Skip to main content

วันนี้ (15 ก.ย. 64) ณ ห้องพิจารณาคดี 9 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ได้มีการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดระบุ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นที่ได้ยกฟ้อง กรณีบีทีเอสไม่สามารถจัดทำลิฟต์ / สิ่งอำนวยความสะดวกภายในระบบรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 20 มกราคม 2558 นั้น โดยชี้ว่า กทม.ต้องจ่ายค่าเสียหายคนพิการในเขตกรุงเทพมหานครรายละ 5 พันบาท

สืบเนื่องจากกรณีที่ธีรยุทธ สุคนธวิท ผู้ฟ้องที่ 1 กับพวกรวม 430 คน ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ในคดีพิพาทเรื่องการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ในประเด็นการสร้างลิฟต์และอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานีรถไฟฟ้า จำนวน 23 สถานี และจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้าสำหรับคนพิการแต่ไม่แล้วเสร็จครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในปี 2558 นั้น (อ่านที่นี่) ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นได้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา (อ่านที่นี่) และผู้ฟ้องได้ยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 

วันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาว่า กรณี BTS ไม่สามารถจัดทำลิฟต์ / สิ่งอำนวยความสะดวกภายในระบบรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 20 มกราคม 2558 ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อคนพิการผู้ฟ้องทั้ง 430 คน และให้กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่คนพิการผู้ฟ้องซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครกว่า 10 คน เป็นค่าเสียหายรายละ 5,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด นับแต่วันฟ้องคดี

สนธิพงษ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความ ระบุว่าเรื่องนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่คำสั่งศาล ที่สั่งให้จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2558 ภายใน 1 ปี เมื่อไม่แล้วเสร็จคนพิการจึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย วันนี้ได้เห็นแล้วว่า แม้คู่กรณีจะอ้างอุปสรรคของการทำงาน แต่คำอ้างนี้เป็นอุปสรรคเรื่องการจัดการของกทม. จึงถือว่าเป็นการละเลยและทำให้คนพิการได้รับความเสียหาย โดยศาลมองว่า คนพิการในเขตกรุงเทพฯ ใกล้ชิดกับ BTS มากกว่าคนพิการที่อยู่ต่างจังหวัด จึงพิพากษาให้คนพิการบางส่วนได้รับค่าเสียหาย 

อย่างไรก็ดี จำนวนเงินที่คนพิการยื่นฟ้องด้วยเหตุที่ว่า กทม.ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จและล่วงเลยมานานจนเกินสมควร เข้าข้อกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงกำหนดค่าเสียหายโดยประมาณจากค่าใช้จ่ายของคนพิการในการเดินทางหากไม่สามารถใช้บริการได้อยู่ที่ประมาณ 800,000 บาทต่อปี ผ่านมา 4 ปี จึงเป็นเงินประมาณ 4 ล้านบาทต่อคน รวม 430 คนก็ประมาณ 1,400 ล้านบาทเศษ แต่ทั้งนี้ศาลเห็นว่าแม้มีการละเมิดเกิดขึ้นและทำให้คนพิการไม่สามารถเดินทางได้จริง แต่พฤติการณ์ของกทม.ไม่ได้ร้ายแรงหรือจงใจ ไม่ใช่การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นจำนวนเงินตามที่คนพิการร้องค่าเสียหายไป และเห็นว่ากทม.พยายามที่จะแก้ไข หากแต่เกิดอุปสรรค ศาลจึงกำหนดให้มีการจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท เฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางภายในเมือง และเนื่องจากเป็นคดีของศาลปกครองสูงสุด จึงเชื่อว่าถึงที่สุดแล้ว กทม.จะติดต่อผู้ฟ้องคดีที่ต้องได้รับเงิน ซึ่งเป็นเรื่องของการบังคับคดีในส่วนต่อไป 

สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)  กล่าวว่าเรื่องนี้ชี้ชัดแล้วว่ากรุงเทพฯ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ที่คนพิการฟ้องและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งก็ยังทำอย่างล่าช้า เลยเถิดมา 5-6 ปี หากถามว่าวันนี้รู้สึกยังไง ก็ดีใจที่เห็นคำพิพากษา มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งที่ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ก็คือ สามัญสำนึกของผู้บริหารท้องถิ่น ที่แม้มีคำพิพากษาแล้วก็ยังละเลยได้ ทั้งที่ไม่ควรต้องรอคำพิพากษา เมื่อคนพิการเริ่มกระบวนการเจรจาต่อรอง เสนอแนะ ให้คำปรึกษา เขาควรจะต้องให้ความสำคัญและยิ่งเมื่อมีการยื่นฟ้องจนศาลปกครองสูงตัดสิน ก็ควรต้องรีบทำให้เรียบร้อย 

สิ่งที่เราจะขับเคลื่อนต่อไปคงเป็นการขับเคลื่อนในทางแพ่ง ก็คือการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่คำถามที่สำคัญก็คือความไม่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและงบประมาณของรัฐ หากออกแบบและสร้างตั้งแต่ต้นนั้นประหยัดกว่าการรื้อปรับแก้ ฉะนั้นค่าความเสียหายนี้ใครควรจะเป็นคนที่รับผิดชอบ  เพราะแม้ว่าคำพิพากษาระบุให้จ่ายเงินชดเชยตามข้อเรียกร้องของประชาชน แต่เงินเหล่านั้นก็เป็นเงินของประชาชนเจ้าของภาษี ฉะนั้นผู้มีอำนาจควรที่จะรับผิดชอบและทำงานของตัวเองให้ดีตั้งแต่แรกเสียก่อน ความเสียหายครั้งนี้ไม่ได้ตกอยู่เฉพาะกับคนพิการเท่านั้น แต่ตกไปถึงครอบครัวของคนพิการด้วย เพราะหากคนพิการคนหนึ่งออกไปทำงาน หรือเรียนหนังสือได้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เงิน 1,400 ล้านบาท ที่เรียกเป็นค่าเสียหายไม่สำคัญเท่ากับจิตสำนึกของผู้บริหาร

หลังจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ในทางกระบวนการยุติธรรม หนึ่งในนั้นคือคำให้การ ของคู่กรณีในช่วงไกล่เกลี่ยที่ระบุว่า ในหนึ่งสถานีได้ทำการติดตั้งลิฟต์ไว้เรียบร้อยแล้วในฝั่งเดียว ศาลก็ถามว่า แล้วถ้าเดินทางอีกฝั่งจะต้องทำอย่างไร เขาก็ตอบอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ก็ให้เรียกแท็กซี่ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วค่อยไปขึ้นรถไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกในหลายสถานี รวมถึงสายสีม่วงและส่วนต่อขยาย เราจึงต้องพิจารณาในเรื่องการออกแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริงผ่านกระบวนการยุติธรรม ตราบใดที่วิธีคิดของผู้บริหารกับผู้บริโภคยังไม่ตรงกัน กระบวนการสร้างความเข้าใจและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต้องถูกนำมาใช้ควบคู่กัน

วรกร ไหลหรั่ง ทนายความและที่ปรึกษาทางกฏหมายเสริมว่า หลักการและวิธีคิดของของคนพิการคือการส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างทั่วถึงและปลอดภัย ขนส่งสาธารณะเหล่านี้มันเป็นสิ่งถาวรวัตถุที่ต้องใช้ไปอีกเป็นสิบๆ ปี เราจึงอยากให้รัฐหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มองเรื่องการเข้าถึงให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่านี้ 

หากรัฐบอกว่าจุดประสงค์ของการสร้างรถไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้มีขึ้นเพื่อลดระยะเวลาและสร้างความสะดวกให้กับประชาชน แต่คนพิการไม่สามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ คนพิการก็ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกจะช่วยคนพิการ รวมถึงผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตได้ หากไม่ผลักดันก็เท่ากับว่าวัตถุประสงค์เรื่องการเข้าถึงอย่างสะดวกและปลอดภัยไม่เกิดขึ้นจริง ในอนาคตผมหวังว่ารัฐหรือหน่วยงานต่างๆ จะเอาผู้ใช้งานเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง เพื่อให้เขาบอกว่าเขาจะใช้งานสิ่งนั้นได้อย่างไร 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง อ่านประวัติศาสตร์ที่สร้างไม่เสร็จของสิ่งอำนวยความสะดวกบน BTS ได้ (ที่นี่)