Skip to main content

หญิง-กนกวรรณ นาคนาม เคยเป็นคนที่เดินด้วยสองขาและเคยเป็นผู้หญิง ‘ปกติ’ ในนิยามของคนทั่วไป แต่เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ขาทั้งสองข้างไม่สามารถใช้งานและกลับมาเดินได้อย่างที่เคยเป็น เป็นเวลากว่าสามปีแล้วที่หญิงใช้วีลแชร์ในการไปไหนมาไหน และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตเพื่อให้อุปกรณ์ใหม่อย่างวีลแชร์ กลายเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายอย่างสมบูรณ์

จาก Personal Trainer ที่แอคทีฟอยู่เสมอ สู่ YOOYINGSOPA ON WHEEL ยูทิวป์เบอร์ที่ผลิตคอนเทนต์ท่องเที่ยวแคมป์ปิ้ง Thisable.me ชวนหญิงคุยถึงเรื่องการท่องเที่ยวในแบบฉบับผู้ใช้วีลแชร์ ประสบการณ์ที่เธอได้รับ สวัสดิการด้านต่างๆ และระบบสาธารณูปโภคที่ส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ใช้วีลแชร์

หญิงนั่งบนเก้าอี้ในเต้นท์

ชอบไปแคมป์ปิ้งมานานหรือยัง

หญิง: เมื่อก่อนไม่ได้ชอบเท่าตอนนี้ ก่อนหน้านี้ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นแต่พอมีโควิด-19 มา เลยไปไหนไม่ได้เท่าไหร่ ช่วงนี้กระแสเที่ยวแคมป์ก็มาแล้วแฟนเราอิน เราไปด้วยก็สนุกดีเหมือนกันแต่ก็โคตรลำบากเลยล่ะ

คนมักถามเราว่า เห็นพี่หญิงไปแคมป์แล้วใช้ชีวิตยังไง แล้วเข้าห้องน้ำยังไง หนูก็อยากไปแต่หนูก็กลัวลำบาก เราก็บอกว่าไม่ต้องกลัวลำบากเพราะว่าลำบากแน่ ถ้าเป็นแคมป์ของเอกชนบางที่เขาก็ทำห้องน้ำเล็ก เพราะคงไม่คิดว่าคนนั่งวีลแชร์จะไปเที่ยว ทั้งที่เราก็เคยเจอคนนั่งวีลแชร์ไปเที่ยว ถึงแม้จะลำบากแต่ถ้าได้แลกกับการออกไปข้างนอก เราก็ยอมลำบากนะ จริงๆ แล้วคนที่ลำบากกว่าเราคือคนที่ไปด้วย ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากดูแลตัวเอง แต่สถานที่ไม่อำนวยพอที่จะทำให้เราดูแลตัวเองได้ แตกต่างจากเวลาอยู่บ้านที่เราก็ทำเองได้หมดทุกอย่าง

สถานที่แคมป์ปิ้งควรมีอะไรที่จะทำให้สะดวกขึ้น

ถ้ามองในมุมของคนนั่งวีลแชร์ก็อยากได้ลานดินแน่นๆ เพื่อให้เข็นวีลแชร์เองได้ เพราะบางลานเป็นพื้นทราย ดินก็ยวบไปหมด เข็นรถไม่ไป เราก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

แต่สิ่งที่อยากได้จริงๆ คงเป็นเรื่องห้องน้ำ อย่างน้อยอยากให้มีส้วมที่เป็นชักโครกเพราะเราต้องสวนปัสสาวะเป็นเวลา ถ้าเป็นห้องน้ำแบบนั่งยองๆ ก็ทำไม่ได้ เราเข้าใจว่าห้องน้ำคนพิการแพงกว่าห้องน้ำปกติอยู่แล้วเพราะต้องมีพื้นที่กว้าง มีราวจับ ฯลฯ แต่ถ้าคิดถึงผู้ใช้อย่างแม่ที่มีลูกเล็กแล้วต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือลูกที่อยากพาพ่อแม่อายุเยอะ ๆ มาเที่ยว พวกเขาก็ใช้ได้ด้วย จึงควรจะมีซักหนึ่งห้องที่ทำไว้เพื่อให้ใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย ตอนเวลาไปต่างประเทศ เราไม่เคยต้องนั่งกังวลว่าจะมีห้องน้ำไหม เพราะมีทุกที่ ที่ที่ไม่คิดว่าจะมีก็ยังมี เช่น ในเซเว่น พอพูดแล้วก็โกรธอยากให้เมืองไทยมีแบบนี้บ้าง

