Skip to main content

หน้ากล้อง เฟิรสท์ - ธัญชนก จิตตกุล คือคนหูหนวกที่เป็นที่รู้จักจากบทบาทบนเวทีประกวด Miss Deaf Thailand 2013 และนักแสดงจากละครสงครามนางงาม 2 เธอเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงหูหนวก ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับสังคมในเรื่องความสามารถทางการแสดง อีกทั้งบทบาทของเธอในละครสงครามนางงาม 2 ทำให้ได้รับคำชื่นชมและเปรียบเสมือนเป็นใบเบิกทางในวงการบันเทิง และเป็นผู้ฝึกสอนนักแสดง นางงามหูหนวกในรุ่นต่อๆ มา 

หากย้อนไปมองตั้งแต่จุดเริ่มต้น เส้นทางของเฟิรสท์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ใครคาดคิด การถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็ก ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องการสื่อสาร และปัญหาเรื่องการศึกษานั้นล้วนขัดขวางคนมีฝันอย่างเธอ จากจังหวัดตรังสู่กรุงเทพฯ ของชีวิตการดิ้นรนเพื่อ พิสูจน์ตัวเองจากความไม่เข้าใจและคำสบประมาทที่มีต่อคนหูหนวก เรามาชวนเธอคุยถึงชีวิตที่ผ่านอดีต ปัจจุบัน และมองถึงอนาคตบนก้าวต่อไปที่เธอฝันและกำลังไปต่อ

เฟิรสท์ในวัยเด็กเป็นอย่างไร

เฟิรสท์ : เราหูหนวกตั้งแต่เกิดแต่ตอนแรกไม่มีใครรู้ ตัวเราเองก็รู้สึกแค่ว่าโลกมันว่างเปล่า ไม่รู้สึกถึงเสียง ตอนหลังแม่พาไปตรวจจึงรู้ชัดเจนว่า เป็นคนหูหนวก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะแม่ป่วยตอนท้อง 

เราเรียนชั้นอนุบาลรวมกับคนหูดีกระทั่ง ป.1 ก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนโสตฯ จังหวัดสงขลา แต่เรียนได้พักเดียวก็อยู่ไม่ได้เพราะโดนรุ่นพี่แกล้ง บางทีก็ถูกถ่มน้ำลายใส่จากชั้นบน เราแอบไปร้องไห้อยู่ในห้องน้ำบ่อยๆ แถมตอนนั้นครูให้ใช้ภาษามือซึ่งเราใช้ไม่เป็น แล้วก็ไม่มีใครสอนภาษามือ เพื่อนหูหนวกก็ไม่มีใครยอมช่วยสอน เราจึงต้องเรียนเองแบบมั่วๆ ถึงเวลาเรียนในห้องครูถามว่าคำนี้แปลว่าอะไร พอทำภาษามือไม่ถูกก็ตีด้วยไม้ เราร้องไห้และทนไม่ไหว บอกแม่ว่าไม่อยากเรียนที่นี่แล้ว แม่เลยหาโรงเรียนใหม่จนไปเจอโรงเรียนที่ปทุมธานีซึ่งเป็นโรงเรียนพิเศษที่มีทั้งคนหูดี คนหูตึงและคนหูหนวก เราเริ่มเรียนอนุบาล 3 ใหม่อีกครั้ง ครูบอกว่าอยู่ที่นี่ห้ามใช้ภาษามือนะ ให้ฝึกพูดแล้วเน้นอ่านปากอย่างเดียวเพราะพ่อ แม่ ไม่สามารถใช้ภาษามือได้ มีแค่น้องที่พอรู้คำศัพท์ง่ายๆ อยู่บ้าง พอได้ใส่เครื่องช่วยฟังและอ่านปากไปด้วยก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าคำไหนที่มีการออกเสียงหรือรูปปากคล้ายกันก็ยังลำบากหน่อย 

