิวหรือเรียงลำดับเข้าสู่การรักษาก็รวน จนล่าช้า หนึ่งในเคสที่เสียชีวิตอาการเขาหนักพอสมควรแล้วตอนไปรับ พอประสานไปกว่าจะได้รับตัวก็อีก 4 วัน เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลประมาณสัปดาห์ก็เสียชีวิต ตกใจเหมือนกัน ส่วนอีกคน ป่วยติดเชื้อตั้งแต่เดือนเมษายนและมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนด้วย 

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

เอกมลเล่าต่อว่า คนตาบอดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก แม้พยายามระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยัจำเป็นต้องออกไปประกอบอาชีพเพราะยังมีค่าใช้จ่าย ซึ่งงานส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านไม่ได้

“เขาต้องไปขายอยู่ เพราะสลากก็ยังออกเป็นปกติ ถ้าหยุดก็ไม่มีรายได้ และเมื่อออกไปก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น  กลุ่มนี้ก็คือคนหาเช้ากินค่ำ ถ้าหยุดไปก็ไม่มีเงินรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตราการที่จะรองรับ อีกอาชีพคือ นวด ที่ตอนนี้ก็โดนปิดไป รวมถึงนักร้อง นักดนตรี ซึ่งเมื่อก่อนคนตาบอดเราก็จะเห็นว่าร้องเพลงทั้งในสถานที่ท่องเที่ยว ในตลาด แม้ว่ามีการเยียวยาตามมาตรา 40 ของผู้ประกันตนที่ประกอบอาชีพอิสระ 5,000 บาท ซึ่งอาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นการจ่ายแค่ครั้งเดียว ไม่พอสำหรับรายจ่าย เราเชื่อว่าทุกคนถ้าสามารถเลือกได้ ก็คงไม่มีใครที่จะอยากออกไปเสี่ยง คนตาบอดก็อยากปลอดภัย แต่เราอยู่ในฐานะที่เลือกได้ยาก 

“คนตาบอดเปลี่ยนแปลงอาชีพได้ยากกว่าคนทั่วไป ขนาดคนตาดีตกงานก็ว่ายากลำบากแล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังพอมีทางเลือกได้ว่าจะไปทำอะไรต่อ แต่พอเป็นคนตาบอด ถ้าจะไปสมัครงานคนก็ไม่ค่อยรับ และคงใช้เวลานานที่จะเปลี่ยนคนตาบอดจำนวนหมื่นๆ คนให้ไปทำอาชีพอื่น แม้แต่การค้าขายออนไลน์ที่อย่างคนทั่วไปทำได้ไม่ยาก ที่อาจมีความคิดเป็นไปขายของออนไลน์ แต่ถ้าเป็นคนตาบอดก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนพอสมควรกว่าที่จะทำได้”

เอกมลเห็นว่า นโยบายที่จะช่วยคนตาบอดได้คือ การทำให้คนตาบอดเข้าถึงนโยบายทางเศรษฐกิจทุกคนและต้องจัดหาวัคซีน ให้พิการเข้าไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับ กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเสืี่ยงสูงรวมถึงควรมีการตรวจหาเชื้อมากขึ้น เพราะคนตาบอดเดินทางไปตรวจยากลำบาก หากส่งชุดตรวจ ATK ให้ก็จะอำนวยความสะดวกได้มาก 

“อยากให้รัฐบาลช่วยเป็นตัวเงิน เช่น ถ้าติดเชื้อก็ได้รับเงินสามถึงห้าพันบาท เพราะเขาต้องหยุดประกอบอาชีพ คนในครอบครัวได้รับผลกระทบ บางคนติดเชื้อแล้วไม่มีโรงพยาบาลอยู่ ไม่มีข้าว ไม่มีอาหาร เงินจำนวนนี้สามารถช่วยได้เยอะ การล็อคดาวน์ในช่วงนี้กระทบปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จึงอยากให้แก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว และหวังว่าโควิด-19 จะต้องผ่านไป ผมเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ให้พวกเราอดทน มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน   ในนามสมาคมคนตาบอดฯ ขอรับปากว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนตาบอดให้สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ ไปได้ด้วยกัน” 

 กฤษณ์พงษ์ ทิ้งท้ายว่าอยากฝากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ป้องกันตัวเองให้มากที่สุดเหมือนที่ทุกคนทำมาตลอด และถ้าอยากให้สมาคมเข้าไปช่วยเหลือก็ให้ติดต่อเข้ามาที่เบอร์ 02-8246-3835 ตอนนี้สมาคมก็ยังเปิดศูนย์ช่วยคนตาบอด ทั้งเรื่องถุงยังชีพที่ส่งไปถึงบ้านสมาชิกผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

เช่นเดียวกับเอกมลที่ได้ฝากไว้ว่า หากใครมีความประสงค์จะบริจาคให้กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สามารถบริจาคได้ที่บัญชี กองทุนบัญชีศูนย์ช่วยคนตาบอดในประเทศไทยสู้ภัยโควิด-19 มูลนิธิคนตาบอดไทย ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนดินแดง เลขที่บัญชี 128-426714-1 โดยสามารถส่งสลิปการโอนและชื่อ - ที่อยู่ของผู้โอนมาที่อินบอกซ์ของเฟซบุ๊คของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเพื่อลดหย่อนภาษีได้