ปัญหาการเข้าห้องน้ำของผู้ใช้วีลแชร์

เรื่องนี้เอกคลูซีฟมากไม่เคยบอกใคร เวลาตื่นเช้าเราจะปวดฉี่มากๆ เหมือนกระเพาะปัสสาวะมันบีบตัว ร่างกายก็จะมีอาการเกร็งเนื่องจากความผิดปกติของเส้นประสาท พอไปแคมป์แฟนก็หาอุปกรณ์ให้เราฉี่ใส่ ไม่ว่าจะเป็นใส่ขวด ใส่แผ่นซึมซับ ใส่แพมเพิร์ส จนพบว่า ฉี่ใส่แผ่นซึมซับนั้นเวิร์กที่สุดเพราะไม่ทะลักเหมือนฉี่ใส่แพมเพิร์ส แม้เรื่องนี้ดูเป็นปัญหาเล็ก แต่สาวๆ มาปรึกษาบ่อยมาก

สถานที่ท่องเที่ยวในไทยเอื้อต่อการใช้วีลแชร์มากน้อยแค่ไหน

น้อยมาก เมืองไทยแค่ถนนก็เข็นยาก ขนาดคนทั่วไปยังเดินยากเลย อยู่บนฟุตปาธก็กลัวรถจะเฉี่ยว ถ้าวีลแชร์อยากไปเที่ยวสบายก็แนะนำให้ไปพักโรงแรม อย่างไรก็ดีโรงแรมบางที่ก็ไม่มีลิฟต์หรือห้องน้ำแคบ วีลแชร์คันใหญ่เข็นเข้าห้องน้ำไม่ได้ เท่ากับว่าเราต้องทำการบ้านเยอะหากไม่มีคนช่วย ถ้าไปคนเดียวแบบเท่ๆ ก็ลำบาก 

ถ้าเทียบกับที่ญี่ปุ่นล่ะ

ที่ญี่ปุ่นการเดินทางสะดวกสบาย เข็นรถเองได้เพราะมีทางจักรยาน วีลแชร์เองก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน รถเมล์ที่ญี่ปุ่นคนขับจะทำหน้าที่ทุกอย่าง พอเขาเห็นคนนั่งวีลแชร์มาปุ๊บ เขาจะรีบลงมาดึงลานสไลด์ออกให้เรา โดยหน้าไม่มีบูด ไม่มีบึ้ง ถ้าเกิดเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เขาก็จะถามว่าเราอยากได้ทางลาดไหม ถ้าอยากได้ก็จะวอร์ไปหาเจ้าหน้าที่ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ที่สถานีปลายทางเตรียมรับเสียบแผ่นสไลด์ เขาเทคแคร์เราดีมากอ่ะ

ครั้งนั้นเราไปเที่ยวที่หนึ่งคล้ายกับบ้านพิพิธภัณฑ์เก่าๆ ของคนญี่ปุ่น เราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีห้องน้ำคนพิการเพราะเป็นสถานที่โบราณ และไม่ได้เป็นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมเมื่อเทียบกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น แต่ปรากฎว่าที่นี่มีห้องน้ำวีลแชร์ที่โคตรไฮเทค เปิดประตูไปปุ๊บก็มีไฟอัตโนมัติ แล้วก็สะอาดมาก แต่โรงแรมที่เราไปพักค่อนข้างเล็ก รวมถึงห้องน้ำเล็กมากจนต้องมีคนช่วยย้ายตัวเพราะวีลแชร์ไม่สามารถเข้าไปได้ ห้องน้ำที่นี่เป็นแบบทูอินวัน มีทั้งอ่างอาบน้ำและชักโครก นอกจากนี้บางร้านอาหารก็มีขนาดค่อนข้างเล็ก มีที่นั่งเพียงไม่กี่ที่  

