Skip to main content

‘ความแตกต่าง’  ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะหรือสมรรถภาพทางร่างกาย กลายเป็นเส้นขีดแยกคนพิการออกจากความเป็นคนที่มีความสามารถทัดเทียมกับคนอื่น แล้วความพิการทำให้คนด้อยกว่าจริงหรือ เส้นแบ่งของความพิการและไม่พิการคืออะไรหากความเจ็บป่วยหลายอย่างสามารถทำให้ร่างกายทำงานไม่ปกติได้เช่นกัน 

ที่ผ่านมาคงได้ยินคำพูดที่ว่า ความพิการเป็นเรื่องของทุกคนกันมาบ้าง แต่ความพิการจะเป็นเรื่องของทุกคนได้อย่างไรเมื่อถูกแบ่งแยกด้วยคำว่า ปกติ - ผิดปกติ หรือสมบูรณ์ - ไม่สมบูรณ์ ผ่านทัศนคติของคนในสังคม Thisable.me จึงชวนรองศาสตราจารย์ ดร.ทวี เชื้อสุวรรณทวี อาจารย์ภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อมองอีกมุมหนึ่งว่า ทำไมทุกคนสามารถเป็นคนพิการได้ และคำพูดที่ว่า ‘ความพิการเป็นเรื่องของทุกคน’ ไม่ได้ไกลจากความเป็นจริงเลย

ภาพอาจารย์ทวีระหว่างพูดคุยสัมภาษณ์

ความพิการเป็นเรื่องของทุกคนเชิงสังคม  

ดร.ทวี : แม้ความพิการเป็นของคนทุกคน แต่การทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ ต้องใช้เวลาและวิธีการที่แยบยลพอสมควร ก่อนอื่นเลยคนต้องรู้ความหมายของคำว่าพิการ ผมมองความพิการคือความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจจนทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจเป็นความพิการแบบชั่วคราวหรือถาวร ในช่วงชีวิตหนึ่งทุกคนมีความพิการอยู่แล้ว เช่น ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วนอนซม ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนก่อน จะลุกขึ้นไปห้องน้ำก็เดินไม่ไหว คนอาจจะไม่ได้นึกว่า กำลังพิการแบบชั่วคราว อย่างไรก็ดี คนมักเข้าใจว่าพิการต้องถาวร มองเห็นความบกพร่องได้ชัดเจน เช่น ไม่มีแขน ไม่มีขา ตามองไม่เห็น หูไม่ได้ยิน แต่แท้จริงแล้วเมื่อสังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งเห็นชัดว่าความพิการเป็นเรื่องของทุกคน อายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายไม่คล่องแคล่วเหมือนสมัยหนุ่มสาวและก่อให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตในที่สุด 

คนมักยอมรับว่าเป็นผู้สูงอายุมากกว่าเป็นคนพิการ หลายคนเดินไม่ได้แต่ไม่ยอมนั่งวีลแชร์ หรือใช้ไม้เท้าเพราะกลัวเสียภาพลักษณ์และตัวตน ไม่อยากถูกเรียกว่าคนพิการ ฉะนั้นคุณค่าการนิยามความพิการที่ต้องถาวรควรเปลี่ยนไป 

อาจารย์ทวียืนถ่ายรูปตรงสะพานข้ามลำธารเล็กๆ ในคาเฟ่


ความพิการเป็นเรื่องของทุกคนในเชิงเศรษฐกิจ 

ประเด็นนี้คนไม่ค่อยนึกถึงเท่าไหร่ แต่ก่อนเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาท (หากมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) แสดงว่าปีหนึ่งรัฐต้องจ่ายเงินให้คนพิการเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท ฉะนั้นคนพิการที่จดทะเบียน 2 ล้านกว่าคน ก็เป็นเงินกว่า 2,400 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินอุดหนุนให้กับคนพิการที่ไม่จดทะเบียนและสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้คำนวณเรื่องนี้สักเท่าไหร่ หากเรามีประชากรคนพิการเยอะ รัฐบาลก็ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ผ่านการใช้เงินภาษีของประชาชน เรื่องเหล่านี้เป็นค่านิยมสากลที่รัฐต้องพึงดูแลและจัดสรรให้กับกลุ่มเปราะบางของประเทศ  หากประเทศไหนไม่จัดสรรก็จะถูกร้องเรียนและถูกต่อต้าน ฉะนั้นความพิการจึงเป็นเรื่องของทุกคนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม 

เบี้ยคนพิการแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเก็บเงินภาษี 60-70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งเปลี่ยนเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้ แต่เราเอามาตรการนี้มาใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เพราะรากเหง้าของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ถึงอย่างไรก็ตามประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียก็ยังมีปัญหาเพราะเมื่อสวัสดิการดี คนบางกลุ่มก็ไม่ทำงาน ชนชั้นกลางจึงออกมาเคลื่อนไหว บางคนเรียนจบก็เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศแทน  

