Skip to main content

ในช่วงปีที่ผ่านมา การชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เป็นเปรียบเสมือนหมุดหมายหนึ่งที่ขยับเพดานผ่านข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ และหนึ่งในการชุมนุมที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด คือการชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย การชุมนุมนี้ทำให้เรารู้จักแกนนำคนรุ่นใหม่หลายคนและพาเราเข้าไปรู้จักกับข้อเรียกร้องและชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น

แสงสปอตไลท์สีแดงสาดลงบนเวทีกิจกรรมในเวลาหัวค่ำ นอกจากรุ้ง-ปณัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำที่ขึ้นอ่านแถลงการณ์แล้ว ก็ยังมีนักศึกษาชายอีกคนหนึ่งที่ถูกพูดถึง เขาคือณัฐชนน ไพโรจน์ หนึ่งในแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ขึ้นพูดบนเวทีวันนั้น 

แม้มองภายนอกหลายคนจะไม่ได้รับรู้ถึงความพิการ แต่ณัฐชนนเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยที่มีความพิการ กระทั่งวันหนึ่งเขาเล่าให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนฟังถึงช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำและอุปสรรคในการใช้ชีวิตที่เขาเจอ ทั้งการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการหรือ ความไม่เข้าใจที่มองว่า ขาเทียมข้างกายของเขาเป็นอาวุธทำให้คืนแรกในเรือนจำต้องอยู่โดยไม่มีขาเทียม 

ชวนคุยกับณัฐชนนผ่านหลายเรื่องราวที่เขาต้องเผชิญในฐานะคนพิการ ที่บอกกับเราว่า แม้จะเป็นคนพิการก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกความพิการลงโทษเนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกช่วงจังหวะเวลาเล็กๆที่เราได้คุยกับเขาอาจทำให้ใครหลายคนได้เห็นผลกระทบหลังเกิดความพิการ ที่มาและจุดเริ่มต้นของการออกมาต่อสู้ทางการเมืองผ่านมุมมองของคนพิการว่า หากการเมืองดีชีวิตคนพิการจะเป็นอย่างไร

ความพิการเกิดขึ้นได้อย่างไร

ณัฐชนน : เราพิการปลายเดือนสิงหาคมปี 2558 ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.4 วันนั้นไปเรียน รด. กับไหว้ครูตอนเช้า ระหว่างทางกลับบ้านถูกรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างเฉี่ยว เกี่ยวตกลงมาจากรถมอเตอร์ไซค์ที่เราซ้อนอยู่ รองเท้า รด.ที่หนักและแข็งมากบิดกระดูกขาไปอีกทา ทำให้ขาหัก เส้นเลือดขาดหมด พอไปถึงโรงพยาบาลก็ต้องรอหลายชั่วโมงกว่าจะได้ผ่าตัด เพราะเขาไม่มั่นใจว่าเรากินอะไรไปตอนไหน กระทั่งประมาณสามทุ่ม ขาของเราเริ่มเย็นแล้ว เย็นเหมือนศพเลย รอจนตี 1 ถึงได้ผ่าตัดและหมอถึงรู้ว่าเราเส้นเลือดขาด จึงส่งตัวไปต่อเส้นเลือดที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ แต่ก็ต่อไม่สำเร็จ จึงต้องทำการตัดขา เพื่อรักษาชีวิต

พอต้องกลายเป็นคนพิการปรับตัวอย่างไร

ตอนแรกเรากังวลเพราะในใจก็คิดไปสอบนักเรียนทหาร แต่พอต้องถูกตัดขาก็ทำให้วิธีคิดเปลี่ยน ความฝันเราก็เปลี่ยน ตอนนั้นความฝันของตัวเองไม่ใหญ่เท่ากับความกังวลที่มีต่อสังคม เพราะความพิการที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต และกลัวว่าทุกคนจะมองเราด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไป เพื่อนจะยังคบกันเหมือนเดิมไหมหรือ เขาจะคิดกับเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้เรากังวลมาก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เช่น ต้องย้ายโรงเรียนไหม จะเรียนได้เหรอ จะเดินไหวไหม ฯลฯ แต่สุดท้ายก็พบว่า เราสามารถผ่านมันมาได้ด้วยดี เพื่อนก็ยังซัพพอร์ตเราเหมือนเดิมและยังได้เรียนที่เดิม

