Skip to main content

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น จนอาจเป็นเรื่องกังวลใจของใครหลายคน ทั้งจากมาตรการต่างๆ การปิดสถานที่และการสูญเสียรายได้ รวมถึงการสูญเสียหรือเผชิญกับการเจ็บป่วยของตัวเองและบุคคลอันเป็นที่รัก และทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้นไปด้วย

ท่ามกลางความยากลำบากนั้น แพลตฟอร์มหนึ่งที่อาจเป็นที่สนใจของใครหลายๆ คน อย่าง อูก้า (Ooca) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือปัญหาเรื่องสุขภาพจิต กลับเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้น อีกทั้งเป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจากแพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยลดปัญหาการไม่กล้าไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาและแก้ไขค่านิยมที่มองว่าการพบหมอจิตแพทย์เป็นเรื่องหน้าอายหรือต้องปกปิด

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว ช่องทางให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีไม่มาก คนอาจรู้จักสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย อย่างไรก็ดี ช่องทางที่มีนั้นไม่เพียงพอต่อผู้ต้องการคำปรึกษา ทำให้จำนวนคู่สายต้องรอเป็นระยะเวลานาน 

Thisable.me จึงชวนทุกคนมาพูดคุยกับอิ๊ก—กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ CEO และผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่นอูก้า ว่าอะไรที่ทำให้เธอเลือกลงทุนมหาศาลเพื่อทำงานบริการด้านสุขภาพจิต สิทธิและสวัสดิการด้านสุขภาพจิตในปัจจุบันเป็นอย่างไร และทำอย่างไรการเข้าถึงบริการนี้จะทั่วถึงและดีพอสำหรับทุกคน

พาดหัวปกโซเซียลมีเดียเชียนว่า “แม้มีสิทธิ แต่ทรัพยากรสุขภาพจิตอาจมีไม่พอ”  คุยกับกัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง Ooca แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต

จุดเริ่มต้นของบริการด้านสุขภาพจิตนามของแอพพลิเคชั่น ‘อูก้า’

กัญจน์ภัสสร: เราอยากทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้คนกล้าไปสถานพยาบาล ทำอย่างไรให้การพบแพทย์เกิดขึ้นรวดเร็ว เพราะอย่างที่รู้กันว่า หลายครั้งคนไข้ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อมาพบหมอ กว่าจะทำนัดเจอหมอครั้งต่อไปก็นานเป็นเดือน เราจะให้คนไข้ตายระหว่างรอหมอไม่ได้ จึงอยากอำนวยความสะดวกสบาย คนไข้ไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยก่อนแล้วค่อยไปโรงพยาบาล หากพบแพทย์ตั้งแต่ตอนเริ่มมีปัญหา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาระยะยาวได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหากนำเทคโนโลยีอย่างโทรเวช (Telemedicine) ที่มีมาอย่างยาวนานจึงเป็นคำตอบที่เรานำมาปรับใช้กับเรื่องให้บริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างดี 

การพบจิตแพทย์สมัยก่อนลำบากมาก ลำบากตั้งแต่การนัด การเดินทางไกล นอกจากนี้ยังถูกตีตราเรื่องสุขภาพจิตอีกด้วย ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า จำนวนผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตมีน้อยเพราะการตีตราที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ นอกจากนี้ ความสามารถในการสร้างรายได้ให้กับตัวเองในฐานะจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยานั้นค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบกับวิชาชีพสาขาใกล้เคียงที่ได้รายได้มากกว่า จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจึงผันตัวไปทำอย่างอื่น ดังนั้นคนที่ทำอาชีพนี้ต้องเป็นคนที่ใจรักมากๆ ถึงจะทำได้นาน

สิทธิการเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตไทยถือว่าครอบคลุมแค่ไหน

