Skip to main content

การเดินทางโดยรถเมล์เป็นทางเลือกหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการเมื่อต้องเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ปัจจุบันนี้รถเมล์มีหลายสาย ป้ายรถเมล์เองก็เริ่มทั่วถึงมากขึ้น อีกทั้งค่าโดยสารก็ย่อมเยากว่าการเดินทางด้วยรถสาธารณะชนิดอื่น เหตุผลเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนเลือกขึ้นรถเมล์ แล้วสำหรับคนพิการ รถเมล์เป็นทางเลือกที่สะดวก ปลอดภัยและประหยัดในการเดินทางหรือไม่?

วันนี้ Thisable.me จะพาทุกคนไปดูการเดินทางโดยรถเมล์ด้วยกับเพื่อนที่พิการทางการเคลื่อนไหว แบม - ชนิสรา หน่ายมี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเธอโดยสารรถเมล์อย่างไร และอะไรที่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง 

แบมและจูล เดินจูงมือกันบนฟุตปาธ
แบม (ซ้าย)

“เราพิการตั้งแต่กำเนิดด้วยภาวะสมองพิการ (CP - Cerebral palsy) เพราะคลอดก่อนกำหนดและขาดอากาศหายใจ ทำให้สมองส่วนการเคลื่อนไหวถูกทำลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อขา แขน หรือการพูดผิดปกติ ตอนเด็กๆ เราเดินไม่ได้เลย มาเริ่มเดินได้ตอนอายุ 6 ขวบเพราะฝึกเดินมาตลอด แต่ถึงเดินได้ก็ยังไม่เหมือนคนทั่วไป เราล้มบ่อยมาก เดินแล้วล้ม เดินแล้วล้มจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตไปแล้ว เรามักล้มจนได้แผลเพราะเดินบนพื้นที่ต่างระดับและไม่มีที่ให้เกาะ บางครั้งก็เป็นเพราะถือของหนักทำให้ทรงตัวไม่อยู่  แม้ปัจจุบันเราช่วยเหลือตัวเองได้ประมาณ 80% เดินทางไปไหนมาไหนเองได้ แต่การเดินทางด้วยรถเมล์ถือเป็นการเดินทางที่ยากลำบากมากอยู่ดี 

“ปกติเราไม่ค่อยได้ขึ้นรถเมล์ นานๆ จะขึ้นที แต่วันนี้นัดกับเพื่อนฝึกงานว่าจะเดินทางไปด้วยกันเลยเจอกันที่ MRT เพชรบุรีและต่อรถเมล์สาย 206 ระหว่างทางที่เดินมาป้ายรถเมล์เราได้เดินผ่านทางเท้าขรุขระ ปกติแล้วถ้าไม่มีใครมาด้วยเราจะไม่ขึ้นรถเมล์เด็ดขาดเพราะไม่สามารถเดินคนเดียวได้ ทั้งทางต่างระดับและทางไม่เรียบ อีกทั้งไม่มีอะไรให้เกาะเพื่อช่วยพยุงตัวเดิน จะนั่งมอเตอร์ไซค์ไปที่ป้ายรถเมล์ก็ลำบาก เราไม่สามารถขึ้นมอเตอร์ไซค์เหมือนคนทั่วไปได้เพราะต้องค่อยๆ ถัดตัวขึ้นจากเบาะหน้า พี่คนขับจึงต้องลงจากรถก่อนเราถึงจะขึ้นไปนั่งได้ พอคิดว่าลำบากและค่อนข้างอันตรายจึงเลือกนั่งรถแท็กซี่ ไม่ก็รถไฟฟ้า BTS, MRT หรือ Airport link ในการเดินทาง ครั้งนี้มาขึ้นรถเมล์ นอกจากได้รู้ว่ารถเมล์เป็นยังไงแล้ว ยังได้สำรวจทางเท้า ที่บางช่วงก็แคบมาก แค่เริ่มเดินก็เจอเสาตั้งขวางไว้ บางช่วงมีการทุบทำใหม่ ที่ยังทำไม่เสร็จ ทำให้ทางเท้าที่แคบอยู่แล้วนั้นแคบมากขึ้นไปอีก บางจุดเราไม่สามารถเดินคนเดียวได้ด้วยซ้ำเพราะต้องล้มให้กับความขรุขระแน่นอน ยิ่งพอคิดถึงคนพิการที่ใช้วีลแชร์ก็คงไม่สามารถผ่านได้ เพื่อนๆ วีลแชร์ของเราจึงต้องเข็นลงถนนแทน ซึ่งเสี่ยงอันตรายมาก