ตอนที่ใส่เครื่องช่วยฟังแรกๆ เราได้ยินเสียงวุ่นวายๆ งุ้งงิ้งๆ เหมือนเสียงยุงแต่ก็ไม่เข้าใจว่าคือเสียงอะไร พอโตมาถึงได้เข้าใจว่าคือเสียงคนคุยกัน จึงต้องอาศัยการอ่านปากประกอบ และเริ่มหัดใช้ภาษามือตอนที่ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อประกวดนางงาม 

เผชิญปัญหา

พอจบ ป.6 แม้เราไม่รู้ว่าพ่อแม่มีปัญหากัน แต่ก็รู้สึกได้ว่ามีอะไรผิดปกติและไม่เหมือนเดิมเพราะพ่อกับแม่แยกกันมาเจอเรา เท่าที่รู้คือเขามีปัญหาเรื่องค่าเทอม ต่อมาเราก็ย้ายไปอยู่กับแม่ที่ภาคใต้ และสมัครเรียนที่โรงเรียนคนหูดีที่ภาคใต้ในระดับชั้น ม.1 น้องสมัครผ่านได้แต่เราไม่ได้เพราะโรงเรียนคิดว่าเราสอบไม่ได้ แม่จึงตัดสินใจให้เราไปอยู่กับพ่อ เพื่อไปเรียนที่นั่น 

ในตอนเด็กๆ เราชอบทำกิจกรรมมาก ทั้งเต้น ทั้งร้องเพลงพอได้เข้า ม.1 เราก็อยากร่วมเต้นเชียร์ลีดเดอร์ แต่พ่อไม่ชอบ วันหนึ่งที่เรากำลังซ้อมเต้นอยู่ๆ วันนึงเรากลับบ้านไปเจอแม่ทะเลาะกับพ่อ พ่อเมา ไม่รู้ว่าพ่อกับแม่ทะเลาะกันเรื่ิองอะไร แล้วพ่อก็พาลมาตีเราด้วย พ่อไล่เราออกจากบ้าน เราเสียใจร้องไห้หนักมาก แม่ก็เลยรับเฟิรสท์กลับไปอยู่ด้วยที่ตรังแล้วบอกว่าให้เราพักการเรียนไปก่อน 

พอวันจันทร์เราบอกแม่ว่าอยากไปโรงเรียน แม่ก็ยังยืนยันว่าไม่ให้ไปจนทะเลาะกัน ตอนนั้นหงุดหงิดที่เหมือนโดนขังไว้ที่บ้านจนเครียดมากและคิดว่าตัวเองน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า อาการเหล่านั้นยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน มากไปกว่านั้นเรายังเปรียบเทียบตัวเองกับน้องที่ได้เรียนหนังสือ แต่พอเราหูหนวกกลับไม่ได้เรียน  การอยู่แต่ที่บ้านทำให้รู้สึกไม่มีค่าและถูกกดขี่ 

พอไม่ได้เรียนแม่ก็บังคับให้ไปเรียนเสริมสวย เรียนได้ประมาน 7 เดือนก็ได้ประกาศนียบัตรและแม่ก็เปิดร้านให้ที่บ้าน แต่ร้านทำผมต่างจังหวัดมีลูกค้าน้อย จึงคิดอยากไปทำงานในอำเภอเมืองแต่แม่ไม่เห็นด้วย สุดท้ายจึงไม่ได้ไป พอลูกค้าน้อยมากๆ แม่ก็ให้เราไปกรีดยาง ทุกวันเราต้องควักน้ำยางจากกะลากับต้นยาง 500 ต้นด้วยตัวคนเดียว  รู้สึกเหนื่อยมาก เจ็บมือไปหมด แต่ก็พยายามทำงานเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต   

