Skip to main content

หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเพลงก็คือการถูก “ได้ยิน” จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไหร่ที่เพลงส่วนมากถูกผลิตเพื่อตอบสนองประสาทสัมผัสด้านการฟัง เพื่อมอบอารมณ์ความสุข ความเศร้า เหงา อกหัก ฯลฯ สำหรับคนที่ได้ยินเสียง  แต่สำหรับคนหูหนวก หูตึง “เสียง” ผ่านการฟังเพลงดูเหมือนเป็นคำที่ห่างไกล และอาจมีเพียงน้อยคนนักที่มองว่า พวกเขาก็เป็นกลุ่มที่ได้รับอารณ์ความรู้สึกจากบทเพลงเช่นกัน 

“หูหนวกแล้วแกล้งใส่หูฟังทำไม” นี่เป็นคำถามที่คนหูหนวก หูตึงเจอเมื่อพวกเขาฟังเพลง เพราะเหตุใดการฟังเพลงของคนหูหนวกจึงถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ และคนหูดีได้รับเพียง “เสียง” เท่านั้นหรือจากการฟังเพลง  ชวนเฟิรสท์—ธัญชนก จิตตกุล และ ดิว—ปิยะวัฒ คงเจริญวิวัฒน์ คนหูหนวก หูตึงผู้หลงใหลในเสียงเพลง มาเล่าประสบการณ์การฟังเพลงที่ไม่ได้มีเพียงแค่ “เสียง” หากแต่ประกอบไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขามีต่อเพลง มาร่วมกันเรียนรู้ว่า คนหูหนวก หูตึงเข้าถึงอุตสาหกรรมเพลงกันอย่างไรและพวกเขาต้องฝึกฝน พัฒนาทักษะอะไรเพื่อให้สามารถเข้าถึงเพลงได้ไม่ต่างจากคนอื่นในสังคม

ด้านซ้ายเป็นภาพดิวใส่หูฟัง ส่วนด้านขวาเป็นเฟิรสท์ใส่หูฟังเช่นเดียวกัน

 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่มาฟังเพลง

เฟิรสท์: เราหูหนวกมาตั้งแต่เกิด แต่ตอนนั้นแม่ไม่รู้ กระทั่งเรียนจบชั้นอนุบาลร่วมกับคนหูดี จึงได้ย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่มีคนหูตึง คุณครูเลือกให้เราไปเต้นรำ แต่เราเองไม่ชินกับการฟังเพลงและเต้นรำ เขาจึงสอนให้จับจังหวะจากการสั่นสะเทือนของเสียงเบส และอ่านปากเพื่อดูว่าเนื้อเพลงอยู่ท่อนไหนแล้ว เราก็พยายามเรียนรู้จากการอ่านข้อความและฟังจังหวะ พอซ้ำหลายๆ รอบ ก็ทำให้มีทักษะการฟัง

ดิว: เรามีปัญหาการได้ยินตั้งแต่เกิดแต่จำไม่ได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และไม่สามารถรักษาให้หายได้ ก็เลยใส่เครื่องช่วยฟังตั้งแต่ตอนนั้น ขณะเรียนชั้นอนุบาลหนึ่ง ที่โรงเรียนจัดกิจกรรมปีใหม่และเราก็ต้องซ้อมเต้นเพลง ‘รักกันไหม’ ของพี่เบิร์ด—ธงไชย แมคอินไตย์ หลังจากได้ฟังเพลงและซ้อมเต้นก็ทำให้ผมหลงรัก ถึงไม่รู้เนื้อร้อง แต่จังหวะดนตรีทำให้รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นไปตามเพลง 

เวลาพ่อมารับกลับบ้าน เราจะเปิดเพลงในรถทุกวัน ถึงจะฟังเนื้อเพลงไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเขาร้องอะไร ฟังออกแค่บางคำ คำไหนฟังไม่ออกก็ปล่อยผ่านไปก่อนแล้วค่อยหาเนื้อเพลงมาอ่านตามทีหลัง

