Skip to main content

ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม - 5 กันยายน 2564 ทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับการแข่งขันกีฬาโตเกียวพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักกีฬาพิการไทยเข้าร่วมถึง 77 คน อย่างไรก็ดี การเลือกปฏิบัติและความเหลื่อมล้ำต่อคนพิการที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลกทำให้การก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาตัวแทนประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่กว่าจะมีนักกีฬาพิการก็ต้องผ่านการพิสูจน์ให้คนเห็นว่า คนพิการก็มีศักยภาพและสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเฉกเช่นเดียวกับคนในสังคม

Thisable.me ชวนคุยกับ ภัทรพันธุ์ กฤษณา นายกสมาคมกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลไทย ถึงจุดเริ่มต้นของกีฬาคนพิการ ปัญหา อุปสรรคและความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในแวดวงกีฬาคนพิการ

‘เฟสปิกเกมส์’ครั้งแรกที่นักกีฬาพิการเฉิดฉาย 

ภัทรพันธุ์: ประสบการณ์ครั้งแรกในแวดวงกีฬาคนพิการที่ถือว่าเป็นการเปิดโลกให้กับกีฬาคนพิการคือเมื่อปี 1999 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ เวลานั้น โดยมีข้อกำหนดว่าประเทศไหนเป็นเจ้าภาพจะต้องเป็นเจ้าภาพกีฬาเฟสปิกเกมส์หรือการแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกด้วย ประเทศไทยไม่เคยมีโอกาสจัดกีฬาคนพิการระดับนานาชาติที่ใหญ่ระดับที่มีนักกีฬาเดินทางมาไม่น้อยกว่า 3,000 - 4,000 คน เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นยังไง จึงปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาเกือบ 3 ปีและเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปีจะถึงการแข่งขัน 

ในตอนนั้นคนมองว่า กีฬาคนพิการก็เป็นเพียงเกมการแข่งขันเล็กๆ จึงไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ทั้งที่การแข่งขันของคนพิการเป็นเกมใหญ่เท่ากับกีฬาคนไม่พิการ ตอนนั้นผมมีโอกาสเข้าไปเป็นคณะทำงานของการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ มีโอกาสได้ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรับรู้ว่ากีฬาคนพิการที่เราเป็นเจ้าภาพนั้นยิ่งใหญ่พอๆ กับกีฬาเอเชียนเกมส์ แถมยังมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า เพราะถ้ากีฬาคนพิการไม่เป็นที่รู้จัก การหาสปอนเซอร์ก็ยาก ทำให้ไม่มีงบประมาณในการแข่งขัน ยังโชคดีที่หลังจากเข้าไปคุยกับท่านบรรหาร ศิลปอาชา แล้วท่านก็สนับสนุนอย่างดี 

ตอนแรกที่เข้าไปคุย ท่านเองก็ไม่เข้าใจว่ากีฬาคนพิการเป็นอย่างไร จึงถามว่ากีฬาคนพิการแข่งกันกี่จังหวัด พอเราบอกว่าไม่ใช่ระดับจังหวัดแต่มีมากถึง 42 ประเทศ ท่านก็ตกใจว่าไม่ใช่งานเล็กๆ จึงลงมาเป็นที่ปรึกษาเองและแต่งตั้งคณะกรรมการมาประชุม ช่วงแรกกระทรวงต่างๆ ก็ส่งคนทำงานตัวเล็กมาร่วมประชุม ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ พอเปลี่ยนเป็นระดับบริหารงานก็เดินหน้า  