ภาพอาจารย์ทวีถ่ายรูปประกอบบทสัมภาษณ์ใต้ร่มไม้

เราต้องยอมรับว่า ถ้ามีประชากรคนพิการเยอะ ก็มีค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้มากหรือเรียกได้ว่ามีภาระการเงินที่มากขึ้นหากสมาชิกในครอบครัวเป็นคนพิการหนึ่ง จะอาจบอกว่าไม่ใช่คนพิการคนเดียวที่เป็นภาระ แต่พ่อหรือแม่ที่ต้องเสียเวลามาดูแลลูกก็กลายเป็นคนที่ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ (Non - Productive Citizen) ในมุมมองระบบทุนนิยม แต่เราห้ามความพิการไม่ได้ ดังนั้นเมื่อพิการแล้วก็ต้องพยายามพัฒนาให้คนพิการมีศักยภาพที่จะหาเงินและดูแลตัวเองโดยพึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุด เช่น มีกระบวนการช่วยเหลือ และมีการสร้างอาชีพ การอาชีพของคนพิการก็ยังมีอุปสรรคคือ
หนึ่ง คนพิการไม่มีทักษะทางอาชีพ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ ปัจจุบันคนไม่พิการเรียนจบปริญญาตรีหรือปริญญาโทก็ยังหางานยาก คนพิการที่ไม่ได้มีการศึกษา ทัั้งที่มีสิทธิเรียนฟรี ก็ยิ่งเข้าไม่ถึงอาชีพ 
สอง คนพิการไม่มีทักษะทางสังคม คนพิการจำนวนมากไม่เคยทำงานเลย หากต้องออกไปทำงาน เจอนายจ้าง เพื่อนร่วมงานก็ปรับตัวยาก  ทักษะทางสังคมเหล่านี้ต้องได้รับการขัดเกลาอย่างต่อเนื่อง 
สาม การคมนาคมที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางทำให้คนพิการมีส่วนร่วมกับสังคมได้ยากกว่าคนอื่น 
สี่ เจตคติของสังคมที่มีต่อคนพิการ แม้คนพิการบางคนไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทาง มีความรู้ความสามารถ แต่ก็ไม่ได้รับการต้อนรับจากนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน มองอย่างเหมารวมว่าคนพิการเป็นภาระ ทำงานไม่ได้ ยุ่งยาก จึงเลือกปฎิเสธทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนพิการคนนั้นทำอะไรได้บ้าง   

งานวิจัยในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาสะท้อนให้เห็นว่า ในบางประเภทความพิการรัฐต้องจัดงบประมาณสนับสนุนดูแลตลอดช่วงชีวิตในด้านการศึกษาพิเศษ ผู้ปกครองเสียรายได้ไปกับการดูแลคนพิการ การดำรงชีวิตประจำวันและการปรับสิ่งอำนวยความสะดวกถึง 2.2 - 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 66  – 72  ล้านบาทต่อคนหรือมากกว่าคนทั่วไปกว่า 1 เท่าตัว  ในทางกลับกัน หากพัฒนาส่งเสริมคนพิการให้พึ่งตัวเองได้ ทำงานได้ เป็นประชากรที่แอคทีฟหรือสร้างผลผลิตได้ก็จะลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งเพิ่ม GDP ของประเทศได้ และยังสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้รู้สึกมีคุณค่าซึ่งจะเพิ่มความเป็นมนุษย์ จากที่เคยเป็นแต่ผู้รับ  

ภาพถ่ายอาจารย์ทวีระหว่างพูดคุยสัมภาษณ์


‘ความเท่าเทียม’ ไม่ใช่คำตอบเดียวของการเรียกร้องสิทธิคนพิการให้เท่ากันทุกคน

ถ้าเราพูดว่า เราจะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าคำพูดนี้เป็นจริง การเลือกปฏิบัติก็จะไม่เกิดกับคนพิการ ทุกคนจะเท่าเทียมกัน (Equality) แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เพราะว่า สังคมคุ้นชินกับคำว่าส่วนใหญ่ อะไรที่คนไม่ค่อยรู้จักเลยถูกมองว่าแปลกแยกผ่านกฎธรรมชาติหรือบรรทัดฐาน (Norm) ของมนุษย์ที่หล่อหลอมมา จนกลายเป็นการคิดแบบเหมารวม (Stereotype Thinking) จนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การตีตรา หลักความเท่าเทียมจึงอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการจำเป็นที่แท้จริงของแต่ละคนได้