ช่วงที่ยังอยู่ในห้อง ICU ตอนนั้นกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นตัวประหลาดและเป็นภาระของเพื่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพิการแล้วจะต้องทำอย่างไรหรือปรับตัวแบบไหน ยิ่งติดต่อใครไม่ได้ก็ยิ่งกังวล แต่พอหลังจากออกไปก็พบว่าเพื่อนเป็นห่วงมาก อยากมาหา ทุกคนอยากให้เราสู้ต่อ นั่นเป็นแรงผลักดันที่ ทำให้เราพยายามกลับมาใช้ชีวิต ตอนกลับไปเรียนเช้าๆ เพื่อนก็จะมาหา ถามว่าเราต้องการอะไรไหม ถ้าเดินขึ้นตึกเรียนสูงๆ ไม่ไหวเพื่อนก็ช่วยกันแบกขึ้นไป 

การเป็นคนพิการในสังคมไทยลำบากไหม

ผมต้องตัดขาด้านขวาตั้งแต่หัวเข่าลงไปแล้วใส่ขาเทียม การมืขาหนึ่งข้างยังเพียงพอสำหรับการเดินด้วยตัวเอง บางคนก็ไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่าผมเป็นคนพิการ เพราะไม่เห็นขาเทียมหากใส่กางเกงขายาวจึงมักถามว่า เป็นอะไรเดินขากระเพลก หรือทำไมเป็นตั้งนานแล้วไม่หายสักที เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนคนพิการหลายคนในมหาวิทยาลัย เรายังใช้ชีวิตค่อนข้างสะดวกกว่า ยิ่งหากเพื่อนใช้วีลแชร์ก็ต้องเจอสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวย หรือเพื่อนตาบอดที่เจอแต่สิ่งกีดขวางบนทางเท้า มากไปกว่านั้นยังต้องมาเจอสังคมที่ไม่เข้าใจอีก

จากเหตุผลเหล่านี้ก็บอกเลยว่าคนพิการใช้ชีวิตลำบากมาก ในสังคมไม่มีอะไรเหมาะสำหรับเราเลย ตอนเรียนเพื่อนก็ต้องแบกขึ้นไปเรียนทั้งที่ในความเป็นจริงควรมีสิ่งอำนวยความสะดวก การที่นักเรียนคนหนึ่งมีความพิการ แล้วพบว่าโรงเรียนไม่อำนวยความสะดวกเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้นและโรงเรียนหลายที่ก็เป็นแบบนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไม่ได้ต้อนรับเด็กพิการให้เข้าไปเรียนในโรงเรียน เหมือนกับที่หลังจากเราพิการ แล้วกลับไปโรงเรียนก็เจอความท้าทายเต็มไปหมด

หลังเรียนจบเราก็ยังพบอุปสรรคอยู่ดี ทั้งเรื่องขนส่งสาธารณะ ทางเท้า ที่ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการเลย รัฐให้เบี้ยความพิการเพียง 800 บาท แล้วก็มองว่าเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตของคนพิการคนหนึ่ง ทั้งที่คนพิการหลายคนไม่สามารถทำงานได้ หรือข่าวที่เราเห็นอยู่เสมออย่างการออกมาเรียกร้องว่า รถไฟฟ้าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เคยเป็นมิตร เมื่อสร้างไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นอุปสรรคสำหรับคนพิการไปแทน คนพิการในรัฐไทยก็จะลำบากแบบนี้

อะไรที่ทำให้รัฐมองข้ามความพิการ

ปัจจุบันคนพิการถูกกีดกันออกจากสังคมแทนที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ในพื้นที่สาธารณะเราก็ไม่ค่อยเห็นคนพิการออกไปใช้ชีวิต แต่กลับถูกจัดให้อยู่เป็นกลุ่ม เป็นก้อน ในโรงเรียนเฉพาะความพิการและมีสังคมแบบคนพิการ คนไม่พิการก็ไม่เห็นว่าคนพิการก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม ไม่เรียนรู้ว่าจะต้องช่วยเหลืออย่างไร หรือคนพิการมีความต้องการแบบไหน ทั้งที่จำนวนคนพิการก็มีมาก แล้วคนพิการหายไปไหน เช่น ในมหาวิทยาลัยเราไม่เคยเห็นคนหูหนวกเลย พอได้มีมีโอกาสคุยกับคนหูหนวก เขาก็เล่าให้ฟังว่า พอไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก คนหูหนวกจะเรียนได้อย่างไรเมื่อไม่ได้ยิน การอ่านไวยากรณ์ก็ไม่เหมือนภาษาไทย โดยเฉพาะคาบบรรยายที่ใช้เสียงเป็นหลักแล้วคนหูหนวกจะรู้เรื่องได้อย่างไร พอคนหูหนวกเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา โอกาสในชีวิตของพวกเขาก็น้อยลง หลายคนใช้ชีวิตกันปีต่อปีโดย ไม่มีเป้าหมายระยะไกล ไม่สนใจใครและสังคมก็ไม่สนใจเขา