ในครั้งนั้นการแข่งขันเอเชียนเกมส์และเฟสปิกเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพถือว่าประสบความสำเร็จและทำได้ดี เราใช้สนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สร้างสำหรับเอเชียนเกมส์และมีหอพักนักศึกษา แต่ละกระทรวงที่เข้ามาดูแลก็ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง นักกีฬาเองจากที่ได้เหรียญรางวัลน้อย กลับได้เหรียญรางวัลเป็นอันดับสองรองจากออสเตรเลีย มีดาวรุ่งเกิดขึ้นมาใหม่มากมาย ทำให้เห็นว่าถ้ามีการสนับสนุนอย่างจริงจังทั้งด้านงบประมาณและการฝึกซ้อม คนพิการก็ประสบความสำเร็จได้และได้นักกีฬาหน้าใหม่ประดับแสงเยอะมาก ความสำเร็จที่เราเห็นทุกวันนี้ก็เป็นผลพวงมาจากครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเปลี่ยนแปลงมาเยอะตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา

กีฬาทำให้มุมมองต่อคนพิการเปลี่ยน

คุณหมอชาวญี่ปุ่นที่เริ่มจัดกีฬาคนพิการในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกนั้นรับต้นแบบมาจากการแข่งขันของประเทศอังกฤษ คอนเซ็ปของกีฬาคนพิการถูกระบุว่า กีฬาเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ผมเองก็คิดแย้งนะว่าเป็นไปไม่ได้หรอก กีฬาจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ยังไง เราทำงานเรื่องสิทธิและความเสมอภาค พยายามพลักดันเรื่องความเท่าเทียมก็พบแต่อุปสรรค คนพิการไปไหนก็ลำบาก ผู้ใหญ่บ้านเมืองเราไม่คิดว่าการศึกษาคนพิการสำคัญ คนพิการอยากเรียนก็ไม่สนับสนุนให้เรียน เรื่องการจ้างงานก็มีปัญหา แต่หลังการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์จบก็เปรียบเสมือนกับการประกาศให้สังคมและคนทั่วไปในประเทศไทยได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วคนพิการมีความสามารถที่จะทำอะไรได้อีกเยอะถ้าคุณให้โอกาสและความเท่าเทียม คนพิการก็ทำได้เหมือนคนทั่วไป 

ในช่วงแรกนักกีฬาส่วนมากมาจากโรงเรียนหรือศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ น้อยมากที่เข้ามาเอง เมื่อเข้ามาแล้วก็จะต้องเก็บตัวเพื่อฝึกซ้อม ปัจจัยความสำเร็จของนักกีฬาจะต้องประกอบด้วยหลายอย่าง หนึ่ง การแข่งขันกีฬาของคนพิการไม่ได้วัดกันที่สมรรถภาพทางร่างกายอย่างเดียว แต่วัดกันที่อุปกรณ์ด้วย เช่น อุปกรณ์ของกรีฑาหรือวีลแชร์เรซซิ่งคันหนึ่งก็เป็นแสนแล้ว ถ้าอุปกรณ์และเครื่องช่วยเหลือไม่ดีเราก็เสียเปรียบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดหากเราเอาแชมป์โลกวีลแชร์เรซซิ่งมาปั่นวีลแชร์ที่หนักมากหรือไม่ได้ออกแบบให้เป็นแอโร่ไดนามิค เชื่อว่ายังไงก็ไม่มีทางปั่นได้ดี 

สอง มีโอกาสได้ฝึกซ้อม เก็บตัว เก็บเกี่ยวเทคนิคต่างๆ จากผู้ฝึกสอน ช่วงแรกเป็นครูฝึกจากต่างประเทศเข้ามาช่วยฝึก ทำให้นักกีฬามีโอกาสเจอคู่แข่งขันที่มีมาตรฐานสูงจึงพัฒนาได้ไว บางคนเล่นแค่สองปีก็ได้ระดับแชมป์เอเชียแล้ว สุดท้ายก็ไประดับโลกอย่างการแข่งขันพาราลิมปิก เช่น แวว - สายสุนีย์ จ๊ะนะ ที่เริ่มเล่นครั้งแรกเป็นวีลแชร์บาสเกตบอล แต่ในเวลานั้นมีทีมส่งเข้าแข่งขันไม่ครบเราก็เลยไม่ได้ส่งไปและดึงตัวแววมาเล่นฟันดาบ ปรากฏว่าแววเล่นได้ปีเดียวก็ลงแข่งเฟสปิกเกมส์และได้เหรียญ หรือนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งจากสนามเฟสปิกเกมส์ที่ได้เหรียญทองในพาราลิมปิก เป็นต้น การได้ซ้อมทุกวันและมีงบประมาณเบี้ยเลี้ยงที่เป็นขวัญกำลังใจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทำให้นักกีฬามีทั้งกำลังใจและความสามารถที่ดีขึ้น 

