Skip to main content

คนพิการที่มีแขนหนึ่งข้าง คนที่เกิดอุบัติเหตุจนแขนต้องใส่เฝือกชั่วคราว แม่ที่ต้องอุ้มลูกด้วยแขนข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา แม้ทั้งสามคนนี้มีหลายอย่างที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกัน ณ ขณะนี้ ก็คือ พวกเขาทั้งหมดกำลังใช้ชีวิตด้วยแขนเพียงข้างเดียว

แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้การใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นไปอย่างสะดวก เพราะสิ่งของต่างๆ รอบตัวไม่ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานอย่างแท้จริง แถมยังเป็นเรื่องปกติที่ผู้ออกแบบส่วนใหญ่มักออกแบบสินค้า เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสถาปัตยกรรมต่างๆ ตามความรู้ ความคิด ประสบการณ์และความต้องการของตนเองเป็นหลัก แต่การทำเช่นนี้ กลับเป็นการผลักผู้คนมากมายจากการใช้งานของเหล่านั้นไป ทำให้พวกเขาไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึง และโดนกีดกันจากการจะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม

จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไมโครซอฟท์จึงได้ปล่อยคู่มือที่ชื่อว่า Inclusive 101 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการออกแบบเพื่อทุกคนหรือ Inclusive Design ให้มากขึ้น

การออกแบบเพื่อทุกคนคืออะไร

การออกแบบเพื่อทุกคน คือการออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานที่แตกต่างและหลากหลายเป็นแกนหลัก ผ่านการมองดูว่าในสถานการณ์หนึ่ง มีใครบ้างที่โดนผลักออกจากการใช้สิ่งของหรือสิ่งอำนวยความสะดวกและหาวิธีในการออกแบบที่ทำให้คนที่ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพร่างกายแบบใด สภาพจิตใจเป็นอย่างไรหรืออยู่ในสถานการณ์ไหน ก็สามารถที่จะใช้หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างสะดวก กล่าวคือ การออกแบบเพื่อทุกคนไม่ใช่การออกแบบของหนึ่งสิ่งเพื่อให้ทุกคนใช้เหมือน ๆ กัน แต่เป็นการออกแบบของหนึ่งสิ่งเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงด้วยวิธีการที่หลากหลายและได้รับความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง โดยไม่ถูกผลักออกไปจากสังคม

Inclusive Design มีประโยชน์อย่างไรกับคน ‘ปกติ’

หลักสำคัญหนึ่งข้อที่ต้องมีสำหรับการออกแบบเพื่อทุกคน คือการกำจัดกรอบความคิดของความ ‘ปกติ’ ที่ฝังอยู่ในหัวทิ้งไปเสียก่อน เมื่อกำจัดออกไปแล้วก็มองทุกอย่างให้กว้าง กว้างมากพอที่จะรับรู้ว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย และเราทุกคนต่างมีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพร่างกาย จิตใจ หรือสถานการณ์ใดๆ ที่ทำให้ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสได้อย่างสะดวก เช่น อาจมีวันที่เราอยู่บนรถเมล์แล้วไม่ได้เอาหูฟังมาแต่อยากรับชมรายการโปรด การอ่านปากทำให้เราไม่เข้าใจว่าแต่ละคนในรายการพูดว่าอะไร แต่การมีคำบรรยายใต้ภาพทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดสื่อได้ คำบรรยายใต้ภาพนี้ยังทำให้คนหูหนวกและหูตึงสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน และนั่นก็เป็นจุดมุ่งหมายหลักของการออกแบบเพื่อทุกคน

เริ่มต้นการออกแบบเพื่อทุกคน

การออกแบบเพื่อทุกคนเป็นแนวคิดและวิธีคิดที่จะทำให้การออกแบบสิ่งของ สถานที่หรือบริการใดๆ มีประโยชน์กับคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การมุ่งไปสู่การออกแบบเพื่อทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามส่วน ได้แก่

1.     Recognize Exclusion การรับรู้ถึงการกีดกัน 

การกีดกันจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ออกแบบแก้ปัญหาโดยยึดเอาความต้องการของตนเองเป็นหลักแล้วผลักคนหลายคนออกไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญคือการรับรู้ว่าการกีดกันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่บุคคลนั้นเผชิญอยู่ ไม่ใช่แค่เรื่องความบกพร่องทางสภาพร่างกายหรือจิตใจ

การรับรู้ถึงการกีดกัน คือการยอมรับว่าโลกของเราเป็นโลกแห่งการปฏิสัมพันธ์ ถ้าบุคคลสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ได้เป็นอย่างดี คนๆ นั้นก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและมีความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้นการมองว่าคนพิการเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายจึงทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกจึงเป็นเรื่องที่เก่าและขาดการมองอย่างเข้าอกเข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วการที่คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกเป็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ต่างหาก จึงทำให้การใช้ชีวิตของคนพิการยากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ออกแบบจึงควรคำนึงถึงการฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ หาว่าอะไรในสถานการณ์ไหนบ้างเป็นสิ่งที่ทำให้คนบางคนถูกกีดกันจากการใช้งานสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่าง และหาวิธีที่จะทำให้คนจำนวนมากที่สุดสามารถอยู่ในสังคมและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมได้โดยปกติ