ภาพดิวที่ใส่แว่นสีแดงกำลังใส่หูฟังเพื่อฟังเพลงอยู่ดิว—ปิยะวัฒ คงเจริญวิวัฒน์ 

คนหูหนวก คนหูตึงฟังเพลงกันอย่างไร

เฟิรสท์: คนหูหนวก หูตึง มีระดับการได้ยินและทักษะไม่เหมือนกัน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนหูหนวกไม่ใช่คนที่ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่คนหูหนวกมีระดับการได้ยินเสียงแตกต่างกัน คนหูหนวก หูตึง บางคนสามารถพูดได้ ฟังได้ อ่านภาษาไทยได้หรือบางคนก็สามารถอ่านปากได้  ทำให้แต่ละคนมีวิธีการฟังเพลงแตกต่างกัน

ครั้งหนึ่งเพื่อนชวนไปผับ พอเข้าไปก็รู้สึกว่า ดนตรีสั่นสะเทือนมาถึงตัวเราเลย ทำให้เรารู้จังหวะ เต้นได้ สนุกกับดนตรีได้ ถ้าเป็นร้านอาหารนั่งชิลล์ เล่นเพลงเบาๆ เราจะไม่รู้สึกถึงดนตรี ไม่ได้อารมณ์ เลยต้องจับโต๊ะเพื่อรับรู้แรงสั่นสะเทือน ซึ่งช่วยให้เราฟังเพลงง่ายขึ้น  บางครั้งไปกินข้าวกับเพื่อนแล้วร้านอาหารเปิดเพลงแต่เราก็ไม่เข้าใจเนื้อเพลง  ก็จะถามเพื่อนว่าเพลงที่กำลังเปิดอยู่คือเพลงอะไรแล้วเปิดหาในยูทิวป์หรือหาเนื้อเพลงอ่าน 

พอฟังเพลงจากแรงสั่นทำให้เราจับจังหวะได้ ต่างจากคนหูดีที่จับจังหวะไม่ค่อยถูก ตอนไปคัดเลือกสงครามนางงาม The Casting Project มีทดสอบการเต้น กรรมการยังงงเลยว่า ทำไมเราเต้นมีจังหวะมากกว่าคนหูดี 

ดิว: ช่วงอนุบาลเราเรียนร่วมกับคนที่มีปัญหาทางการได้ยิน พอขึ้น ป.1 พ่อตัดสินใจให้เรียนกับคนหูดีแทนเพราะอยากให้มีความสามารถเท่าเทียมคนทั่วไป เราจึงไม่เคยใช้ภาษามือเลย เวลาสื่อสารกับเพื่อนหูดีก็ใช้วิธีอ่านปาก ก็เลยทำให้เราฟังเพลงไม่เหมือนคนหูหนวกทั่วไปที่ต้องสัมผัสพื้นหรือลำโพง แต่เราใส่เครื่องช่วยฟังและอ่านปากไปด้วย ยิ่งอยู่ในที่เงียบๆ ไม่มีเสียงรบกวนก็จะฟังชัดขึ้น แต่ถ้าไม่ใส่เครื่องช่วยฟัง ก็จะใช้วิธีอ่านปาก พอทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็กทุกวันนี้เลยติดการฟังเพลง ร้องเพลง เพลงช่วยทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทั่วไป

หูหนวกบางคนจะเปิดเพลงดังสุด จับลำโพง นับจังหวะในใจ บางครั้งก็ได้ยินเสียงดนตรีนิดหน่อยแต่ไม่มีเสียงร้อง ทำให้คนหูหนวกชอบฟังดนตรี เพราะจังหวะดนตรีเสียงดังกว่าคนร้อง

เฟิรสท์โพสต์ท่าถ่ายรูปติดริมรั้วกระจก

เฟิรสท์—ธัญชนก จิตตกุล

แสดงว่าการใส่เครื่องช่วยฟังทำให้ได้ยินเสียงดีขึ้น

เฟิรสท์: ใช่ อย่างเวลาง่วงนอนได้ยินแล้วเสียงก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข ถ้าไม่มีเครื่องช่วยฟัง ก็ต้องฟังเพลงดังกว่าคนอื่น หรือหากไม่ได้ยินเสียงนานๆ ก็อาจสูญเสียการได้ยินและทักษะการนับจังหวะ เราเคยไม่ใส่เครื่องช่วย 3 ปี ก็สูญเสียทักษะเหล่านั้นไป แต่ก็มีดิวช่วยฝึกฝนทักษะการจับจังหวะดนตรีและช่วยฟื้นฟูทักษะที่หายไปกลับคืนมา

