Skip to main content

“เมืองสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตคนให้ดีได้ ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่”

คำพูดนี้ไม่ไกลเกินความเป็นจริง เพราะเอนริเก เปญาโลซ่า (Enrique Peñalosa) อดีตนายกเทศบาลเมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย บุคคลที่อยู่ในปฐมบทของ ‘Happy City’ หนังสือที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองเล่มแรกที่แอดมินเพจฟุตบาทไทยสไตล์โพสต์แนะนำในเพจ ได้เล่าถึงการเปลี่ยนเมืองที่มีจราจรวุ่นวาย ที่ถูกรถยึดครองนานนับทศวรรษไปเป็นเมืองที่คนเดินเท้ามีสิทธิได้รับความปลอดภัยในการเดินทางไม่ต่างจากรถยนต์

เชื่อว่าหลายคนอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้น อยากเห็นทางเท้าดีๆ หากแต่ไม่มีใครมีอำนาจอย่างนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตาที่ออกกฎหมายให้รถยนต์หยุดวิ่ง ใช้รถเมล์ ให้พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ออกจากลานสาธารณะได้จริงและสัมฤทธิผล การเคลื่อนไหวในไทยจึงเห็นเด่นชัดผ่านโซเซียลมีเดีย โดยเฉพาะเพจเฟซบุ๊ก เพื่อแสดงปัญหาให้หน่วยงานรัฐหันมามอง นี่คงเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทำได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง 

รูปภาพปกเขียนว่าฟุตบาทไทยสไตล์ เพจเรียกร้องประชาธิปไตยบนทางเท้าให้กับทุกคน เป็นรูปทางเท้าที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม

เพจที่เริ่มจากปัญหา

“เราเห็นปัญหาทางเท้าแล้วทนไม่ได้ อยากมีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหาด้วย” นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้แอดมินตัดสินใจก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘ฟุตบาทไทยสไตล์’ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการยกระดับคุณภาพฟุตปาธให้ทุกคนเดินได้อย่างปลอดภัย

เขาเล่าว่า หลายครั้งเห็นการพูดคุย แจ้งปัญหาตามกระบวนการ แต่ก็ไม่เห็นผลสักเท่าไร แต่ถ้าเขียนคอนเทนต์ด่า ก็จะเห็นว่าเจ้าหน้ารีบลงมือแก้ไขปัญหา แอดมินจึงยึดคาแรคเตอร์นี้มาสื่อสาร ปัจจุบันเขาใช้วิธีเขียนโพสต์ด่าและแซะ พร้อมกับใช้ภาพมาเปรียบเทียบสะท้อนให้เห็นความแตกต่างทางเท้าในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ติดตามเพจเห็นว่า ทางเท้าบ้านเราสามารถดีขึ้นกว่านี้ได้

ภาพถ่ายขอบฟุตปาธขาวแดงที่เห็นพื้นของทางเท้าเป็นทางเรียบ ไม่ขรุขระเหมือนที่ผ่านมา

แม้ในช่วงแรกคอนเทนต์ยังไม่เห็นผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป การสร้างคอนเทนต์อย่างต่อเนื่องก็ทำให้กลายเป็นไวรัล จนมียอดกดไลก์ กดแชร์ตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น กระนั้นเองถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแสดงตัวเพื่อแก้ไขปัญหา แต่เขาก็มองว่า ยังเป็นการแสดงตัวแบบขอไปทีและไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง 

เพราะอำนาจที่มีนั้นไม่เท่ากัน

“เพจไม่ได้มีอำนาจบริหารเหมือนคนในตำแหน่ง เพจไม่มีสิทธิใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดแบบตำรวจ เพจแค่เป็นสื่อที่คอยเป็นหูเป็นตาให้” เขาเล่าพร้อมเสริมต่อว่า ไม่สมควรต้องมีใครสร้างเพจเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐมาแก้ไขสิ่งที่เป็นหน้าที่เขาอยู่แล้ว เพราะเสียภาษีให้กับรัฐแล้ว 

นอกจากคอนเทนต์เกี่ยวกับปัญหาฟุตปาธ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่แอดมินขับเคลื่อนและมองว่าเป็นประเด็นที่ควรขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา  แต่การออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design  ต่างหากจะช่วยให้เกิดประชาธิปไตยบนทางเท้าอย่างแท้จริง 

ภาพคนรอรถเมล์ที่ป้าย และทางเท้าที่ซ่อมแซมขรุขระตรงช่วงขอบฟุตปาธ

ภาพทางเท้าที่ยังซ่อมไม่เรียบร้อย ทำให้คนต้องยืนรอรถเมล์ตรงขอบฟุตปาธ

เขาแนะนำว่าควรมีวิชาการออกแบบเพื่อทุกคน บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่สำหรับคนที่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น 