จุดเริ่มต้นของการประกวด Miss Deaf Thailand 2013 

พี่นับดาว (นับดาว องค์อภิชาติ) ส่งข้อความมาชวนไปประกวดช่วงปี 2012-2013 ตอนนั้นเรายังใช้ภาษามือไม่ได้เลย ต้องพิมพ์ข้อความสื่อสารกัน  แรกๆ ไม่อยากประกวดแต่ก็ตัดสินใจเขียนใบสมัคร หลังจากนั้นจึงเตรียมเอกสาร โปรไฟล์ต่างๆ ไปให้แม่อ่าน  แม่ก็ไม่อยากให้ไปเพราะกลัวโดนหลอก แต่สุดท้ายก็ให้เราคิดเอาเอง เราเอาเงินเก็บมาใช้จ่ายโดยมีน้องตามขึ้นมาดูแลที่กรุงเทพฯ 

ก่อนจะแข่งขันต้องมีการเก็บตัว แต่เราไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับคนหูหนวกมาก่อนเลย ภาษามือที่เขาใช้น่ารักมากพี่นับดาวก็ช่วยเขียนสื่อสารให้ แต่พอเราสื่อสารกับคนหูหนวกกันเองไม่ได้ บางคนเลยคิดเองเออเองเกี่ยวกับเรา เอาข่าวแย่ๆ มาปล่อย เช่น บอกว่าเราขายตัว ขนาดครั้งนั้นเราประกวดแพ้แต่คนหูหนวกด้วยกันก็ยังซ้ำเติมต่ออีก 

ผ่านไปหนึ่งปี เราเข้าใจสังคมคนหูหนวกมากขึ้นว่า คนหูหนวกบางคนเป็นคนคิดมาก  ตัวเราเองพยายามก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนและใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการฝึกภาษามือจนสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน คุยได้ สื่อสารได้ จากที่คนหูหนวกคิดว่าเราคงยอมแพ้ไปแล้ว แต่เราไม่ยอม เริ่มใช้ภาษามือและกล้าคุย และเข้าไปเรียนรู้ทั้งสังคมของคนหูดีและคนหูหนวก

ฝันที่จะเรียนต่อ

หลังจากต้องหยุดเรียน เราตั้งใจไปเรียนต่อ กศน.ในระดับชั้น ม.1 - ม.6 แม่จึงโทรไปโรงเรียนเก่าเพื่อขอวุฒิ ป.6 แต่วันนั้นแม่คุยโทรศัพท์ไปร้องไห้ไป ถามแม่แล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

พอเข้ากรุงเทพฯ พี่นับดาวก็หางานให้ทำ การศึกษาแค่ชั้น ป.6 ทำให้คนไม่รับเข้าทำงานทั้งที่เรามั่นใจว่าทำงานได้ แต่ก็ไม่สำคัญเท่าวุฒิ หลังเราได้ลองพิมพ์สัมผัสให้ดูเขาก็เห็นว่าทำได้จึงรับเข้าทำงาน  สุดท้ายทำได้ 3 - 4 เดือน ก็มีปัญหาเรื่องเวลาเพราะต้องลางานไปประกวด จึงตัดสินใจลาออก 

ตอนตกงานก็เครียดที่ไม่รู้จะหาเงินจากไหน แล้วจะใช้ชีวิตยังไงต่อ เราได้ทำงานกับ TQM ขอหัวหน้าว่าอยากเรียน กศน.  แต่ กศน.ต้องการวุฒิ ป.6

เราจึงไปที่โรงเรียนอีกครั้งเพื่อขอวุฒิฯ จึงได้รู้ว่า แม่ติดค้างค่าเทอมอีก 200,000 บาท ท้ายที่สุดเราก็รวมเงินได้ 50,000 บาท และได้รับการยกหนี้ในส่วนที่เหลือจึงได้วุฒิมาเรียน กศน. กระทั่งจบแล้วก็เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตอนนี้ปี 3 แล้ว

ก้าวที่เข้าสู่วงการบันเทิง

หลังประกวด Miss Deaf Thailand 2013 จบ พี่นับดาวก็พาไปแคสติ้งละครสงครามนางงาม คิดในใจว่าคงไม่ผ่าน แต่พอกองละครติดต่อมาว่าผ่าน ตอนนั้นเครียดมาก ใจนึงก็ไม่อยากไปแล้วแต่ก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดี 