สำหรับคนไทยสิทธิในเชิงสุขภาพจิตเรามีเยอะมาก จากรายงานของ KPMG เทียบเปอร์เซ็นต์ความครอบคลุมของนโยบายของภาครัฐด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพจิตที่สามารถเบิกจ่ายกับรัฐจะพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถเบิกได้ 100% ในสถาบันรักษาของภาครัฐ หากดูตารางเทียบงบประมาณค่าใช้จ่ายรายปีสำหรับบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิต่อคนตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2563 จะพบว่าประเทศสิงคโปร์มีงบประมาณสูงสุดอยู่ที่ 40 USD หรือเทียบเป็นเงินไทยเท่ากับ 1,353.20 บาท ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 1.5 USD หรือเทียบเป็นเงินไทยเท่ากับ 50.75 บาท แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซียจะอยู่ที่ 1.1 USD หรือเทียบเป็นเงินไทยเท่ากับ 37.22 บาท ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 0.1 USD หรือเทียบเป็นเงินไทยเท่ากับ 3.38 บาท จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีจำนวนจิตแพทย์หนึ่งคนต่อประชากรหนึ่งแสนคน นับว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากอันดับ 1 อย่างสิงคโปร์ที่มีจิตแพทย์ 4.4 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน 

อย่างไรก็ดี เป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอัตราส่วนที่เหมาะสมไว้ก็คือ ต้องมีจิตแพทย์ 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และจากรายงานของ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ยังระบุอีกว่า งบประมาณของแต่ละประเทศที่จัดสรรดูแลระบบสาธารณสุขของภาครัฐควรมีอย่างต่ำ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ตัวเลขของไทยและประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงสุดอยู่แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่างบประมาณดูแลสุขภาพองค์รวมยังมีน้อย และแบ่งเหลือไปดูแลสุขภาพจิตน้อยตามไปด้วย

เพราะฉะนั้นคนไทยมีสิทธิ แต่มีทรัพยากรไม่พอ รัฐบาลต้องลงทุนพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้านสุขภาพจิตมากกว่านี้และให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดสายงานในวิชาชีพอย่างชัดเจน ด้วยการสร้างมาตรฐานวิชาชีพจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดังเช่นในต่างประเทศที่มีจิตแพทย์ (Psychiatrist) และนักจิตวิทยา (Psychologist) ทำงานส่งต่อร่วมกับนักจิตวิทยาคลินิก บทบาทของนักจิตวิทยามีมากกกว่าการนั่งคุยกันเฉยๆ พวกเขาจัดการทำแบบประเมิน ช่วยจิตแพทย์ทำการทดสอบและช่วยวินิจฉัยเบื้องต้น เส้นแบ่งบางๆ นี้ ทำให้มาตรฐานวิชาชีพจิตวิทยาปรึกษาไทยไม่ชัดเจน 

อาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษาที่คลุมเครือ

นักจิตวิทยาที่สหรัฐอเมริกาต้องเรียนจบดอกเตอร์ และต้องสอบใบอนุญาตเรียกเก็บชั่วโมงสูงกว่าไทยมาก หากยังเรียนไม่จบ จะไม่เรียกแทนตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยาเด็ดขาด คนที่สอบใบอนุญาตประกอบอาชีพนักจิตวิทยาเท่านั้นจึงสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยาได้ ขณะที่ไทยไม่มีแบบนั้น เราสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยาได้โดยไม่ถูกจับ เราเจอคนที่เคลมว่าเป็นนักจิตวิทยาเยอะมาก เช่น คนที่ยังเรียนไม่จบปริญญาโทหลักสูตรนักจิตวิทยาการปรึกษา จากต่างประเทศ แล้วเปิดบริการให้คำปรึกษาในไทย หรือพยาบาลที่ไปอบรมเกี่ยวกับสุขภาพจิต แล้วเรียกตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยา แม้พวกเขาจะมีทักษะและมีสิทธิให้คำปรึกษา แต่ไม่มีสิทธิเรียกแทนตัวเองว่านักจิตวิทยา ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความมั่นคงในวิชาชีพ เมื่อไม่มีการบัญญัติให้นักจิตวิทยาถูกจัดอยู่กลุ่มชื่อที่ได้รับการคุ้มครอง (Protected Name) ไม่มีการออกกฎหมายปกป้องอาชีพ ไม่มีการสอบใบอนุญาต เนื้องานเหล่านี้ก็สามารถถูกคนอื่นแย่งได้ตลอดเวลา กลายเป็นว่าใครเป็นโค้ชชื่อดังคนก็ไปหาเยอะหรือเมื่อขาดคนก็อะลุมอะล่วยให้กับคนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาทำงานได้และเรียกแทนตัวเองว่านักจิตวิทยาเพราะทำงานให้กับหมอ คนจึงไม่เห็นความสำคัญของการสอบใบประกอบวิชาชีพ 

อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถตัดสินว่าคนที่ไม่ได้เรียนจบด้านนี้จะให้คำปรึกษาอย่างไม่มีคุณภาพ บางคนอาจมีพรสวรรค์ในการพูดแต่ไม่ใช่นักจิตวิทยา มันก็ไม่ผิด คุณสามารถคุยแบบนี้กับเพื่อน คุยกับพ่อแม่ก็ได้ แต่ไม่ใช่กับคนไข้ เพราะคนไข้คาดหวังที่จะได้รับบริการจากนักจิตวิทยา การทำงานทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตจึงไม่แฟร์กับพวกเขา 

ค่าบริการที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้คนเข้าไม่ถึงบริการหรือไม่

เรื่องนี้ก็มีส่วน แต่คุณมีตัวเลือก มีสิทธิ ถ้าอยากรักษาฟรีก็เข้ารับบริการจากภาครัฐ แต่ของฟรีที่มาจากภาษีประชาชนนั้นมีทรัพยากรอย่างจำกัด มีอะไรบางอย่างที่ต้องยอมแลก เช่น รอคิวนาน นัดได้เฉพาะวันเวลาราชการ ฯลฯ หากคุณรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มีมูลค่า การจ่ายเงินค่าให้บริการคำปรึกษาจะทำให้คนในวิชาชีพได้เงิน ได้งาน เราอยากให้รู้ว่าวิชาชีพด้านนี้ก็มีมูลค่าเช่นกัน โดยเฉพาะหากคุณยอมไปเข้าคอร์สของคนที่ตั้งตัวเองว่าเป็นโค้ช ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง 

หลายคนบอกว่า การให้คำปรึกษาควรจะฟรีและพยายามผลักความรับผิดชอบด้านการเงิน เราเห็นด้วยว่า บริการสุขภาพจิตของภาครัฐควรจะฟรีด้วยเงินภาษีของประชาชน แต่ต้องจัดการปัญหาการบริหารจัดการและค่าตอบแทนด้วย ปัจจุบันนักจิตวิทยาของเอกชนกับภาครัฐได้ค่าตอบแทนต่างกันราวฟ้ากับเหว การบริหารผิดพลาดของรัฐทำให้ได้เงินน้อย ได้เงินตกเบิก สุดท้ายก็ต้องลาออกไปอยู่เอกชน

ตอนแรกที่แอพพลิเคชั่นอูก้าเปิดตัว คนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเก็บเงิน ก็คงต้องถามกลับว่า สิ่งที่เราทำไม่ต้องใช้เงินเหรอ เรามีพนักงานรวมกัน 30 คน ทุกคนไม่สามารถอิ่มทิพย์ มีค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ค่าแอพพลิเคชั่น เราเองก็ทุ่มไปปีแรกกว่า 4 ล้านบาท  แทนที่จะไปเป็นทันตแพทย์เต็มตัวได้เงินเดือนหลายแสน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีมูลค่า

ในช่วงที่มีทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความเข้มข้นของการเมือง ทำให้คนมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ 

การเมืองมีผลกับสุขภาพจิตมากๆ แม้ว่าอาจจะไม่ได้มีผลโดยตรง แต่ผลกระทบก็อาจะเกิดขึ้นได้ทางใดทางหนึ่ง เช่น รู้สึกสิ้นหวังกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะตกงาน เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วรู้สึกเศร้า หรือปัญหาอื่นๆ อย่าง สภาวะสังคมหรือเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นโดยตรงผ่านสถานการณ์ทางการเมือง

ปัญหาสุขภาพจิตมีปัจจัยจากหลายอย่าง ความเจ็บป่วยของตัวเราก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต อาจเกิดจากสารเคมีในร่างกาย สรีระวิทยา และพันธุกรรมไม่ต่างจากโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งที่ต้องมีสารตั้งต้น (Precursor) ถ้าไม่มีสารตั้งต้นมะเร็งก็อาจเกิดจากสิ่งเร้าที่มากระตุ้นบ่อยๆ จนทำให้ทำร่างกายตอบสนองสิ่งเร้า เช่นเดียวกับสุขภาพจิต สิ่งเร้ายูนิตที่เล็กที่สุดก็คือ ครอบครัว ครอบครัวโอเคไหม ไล่ขึ้นมาเป็นสภาพแวดล้อมแถวบ้านโอเคไหม โรงเรียนหรือที่ทำงานโอเคไหม จังหวัดที่อยู่โอเคไหม ประเทศที่อยู่โอเคไหม เราจะเห็นว่าทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด เมื่อมีจุดที่ทำให้รู้สึกไม่สมดุล เช่น  คนที่ชีวิตดีทุกอย่าง บ้านก็ดี ครอบครัวก็ดี เงินก็มีให้ใช้ แต่ก็สามารถเป็นซึมเศร้าได้ ฉะนั้นสภาวะทางจิตจึงไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง 

