Skip to main content

เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “บ้าแล้วไง?: กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช” โดยมี ดร.ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และสุพรรณี แสงรักษา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชชุมชน สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ร่วมสัมมนา ดำเนินรายการโดย ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

หน้าปกคอนเทนต์สรุปเสวนา “บ้าแล้วไง?: กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช” ซึ่งเป็นรูปค้อนประธานที่น้ำตาลแดงวางอยู่

วิธีการดำเนินการทางกฎหมาย

ช่วงแรก ดร.ญาดาเล่าถึงกระบวนการทางกฎหมายที่ใช้จัดการกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชให้ฟังว่าปกติคดีทำร้ายร่างกายผู้อื่นจะใช้กฎหมายอาญาเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นผู้กระทำความผิดที่คาดว่าป่วยเป็นโรคจิตเวชจะมีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เข้ามาเกี่ยวข้อง

ผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนตรงที่ว่า วัตถุประสงค์ของกฎหมายอาญาคือ ลงโทษผู้กระทำผิด แต่ผู้กระทำผิดเป็นผู้ป่วยจิตเวชก็มีข้อสงสัยว่า เขาเป็นผู้ป่วย แล้วควรลงโทษเขาเหรอ ดังนั้นต้องสร้างจุดสมดุลว่าเมื่อไหร่ที่จะลงโทษเขา หรือเมื่อไหร่ที่จะบอกว่าผู้กระทำผิดมีอาการป่วยมากเกินจะนำตัวไปลงโทษ แต่ควรส่งไปบำบัดรักษา และไม่สมควรได้รับความผิดทางอาญา

หากบังเอิญเจอคนที่อยู่ดีๆ ตะโกนเสียงดัง ทำท่าทางแปลกประหลาด พูดพึมพำอยู่คนเดียว ซึ่งดูทีท่าว่ามีอาการป่วยเป็นโรคจิตเวช ดร.ญาดาแนะว่า สามารถแจ้งให้ตำรวจดำเนินการพาคนนั้นไปรักษาตัว แต่ถ้าพบว่าผู้กระทำความผิดที่มีความผิดปกติทางจิตได้ก่ออาชญากรรมแล้วแต่ไม่สามารถแจ้งตำรวจได้ ก็สามารถแจ้งบุคคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้นำตัวหรือคุมตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ หลังจากแพทย์พิจารณาว่าควรได้รับการบำบัดรักษา ก็สามารถสั่งให้รักษาผู้ป่วยที่กระทำความผิดได้เลย ไม่ต้องรอคำสั่งศาล โดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 

ระหว่างชั้นสอบสวน หากผู้กระทำผิดมีอาการป่วยกำเริบขึ้นมา จนไม่สามารถสู้คดีได้ ก็ต้องพักการสอบสวนมูลฟ้องไว้ก่อน เพราะถ้าไต่สวนไปโดยไม่สามารถต่อสู้คดีก็จะกลายเป็นกระบวนการที่มิชอบ ขัดต่อสิทธิของผู้ต้องหา ดังนั้นจึงต้องดำเนินการส่งไปที่สถานพยาบาลเพื่อวินิจฉัยต่อไป บุคคคลที่มีอำนาจส่งผู้กระทำผิดไปบำบัดรักษาถ้าเป็นชั้นสอบสวนจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องพิจารณาจะเป็นศาล การส่งไปโรงพยาบาลเพื่อคลี่คลายความสงสัยว่ามีอาการป่วยกำเริบจริงหรือเปล่า ไม่ใช่แกล้งป่วยเพื่อพ้นจากความผิด ถ้าแพทย์ตรวจแล้วพบว่าป่วยจริงก็ต้องรักษาก่อน แต่ถ้าพบว่าไม่ได้ป่วยจริง แกล้งป่วย หรือมีความสามารถในการต่อสู้คดีก็ต้องกลับไปพิจารณาคดีตามกระบวนการ

สำหรับผู้กระทำความผิดแล้วแอบอ้างว่าป่วยเป็นโรคจิตเวชในทางกฎหมายไม่มีบทลงโทษ และก็ไม่ผิดมาตรา 177 เบิกความเท็จในการพิจารณาต่อศาล ถ้าเบิกความว่าทำผิดเพราะป่วย จำเลยมีสิทธิจะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเองอยู่แล้ว แต่หากจ้างแพทย์ให้ออกใบรับรองว่าป่วย แพทย์จะมีความผิด และผู้กระทำความผิดฐานผู้สนับสนุนได้ 