สาม เสียงเชียร์และการประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ว่ากีฬาคนพิการมีความสำคัญ ในตอนนั้นการแข่งขันเฟสปิกเกมส์มีการถ่ายทอดสดทางทีวี แต่ละวันมีนักข่าวให้ความสนใจจนคนทั่วไปได้เห็นว่า คนไม่มีแขนก็ว่ายน้ำได้ นักกีฬาก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของชาติ 

สังคมในตอนนั้นเปิดโอกาสให้คนพิการทำงานมากขึ้นเพราะผู้นำระดับรัฐบาลหรือผู้บริหารในระดับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพวกเราและเห็นว่าคนพิการมีความสามารถ อีกเรื่องที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือเรื่องใบขับขี่ เราเองรณรงค์เรื่องนี้มาเป็น 10 ปีก็ไม่ได้ พอจบการแข่งเฟสปิกเกมส์การทำใบขับขี่กลับง่ายมากเพราะท่านอธิบดีขนส่งได้มีโอกาสมาเป็นคณะกรรมการจัดการแข่งขันด้วย ท่านเห็นว่าคนพิการความสามารถที่จะขับรถได้ก็ต้องให้สอบ นอกจากนี้ยังเกิดนโยบาย ‘คนพิการอยากเรียนต้องได้เรียน’ ติดป้ายที่โรงเรียนทั่วประเทศ กรมศุลกากรก็มีการขึ้นบัญชีรายชื่อสินค้าที่เป็นอุปกรณ์คนพิการโดยไม่เสียภาษีนำเข้าจึงจะเห็นได้ว่า หน่วยงานที่ได้ร่วมจัดการแข่งขันเฟสปิกเกมส์เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้คนพิการจริงๆ กีฬาคนพิการทำให้คนได้เห็นคนพิการที่มีความสามารถมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากถึงหลักหมื่นคน หลายคนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันกับคนพิการ นักศึกษาหลายคนที่เป็นอาสาสมัครได้ศึกษาชีวิตคนพิการว่าเป็นอย่างไร ตรงกับสโลแกนของเฟสปิกเกมส์ที่ว่า ความเสมอภาคเป็นหนึ่งเดียวในโลก

อุปสรรคของกีฬาคนพิการ

มีอุปสรรคเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเข้าใจต่อหน่วยงานต่างๆ หากไม่มีท่านบรรหารลงมาดูแลติดตามเรื่องแล้วปล่อยให้เป็นไปตามระบบราชการก็คงไม่ประสบความสำเร็จ

ก่อนที่จะมีเฟสปิกเกมส์ พวกเราสมาคมคนพิการเคยเดินขบวน ปั่นวีลแชร์จากศาลากลางไปบ้านท่านที่จรัญสนิทวงศ์เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอ แต่ท่านก็ส่งคนอื่นมาออกมารับหนังสือ ท่านเล่าให้ฟังทีหลังว่า สมัยนั้นที่เป็นนายกรัฐมนตรีท่านไม่เคยสนใจเรื่องคนพิการเลย เวลามาเรียกร้องอะไรหรือได้นามบัตรของคนพิการมาก็ไม่สนใจ แต่มาวันนี้พอได้ทำงานกับคนพิการก็เห็นว่า หากพัฒนาคนพิการให้ถูกทาง ให้โอกาสคนพิการได้แสดงความสามารถ คนพิการก็ทำได้ ท่านพูดมาว่า ขนาดแขนไม่มีสองข้างยังว่ายน้ำได้เลย แล้วประสาอะไรกับการไปทำงานหรือเรียนหนังสือ