ช่วงนั้นเราเจออุปสรรคหลายอย่าง ทั้งความไม่เข้าใจของแฟนจนเลิกกัน ความเครียดที่ทำให้ซึมเศร้ากลับมากำเริบ ไปจนถึงคำพูดต่างๆ ที่เจอ เช่น แล้วล่ามล่ะ แล้วจะเอางบจากไหนจ้าง ฯลฯ ทำให้ท้อจนเกือบถอนตัว แต่พี่นับดาวก็ให้กำลังใจ บอกว่าพยายามสิ แต่เราเองรู้สึกว่าชีวิตถูกกดขี่ มีปัญหาครอบครัว แล้วยังโดนตราหน้า โดนกระแสลบค่อนข้างเยอะ 

เมื่อก่อนไม่คิดจะเข้าวงการบันเทิงเลย เคยมีคนติดต่อมาเพราะเราน่ารัก แต่เรากลัวเพราะไม่เข้าใจว่าถ่ายแบบคืออะไรน้องจึงช่วยอธิบาย ถึงแม้ไม่ค่อยเข้าใจแต่ก็มีน้องคอยพาไป พักหลังเราก็เริ่มชอบ และรู้สึกว่าได้เข้าใกล้ฝันที่ฝันตั้งแต่เด็ก คือการเป็นดารา  เราไม่เคยเห็นคนหูหนวกในไทยเป็นดาราเลย มีแต่ในต่างประเทศ ในภาพยนตร์ จึงอยากให้บ้านเรามีบ้าง อย่างไรก็ดีพอเราได้ลองเล่นละครก็พบว่ายากมาก กดดันมาก กล้องก็เยอะ มีแต่คนหน้าตาดี แต่เราก็พยายามที่จะเรียนรู้ ยิ่งพอผ่านเข้ารอบไปเรื่อยๆ ความตื่นเต้นและความกดดันก็น้อยลง 

ชีวิตในกองถ่ายเป็นอย่างไร

หลังแคสติ้งละครสงครามนางงาม 2 ผ่านจะต้องเรียนการแสดงก่อน ทั้งการใช้สีหน้า อารมณ์ การวิเคราะห์ตัวละคร โดยแบ่งเป็นกลุ่มกลุ่มละ 10 คน ใน 1 เดือน เมื่อเรียนจบก็มีบทมาให้อ่านตามตัวละครที่เราแสดง เวลาได้บทมาก็จะมีล่ามคอยช่วยแปล ผู้กำกับก็จะคุยกับล่าม แล้วให้ล่ามเล่าชีวิตของตัวละครและแนะนำว่า ให้นึกถึงชีวิตตัวเองเพื่อบิ้วอารมณ์ไปด้วย นอกจากนี้ก็ต้องมีการฝึกบทมาล่วงหน้า มีบ้างบางครั้งที่เปลี่ยนบทเลยต้องเล่นสด ตลอดเวลาที่อยู่ในกองเราสื่อสารผ่านล่ามและมีการบล๊อกกิ้ง ทำให้การสื่อสารค่อนข้างง่าย  

สิ่งที่เพิ่งรู้คือ นัดเช้าไม่ได้แปลว่าถ่ายเช้า บางวันกองนัดเรา 8 โมงเช้า แต่ก็ต้องรอจนถึงดึกยังไม่ได้ถ่าย กว่าจะได้กลับบ้านก็ตีสี่ แต่สำหรับเรื่องการแสดงเราไม่มีปัญหา พอเป็นคนหูหนวกก็คุ้นเคยกับการแสดงสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ เพราะเป็นสิ่งที่คนหูหนวกทำเป็นปกติ