ทางกฎหมายกล่าวว่าคนที่จะสามารถรับผิดทางอาญาได้ จะต้องเป็นคนที่มีความคิดเชิงตรรกะ ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสิ่งที่คุณทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าคุณรู้ว่าผิดกฎหมาย และยังทำด้วยสติปัญญาที่มีอยู่เต็มร้อย แปลว่าคุณสามารถรับผิดทางอาญาได้ และยังมีลักษณะโครงสร้างรับผิดทางอาญาครบ ไม่ว่าจะการกระทำและเจตนา สมควรได้รับความผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ 

แต่ถ้าผู้กระทำผิดที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว เข้าใจว่ามีคนจะมาตามฆ่า จึงฆ่าคนคนนั้น และเชื่อว่าหากได้รับการรักษาหายเป็นปกติ เขาก็เป็นคนปกติคนหนึ่ง เหตุผลที่กระทำเพราะอาการของโรคทำให้เกิดความหลงผิด ดังนั้นสมควรมีเหตุยกเว้นโทษ จึงเป็นเหตุผลที่ก่อให้เกิดข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตขณะกระทำความผิด (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65) จากที่ทำการเก็บสถิติพบว่าโรคจิตเวชที่ใช้ยกเป็นข้อต่อสู้วิกลจริตขณะกระทำความผิดในมาตรา 65 สำเร็จมีดังต่อไปนี้ ได้แก่ โรคบกพร่องทางสติปัญญา โรคจิตเภท โรคจิต โรคจิตหวาดระแวง โรคจิตที่เกิดจากพิษสุราเรื้อรัง โรคเลือดหลังคลอดบุตร โรคประสาท และโรคซึมเศร้า

ระหว่างเสวนา มีคำถามจากผู้ชมถามว่าตอนอยู่ในชั้นศาล ผู้กระทำผิดพูดจารู้เรื่อง และจะนำการกระทำที่แสดงในชั้นศาลมาอ้างว่าตอนกระทำผิดไม่รู้เรื่องได้หรือไม่ ดร.ญาดาให้คำตอบว่า มีบางกรณีที่ผู้กระทำผิดสามารถต่อสู้คดี มาฟังการพิจารณาและมาสืบพยานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ณ วินาทีที่กระทำความผิดไม่ได้วิกลจริต ซึ่งควรทำความเข้าใจก่อนว่าเป็นคนละเรื่องกัน บุคคลที่มีความสำคัญในการสืบพยานคือ พยานผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ที่วินิจฉัยอาการผู้กระทำผิดว่ามีอาการทางจิต และในขณะทำผิดมีความรู้ผิดชอบเพียงใด ข้อมูลที่ได้จะให้ผลต่างกัน 

ถ้าศาลรับฟังได้แล้วว่าขณะกระทำความผิดไม่สามารถบังคับให้ตัวเองไม่กระทำได้ผิดได้เลย เนื่องจากโรคทางจิตเวช ผู้กระทำผิดก็ไม่ต้องรับโทษ กรณีนี้จะเข้าข่ายมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ก็จะสามารถปล่อยตัวได้เลย หรือถ้าศาลเห็นว่าปล่อยตัวผู้กระทำความผิดไปแล้วไม่ปลอดภัย ศาลสามารถสั่งให้คุมตัวอยู่ในสถาบันพยาบาลเพื่อบำบัดรักษาได้

หากป่วยเป็นโรคจิตเวชจริง แต่ระหว่างกระทำผิดสามารถบังคับตัวเอง รู้ผิดชอบชั่วดีได้อยู่บ้าง ก็จะเข้าสู่มาตรา 65 วรรคสอง จะส่งผลให้เกิดการลดโทษตามดุลพินิจของศาล ซึ่งโทษส่วนใหญ่คือจำคุก แต่ถ้ายังเห็นว่าควรบำบัดรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลก็สามารถทำได้อยู่ หากผู้ป่วยจิตเวชได้รับโทษจำคุกและหลุดเข้าไปในเรือนจำ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ให้ผู้ที่จำคุกที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชพบแพทย์และส่งตัวไปบำบัดรักษานอกเรือนจำได้ แต่ทางปฏิบัติก็แยกตัวและล่ามเอาไว้ และการนำผู้กระทำความผิดออกมาบำบัดมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากกว่าให้ผู้กระทำผิดได้รักษาตัวตั้งแต่แรก

สำหรับผู้กระทำความผิดที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชและมีโทษประหารชีวิต แต่มีอาการกำเริบก่อนถูกประหารชีวิต จะต้องงดการประหารชีวิตก่อน ถ้ารักษาอาการหายได้ภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่มีคำพิพากษาก็ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน เพราะเราจะไม่ประหารชีวิตผู้วิกลจริต ขัดวัตถุประสงค์การลงโทษคือให้รู้สึกผิด