ความพิการมีส่วนในการที่ทำให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไหม

ตอนแรกไม่ ไม่ได้คิดว่าความพิการเกี่ยวข้องอะไรกับการเมือง แต่พอนั่งคิดดูดีๆ เราก็ต่างเรียกร้องความเท่าเทียมความเจริญที่กระจายออกมากกว่าอยู่ในเมือง อำนาจที่ไม่ได้อยู่ในคนใดคนหนึ่ง หรือเรียกร้องให้ทุกคนเข้าถึงอำนาจทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ กฎหมายที่เท่ากัน 

หากย้อนคิดจะพบว่า ขาที่ขาด เพราะประสบอุบัติเหตุที่ต่างจังหวัด แต่รักษาไม่ได้จนต้องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้หมอต่อเส้นเลือดที่ขา ทั้ังที่จริงๆ เราแค่ขาหักแต่โรงพยาบาลต่างจังหวัดไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะสามารถต่อเส้นเลือดได้ จนเกิดความพิการ สิ่งเหล่านี้เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม เห็นได้ชัดว่าความเจริญทางการแพทย์ไม่ได้เข้าถึงทุกคน จริงๆ สาเหตุของความพิการก็เกิดจากความไม่เท่าเทียมนี้ 

แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในช่วงรัฐประหารปี 2557 ตอนนั้นเราอยู่ ม.2 และไม่ได้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร แถมยังรู้สึกสนับสนุนด้วยซ้ำ เพราะทหารเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมือง ดูเท่ คิดว่าทหารต้องไม่โกงแน่ๆ แถมความฝันของเราก็คืออยากเป็นทหาร 

ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการตัดสินใจว่าจะเข้าเรียนคณะไหน ก็มองอยู่หลายคณะไม่ว่าจะเป็น นิติศาสตร์ สถาปัตย์หรือบัญชี แต่ก็ยังไม่ใช่จนเห็นเพื่อนอยากเข้ารัฐศาสตร์ เลยลองศึกษาตามจนเข้าใจการเมืองมากขึ้น ทำให้สนใจ มากกว่าสิ่งที่อยู่ในตำราเรียน ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอหรือหนังสือวิเคราะห์การเมืองก็ตามหมด รายการจอมขวัญ เจาะข่าวตื้น รายการชูวิทย์เราก็ดูถึงเข้าใจว่า รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เพราะทำให้ประเทศเข้าสู่วงเวียนของปัญหาในไทยมีการเคลื่อนไหวประท้วงกันอยู่ตลอด เช่น การเคลื่อนไหวของนักศึกษา 14 ตุลาคมขับไล่เผด็จการ โดยมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทในการขับไล่เผด็จการ ในช่วงนั้นก็คือธรรมศาสตร์ นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียนและอยู่ในสังคมที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหาร

หลังเข้าเรียนเราก็ได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางการเมือง ได้ต่อสู้กับเพื่อนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ได้ไปชุมนุม ได้ปราศรัย ได้คุยกับพี่น้องประชาชน ได้ทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยได้ทำ แล้วก็โดนอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยได้โดน เช่น โดนคุกคาม โดนค้นบ้าน โดนติดตาม โดนจับ โดนคดี จนไปถึงติดคุก ที่ล่าสุดก็เพิ่งออกมาไม่นานนี้

ชีวิตในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเคยเข้าเรือนจำมาแล้ว 2 ครั้ง ที่เรือนจำธัญบุรี ครั้งแรกโดนจับวันที่ 15 ตุลาคม  2563 ตอนแรกไม่รู้หรอกว่าข้างในเรือนจำเป็นยังไง เหมือนในหนังไหม เราบอกกับตัวเองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เป็นราคาที่ต้องจ่ายเมื่ออยากจะเปลี่ยนแปลง ยังไงก็ต้องเจอเป็นเรื่องธรรมดา

พอเดินเข้าไปข้างในสิ่งแรกที่เขาบอกก็คือ ขาเทียมของเราเป็นอาวุธ ในคืนแรกเขาพยายามไม่ให้เราเอาขาเทียมเข้าห้องขัง ทำให้เราต้องถอดขาเทียมเอาไว้หน้าห้อง ใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีขาเทียมและไม่มีไม้ค้ำยัน จึงต้องเขย่งหรือคลานไปมาเพื่อเดิน กระทั่งวันถัดมาเขาถึงยอมให้เราใช้ขาเทียม 