อีกหนึ่งหลักที่ช่วยให้คนทุกคนอยู่ร่วมกันได้ก็คือหลักความเสมอภาค (Equity) หลักนี้เน้นย้ำเรื่องความหลากหลาย มองคนอย่างปัจเจกผ่านลักษณะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เพศสภาพ สีผิว ความสูง-ความเตี้ย รวมถึงความพิการอันทำให้เกิดความเสียเปรียบทางสังคม จนต้องได้รับการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน  หากมีคนในสังคมเกิดคำถามว่าทำไมต้องใช้ภาษีกับคนพิการ ทำไมต้องสร้างลิฟต์ขึ้นรถไฟฟ้า ก็คงต้องตอบด้วยหลักความเสมอภาคผ่านการเข้าใจความต่างที่ส่งผลให้เขาเสียเปรียบคนอื่นในสังคม   

หากใช้หลักการพึ่งพาอาศัยกัน หรือการได้ผลประโยชน์ร่วมกัน (Reciprocity) ที่คนส่วนใหญ่มักยกเรื่องผีเสื้อกับดอกไม้มาเป็นตัวอย่าง ผีเสื้อได้น้ำหวานจากดอกไม้ ส่วนดอกไม้ก็ได้ผีเสื้อช่วยผสมเกสรและขยายพันธุ์ ในกรณีคนพิการ สังคมและรัฐก็ต้องจัดสรรงบประมาณส่งเสริมพัฒนาคนพิการมากกว่าคนทั่วไป เมื่อคนพิการพึงตนเองได้แล้ว ก็สร้างประโยชน์และกลายเป็นคนที่สามารถสร้างผลผลิตช่วยเหลือเพื่อนคนพิการ สังคมและประเทศต่อไป ดังนั้นคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยทั้งหลักความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการพึ่งพาอาศัยกัน จึงจะเป็นยุติธรรมสังคมที่แท้จริง 

ภาพอาจารย์ทวีหันข้างมองมาที่ช่างภาพ


เปลี่ยนภาพประสบการณ์การรับรู้เกี่ยวกับคนพิการเสียใหม่

บางคนเกิดในสมาชิกครอบครัวคนไม่พิการ คนรอบข้างก็ไม่ได้เป็นคนพิการ พอเห็นคนพิการก็ไม่รู้ควรทำตัวอย่างไร หรือถ้ารู้จักกับความพิการก็มองว่าเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของเรา คิดว่าความพิการเป็นเรื่องของความเจ็บป่วยทางร่างกาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากเหง้าของแนวคิดทางการแพทย์ (Medical Model) ที่จะดูแลความบกพร่องทางร่างกาย (Physical Impairment) เท่านั้น เช่น คนขาขาดก็หาขามาเติม คนมองไม่เห็นก็พยายามให้มองเห็น คนหูไม่ดีก็พยายามให้ใส่เครื่องช่วยฟัง แต่ในปัจจุบันปัญหาความพิการไม่ได้อยู่กับความบกพร่องทางร่ายกายเพียงอย่างเดียว แต่มีนัยยะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น คนพิการที่อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกาไปหาหมอ สามารถนั่งวีลแชร์ไปขึ้นรถเมล์ด้วยตัวเอง โดยมีรถเมล์ชานต่ำปูทางลาดเพื่อรับ-ส่งคนพิการ คนพิการบ้านเราจะไปหาหมอ ต้องมีสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งลางานเพื่อพาไป เพราะไม่สามารถเดินทางเองได้ ดังนั้นสภาพแวดล้อมที่สหรัฐอเมริกาเอื้อต่อการดํารงชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living) ส่งผลให้ให้ความพิการน้อยลง นัยยะความพิการบ้านเขากับบ้านเราจึงต่างกัน ดังนั้นรัฐบาล สังคม สื่อ และคนพิการต้องช่วยกันสร้างภาพประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับคนพิการ ผลักดันให้เกิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ให้คนพิการช่วยเหลือตัวเอง และทำหน้าที่เป็นพลเมือง เพราะความพิการเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ และสักวันหนึ่งเราอาจจะต้องใช้ประโยชน์จากสวัสดิการต่างๆ ก็ได้

ผลิกประเด็นเชิงสงเคราะห์ให้เป็นการสร้างมุมมองว่า ความพิการเป็นเรื่องของทุกคน 

อย่าคิดว่าการสงเคราะห์เป็นอุปสรรค ผมมองว่าการสงเคราะห์เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เชื่อมให้คนทั่วไปมาปฏิสัมพันธ์กับคนพิการ แต่ว่าเราต้องเปลี่ยนรูปแบบ เช่น ถ้าคนทั่วไปอยากมาช่วยเหลือ ผู้รับบริจาคหรือคนพิการต้องสื่อสารว่าการให้มีอะไรมากกว่าการขอพรว่า อย่าเป็นคนพิการหรือขอให้เกิดมามีอวัยวะครบ 32 ประการ ดังนั้นผมไม่รังเกียจและปฏิเสธเรื่องสงเคราะห์ แต่ความท้าทายคือ การทำให้เขาเห็นว่า การพัฒนาคนพิการมีมากกว่าการสงเคราะห์เพื่อเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับคนพิการของสังคมให้หลากหลายมากขึ้น