ดร.ญาดาจึงสรุปว่าการอ้างว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช เพื่อลดโทษ หรือพ้นโทษ เป็นความเชื่อที่ผิด และการพิจารณาว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ในต่างประเทศมีงานวิจัยเรื่องคนส่วนใหญ่จะไม่ยกเรื่องตนเองเป็นโรตจิตเวชมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล เพราะสมัยก่อนถ้ามีอาการทางจิตจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลไปตลอดชีวิต ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ หากมาคำนวณระยะเวลาพบว่าต้องอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าอยู่ในคุกอีก ดังนั้นทำให้หลายคนตัดสินใจรับสารภาพ ส่วนของประเทศไทย ถ้าผู้กระทำความผิดต้องเข้าบำบัดรักษาตัว เวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลจะไม่ถูกนำมาหักในโทษจำคุก การทำแบบนี้ก็ยิ่งจำกัดเวลาที่จะได้เป็นใช้ชีวิตอิสระเพิ่มมากขึ้น 

วิธีการดำเนินการทางการแพทย์

พญ.ดวงตาระบุว่า แพทย์เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ข้อมูลว่าผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชป่วยจริงหรือไม่กับศาลเพื่อนำไปตัดสินคดีความ อาศัยอำนาจพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ตั้งคณะกรรมการสถานการณ์บำบัดการรักษา ในกรณีที่ผู้กระทำผิดหรือญาติไม่เซ็นต์ยินยอมให้

วิธีการพิสูจน์ว่าผู้กระทำผิดเห็นภาพหลอน เห็นภาพและแปลความหมายผิด ระหว่างกระทำความผิด แล้วแพทย์จะรู้ได้อย่างไร เนื่องจากแพทย์ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ฉะนั้นประวัติทุกอย่างผู้กระทำผิดต้องเก็บมาแล้วอธิบายว่าเห็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ และเป็นโรคจิตเวชประเภทไหน แพทย์ต้องดูว่าก่อนก่อคดีผู้กระทำความผิดเป็นอย่างไร หากมีประวัติตั้งแต่เด็กก็ยิ่งดี ถ้าบอกว่าตนกระทำเพราะความเจ็บป่วยก็ต้องมีหลักฐานการเข้าถึงการรักษา ระหว่างที่ก่อคดีพฤติการณ์พยานแวดล้อมเห็นเป็นอย่างไร หลังจากก่อคดีเป็นอย่างไร เพื่ออธิบายว่าป่วยจริงหรือไม่จริง 

ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่ามีการคิดวางแผน ทั้งเลือกเวลา สถานที่ที่จะก่อเหตุ สถานที่หลบหนี ก็มีโอกาสที่ผู้กระทำความผิดไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิตเวชจริง 

ส่วนข้อสงสัยบางประการว่าแพทย์ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จะเชื่อได้อย่างไร พญ.ดวงตาเล่าว่าแพทย์มีหน้าที่ให้ความเห็นตามทางการวิชาการทางการแพทย์ ส่วนที่เชื่อได้หรือไม่ได้เป็นการตัดสินใจของศาล

เธอเล่าต่อว่า มีคนไข้ที่มีอาการทางจิตขโมยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตอนโดนจับอาการแย่มาก แพทย์นำมารักษาจนอาการดีขึ้น และทำการพิสูจน์ว่ามีอาการวิกลจริตขณะกระทำความผิด ก็พบว่าตอนทำไม่มีอาการทางจิต เพราะตอนกระทำความผิดมีการหลอกล่อเหยื่อให้ไปที่อื่น เพื่อหาทางขโมยโทรศัพท์มา อีกกรณีหนึ่งอ้างว่ากระทำผิดเพราะละเมอไปแทงผู้ป่วย และไปหาหมอตรวจการนอนหลับเพื่อยืนยันว่าตนเองมีการละเมอจริง แต่พอสืบไปได้สักระยะก็พบว่าผู้กระทำความผิดมีหนี้พนัน และรู้ว่าเหยื่อมีนาฬิกาโรเล็กซ์และอาศัยเวลากลางคืนเพื่อขโมยของ แต่เหยื่อตื่นมาเห็นตอนขโมยของพอดี จึงถูกแทง

พญ.ดวงตาและดร.ญาดาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการปล่อยให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าไปอยู่ในคุกไม่ใช่เรื่องที่ดี เนื่องจากตำรวจไม่รู้กฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 รู้เฉพาะกระบวนการทางอาญาเท่านั้น ไม่รู้ว่าผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชขอทนายได้ หรือศาลออกคำสั่งให้จัดตั้งทนายอาสาได้ เพราะความไม่รู้จึงส่งผลให้ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชถูกส่งเข้าไปในเรือนจำ ในมุมแพทย์คิดว่าจะทำให้การรักษาฟื้นฟูได้ยากมากขึ้นกว่าเดิม หากทนายและศาลมีความเข้าใจเรื่องนี้ ผู้ที่กระทำความผิดอาจจะได้รับการพิจารณาบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง 