เพราะทุกคนอาศัยอยู่ในเมืองและเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับทุกคน

“ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ยิ่งต้องเชี่ยวชาญเรื่องนี้กว่าใคร เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ เมื่อตัดสินใจแล้วส่งผลกระทบสูง”

จากทำงานคนเดียว สู่การมีส่วนร่วมของสังคม

ก่อนหน้านี้ เวลาเขาทำงาน ไม่ว่าจะถ่ายรูปหรือโพสต์ภาพก็เคยถูกขู่ฟ้องหมิ่นประมาท ทั้งที่ภาพของร้านที่วางสิ่งของกีดขวางทางเท้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เขาจึงแนะว่าเจ้าหน้าที่ควรจับ จัดระเบียบด้วยมาตราการที่เข้มข้น เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้ารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องผิดกฎหมายและสังคมไม่ยอมรับ 

ช่วงเปิดเพจใหม่ๆ เขาเล่าให้ฟังว่า เขาต้องออกเดินทางไปถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นสต็อก แต่ตอนนี้แทบจะไม่ต้องลงพื้นที่เอง เพราะในทุก วันจะมีคนทักมาหาเพื่อส่งภาพปัญหามาให้วันละ 10 - 15 คน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องแผงลอย รถเข็นตั้งกีดขวางทางเท้า มอเตอร์ไซด์ที่จอดบนฟุตปาธ รถที่จอดขวางทางเข้าบ้าน ฟุตปาธที่พุพังเป็นเวลานานและที่จอดรถคนพิการ ฯลฯ

ภาพฟุตปาธข้างทางที่มีกองทราย ถุงปูน ที่ตักทรายวางกองอยู่ริมขอบฟุตปาธ

ภาพครึ่งหนึ่งของทางเท้าเป็นพื้นกระเบื้องฟุตปาธที่ถูกทุบเป็นก้อนปูนทิ้งไว้ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นพื้นกระเบื้องฟุตปาธปกติ ที่ยังไม่ได้ถูกทุบให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ น้อยๆ

แม้ภาพจำของปัญหาฟุตปาธสำหรับคนไม่พิการคือ ภาพของคนพิการนั่งวีลแชร์ที่ไม่สามารถใช้ฟุตปาธได้ แต่นอกจากปัญหานี้ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ถูกมองข้าม เช่น ทางลาดระหว่างเข้าห้าง ทางข้ามระหว่างเกาะกลางข้ามทางม้าลาย การทำพื้นให้เรียบเรียบกัน (Stepless) หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะทำให้คนนั่งวีลแชร์สามารถเข็นไปทุกที่อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องพะวงจะหงายหลังหรือล้อฟรี 

นอกจากนี้เขายังสะท้อนว่า การอำนวยความสะดวกบางอย่างก็ทำให้คนพิการรู้สึกแปลกแยก อย่างการติดโลโก้วีลแชร์ฟุ่มเฟือยตามทางลาดสั้นๆ บริเวณหน้าทางเข้าอาคารที่คนมักจะรู้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้วว่าเป็นทางขึ้นสำหรับวีลแชร์ การทำแบบนี้นั้นตอกย้ำเรื่องความพิการ นอกจากนี้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกบางอย่างก็ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ เช่น ลิฟต์บันไดสำหรับคนพิการ (Stairlift) สำหรับเข้าห้าง บางครั้งต้องรอ รปภ. เปิดเครื่องลิฟต์บันได และใช้เวลานานเพื่อเคลื่อนตัวรับ - ส่งคนพิการ ทำให้รู้สึกว่าคนพิการเป็นตัวประหลาด หากทำเป็นทางลาดจะสะดวกกว่า คนพิการไม่ได้ปฏิเสธความพิการ ขอแค่มีสิ่งอำนวยสะดวกเหมาะสมให้ดำเนินชีวิตเหมือนคนทั่วไป  

ส่วนเรื่องที่จอดรถก็ยังเป็นเรื่องที่มักถูกเข้าใจผิด การทาสีน้ำเงินที่พื้นที่จอดรถเดิมและใส่โลโก้วีลแชร์ แต่พื้นที่ด้านข้างกว้างเท่ากับที่จอดรถคนไม่พิการ นั้นไม่ถูกต้องและทำให้คนพิการไม่สามารถเอาวีลแชร์ลงจากรถเองได้ ทั้งที่เรื่องนี้มีการกำหนดไว้แล้วว่าระยะห่างจากด้านข้างรถตัวรถทั้ง 2 ด้านต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร ทั้งสำหรับคนพิการที่นั่งข้างคนขับและคนพิการที่ขับรถด้วย 

 
คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