Skip to main content

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 องค์การสหประชาชาติ (United  Nations) ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันคนพิการสากล" (International day of persons with disability) เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้รับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (WPA-World Programme of Action concerning Disabled Persons)

วันคนพิการสากลนอกจากจะเป็นวันสร้างความเข้าใจต่อคนพิการและสนับสนุนให้คนพิการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีแล้ว วันนี้ยังเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตื่นตัวของสังคมที่มีต่อคนพิการและระลึกถึงความเท่าเทียมทางโอกาสผ่านการมีกฎหมายคนพิการผ่านการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากล

ในปี 2021 นี้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ออกสารเนื่องในวันคนพิการสากลใจความว่า การตระหนักถึงสิทธิ การเป็นตัวแทนและความเป็นผู้นำของคนพิการจะสร้างอนาคตที่เดินไปร่วมกัน ซึ่งการทำให้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยทุกคนรวมทั้งคนพิการ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่องค์กรคนพิการทั่วโลกต่างเชื่อในสิ่งเดียวกันที่ว่า ‘Nothing about us, without us’ หรือ ‘ทุกเรื่องเกี่ยวกับเรา ต้องมีเรา’ ช่วงที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้เห็นอุปสรรคและความไม่เท่าเทียมที่คนพิการกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดใหญ่ การรับมือและการเยียวยาสถานการณ์ดังกล่าวจึงควรเข้าถึงได้โดยทุกคนโดยปราศจากความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ต้องขยายโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีและความเข้มแข็งขององค์กรเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม การเข้าถึงและความยั่งยืนหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดจบสิ้นลง ในโอกาสนี้ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและขจัดอุปสรรคทางกฏหมายสังคม เศรษฐกิจ และอุปสรรคอื่นใด บนฐานของการมีส่วนร่วมของคนพิการและองค์กรผู้แทนคนพิการ โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการทั่วโลกก่อให้เกิดแนวคิดต่างๆ ที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของงานด้านคนพิการ ย้อนกลับไปในปี 1970 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เวลานั้นเนื่องจากยังไม่มีกฏหมายคุ้มครองคนพิการ คนพิการจึงถูกเลือกปฏิบัติ เข้าไม่ถึงและไม่สามารถมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างกว้างขวางผ่านอุปสรรค 4 ด้าน ได้แก่ อุปสรรคทางกายภาพ, อุปสรรคทางข้อมูลข่าวสาร, อุปสรรคทางกฎหมายและการบังคับใช้ และอุปสรรคทางความเชื่อและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดีคนพิการเองไม่ได้ยอมจำนน พยายามรวมตัวต่อสู้เรียกร้อง กดดัน ปิดถนน ยึดสถานที่รัฐเพื่อให้เกิดกฎหมายยุติการเลือกปฏิบัติและได้เกิดกฏหมายฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งใช้หลักคิดทางการแพทย์มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิทธิ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของคนพิการ คนพิการจึงชุมนุมใหญ่อีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านกฎหมาย 504 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สร้างความเท่าเทียมให้คนพิการอเมริกันและเป็นต้นแบบของการพัฒนาเป็นกฎหมายคนพิการอเมริกัน (ADA – American with Disabilities Acts) ที่ใช้จนกระทั่งปัจจุบัน

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งกระแสเคลื่อนไหวสำคัญในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ก็คือการเกิดขึ้นของแนวคิด ‘การดำรงชีวิตอิสระ’ หรือ ‘IL-Independent Living’ ที่มีเอ็ด โรเบิร์ต นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน นักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบิร์กเล่ย์ สหรัฐอเมริกา สาขาวิชารัฐศาสตร์ เป็นคนริเริ่ม เขาพิการด้วยโปลิโอและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของคนพิการหลังจากที่ถูกปฏิเสธการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพราะมีความพิการมากเกินไป เหตุการณ์นี้ทำให้เพื่อนนักศึกษารวมตัวเรียกร้องให้จัดตั้งองค์กรบริการผู้ช่วยคนพิการและเกิดศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ (CIL : Center for independent living) ที่จะช่วยให้คนพิการมีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ต้องถูกครอบงำภายใต้อำนาจที่เหนือกว่าอย่างครอบครัว และเป็นกลไกที่ทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเพราะเชื่อว่าพลังแห่งการตัดสินใจจะทำให้คนพิการสามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้

จากการเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เบิร์กเล่ย์กลายเป็นเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด แนวทางการดำรงชีวิตอิสระได้ขับเคลื่อนไปทั่วโลกทั้งในแคนาดา อังกฤษ สวีเดน ญี่ปุ่น รวมทั้งในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนพิการดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ เท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์

ในระดับสากล แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระถูกกำกับและรับรองอยู่ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ชื่อ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD-Convention on the Rights of Persons with Disabilities) ที่เกิดขึ้นในปี 2549 และไทยลงสัตยาบันแล้วเมื่อปี 2551 หากดูตาม CRPD จะพบว่า ในบทที่ 14 ได้เน้นย้ำถึงเรื่องเสรีภาพและความปลอดภัยว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนพิการนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เช่นเดียวกับในบทที่ 19 ที่นอกจากจะระบุสิทธิของปัจเจกแล้วยังย้ำว่า รัฐยังต้องสนับสนุนให้คนพิการอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนตามความหมายของการดำรงชีวิตอิสระ การเน้นย้ำเช่นนี้นับเป็นการย้ำเตือนว่า คนพิการเป็นเจ้าของชีวิต เป็นคนที่มีอนาคต สามารถตัดสินใจ สามารถอยู่กับคนอื่นหรือชุมชนได้โดยรับการช่วยเหลือจากผู้ช่วยคนพิการในสิ่งที่ทำไม่ได้

อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระและระบบผู้ช่วยคนพิการในไทยก็ยังไม่เข้มแข็งนัก ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับได้สอดแทรกแนวคิดดังกล่าวไว้ผ่านการระบุเจตนารมณ์ให้คนพิการ ‘พึ่งพาตัวเองได้’ แต่ก็ยังไม่ละการสงเคราะห์และมีแนวทางปฏิบัติอย่างสวนทางดังที่ศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศระบุว่า จำนวนของผู้ช่วยคนพิการไม่สอดคล้องกับผู้รับบริการที่มีมากกกว่าแสนคน ปัจจุบันผู้ช่วยได้ค่าแรงต่ำและมีนโยบายที่ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ไม่กระจายอำนาจและมีเงื่อนไขการอบรมผู้ช่วยที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับที่ธีรยุทธ สุคนธวิท ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการนนทบุรี ระบุไว้สอดคล้องกันว่า การจัดการผู้ช่วยคนพิการยังไร้ประสิทธิภาพ ทั้งการให้หาลูกค้าคนพิการใกล้บ้านแล้วทำใบสัญญาเองโดยไม่สนใจว่าเป็นคนพิการรุนแรง ผู้ช่วยจึงเลือกเคสที่ไม่ต้องทำอะไรเยอะ แค่วัดความดัน อ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง บีบนวด ซื้อขนม นั่งคุยเล่น ฯลฯ โดยไม่ตอบเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งผู้ช่วยหลายคนมักบอกคนพิการว่าทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่มีค่าตอบแทน คนพิการจึงไม่กล้าใช้งาน ไม่กล้าให้ช่วยเหลือ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้งานด้านคนพิการของนานาประเทศจะมีแนวทางปฏิบัติตามที่ได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ แต่นิยามและการพิจารณาความพิการก็มีความต่างกัน บ้างก็มองคนพิการเป็นผู้ที่เผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมในสังคม เช่นใน CRPD มองว่าคนพิการคือคนที่มีความบกพร่องด้านกายภาพ จิต สติปัญญาและประสาทสัมผัสเป็นระยะเวลานาน ที่ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม หรือใน ADA ที่นิยามความพิการสอดคล้องกันว่า ความพิการคือความบกพร่องทางกายภาพหรือทางจิตซึ่งจำกัดกิจกรรมหลักในชีวิต รวมถึงคนที่เคยมีความบกพร่อง คนที่อาจจะเกิดความพิการและยังได้กำหนดว่าจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการด้วย

แตกต่างจากที่พระราชบัญญัติส่งสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่มองว่า ความพิการเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ ผ่านการนิยามว่าคนพิการคือบุคคลที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวการสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใดเพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด เป็นต้น นั่นทำให้การกำหนดสิทธิ สวัสดิการและการคุ้มครอง ปกป้องที่เกี่ยวข้องกับคนพิการถูกจัดทำขึ้นแตกต่างกันตามทัศนะของนิยาม

ในไทย การเคลื่อนไหวที่สำคัญในเรื่องการพิทักษ์สิทธิคนพิการเกิดขึ้นเมื่อพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการปี 2534 ได้ถือกำเนิด ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี 2550 และแก้ไข 2556 ทำให้ไทยมีภาระผูกพันธ์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐานและความเสมอภาค

แต่อย่างไรก็ดี แม้ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นกฏหมายคนพิการที่ก้าวหน้าและครอบคลุมในเรื่องสิทธิคนพิการแต่ก็ยังมีข้อกังขาถึงเรื่องการบังคับใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพและการกำหนดนโยบายเชิงสงเคราะห์ อีกทั้งยังมีข้อกังวลว่ากฏหมายสูงสุดของประเทศอย่างกฏหมายรัฐธรรมนูญก็อาจไม่ครอบคลุมถึงสิทธิของคนพิการ เช่น การสนับสนุนทางการศึกษาและสิทธิในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมอันเป็นสาธารณะที่ได้หายไปในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ทำให้คนพิการยังเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติ การเดินทาง การประกอบอาชีพ การศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการด้านต่างๆ และไม่สามารถมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า การต่อสู้เรื่องสิทธิคนพิการในไทยจะดำเนินไปอย่างไรจึงจะทำให้คนพิการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีส่วนร่วม เข้าถึงและไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังดังเช่นที่เคยเป็น

 

อ้างอิง

MESSAGE ON INTERNATIONAL DAY OF PERSONS WITH DISABILITIES
https://www.un.org/development/desa/disabilities/wp-content/uploads/sites/15/2021/11/SG-Message-Disability-FINAL.pdf

คนพิการรุนแรง ผู้ช่วยและการตัดสินใจเลือกชีวิตด้วยตัวเอง
https://thisable.me/content/2019/07/539

“PA” ผู้ช่วยคนพิการ งานหลักคือให้คนพิการได้ “ตัดสินใจ”
https://thisable.me/content/2017/08/261

ประมวลม็อบคนพิการ 10 ธันวา ชี้รัฐต้องสนับสนุนอาชีพ-รัฐสวัสดิการ-แก้รัฐธรรมนูญ
https://thisable.me/content/2020/12/675

3 ธันวาคมวันคนพิการสากล และสิทธิที่ยังเข้าไม่ถึงของคนพิการไทย
https://www.posttoday.com/politic/columnist/639427