เห็นหญิงชอบแต่งตัว เวลาไปเที่ยวแล้วมีคนมองว่าเราไม่พิการบ้างไหม 

มี บางคนมองตั้งแต่หัวจรดเท้าว่าเราเป็นอะไร เวลาใส่กางเกงขาสั้นแล้วเราขาไม่ได้ลีบมาก ขาเราก็ดูเหมือนขาคนทั่วไป คนเลยอาจมองว่าขาแพลง ครั้งหนึ่งไปเที่ยวที่หมู่เกาะสุรินทร์ ไกด์แนะนำว่าไม่ต้องเอาวีลแชร์ไปหรอก เอาไปก็เข็นไม่ได้เพราะหาดทรายมันละเอียด เข็นไปก็จม แฟนเราก็เลยต้องอุ้มทั้งทริป พอเข้าไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านมอร์แกนก็ถามว่า ทำไมไม่เดินอ่ะ เจอใครใครก็ถามว่าทำไมไม่เดินเพื่อนที่ไปด้วยกันเลยบอกว่า เขาพึ่งแต่งงานกัน เขาสวีท คนคงคิดว่าทำไมอ้อนแฟนขนาดนี้จนไม่เดิน จริงๆ แล้วไม่ใช่ไม่อยากเดิน แต่เราเดินไม่ได้ คนชอบมองว่าเราไม่ได้พิการเพราะภาพจำของคนทั่วไปคิดว่าคนพิการน่าสงสาร ต้องโทรม ต้องปล่อยตัว ซึ่งเป็นภาพจำที่เมื่อก่อนเราก็เคยคิดแบบนั้น เหมือนกับคนพิการที่เห็นในวงเวียนชีวิต เราคิดว่าเป็นเพราะคนไทยชอบเสพดราม่า อะไรที่ดราม่าจะเรียกกระแส เรียกยอดวิว เรียกยอดไลก์และมีคนสนใจมาก จนทำให้คนพิการซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตพร้อมอุปสรรคทางด้านร่างกายถูกมองว่าน่าสงสาร หรือต้องการความช่วยเหลืออะไรแบบนั้นไป

การได้แต่งตัว สำคัญกับเรายังไง

เกิดความสุข การแต่งตัวคือตัวเรา ไม่ว่าจะเปลี่ยนสถานภาพหรือร่างกายสุดท้ายการแต่งตัวก็ยังเป็นตัวเรา ช่วงแรกก็มีเขวเหมือนกันนะเพราะนั่งวีลแชร์แล้วอ้วนง่ายขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีพุงจนแต่งตัวยาก ก็เกิดความไม่มั่นใจ แต่ก่อนชอบใส่เอวลอยก็กลายเป็นไม่มั่นใจ กลัวคนอื่นคิดอย่างนู้นอย่างนี้ สุดท้ายมีแต่เรานั่นแหละที่คิดไปเองหลังจากนั้นก็เปลี่ยนตัวเอง เราอยากแต่งตัวทำไมต้องคิดเยอะ พอพิการก็แค่ต้องหาเสื้อผ้าที่เหมาะกับเรามากขึ้น มีพุงก็ใส่เอวสูงหน่อยไหม ใส่สีดำหน่อยไหมให้มั่นใจมากขึ้น คนเราต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้รู้สึกมั่นใจแล้วก็สวยในแบบที่เราเป็น ไม่ใช่แค่คนพิการแต่ทุกคนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือกระแสแฟชั่นในช่วงนั้น

