Skip to main content

“การได้เป็นตัวเองนั้นสำคัญมากเพราะเป็นการปลดปล่อยพันธนาการต่างๆ ที่สังคมคาดหวังและกดดันว่า เกิดมามีเพศกำเนิดหญิงต้องทำตัวแบบนั้น ต้องทำตัวแบบนี้ เราจึงได้รักตัวตนที่แท้จริงในฐานะคนออทิสติก ทรานส์มาสคิวลีนและนอน - ไบนารี่

“พวกเราคือเจ้าของปัญหา รู้ว่าต้องการสิ่งสนับสนุนอะไรจากสังคม แต่ปัญหาปัจจุบันคือเราไม่มีพื้นที่ สังคมไม่เปิดรับ ไม่ให้โอกาสให้พวกเราได้ทำ คนไทยคิดว่า คนออทิสติกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดอะไรไม่รู้เรื่อง ก็เลยให้ผู้ปกครองหรือใครหน้าไหนก็ไม่รู้มาพูดแทนอยู่เสมอ” บลูมกล่าว

ชวนคุยกับบลูม คนออทิสติก ทรานส์มาสคิวลีนและนอน - ไบนารี่ เนื่องในวันที่ 31 มีนาคม วันตระหนักถึงตัวตนของทรานส์เจนเดอร์ อะไรคืออคติและการตีตราตัดสินที่ขวางกั้นการแสดงอัตลักษณ์ ตัวตนและความต้องการของเขา และอะไรคือสิ่งที่คนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนต้องการสื่อสารผ่านสังคมที่เปิดโอกาส ไม่ตัดสินและรับฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ

บลูมคือใคร

บลูม: เราเป็นผู้ประสานงานเอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ และเป็นแอดมินกลุ่ม SAGA Thailand (Sexuality And Gender Acceptance Thailand)  มีอัตลักษณ์เป็นคนออทิสติก ทรานส์มาสคิวลีน (Transmasculine) และนอน - ไบนารี่ (Non-binary) ในภาษาไทยใช้สรรพนามว่า เขา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า they, them, their เรานิยามตัวเองเป็นคนข้ามเพศ ที่แสดงความเป็นผู้ชายหรือมาสคิวลีน แต่ไม่ได้อยากข้ามไปเป็นผู้ชายหรือมองว่าเป็นผู้ชาย แบบที่ทุกคนเข้าใจคนและชอบคิดว่าผู้ชายข้ามเพศจะต้องดูเหมือนผู้ชายตรงเพศ (cisman) ตัวเราสามารถลื่นไหล (fluid) ในเรื่องการระบุเพศ (gender identity) อัตลักษณ์ทางเพศนั้นสามารถเป็นอะไรก็ได้ในแบบเราต้องการจะแสดงออก

กว่าจะนิยามตัวเองได้แบบนี้ก็ใช้เวลานานมากเหมือนกัน เมื่อก่อนเคยคิดว่าตัวเองเป็นหญิงรักหญิง แต่หากย้อนไปตั้งแต่ 5 ขวบก็จำได้ว่าเราไม่เคยชอบอะไรที่ผู้หญิงชอบเลย ชอบแต่งตัวแบบผู้ชายแต่ก็มีความหวานบ้าง เช่น เล่นตุ๊กตาหมี แม่มดน้อยโดเรมี ด้วยบริบทบ้านเราความหลากหลายทางเพศยังติดขอบของคำว่า ทอม กะเทย ดี้ ยังไม่ได้มองถึงความหลากหลาย เวลาเราจะอธิบายอัตลักษณ์ตัวเองว่าเป็นนอน - ไบนารี่ และทรานส์มาสคิวลีน คนจะมองว่าอิหยังวะ ขนาดคนที่บ้านยังงงเลย 

ส่วนอัตลักษณ์เรื่องออทิสติกนั้นเริ่มมาตั้งแต่ตอน 4-5 ตอนนั้นเราเพิ่งจะพูดได้ หมอเคยวินิจฉัยว่าเราจะไม่มีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้คนดูถูกว่าเราไม่น่าจะช่วยเหลือตัวเองหรือไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ถึงขนาดว่าคิดว่าเราไม่มีอนาคต ตลอด 29 ปีที่ผ่านมาเราปฏิเสธตัวเอง บอกตัวเองว่าเราหายเป็นออทิสติกแล้วมาตลอด เพิ่งมี 2 - 3 ปีให้หลังนี้เองที่เรายอมรับว่าตัวเองเป็นออทิสติกแบบมั่นใจ หลังได้เจอกับน้องคนหนึ่งที่เป็นทั้งนอน - ไบนารี่และออทิสติก บวกกับตอนนั้นเราเรียนปริญญาโทที่นิวซีแลนด์เรื่องการพัฒนาชุมชน ในคลาสมีการเรียนเกี่ยวกับเรื่องคนพิการด้วยแนวคิดที่ว่า สังคมต้องปรับให้เข้ากับคนพิการ ทำให้ตัวเราค่อยๆ อันลอคความกลัวและยอมรับจุดนี้ของตัวเองด้วย