ช่วงที่ทำงานแรกๆ ก็เครียด ไม่อยากทำ ไม่อยากถ่าย แต่พออยู่ในกองได้เจอเพื่อนและผู้กำกับ ทุกคนเป็นมิตรและส่งพลังบวกให้เยอะมาก ตอนนั้นมีความสุขมาก ถึงแม้บางคนอาจมองว่าเราสื่อสารยากแต่เราก็ยังอยากให้ผู้กำกับให้โอกาสคนหูหนวก โดยเฉพาะหากมีตัวละครหูหนวกก็ควรให้คนหูหนวกแสดง เหมือนกับในต่างประเทศที่ใช้คนหูหนวกแสดงบทคนหูหนวก แต่ในไทยมักใช้คนหูดีแสดงบทคนหูหนวก  

เราอยากเห็นคนหูหนวกเป็นนางเอก และอยากให้วงการบันเทิงเปิดโอกาสให้คนหูหนวกได้มีโอกาสเข้าสู่การแสดงละครมากขึ้น

สิ่งที่คนหูดีไม่เข้าใจคนหูหนวก

คนหูหนวกไม่ชอบถูกมอง ถูกจ้อง บางครั้งเรานั่งคุยระหว่างกินข้าวกับเพื่อน คนหูดีก็มองแล้วทำสีหน้าเหมือนนินทา เราโกรธนะเพราะไม่เข้าใจว่ามองอะไร แค่ใช้ภาษามือเลยคิดว่าเราไม่รู้เรื่องเหรอ เราอ่านปากได้นะ ไม่อยากให้ดูถูก นินทากัน แล้วก็ไม่อยากให้เรียกคนหูหนวกว่า ‘ใบ้’ แม้ส่วนตัวเราไม่ได้อะไรกับคำนี้และเข้าใจว่าเป็นคำโบราณที่เรียกต่อกันมา แต่มีคนหูหนวกอีกหลายคนที่ไม่พอใจ คำว่าใบ้ไม่เหมาะที่จะเรียกเพราะว่าความหมายของคำว่าใบ้คือคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา แต่จริงๆ แล้วคนหูหนวกก็มีศักยภาพ มีความรู้ ความสามารถ เพียงแต่เราไม่ได้ยินเท่านั้น 

หากครอบครัวไหนมีลูกเป็นคนหูหนวก ก็อยากให้พ่อแม่พยายามอยู่กับเขาให้มากที่สุด อย่าผลักเขาออกจากสังคมเพราะจะทำให้คนหูหนวกไม่ได้รับการพัฒนา อยากให้ปล่อยคนหูหนวกใช้ชีวิต เรียนรู้ ได้รับการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะ อย่าห่วงหรือหวงจนปิดตา ขาดความรู้ ไม่พัฒนา การบอกว่าไม่ให้ทำหรือทำไม่ได้นั้นฝังใจ เหมือนกับที่เราฝังใจคำว่า ‘ทำไม่ได้’ ของพ่อแม่ และอย่าบังคับลูกให้อ่านปาก ส่งเสริมให้ลูกใช้ภาษามือ และเรียนรู้ภาษามือไปพร้อมๆ กับเขาเพื่อสื่อสารกันจะดีกว่า 

บอกอะไรกับคนหูหนวกที่ยังมองว่าตัวเองทำไม่ได้

อยากให้ทุกคนพยายามเปิดประสบการณ์ตัวเอง พาตัวเองไปอยู่ในสังคมหลายๆ แบบ มีความกล้า มีความมั่นใจ ถ้าเรามัวแต่ตื่นเต้นหรือกลัวก็จะไม่ได้พัฒนาไปข้างหน้า แถมยังถอยหลัง แรกๆ เราก็มีความกลัวแต่สุดท้ายก็พยายามทำ บางครั้งไม่มีล่ามก็ต้องพยายามสื่อสารให้ได้ผ่านการใช้เทคโนโลยี

เราเข้าใจว่า ในไทยคนหูหนวกยังไม่เท่าเทียม ยังถูกกดดัน ถูกข่มเหง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันพัฒนาและส่งเสริมให้คนหูหนวกมีความคิดความอ่านเท่าเทียมกับคนอื่น 

ล่ามภาษามือ : ชนากานต์ พิทยภูวไนย