ความคิดของคนพิการที่มองตัวเองก็สำคัญมากเช่นเดียวกับคนรอบข้าง แฟนเราฟรีมากนะ แต่งอะไรก็ไม่ว่า แถมยังทำให้เรามั่นใจ เขาก็รู้อยู่แล้วว่าเราเป็นคนชอบแต่งตัวตั้งแต่ก่อนพิการ เรานี่เอฟชุดว่ายน้ำเป็นว่าเล่น จะไปไหนก็ต้องแซ่บไว้ก่อน คำว่าคนพิการก็เป็นแค่คำจัดกัดความของคน ที่อาจมองเรื่องความบกพร่องว่าเป็นอุปสรรค แต่สำหรับเราความพิการก็เหมือนกับการบอกว่า คนนี้สายตาสั้น ฉะนั้นความเป็นมนุษย์เรายังอยู่ อยากสวย อยากแซ่บเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่ว่าพอพิการแล้วห้ามแซ่บ ห้ามแต่งตัวโป๊ แต่อยู่ที่ว่าอยากทำหรือเปล่า อยากใส่หรือเปล่า ถ้าอยากใส่ก็ใส่เลยสิคะ

คิดยังไงกับคนที่มองคนพิการด้วยความสงสาร

คนที่มองคนพิการด้วยความสงสารคงคิดว่าไม่น่าเดินไม่ได้เลย ทั้งที่เขาก็ไม่ได้อยู่ในชีวิตเรา ไม่ได้เห็นว่าเรามีความสุขขนาดไหน ถ้าสนิทกับเราจะไม่มีใครกล้าพูดว่าสงสาร เราก็คือมนุษย์ปกติแค่ใช้ชีวิตลำบากกว่าเดิมหน่อย แต่ถ้าสถานที่เอื้ออำนวย คนพิการก็ไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะทุกคนก็อยากพึ่งพาตัวเองให้ได้เยอะที่สุด เราไม่เคยอยากเข็นวีลแชร์ไปเจอสเตปสูงให้คนอื่นเห็นแล้วมาบอกว่า อุ้ยน่าสงสารจัง ไปช่วยเขาหน่อยซิ ทั้งที่จริงๆ เราก็ไปได้ถ้าทางถูกออกแบบให้ทุกคนเข้าถึงได้

การยอมรับตัวเองได้เป็นเพราะทัศนคติ ต้นทุนชีวิตหรือครอบครัวที่เข้าใจ

คิดว่าทุกอย่างรวมกัน การมีต้นทุนชีวิตที่ดีก็ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย คนพิการในเมืองไทยถ้าไม่มีตัง ก็ลำบาก หากอยู่ในเมืองก็ยังเดินทางด้วยรถไฟฟ้าพอได้ แต่บางทีลิฟต์ก็ปิด รถเมล์ก็ขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงในต่างจังหวัดก็เรียกได้ว่าเดินทางโคตรยาก

ครอบครัวมีส่วนสำคัญมาก คนที่ไปข้างหน้าไม่ค่อยได้ส่วนใหญ่เป็นเพราะครอบครัวกีดกัน บางครอบครัวไม่เข้าใจว่าการรักษาสิ้นสุดแล้วแต่ความพิการคงอยู่ จึงยังคิดว่าทำไมไม่พยายาม ทำไมไม่ฝึกเดิน เดี๋ยวก็เดินได้แล้ว ทีคนนู้นยังเดินได้เลยและไม่เข้าใจว่าการบาดเจ็บของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน คู่ชีวิตก็สำคัญ แฟนเราพูดตลอดเลยว่า เดินไม่ได้ก็ไม่เป็นปัญหา เดินไม่ได้ก็เข็นเอา อุ้มเอา ถ้าอยากไปก็ไปได้ทุกที่ เวลาจะไปที่ที่มองว่าลำบากจริงๆ ก็จะหาเพื่อนไปด้วย ถ้าไปเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ยังไงก็ไปได้ 

แม้เราจะโชคดีที่คนใกล้ตัวเข้าใจ แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายทุกอย่างขึ้นกับตัวเรา  ถ้าตัวเราซึมเศร้าเหงาหงอย ใครชวนไปไหนก็ไม่ไป ไม่เอา กลัวลำบาก อาย ไม่กล้าเจอคน กลัวคนอื่นจะมอง เราก็คงไม่ได้ไปไหน หากเรามีทัศนคติต่อตัวเองที่ดีก็ส่งผลต่อคนรอบข้าง คนก็จะมีความสุขกับเราไปด้วยเพราะเขาไม่ต้องกังวลว่าพูดเรื่องความพิการแล้วจะกระทบใจเราหรือระมัดระวังไปเสียทุกอย่าง