อีกเรื่องที่เป็นอุปสรรคอย่างมากคือ ค่าตอบแทนและงบประมาณจัดการแข่งขัน ขณะที่การแข่งขันเอเชียนเกมส์มีสปอนเซอร์มหาศาล แต่เฟสปิกเกมส์ได้แค่ไม่กี่บาท อาจเพราะเราเพิ่งเริ่มการมีเฟสปิกเกมส์แบบจริงจังฉะนั้นระบบการจ่ายเงินรางวัลหรือการจัดสรรงบประมาณเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาพิการกับนักกีฬาไม่พิการทีมชาติจึงไม่เท่ากันมัน เพิ่งจะมาปรับขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากนั้นก่อนหน้านี้นักกีฬาไม่พิการจะได้ซ้อมก่อน ส่วนนักกีฬาพิการก็ไปซ้อมไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ ทั้งที่ระยะเวลาการแข่งขันเหลื่อมกันแค่เดือนเดียว นักกีฬาไม่พิการได้เก็บตัว 6 เดือนขณะที่เราได้แค่ 3 เดือน ทำให้ช่วงระยะหลัง 4 ปีให้หลังเริ่มปรับให้แยกซ้อม คนพิการไปใช้สนามซ้อมโคราชบ้าง สุพรรณบุรีบ้าง 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีการปรับค่าตอบแทนแล้วแต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ โดยอ้างว่าคนพิการแข่งไม่กี่คนจะได้รับการสนับสนุนเท่ากับคนไม่พิการได้อย่างไร ทั้งที่ไม่ว่าจะเป็นกีฬาพิการหรือไม่พิการก็ต้องสะสมโปรไฟล์คะแนน ฉะนั้นนักกีฬาพิการก็ต้องใช้เงินงบประมาณในการทำให้ผ่านคุณสมบัติจึงได้ไปแข่งเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องพยายามผลักดันต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและลดข้ออ้างต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งทำให้คนในสังคมเห็นว่า กีฬาคนพิการก็มีสามารถให้ความสุข ความสนุกสนาน ดูแล้วมีพลังบวกแก่ผู้ชม คนพิการที่นอนอยู่โรงพยาบาลหรือนอนอยู่บ้านที่ได้ดูก็รู้สึกมีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อกลับมาสู่สังคม

สิ่งที่นักกีฬาพิการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง

ค่าตอบแทนนักกีฬาที่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่ทั้งประธานพาราลิมปิกไทยและสมาคมคนพิการเรียกร้อง เพราะค่าตอบแทนที่เท่าเทียมจะพ่วงมากับสวัสดิการต่างๆ ที่ครอบคลุม เช่น สถานที่ฝึกซ้อมที่ไม่ต้องไปแย่งกันใช้กับนักกีฬาไม่พิการ อุปกรณ์ความพิการต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ฝึกซ้อมที่เหมาะสม เช่น ลู่วิ่งวีลแชร์เรซซิ่งที่ได้มาตรฐานระดับโลก ที่พักที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้ สวัสดิการต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนพิการสามารถเก็บตัวเพื่อสะสมคะแนนได้อย่างเต็มที่ 

มากไปกว่านั้นยังต้องสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่า นักกีฬาพิการมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่านักกีฬาไม่พิการ ทั้งการเดินทางที่ยากลำบาก พี่พักที่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ต่างๆ ผู้ช่วยคนพิการ รวมไปถึงการดูแลรักษาพยาบาล ฉะนั้นการประเมินค่าใช้จ่ายจำเป็นจะต้องประเมินส่วนนี้ด้วย การเอาเรทติ้งจำนวนผู้ชมเป็นตัวชี้วัดจึงไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะหากมองว่า กีฬาคนพิการไม่เป็นที่น่าสนใจ โจทย์ก็ควรคิดว่า แล้วจะทำอย่างไรให้น่าสนใจ จะกระตุ้นให้มีผู้ชมได้อย่างไร ไม่ใช่ยิ่งไม่มีคนดูก็ยิ่งให้งบประมาณน้อยลง ทั้งที่หลับตามองก็รู้แล้วว่าคนพิการนั้นมีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าคนไม่พิการ 