สุพรรณีเล่าว่าการอยู่ในเรือนจำมียารักษาคนไข้ไม่พอ บางทีรวบยาสามมื้อเหลือแค่สองมื้อ พอได้ยาไม่ครบส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบหนักขึ้นได้

นอกจากนี้เธอแลกเปลี่ยนว่า ผู้กระทำความผิดที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชจะก่อคดีทำร้ายร่างกายต่อเมื่อผู้ป่วยมีความหวาดระแวงชัดเจน เดิมทีจะเข้าใจว่าจะมีการบำบัดผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ป่วยอย่างเดียว แต่ควรรักษาชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เขามีบาดแผลทางจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษา อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิต ประกอบกับคนมีความเชื่อว่าผู้กระทำความผิดที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชฆ่าคนตายไม่ผิดหรอก กลับเข้าสู่ชุมชนอาจจะฆ่าคนตายอีกก็ได้ ดังนั้นเมื่อพยาบาลอัดวิดีโอสัมภาษณ์คนไข้จิตแพทย์ให้คนในชุมชนดูเพื่อให้คนไข้สามารถกลับไปอยู่กับชุมชนเดิมได้ แต่ระหว่างการสื่อสาร ข้อความที่ต้องการสื่อสารแต่แรก แล้วสารสุดท้ายที่ไปถึงชาวบ้านบอกว่าโรงพยาบาลจิตเวชจะเอาคนไข้กลับบ้าน ทำให้คนในชุมชนเครียดจนมีอาการต่างๆ จนกระทบกับชีวิตประจำวัน

กรณีปล่อยผู้กระทำความผิดไปแล้ว จะต้องส่งข้อมูลให้สาธารณสุขในพื้นให้ช่วยตรวจเช็คว่ากินยาไหม ไปหาหมอหรือเปล่า เราจึงเปลี่ยนแนวทางติดตามผู้ป่วยให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นจากองค์ความรู้ที่ดูแลคนไข้จริง ซึ่งสาธารณสุขในพื้นที่จะต้องดูแล ‘ยา จิต กิจวัตร ปรับ เตือน’ เป็นตัวเช็คลิสต์ให้เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ถาม ยา - กินยาครบตามที่หมอสั่งไหม ยามีเอฟเฟกต์อะไรบ้าง และกินยาเสพติดหรือเปล่า, จิต - ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีเรื่องอะไรทุกข์ใจหรือไม่, กิจวัตร - ทำกิจวัตรด้วยตัวเองได้ไหม, ปรับ - ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ไหม และเตือน - มีอาการเตือนไหม เช่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ อารมณ์ชุนเชียว หากรู้ว่าคนไข้มีอาการเตือนส่อให้เห็นว่าจะมีอาการกำเริบ และจัดการดูแลคนไข้ได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งหนทางช่วยป้องกันผู้ป่วยกระทำความผิดได้ 

ระหว่างเสวนามีคำถามว่าคนเป็นซึมเศร้าสามารถฆ่าคนได้จริงเหรอ จึงได้คำตอบในกรณีของผู้กระทำผิดมีอาการซึมเศร้ารุนแรง เพราะรู้สึกว่าชีวิตโหดร้าย ต้องอยู่ด้วยกันสองแม่ลูก พ่อก็ทิ้ง ไม่มีญาติ ถ้าแม่ไปก็จะต้องเอาลูกไปด้วย เลยพยายามฆ่าตัวเองและฆ่าลูกเพื่อให้จบความทุกข์ในชาตินี้ แต่บางทีผู้กระทำความผิดรอด แพทย์ก็ต้องพิสูจน์ว่าเป็นซึมเศร้าจริงไหม หรืออ้างว่าเป็นซึมเศร้าเพื่อลดโทษ 

แพทย์หญิงดวงตากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าผู้ป่วยก็เป็นคนที่อยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกับคนอื่น แต่เมื่อไหร่ที่กระทำความผิดเพราะป่วยเป็นโรคจิตเวช และพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงก็ควรได้รับการลงโทษอย่างเป็นธรรม ถ้าไม่ได้กระทำผิดเพราะป่วย ผู้กระทำความผิดก็ต้องยอมรับความผิดที่ก่อ ไม่ใช่นำสิ่งเหล่านี้มาอ้างให้ได้รับโทษน้อยลง ดังนั้นการบอกว่าเป็นโรคจิต ไม่ต้องรับโทษ ไม่ใช่เรื่องจริง พูดแบบนี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย

 

ดูเฟซบุ๊กไลฟ์สุดได้ที่ เพจเฟซบุ๊กคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่ลิงก์ https://web.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=506120217692841