ต้นทุนชีวิตและสวัสดิการภาครัฐ

ต้นทุนชีวิตของคนมันไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนไม่พิการแต่เราสามารถมีชีวิตที่ดีได้ด้วยรัฐสวัสดิการ ถ้าคุณเอาภาษีของเราไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทาง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อประชาชนและทำให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด เราคิดว่าก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำเป็นอันดับหนึ่ง แต่ทุกวันนี้รัฐบาลผลักภาระให้ครอบครัวคนพิการ ทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

งบประมาณเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท ซื้อแผ่นรองซับปัสสาวะแพ็คนึงก็แทบไม่ได้แล้ว เดือนๆหนึ่งคนพิการใช้ตั้งกี่แผ่น เราเลยมองว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนพิการควรต้องได้ รัฐต้องให้ เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับคนพิการ คนชราหรือเด็ก ไม่ว่าจะเป็นวีลแชร์ แผ่นรองซับ ยา ฯลฯ ของบางอย่างที่จำเป็นกับคนพิการปัจจุบันกลายเป็นภาระของคนที่บ้าน ยิ่งถ้าคนพิการไม่สามารถทำมาหากินได้็ยิ่งเพิ่มภาระให้คนที่บ้านเข้าไปอีก

รัฐบอกว่าคนพิการมีสิทธิรักษาพยาบาลฟรี แต่คนในต่างจังหวัด ไปไหนมาไหนลำบาก ถ้าบ้านคุณไม่มีรถขับจะเดินทางไปโรงพยาบาลยังไง การพัฒนาเกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้กระจายสู่ต่างจังหวัด ทั้งที่ทุกคนเสียภาษีกันหมด คนพิการพูดอะไรก็เหมือนไม่มีใครได้ยิน เพราะเขามองเราเป็นส่วนน้อย ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่น้อย คนพิการเองก็ต้องรักษาสิทธิตัวเองด้วย

ความเห็นเราคือรัฐสวัสดิการต้องมาเป็นอันดับหนึ่งจริง แต่พอมันไม่มีคนพิการก็ต้องพึ่งตัวเองก่อน พยายามหารายได้เสริมที่พอเลี้ยงชีพตัวเองได้หรืออย่างน้อยก็แบ่งเบาภาระครอบครัวและรัฐควรต้องผลักดันให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะหากจะไม่มีสวัสดิการอื่นก็ควรทำให้อาชีพสร้างได้แก่คนพิการ

การไปเที่ยวทำให้คนอื่นเปลี่ยนทัศนคติหรือเห็นความสำคัญของคนพิการมากขึ้นหรือไม่

เราเคยแซวพี่ที่รู้จักกันซึ่งเป็นเจ้าของรีสอร์ทที่สวนผึ้งตอนที่เขาเริ่มทำลานตั้งแคมป์ว่า หญิงจะเข้าห้องน้ำได้ไหมนะ มารู้ทีหลังว่า เขาทำห้องน้ำคนพิการให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก 

คนทั่วไปหรือแม้แต่คนพิการก็แปลกใจกันว่ามาเที่ยวแบบนี้ได้ด้วยเหรอ การทำสื่อทำให้คนเห็นว่าแบบนี้ก็ไปได้ คุณแค่ต้องก้าวเท้าออกมาจากบ้านแล้วก็มีคนคอยอยู่ข้างๆ แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือมากกว่าคนทั่วไป แต่การออกไปจะทำให้คนปรับทัศนคติใหม่ว่าคนพิการไม่ได้จำเป็นต้องติดเตียงอยู่บ้าน คนพิการก็คือคน มีความสามารถเหมือนกัน คนพิการอ่ะเข้มแข็งนะ เรื่องใหญ่ที่สุดอย่างความพิการก็ผ่านมาได้แล้ว ก็เหมือนมีภูมิคุ้มกันที่ดี อะไรที่เล็กน้อยทำอะไรเราไม่ได้แล้วล่ะ