“จากสถานีรถไฟฟ้าถึงป้ายรถเมล์ก็เดินเหนื่อยเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน  นอกจากเพราะเดินยากบนพื้นผิวขรุขระที่เล่าไปแล้ว หากสังเกตก็จะเห็นว่า แผ่นเบรลล์บล็อกเส้นตรงที่แปลว่าให้เดินได้นั้นพาดผ่านใกล้ๆ กับป้ายรถเมล์ที่เรานั่งอยู่ แค่นั่งรอรถเมล์เท้าก็เหยียบอยู่บนเบรลล์บล็อก นั่นแปลว่าถ้าคนตาบอดใช้งานก็จะชนกับขาของคนที่รอรถเมล์ และไม่ใช่แค่ขาเรา ยังมีรถเข็นแม่ค้าและสิ่งกีดขวางอื่นๆ จนพาลสงสัยว่าคนตาบอดจะเดินทางคนเดียวอย่างไร หากการออกแบบไม่เอื้อให้ทุกคนสามารถเดินทางและไม่สามารถทำให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้จริง

“หลังนั่งรอสักพักใหญ่ รถเมล์สาย 206 ก็มา รถสายนี้เป็นรถเมล์แดงชานสูง เราต้องก้าวขึ้นหลายขั้น ยากสำหรับเราที่ต้องมีคนพยุงผ่านทางต่างระดับ ตอนลงรถเมล์ก็ยากและลำบากเช่นกัน ถึงแม้จะมีราวให้เกาะแต่การลงขั้นบันไดสูง  ไม่กี่ขั้นก็สร้างความหวาดกลัวและเกิดอันตราย หากมาคนเดียวเราคงขอความช่วยเหลือจากคนอื่น วันนี้ยังโชคดีที่รถเมล์คันที่เราขึ้นจอดเทียบทางเท้าก้าวลงจากรถก็ถึงทางเท้าพอดี ไม่ต้องให้เพื่อนพยุงก้าวขึ้นทางเท้าอีกรอบ การเดินทางด้วยรถเมล์แดงวันนี้ทำให้เห็นความลำบาก ยิ่งหากเป็นคนที่มีข้อจำกัดในการเดินมากกว่าเราหรือนั่งวีลแชร์ คงเจอปัญหามากกว่านี้อีก

“หลังลงจากรถเมล์แดงก็มานั่งรอรถเมล์สาย 514 ซึ่งเป็นรถเมล์ชานต่ำ แม้รถเมล์สายสีฟ้าชานต่ำขึ้น - ลงไม่ลำบากเท่ารถเมล์ชานสูง แต่ก็ยังยากสำหรับเราในการก้าวขึ้น ในมุมของเรารถเมล์ชานต่ำเอื้อต่อคนพิการมากกว่ารถเมล์ชานสูง คนนั่งวีลแชร์ก็ใช้บริการได้ แต่เพราะยังไม่มีรถมากพอจึงทำให้คนพิการยังถูกจำกัดให้ไปได้เพียงบางที่ที่ขึ้นรถได้เท่านั้น