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมเรามีความเครียด มนุษย์คนหนึ่งอาจมองว่าสังคมไม่ดีเลยและโกรธแค้นที่สังคมทำให้เป็นซึมเศร้า เราจะมองแบบนั้นก็ได้หากเข้าใจความโกรธความแค้น แต่ถ้าไม่พยายามก้าวผ่านด้วยการแก้ไขปัญหาก็อาจจะส่งผลเสียต่อตัวเองในระยะยาว เราจึงเห็นคนแสดงออกผ่านการทำแคมเปญต่างๆ เรียกร้องให้บางอย่างเกิดขึ้น เช่น ถ้าเราไม่พอใจสิ่งที่มีอยู่ ก็ย้ายประเทศหรือพยายามเรียกร้อง แม้อาจไม่เปลี่ยนอะไรในภาพใหญ่  แต่น้อยที่สุดเราก็ได้ทำอะไรบางอย่างให้ตัวเอง ส่วนตัวเราก็มีวิธีการแก้ปัญหาด้วยการทำแอพพลิเคชั่นอูก้าขึ้นมา พยายามสร้างระบบที่ทำให้คนใช้บริการเข้าถึงง่าย ช่วยให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้เงินตอบแทนเหมาะสม สร้างคอนเทนต์ให้คนหันมาสนใจสุขภาพจิต ตอนนี้ก็มีอีกช่องทางสำหรับคนงบน้อยในการปรึกษาสุขภาพจิต แต่ก็ยังไม่สามารถบริการฟรีทั้งหมดได้เนื่องจากเราก็มีพนักงานที่ต้องทำงานหลังบ้านเช่นกัน 

ข้อเสนออะไรต่อภาครัฐ ที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น 

คงเป็นข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขที่เราอยากให้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิต ปัจจุบันอูก้าก็ทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต จัดตั้งโครงการ Wall of Sharing  เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถเข้าไปใช้บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เราเข้าใจว่าเด็กยังไม่มีเงิน ค่าใช้จ่ายก็ถูกพ่อแม่กำกับอยู่ แม้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่มาคุยกับคนไข้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาจะได้เงินน้อยลง แต่พวกเขาก็จะได้รับค่าตอบแทนด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่การช่วยฟรีไม่อย่างนั้นเขาจะทำได้แป๊บเดียวแล้วก็ไม่ไหว ถอนตัวออกจากโครงการ 

โครงการนี้ไม่ได้คาดหวังให้เป็นโครงการฟรีตลอดไป แต่ทำเพื่อให้รัฐเห็นความสำคัญว่ามีนักเรียน นักศึกษามาใช้บริการแล้วได้ประโยชน์ ถ้ารัฐเห็นความสำคัญแล้วก็ควรตั้งงบประมาณมาดูแลเรื่องนี้ ไม่ใช่ให้ประชาชนสรรหาบริการฟรีจากประชาชนด้วยกันเอง แล้วรัฐก็มาใช้ประโยชน์ซ้ำอีก กลายเป็นว่าเรากำลังทำหน้าที่เกินประชาชนด้วยกันเสียอีก รัฐต้องตระหนักว่าเอาเงินภาษีประชาชาชนมาเยอะแล้วและสุขภาพจิตของเยาวชนต้องได้รับการดูแล หากรัฐไม่มั่นใจในการใช้งบประมาณเราก็อาสาทำในช่วงสองปีแรกโดยปีไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หลังจากนั้นจะต้องตั้งงบประมาณและค่อยๆ ขยายไปดูแลประชาชนกลุ่มอื่น เช่น คนสูงวัยขาดรายได้ กลุ่มคนยากจน และกลุ่มประชากรที่ขาดทรัพยากรที่ต้องการการซัพพอร์ตด้านสุขภาพจิต แม้เราร่วมมือกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ในการทำงาน แต่ที่ผ่านมาน่าเสียดายที่โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร เพราะถ้าเด็กๆ รู้จักโครงการนี้ก็สามารถใช้บริการได้ฟรี และอาจทำให้เข้าถึงการบริการกันได้มากขึ้น