จะทำอย่างไรให้คนพิการออกไปเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น 

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเราอยากให้รัฐบาลหรือว่าหน่วยงานไหนก็แล้วแต่มองเห็นว่าคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ควรมีสิทธิที่จะได้ใช้สาธารณูปโภค มีสิทธิที่จะเข้าถึงสถานที่ต่างๆ  โดยไม่เป็นข้อจำกัด การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิ่งสนับสนุนต่างๆ ทำให้คนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ และคนพิการก็จะสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนทั่วไป แต่ปัจจุบันสถานที่บางแห่งทำให้เราพิการในสายตาคนอื่นและเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถทำอะไรเองได้เลย

ถ้ามีคนพิการที่ยังไม่กล้าออกจากบ้าน 3 สถานที่ไหนที่แนะนำให้ลองไป

อันดับแรกหน้าบ้าน ให้เริ่มต้นจากออกจากบ้านไปสูดอากาศก่อน ไปคุยกับชาวบ้าน นั่งหน้าบ้านดูลมชมวิวไป เราคิดว่าต้องลองลุกจากเตียงก่อนและเริ่มจากออกจากบ้านเพราะบางคนอาจจะกลัวสายตาชาวบ้าน แต่เราก็ควรปล่อยเขา หันกลับมาโฟกัสที่ตัวเอง

อันดับที่สอง แนะนำให้ไปที่ห้าง ถ้านั่งวีลแชร์ห้างเป็นอะไรที่ซัพพอร์ต เรื่องห้องน้ำ เรื่องทางลาดที่สุดแล้ว นับว่าเป็นขั้นเบสิคในการออกไปข้างนอก เข็นรถเองก็ง่าย แทบจะไม่ต้องให้คนอื่นช่วยเลย 

ที่สุดท้ายคือไปกางเต๊นท์ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่นี่มีห้องน้ำวีลแชร์ที่ใช้ได้จริง มีห้องแยกเปียก แยกแห้ง ไม่ต้องเอาเก้าอี้อาบน้ำไปก็มีที่ให้นั่ง ถ้าเป็นคนพิการที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็เข้าห้องน้ำเองได้โดยเอาวีลแชร์เข้าไป ไม่ต้องเอาวีลแชร์ไว้ข้างนอกแล้วเรียกคนอื่นให้มาช่วย

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่านไหม

ประชาชนคนไทยผู้ที่เสียภาษีให้รัฐควรได้รับสาธารณูปโภคและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสิทธิมากกว่าคนอื่น คนพิการจะมีอิสระได้ก็ต่อเมื่อสถานที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต  ถ้าวันหนึ่งคนที่คุณรักต้องใช้วีลแชร์ คุณรับได้ไหมกับสภาพที่เป็นอยู่ มองเห็นคนที่รักไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ไม่สามารถไปไหนมาไหน อยากออกจากบ้านแล้วรถประจำทางก็ไม่รู้จะมาตอนไหน มาหรือเปล่า แล้วจะขึ้นยังไงถ้าเป็นรถสองแถว ฉะนั้นถ้าสิทธิขั้นพื้นฐานคนพิการยังไม่มี คนพิการจะดูแลตัวเอง มีงาน หาเงินเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร บางคนมาช่วยเหลือคนพิการแล้วถ่ายรูปลงโซเชียล สุดท้ายก็ปล่อยให้คนพิการเคว้งคว้างลอยกลางอากาศโดยไม่มีความยั่งยืน ทั้งที่การช่วยเหลือเป็นครั้งคราวไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายระยะยาวอย่างอุปกรณ์ต่างๆ นั้นหมดไป ทำให้คนพิการหลายคนไม่มีโอกาสได้ไปทำอย่างอื่นในชีวิต ฉะนั้นถ้าคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นอยู่ คนพิการก็คงได้ออกไปเที่ยวกันทุกคน