“ในฐานะคนพิการเราอยากให้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์นั้นปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้สะดวก เพราะไม่ใช่แค่คนพิการที่ขึ้น - ลงลำบาก แต่คนชราหรือคนที่ได้รับบาดเจ็บและจำเป็นต้องใช้วีลแชร์ก็ควรที่จะใช้มีโอกาสเดินทางได้ หากเลือกได้เราก็ไม่อยากนั่งแท็กซี่ไปไหนมาไหนเนื่องจากค่าโดยสารที่ค่อนข้างสูง แต่เราก็ไม่มีทางเลือกมากนัก คนอาจคิดว่าคนพิการไม่ค่อยออกไปไหนหรอกหรืออาจอยู่แต่ในบ้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วคนพิการก็คือคน พวกเราออกไปใช้ชีวิต ออกไปเรียนหนังสือ ออกไปทำงาน ออกไปเที่ยวกับเพื่อน คนพิการก็ต้องการระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเพื่อใช้ชีวิตและหวังว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรถเมล์ด้วยความใส่ใจถึงทุกคนในสังคม เพื่อให้คนพิการมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้นในอนาคต” 

แบมเดินริมถนนบนฟุทปาธแคบๆ ขรุขระ
เดินคนเดียวคงไม่เหงาเพราะมีเสาอยู่ตลอดทาง

แบมยืนเกาะเสา มองหลุมที่ทางเท้า
เราจะเดินผ่านทางเท้าแคบๆ ที่ชำรุดยังไงดี

เพื่อนช่วยจูงมือแบมข้ามทางชำรุด
ให้เพื่อนช่วยพยุงน่าจะปลอดภัยกว่าเดินเอง

ตออะไรสักอย่างขวางกลางทางเท้า
โอ้

แบมเกาะเสา
เกาะเสาเดินเพราะทางเท้าแคบและขรุขระ

ถ่ายมือของแบมที่จับเสา
หมับเข้าให้

ไม่จูงมือเพื่อนคงได้กบหลายตัวแน่ๆ
ไม่จูงมือเพื่อนคงได้กบหลายตัวแน่ๆ

นั่งรอรถเมล์
ที่นั่งป้ายรถเมล์ เบรลล์บล็อก และรถขายของ

ภาพป้ายรถเมล์จากระยะไกล
นี่ไงป้ายรถเมล์ที่เรารอ

ท่อที่ไม่มีฝา บริเวณริมทางเท้า
มีทั้งหิน ดิน น้ำ น่าจะเป็นเรื่องของฮวงจุ้ยแหละ


อุปกรณ์ก่อสร้างที่อยู่ริมทางเท้า
อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ริมทางเท้า


นั่งรอรถเมล์ที่ป้าย มีเบรลล์บล็อกพาดผ่าน
คนนั่งรอรถเมล์วางเท้าพอดีกับเบรลล์บล็อก

แบมกำลังขึเนรถเมล์ มีเพื่อนประคองข้างหลัง
รวมพลังไว้ที่ขาเพื่อก้าวขึ้น เอ้าฮึบ!


แบมนั่งบนรถเมล์
บนรถเมล์

แบมกำลังจะล
วินาทีตื่นเต้นคือตอนลงจากรถเมล์ชานสูง

แบมลงใกล้ถึงพื้น
ดีหน่อยที่รถเมล์คันนี้จอดเทียบทางเท้า

นั่งป้ายรถเมล์ รอขึ้นรถแมล์ชานต่ำ
นั่งรอรถเมล์สายชานต่ำ

แบมขึ้นรถเมล์ชานต่ำ มีเพื่อนจูง
คราวนี้เป็นรถเมล์ชานต่ำ ก้าวขึ้นสบายกว่ารถเมล์ชานสูงนิดหน่อย

บรรยากาศในรถเมล์ชานต่ำ
อยู่ในรถเมล์แล้ว

แบมลงจากรถเมล์ชานต่ำ
รถเมล์ชานต่ำก้าวลงง่ายแต่ยังยากสำหรับเรา

เดินไปลงรถไฟใต้ดินเพื่อข้ามถนน
ถึงห้วยขวางแล้วต้องข้ามถนน ตัดสินใจข้ามด้วยอุโมงค์ MRT


แบมกำลังลงบันไดเลื่อน
เลื่อนไปไม่มีอะไรมากั้น

ข้ามมาแล้ว แบมกำลังลงบันได
ถึงแล้ว!

แบมกำลังขึ้นวิน
นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อเข้าออฟฟิศ


ไว้เจอกันนะ บาย
แล้วเจอกันใหม่ บาย!