คนหูหนวกบางคนก็ไม่ใส่เครื่องช่วยฟัง เขาบอกว่าใส่แล้วมึนหัว รู้สึกงงเวลาได้ยินเสียง คนหูหนวกเลยไม่ชอบใส่ ต่างกับเราที่ชอบใส่เพราะเมื่อใส่บ่อยๆ ทำให้เราได้ยินเสียงมอเตอร์ไซด์ เสียงรถยนต์ หรือเวลาพ่อแม่เรียก การได้ยินจะช่วยให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น

ดิว: สำหรับเรา ถ้าไม่ใส่เครื่องช่วยฟังก็จะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย หากอยากฟังเพลงก็ต้องใส่สมอลทอล์กและเปิดเพลงดังสุด จนกระทั่งเสียงดังทะลุออกมา เราถึงจะได้ยินเสียงดนตรี

นอกจากเครื่องช่วยฟังแล้ว มีอะไรช่วยทำให้การฟังเพลงดีขึ้นได้อีกบ้าง

เฟิรสท์: คนหูหนวกจะมองเป็นภาพ พอได้ยินแค่ดนตรีแต่ไม่เห็นเอ็มวี ไม่เห็นซับเพลง ไม่เห็นล่าม ก็จะไม่เข้าใจเนื้อหาและอารมณ์ของเพลง ดังนั้นถ้ามีจอล่ามปรากฎคล้ายกับเวลาดูข่าว ก็จะช่วยให้คนหูหนวกจับอารมณ์ของเพลงได้ ถึงมีซับก็อาจมีคำบางคำที่คนหูดีอ่านแล้วเข้าใจทันที ขณะที่คนหูหนวกอ่านแล้วไม่เข้าใจ ต้องอาศัยล่ามช่วยตีความภาษาไทยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น 

ส่วนตัวเรา ถ้าทั้งต้องฟังเพลง ดูซับและดูล่ามแปล เรามองทั้งหมดไม่ทัน เราถนัดฟังเพลงและดูซับไปด้วยจะทำให้เข้าใจเพลงได้มากกว่า 

ดิว: ถ้าทั้งเอ็มวีเห็นปากของศิลปินที่ร้องเพลง เราก็สามารถอ่านปากและฟังเพลงได้ง่ายขึ้น ช่วงที่ผ่านมาคนหูหนวกเล่นติ๊กต๊อก เวลามีเพลงไหนดังก็จะดูคลิปลิปซิงค์เสียงว่าต้องทำปากอย่างไร ขยับปากแบบไหนและฝึกทำคลิปลิปซิงค์เสียงกัน คนหูหนวกก็ร้องเพลงและฟังเพลงได้เหมือนคนอื่นๆ 

ปกติฟังเพลงแนวไหนกัน

เฟิรสท์: ชอบฟังเพลงสนุกๆ เพราะชอบอารมณ์ตอนที่ได้ฟังเสียงจังหวะเบสตึงๆ ฟังแล้วรู้สึกดี ส่วนใหญ่จะชอบฟังเพลงสากล ไม่ค่อยชอบฟังเพลงไทยเท่าไร ข้อแตกต่างคือ ดนตรีไทยจังหวะจะเรียบๆ แต่ดนตรีสากลจังหวะดนตรีจะสั่นสะเทือน อย่างเพลงคังนัมสไตล์ ของ PSY ก็ชอบ เพราะดนตรีสนุก ของไทยไม่มีเพลงที่ทำให้รู้สึกสนุกแบบนี้

ดิว: เราชอบฟังเพลงเร็วเพราะเสียงกระแทกเหมือนเสียงตีกลอง พอฟังแล้วเหมือนหัวใจเต้นตามไปด้วย ถึงจะชอบเต้นแต่เราเต้นไปด้วย ฟังเพลงไปด้วยไม่ได้ เพราะเวลาเต้นเหงื่อออกเยอะมากและจะมีเสียงกระแทกพื้นแทรกเข้ามาจนเสียสมาธิ เลยต้องถอดเครื่องช่วยฟังออกก่อนเพื่อไม่ให้โดนน้ำ ดังนั้นก่อนที่จะเต้นเพลงไหน ก็ต้องฟังซ้ำๆ และจับจังหวะเพลงให้ได้ก่อน ค่อยเต้นตามจังหวะเพลงที่ฝึกมา 