ไม่ว่าจะเข้าเรือนจำครั้งไหน สิ่งที่เห็นก็คือไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ตอนอยู่ข้างนอกผมรู้สึกว่าลำบาก แต่ยังพอใช้ชีวิตได้ แต่ข้างในเรือนจำผมลำบากมากเพราะขาข้างเดียวเป็นอุปสรรคกับห้องน้ำที่ทั้งลื่นและไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก

ถ้าขาเทียมโดนน้ำก็อาจเป็นสนิม เราก็ต้องระวังมากๆ พอมาเจอส้วมเรือนจำแบบนั่งยองๆ ยิ่งลำบากมากสำหรับคนที่ใส่ขาเทียมเพราะนั่งยองไม่ได้  แถมให้เรือนจำก็เต็มไปด้วยขั้นบันไดและสัน แนวกั้นเต็มไปหมด ตอนนั้นเราต้องพยายามหาที่จับ เอาหัวเข่าไปค้ำไว้ที่กำแพง  เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า ยิ่งยากเวลาที่ต้องสัมผัสน้ำและถอดขาเทียม เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า ซักผ้า หากพลาดล้มลงไปอาจจะหมายถึงชีวิต ฉะนั้นการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำสำหรับคนพิการเป็นเรื่องที่ต้องระวังมากๆ  

เรามองว่า แม้จะเป็นคุกก็จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ วิธีคิดต่อผู้กระทำผิดควรลงโทษในเรื่องที่ผิด ส่วนสิทธิความเป็นมนุษย์ในด้านอื่นๆ ของเขาไม่จำเป็นต้องลดทอน ความพิการไม่ควรเป็นเครื่องทรมานคนเมื่อเขากระทำผิด

ไม่จำเป็นต้องมองว่าคุณมันเลวชั่วระยำโดนแบบนี้ก็ดีแล้ว ออกมาก็ต้องโดนด่าต่อ แล้วตีตราว่าคนนี้เคยติดคุก การคิดแบบนี้เป็นทัศนคติที่ผิด เพราะเรือนจำควรเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนได้ออกมาใช้ชีวิต ขัดเกลาให้มีวิธีคิดและทัศนคติที่เปลี่ยนไป ทำให้สังคมเข้าใจเขาและทำให้เขาเข้าใจสังคมมากขึ้น บางครั้งความผิดก็ไม่ได้เกิดจากตัวเขาไปเสียทั้งหมด หลายคนถูกกดดันจากคุณภาพชีวิตที่แย่จนกลายเป็นอาชญากร ในการเข้าเรือนจำครั้งที่ 2 ผมพบว่า จากที่มีคดียาเสพติดมากที่สุดกลับเปลี่ยนเป็นคดีลักทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ อย่างกาแฟ ของกินในร้านค้ากันมากขึ้นนี่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แย่ บางคนหิวจนต้องขโมยของกิน แม้แต่คนที่ขายยาหลายคนก็เป็นเพราะว่าไม่มีทางเลือก รู้ว่าทำก็โดนจับ แต่ถ้าได้ออกไปก็ต้องทำเหมือนเดิม เพราะไม่มีงานที่ดีที่ทำให้เขาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

เราคิดว่า เมื่อติดคุกควรมีโอกาสได้เรียนรู้ว่า ออกมาจะใช้ชีวิตอย่างไรและสังคมก็ควรที่จะให้โอกาส ถ้าเขาอยากเรียนหนังสือก็ควรที่จะส่งเสริม  กระทั่งถึงวันที่ได้ออกสู่โลกภายนอกจะเข้าใจและมีทักษะ 

เพื่อนๆ ข้างในเป็นอย่างไรบ้าง

ล่าสุดเรามีกันแปดคน ผมอยู่กับเพนกวิน แซม น้องปูน พี่ฟ้า และพี่ไมค์ คนที่อยู่ในนั้นพยายามที่จะช่วยเหลือเยียวยา ดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะได้ออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เพียงแต่ไม่ได้อยู่ข้างนอก ทุกคนยังกำลังใจดี เข้มแข็งที่จะสู่ต่อ