2.     Learn from diversity การเรียนรู้จากความแตกต่าง

ผู้ออกแบบควรรับรู้ว่ามนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย การเปิดกว้างต่อสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอคือสิ่งที่จำเป็นกับการออกแบบเพื่อทุกคน การจะเข้าใจถึงความต้องการอันลึกซึ้งของผู้ใช้งาน ผู้ออกแบบควรต้องเข้าใจความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์เสียก่อน

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในด้านการปรับตัวอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนหรือเจอความลำบากอะไร มนุษย์ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หรือสิ่งที่มีอยู่ได้ในที่สุด แต่สิ่งที่ผู้ออกแบบควรระลึกถึงไม่ใช่การมองว่าผู้ใช้งานสามารถปรับตัวเพื่อใช้ของสิ่งหนึ่งได้อย่างไร แต่เป็นชุดประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานได้รับ ความรู้สึก ความลำบากที่ต้องเจอและความสุขที่ได้รับ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบควรต้องรับรู้และทำความเข้าใจและควรออกแบบสิ่งที่สามารถปรับให้ทุกคนใช้งานได้ ไม่ใช่บีบบังคับให้ผู้ใช้ต้องปรับตัวตามสภาพของสิ่งที่มีอยู่

3.     Solve for one, extend to many แก้หนึ่งปัญหา เพื่อคนมากมาย

องค์ประกอบนี้เหมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว จริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนมีจุดร่วมมากมายในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ พวกเราทุกคนต่างมีความสามารถและขีดจำกัดของความสามารถ หลายคนต้องเจอกับการกีดกันจากการเข้าถึงสิ่งของหรือบริการอะไรบางอย่าง ฉะนั้นการแก้ปัญหาอาจสามารถตอบโจทย์สำหรับผู้ใช้งานที่หลากหลายได้ เช่น เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับผู้ใช้งานที่พิการทางสายตาในขณะเดียวกันก็ยังมีประโยชน์อย่างมากกับผู้ใช้งานที่กำลังขับรถยนต์และใช้สายตามองไปยังถนน 

หลายคนอาจมองว่าการออกแบบโดยคำนึงถึงคนพิการนั้นเป็นข้อจำกัด แต่ความเป็นจริงแล้วมันกลับสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก เช่น การมีคำบรรยายใต้ภาพอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อกลุ่มคนที่มีความลำบากในการได้ยิน แต่มันกลับสร้างประโยชน์ให้กับคนที่อยู่ในสถานที่เสียงดังหรือช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้การอ่านได้อีกด้วย เช่นเดียวกับการออกแบบรีโมทคอนโทรล ประตูเลื่อนอัตโนมัติ หนังสือเสียง อีเมล และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย ฉะนั้นการออกแบบที่ดีก็คือการออกแบบโดยคำนึงถึงข้อจำกัดนั่นเอง  

เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจนขึ้น คู่มือได้แบ่งผู้ใช้งานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

(1)   ถาวร คือผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือจิตใจใดๆ โดยถาวร

(2)   ชั่วคราว คือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถใช้ร่างกายบางส่วนได้ชั่วคราว

(3)   ตามสถานการณ์ คือผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

แผนภาพ Persona Spectrum นี้ ช่วยทำให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างผู้ที่มีความพิการถาวร ผู้ที่มีความพิการชั่วคราวและผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสได้อย่างสะดวกและยังแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง จะสามารถช่วยขยายจำนวนคนที่ได้รับประโยชน์จากการแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร

ภาพแสดงความพิการถาวร ชั่วคราวและตามสถานการณ์

การออกแบบเพื่อทุกคนเป็นสิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานในสังคม เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีสภาพร่างกายอย่างไรก็มีสิทธิที่จะเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นได้โดยเท่าเทียม

เป็นเวลานานแล้วที่ความพิการถูกทำให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นความบกพร่องทางสภาพร่างกายหรือจิตใจ ที่ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมใดๆ ได้โดยสะดวก แต่หากมีสภาพแวดล้อมที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกคน ความลำบากในการใช้ชีวิตเนื่องจากความบกพร่องก็จะลดลงไป หรืออาจไม่มีเลย

ฉะนั้นการออกแบบเพื่อทุกคนจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปและหากทำได้ก็จะมีประโยชน์ต่อผู้คนมากมายไม่ใช่เพียงแค่คนพิการ

 

อ้างอิง

https://www.microsoft.com/design/inclusive/
https://www.toptal.com/designers/ux/inclusive-design

https://www.toptal.com/designers/ui/inclusive-design-infographic
http://www.inclusivedesigntoolkit.com/