‘นักกีฬาหญิง’ ที่ถูกจับตามอง

ในไทยนักกีฬาหญิงมักมีชื่อเสียงมากกว่านักกีฬาชาย ไม่เพียงนักกีฬาพิการ หากดูวอลเลย์บอลทีมชาติก็จะพบว่าทีมหญิงไปได้ไกล คนดูวอลเลย์บอลหญิงมากกว่าชาย เช่นเดียวกับที่บางประเทศที่ให้นักกีฬาพิการรุนแรงมาแข่งและได้รับความสนใจ อาจเป็นเพราะนักกีฬาชายที่ดูแข็งแกร่งเป็นเรื่องปกติของวงการกีฬา การมีนักกีฬาที่อยู่เหนือความคาดหมายจึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ คนทำกีฬาจึงต้องมองให้ออกว่า ความนิยมเป็นแบบไหนและเราสามารถทำอะไรเพื่อให้นักกีฬาสามารถคว้าโอกาสให้ได้มากที่สุด

ในระดับบริหารของแวดวงกีฬาคนพิการหลายคนทำเรื่องนี้เป็นงานอดิเรก ทำให้กีฬาคนพิการกลายเป็นเรื่องรอง ผมจึงมองว่า หากใครที่เข้ามาทำงานจริงจัง ผลักดันตัวเองขึ้นไปเป็นกรรมการบริหารสหพันธ์กีฬาระดับโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ประสบความสำเร็จได้ และโอกาสที่เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือของบประมาณก็จะง่ายขึ้น

สวัสดิการของนักกีฬาพิการ

สวัสดิการนักกีฬาพิการเหมือนกับนักกีฬาไม่พิการ ทั้งเรื่องบริการของนักวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือนักจิตวิทยา แต่บริการดังกล่าวก็ยังไม่มีความเฉพาะทาง แม้เป็นนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านกีฬา แต่คนพิการอาจมีพื้นฐานจิตใจแตกต่างกับคนไม่พิการ ฉะนั้นนักจิตวิทยาจะต้องเข้าใจความแตกต่างที่สำคัญนี้และสามารถดึงจุดเด่นของคนพิการออกมาได้

การให้บริการด้านต่างๆ ในทุกวันนี้เป็นการให้บริการแบบผิวเผิน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดแบบเคสต่อเคส เช่น นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลถ้าจะเล่นได้ดีก็ต้องถูกดีไซน์อุปกรณ์ ให้ทำอย่างไรถึงจะปั่นได้คล่องตัว  หมุนยังไงถึงจะเร็ว ตำแหน่งนี้ต้องใช้รถแบบไหน ฯลฯ เรื่องโภชนาการก็เช่นกัน ทีมฟุตบอลอังกฤษมีการคำนวนพลังงานว่าผู้เล่นแต่ละตำแหน่งต้องกินอะไร พลังงานในการเล่นแต่ละตำแหน่งเป็นอย่างไร คนที่เป็นศูนย์หน้า คนที่ต้องวิ่ง คนที่ต้องกระโดด พวกเขาใช้พลังงานแตกต่างกันทั้งนั้น แต่ในไทย นักกีฬาพิการถูกบอกให้กินกล้วยเพราะให้พลังงาน คนพิการเพราะบาดเจ็บไขสันหลังกับคนขาขาดไม่ถูกคำนึงถึงความแตกต่างของสวัสดิการ ทั้งที่พวกเขามีความแตกต่างกันในเรื่องการใช้มัดกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความแข็งแรงของอวัยวะ เป็นต้น 