มองการเคลื่อนไหวหลังจากนี้อย่างไร

สังคมไม่มีทางที่จะย้อนกลับหลังได้ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงและตาสว่างขึ้นทุกวัน เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น หลายอย่างกำลังพังลงอย่างช้าๆ แค่เห็นระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 5 - 6 ชั่วโมง แทนที่จะได้ไปวิ่งเล่นใช้ชีวิตกับเพื่อน ก็รู้แล้วว่าอนาคตของชาติกำลังพังลง ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่นั่นไม่ไหว

หากความเดือดร้อนมันมีอยู่จริง คุณจับแกนนำเข้าไปกี่ร้อยกี่พันคน เรื่องก็ไม่มีทางจบ การออกมาสู้ของประชาชนไม่ได้เป็นลูกเล่นทางการเมือง หรือเป็นความต้องการของคนใดคนหนึ่งที่คุณตัดแล้วจบ เพราะหากยังมีความเดือดร้อนก็จะยังมีคนออกมาต่อสู้และจะมีมากขึ้น นี่คือความเป็นไปของสังคมนี้ที่กำลังพังทลายไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

การออกมาประท้วงมีความสำคัญอย่างไร

เรามีเสียงของตัวเอง ประเทศนี้ก็เป็นของประชาชนเพราะอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การออกมาเรียกร้องต่อสู้เพื่อบอกความต้องการต่อผู้แทนจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำเมื่อเกิดความเดือดร้อนว่าประชาชนต้องการอะไรในฐานะเจ้าของอำนาจ

ปัจจุบันผู้แทนหลายคนไม่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้ หน่วยงานข้าราชการก็ไม่เคยทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชน เห็นได้จากที่พวกเขาไม่สามารถเอาความต้องการของประชาชนมายึดโยงเป็นนโยบายรัฐได้เลย นี่จึงเป็นเรื่องที่ประชาชน ไม่ว่าคุณจะอยู่กลุ่มไหน พิการหรือไม่ ก็ต้องออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องเพราะการเมืองคือเรื่องของทุกคน คือปากท้องไม่ใช่เพียงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำด้วยซ้ำ

เจออุปสรรคอะไรบ้างเวลาไปชุมนุม

พอร่างกายเราไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ลำบากกว่าคนอื่นนิดนึง แต่เราก็อยากจะสู้ไปกับเพื่อน เพื่อนเองก็คอบถามว่าไหวไหม ไปด้วยกัน ความพิการของผมไม่ใช่ข้อจำกัด เพื่อนมองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พร้อมช่วยเหลือถ้าทำไม่ได้ รอเราถ้าเดินไม่ทัน หรือเดินไกลแล้วเหงื่อออกขาเทียมก็เดินยาก   จึงต้องหยุดเดินเป็นพักๆ เพื่อเช็ดขา ซับเหงื่อแล้วค่อยไปต่อ ยิ่งถ้าฝนตกเรายอมแพ้เลย แต่พออยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ มันทำให้เรามองข้ามความลำบากที่เจออะไรช่วยได้ก็ต้องช่วยกัน ยิ่งจำเป็นยิ่งต้องไป

ถ้าการเมืองดี คนพิการในประเทศนี้จะเป็นยังไง

ถ้าการเมืองดีเราทุกคนจะมีพื้นที่ให้พูด เสียงของทุกคนจะเท่ากันเสียงของคนพิการจะมีคนฟังเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ปัญหาคนพิการเป็นหนึ่งในปัญหาเยอะแยะที่เกิดขึ้น ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การทำแท้งถูกกฎหมาย ฯลฯ  ยิ่งปัญหามีมาก ปัญหาคนพิการก็อาจถูกให้ความสำคัญน้อยลง ฉะนั้นถ้าการเมืองดี ปัญหาทางการเมืองถูกแก้อย่างเป็นระบบ มีเสรีภาพและเท่าเทียม คุณภาพชีวิตของคนพิการจะดีขึ้นแน่นอน 

เรามองว่า การต่อสู้ไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอและไม่เคยชนะได้ด้วยการก้มกราบ สิทธิและเสรีภาพของเรา เราต้องเป็นคนต่อสู้เพื่อให้ได้มาและเราต้องการเสียงของทุกคน 

การเมืองไม่ใช่เรื่องของแกนนำหรือว่าม็อบ แต่คือเรื่องของทุกคน การต่อสู้เรียกร้องจึงสำคัญและผมขอเรียกร้องให้ เพื่อนๆ ที่เห็นว่า บ้านเมืองของเรากำลังมีปัญหา คุณภาพชีวิตของเราห่วยแตก ร่วมออกมาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ และช่วยกันเขียนประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ด้วยกัน