ดิวยืนอยู่ข้างประตูแล้วยิ้มให้กล้องดิว—ปิยะวัฒ คงเจริญวิวัฒน์ 

ศิลปินในดวงใจของทั้งคู่คือใคร

เฟิรสท์: นักร้องเกาหลีชื่อ เรน หรือช็องจีฮุน  เขาร้องเพลงก็ดี เต้นก็ดี เราชอบเขามาก เราติดตามเพลงของเรนมาตลอด ขนาดแผ่นซีดีเพลงยังเก็บไว้ ไม่ว่ากี่ปีที่เขาออกเพลงใหม่มา ก็ยังรู้สึกชอบแนวเพลงของเขา 

ตอนอายุ 14 ปี เราชอบเพลงของกอล์ฟ-ไมค์ เพราะรับอารมณของเพลงเขาได้ แต่ตอนนี้ไม่มีเพลงแบบนั้นแล้วและไม่รู้ว่าพวกเขาหายไปไหน ทำไมถึงไม่เห็นผลงานเพลงเลย 

แต่ถ้าพูดถึงช่วงนี้ศิลปินที่ชอบก็คือ ลิซ่า แบล็คพิ้ง เพื่อนสนิทเล่าให้ฟังว่าลิซ่าเสียงดี เต้นเก่ง พอได้ดูเอ็มวีของลิซ่าก็รู้สึกสนุก และสามารถส่งอารมณ์มาถึงเราได้

ดิว: วันเดอร์เกิร์ลทุกวันนี้ก็ยังฟังอยู่ เพลงที่ชอบก็โหลดเอ็มวีมาเก็บไว้  ส่วนศิลปินไทยที่ชอบคือ บัวชมพู ฟอร์ด เพราะเคยฟังมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ก็ยังชอบ ทาทา ยัง, วงบาซู, บียอนเซ่, บริทนีย์ สเปียร์ส เราชอบฟังเพลงแนวผู้หญิง แต่ถ้าเป็นเพลงผู้ชายก็ชอบฟังเพลงของ เรน และกามิกาเซ่ที่มีภาษามือด้วย เพราะฟังแล้วรู้สึกดีที่มีคนทำเพลงให้คนหูหนวก 

ใช้แอพพลิเคชั่นอะไรในการฟังเพลง

เฟิรสท์: ถ้าฟังแค่จังหวะดนตรี ก็จะฟังในจูกซ์ (Joox) ยิ่งมีลำโพงหรือหูฟังที่สามารถเปิดให้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนก็ยิ่งได้ยินเสียงดีขึ้น แต่ถ้าอยากเข้าใจภาพและอารมณ์ของเพลงก็จะเปิดยูทิวป์

ดิว: ฟังเพลงจากยูทิวป์ค่อนข้างมาก เพราะเวลาฟังแล้วอ่านปากคนร้องจะช่วยให้จำจังหวะ เสียงร้องและภาษาได้ แต่เอ็มวีส่วนใหญ่เน้นการแสดงเล่าเรื่องราวประกอบเพลงเป็นหลัก จะไม่ค่อยเห็นนักร้องร้องเพลง ก็ทำให้ไม่รู้ว่าเนื้อเพลงร้องอย่างไร สุดท้ายก็ต้องเข้ากูเกิ้ลเสิร์ชหาเนื้อเพลงหรือดูโคฟเวอร์ที่เห็นคนร้องเพลงทั้งวิดีโอ

เฟิรสท์ใส่หูฟังและตามองมาที่กล้อง
เฟิรสท์—ธัญชนก จิตตกุล

ความไม่เข้าใจของสังคมที่มีต่อการฟังเพลงของคนหูหนวกคืออะไร

เฟิรสท์: เวลาใส่หูฟัง บางทีก็จะโดนว่าว่าแกล้งฟังเพลง แกล้งใส่หูฟัง ทั้งที่เราก็ฟังดนตรี ฟังจังหวะ รับรู้แรงสั่นสะเทือนของเบส และอารมณ์ของเพลงได้เหมือนกัน บางครั้งก็น้อยใจ เพราะอยากให้มองว่า คนหูหนวกก็ชอบเพลงเหมือนกับคนหูดี และคนหูหนวกก็มีสิทธิที่จะฟังเพลงที่เขาอยากฟัง พวกเราฝึกฝนทักษะเพื่อเข้าถึงการฟังเพลง ทำไมถึงต้องมาว่าเรา มาดูถูกเรา บางครั้งเวลาไปนั่งกินข้าว คนหูหนวกก็เปิดเพลงฟังและร้องเพลงเป็นภาษามือไปด้วย ก็จะเห็นสีหน้าและสายตาเหยียดเชิงดูถูก แม้ไม่ได้ยินหรอกว่าเขากำลังว่าอะไร แต่คนหูหนวกจับสีหน้าคนได้เร็วมาก 