อีกเรื่องใหญ่ที่เราคิดว่าต้องพัฒนาก็คือความเสมอภาคเมื่อนักกีฬาเกษียณ นักกีฬาทีมชาติที่ไม่พิการหลายคนเมื่อไม่สามารถแข่งได้แล้ว ก็ได้เข้ารับราชการ หรือมียศราชการ และได้เงินเดือน คนพิการที่ชนะมาหลายเหรียญปีหนึ่งก็ยังพอมีรายได้ 30 - 40 ล้านบาท แต่นักกีฬาพิการอีกหลายคนที่รับใช้ชาติมาทั้งชีวิตและไม่สามารถไปได้สุด เขาไม่มีลู่ทางไปต่อ ไม่มีเบี้ยเลี้ยงให้ไปเก็บตัว ไม่มีเงินเดือนประจำ บางคนก็ต้องไปขายลอตเตอรี่ บางคนก็กลับไปอยู่บ้านทำนา ผมจึงอยากให้มีการรองรับคนพิการที่ทำอาชีพเป็นนักกีฬามาครึ่งค่อนชีวิตด้วย พัฒนาให้เค้าเป็นโค้ชสอนนักกีฬารุ่นหลัง ไปสร้างทีม หรือเป็นผู้บรรยายกีฬา ไปเป็นคนผลิตอุปกรณ์กีฬาก็ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผมมองว่ายังมีความเหลื่อมล้ำชัดเจน และต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เช่น กำหนดว่าเป็นนักกีฬาทีมชาติ 5 หรือ 10 ปี ก็จะได้รับเงินเดือนไปตลอด 

อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นเกิดกับนักกีฬาปัจจุบันเช่นกัน องค์กรกีฬาในไทยมีงบอุดหนุนเฉพาะนักกีฬาที่ติดทีมชาติเท่านั้น แล้วเด็กพิการที่เริ่มเล่นจะอยู่ยังไง กีฬาคนไม่พิการมีการสนับสนุนตั้งแต่ระดับเยาวชน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีสปอนเซอร์ มีงานพรีเซนเตอร์ต่างๆ แต่ว่าคนพิการไม่มี ถึงมีก็ค่าตัวไม่แพง จึงอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่มองอุปสรรคตรงจุดนี้

หลายคนบอกว่าการให้รางวัลเหมือนกับการตั้งความหวัง แต่หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับการบอกลูกว่า อยากให้สอบติดหมอแต่ไม่สนับสนุนด้านการเรียน ไม่สร้างโอกาส ไม่เคยไปเรียนพิเศษและปล่อยให้ลูกเรียนตามยถากรรม ลูกจะเป็นหมอได้ยังไง ฉะนั้นถ้าคุณจะตั้งเป้าหมายแล้วก็ต้องให้งบประมาณสนับสนุนเขาตั้งแต่ระดับอนุบาลด้วย

ที่สหรัฐอเมริกามีค่ายซัมเมอร์ที่ผู้ปกครองพาลูกพิการไปเล่นกีฬา หนึ่งในนั้นมีกิจกรรมวีลแชร์บาสเกตบอล ผมมีโอกาสส่งน้องนักกีฬาไทยไปมาแล้วประมาณ 10 คน เป็นโครงการร่วมกับสถานทูตสหรัฐฯ เด็กและเยาวชนได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้น ได้ใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองหลายคนเห็นลูกทำได้ก็สนับสนุนซื้อรถวีลแชร์บาสเกตบอลคันละกว่า 80,000 บาทให้ลูก  ในอนาคตเมืองไทยต้องปรับตัวเพื่อสนับสนุนให้เกิดนักกีฬาอาชีพที่เป็นคนพิการ เหมือนกับในต่างประเทศที่นักกีฬามีค่าตัว หากเกษียณก็ไปเป็นเทรนเนอร์ เกิดเป็นวงจรกีฬาอย่างสมบูรณ์ ในปีหน้าผมจึงจะพยายามผลักดันให้เกิดวีลแชร์บาสเกตบอลหญิงอาชีพให้ได้