เมื่อก่อนนี้เราหูฟังที่แถมกับมือถือ เวลาฟังเพลงก็จะต้องเพิ่มเสียงให้ดังสุด ถึงแม้จะใส่หูฟังเสียงก็ยังดังออกมาและรบกวนคนรอบข้าง บางคนเดินมาบอกให้เราช่วยลดเสียงเพลงหน่อย น้องก็เคยถามว่าทำไมเปิดเพลงเสียงดังมากเลย รู้ไหมว่าเสียงดังมาก หลังจากนั้นเวลาฟังเพลงก็ต้องคอยระวังไม่ให้เสียงดังรบกวนคนอื่น และชวนเพื่อนหูดีไปซื้อหูฟังใหม่ที่ถึงเปิดเพลงดังสุดก็ไม่ได้ยินเสียงออกมาข้างนอก

ดิว: ยังไม่เคยมีใครเข้ามาว่า แต่เราดูออกเวลามีสายตามองมา อย่างเวลานั่งรถเมล์บางครั้งเราลืมตัวเปิดเพลงเสียงดังมาก แต่ถ้ามีแม่หรือแฟนไปด้วย เขาก็จะคอยเตือน

แต่ก่อนเวลาอยู่ข้างนอกแล้วอยากฟังเพลง ก็จะใส่เครื่องช่วยฟังและหูฟังไปด้วยกัน โดยเอาสายหูฟังมาคล้องหลังหูตามแนวเครื่องช่วยฟัง และให้ส่วนหัวของหูฟังอยู่ใกล้รูหู ในตำแหน่งเดียวกับตัวรับเสียง วิธีนี้ช่วยให้ฟังเพลงได้ดีขึ้น แต่คนอื่นเห็นแล้วก็ชอบขำ เราเลยอายมากเวลาที่ฟังเพลงด้วยวิธีนี้ 

สิ่งที่อยากให้สังคมเข้าใจเมื่อคนหูหนวก หูตึงฟังเพลง

เฟิรสท์: อยากให้ทุกคนรู้ว่าคนหูหนวก หูตึงก็ชอบฟังเพลงเหมือนกัน พวกเขาก็เข้าร้านอาหาร เข้าผับไปฟังเพลงเช่นกัน คนหูดีฟังเพลงแล้วอารมณ์ดี มีความสุข คนหูหนวกก็เป็นเหมือนกัน ไม่อยากให้คิดว่าหูหนวกก็ต้องอยู่ในโลกเงียบ ไม่อยากให้มองว่าหูหนวกแล้วไม่ฟังเพลง คนทุกคนเคยฟังเพลงและเพลงช่วยเปิดโลกเราไม่ต่างกับที่คนหูดีทำ 

ดิว: เราติดการฟังเพลง ไม่มีเพลงไม่ได้เพราะจะไม่มีแรงบันดาลใจในการเต้น พอไม่ฟังเพลงแล้วไม่มีความสุข รู้สีกเหมือนโลกเงียบ รู้สึกโดดเดี่ยวคล้ายๆ คนเป็นซึมเศร้า ยิ่งถ้าเงียบเกินไปก็จะปวดหัว จึงต้องพยายามใส่เครื่องช่วยฟังให้ได้ยินเสียงรถวิ่ง เสียงลมทะเล เสียงคลื่น เพื่อให้สมองได้ทำงาน เราคิดว่าคนหูหนวก หูดีก็สามารถสนุกกับเพลงร่วมกันได้ในที่ที่เหมาะอย่าง ผับหรือคอนเสิร์ต เพราะในขณะที่คนหูดีฟังเพลงเสียงดัง คนหูหนวกก็สามารถจับแรงสั่นจากพื้นและสามารถเต้นตามจังหวะได้

 

ล่ามภาษามือ ชนากานต์ พิทยภูวไนย

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