ความกลัวและการตีตรา

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับออทิสติกคือความกลัว กลัวว่าคนอย่างเราที่ถูกพูดดูถูกตลอดเวลาว่าไม่มีใครรักหรอก หรือไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หรอก จะเป็นแบบนั้นจริงๆ จึงกดดันตัวเองมาก เรามองว่าสามารถยอมรับการเป็น LGBT ได้ง่ายกว่าแต่ถึงอย่างนั้นก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี แต่อัตลักษณ์ออทิสติกนั้นใช้เวลาเกือบค่อนชีวิต อาจเพราะคนยังเข้าใจผิด กลัวว่าจะทำที่บ้านผิดหวัง แต่หลังจากเอาชนะความกลัวได้ ที่บ้านก็ยอมรับมากขึ้น เราคิดว่าอัตลักษณ์ทั้งสองนั้นเชื่อมโยงกันไปแล้ว อัตลักษณ์ทับซ้อน (intersectionality) นี้ทำให้เวลาเรามีปฏิสัมพันธ์กับสังคมและถูกเลือกปฏิบัติ ก็เหมือนถูกกระทบอัตลักษณ์ส่วนอื่นๆ ของเราด้วย 

หากเปรียบเทียบการตีตราระหว่างออทิสติกและ LGBT เราคิดว่าเหมือนกันตรงที่ทั้งสองอัตลักษณ์มักถูกมองว่าเป็นชนชั้นสอง คนคิดว่าสองกลุ่มนี้ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่หรือไม่มีสติ ส่วนสิ่งที่ต่างก็คือ LGBT มีแนวโน้มที่จะถูกมองเป็น วัตถุทางเพศ (sexual object) โดยเฉพาะกับผู้หญิงข้ามเพศในบ้านเราที่โด่งดังเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิทธิของคนข้ามเพศกลับถูกลิดรอน ในขณะที่ออทิสติกจะถูกมองว่าเป็นพวกไม่มีความอารมณ์ความรู้สึก หรือถ้าฉลาดก็ฉลาดจนอัจฉริยะ เช่น เก่งเลข และถ้าโง่ก็โง่ไปเลย ทำให้คนปฏิบัติกับพวกเราเหมือนไม่ใช่มนุษย์ผ่านการเหมารวม (stereotype) ว่า คนออทิสติกไม่เซนซิทีฟ ซึ่งโคตรไม่จริงเลย หากดูตามงานวิจัยจากต่างประเทศจะพบว่า การบอกว่าคนออทิสติกไม่โชว์ความเห็นอกเห็นใจ (sympathy) หรือไม่สนใจคนอื่นนั้นไม่จริง การทำงานของสมองเราไม่เหมือนใคร บางกลุ่มก็เซนซิทีฟมากและรู้สึกท่วมท้น (overwhelming) กับความรู้สึกคน เช่น เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นคนออทิสติก การลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นเพราะเขาเซนซิทีฟเรื่องสภาพอากาศ นี่คือรูปแบบหนึ่งของออทิสติก และสิ่งนี้ทำให้ทุกคนตกใจเมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนออทิสติก

ที่ผ่านมาสังคมอาจมองว่า คนออทิสติกเหมือนหุ่นยนต์ ไม่มีการรับ - ส่งความรู้สึก เราคิดว่าต้องโทษสื่อที่นำเสนอภาพแบบนี้ การเป็นออทิสติกก็เหมือนความหลากหลายทางเพศ มีความถี่ (spectrum) ที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความเห็นอกเห็นใจ ไม่โชว์ความรู้สึก หรือเก่งเลข คนออทิสติกบางคนก็เก่งด้านอื่น และมีความเซนซิทีฟกับสิ่งที่เขาหลงใหล

การเลือกอัตลักษณ์ = สิทธิ

เราคิดว่า สิทธิในการเลือกอัตลักษณ์ทางเพศและคำนำหน้า ควรเป็นสิทธิที่พวกเราควรพึงมี อย่าลืมว่าคนพิการมีความหลากหลาย ไม่ใช่คนพิการทุกคนที่เป็นผู้หญิงตรงเพศหรือชายตรงเพศ ยังมีคนพิการที่เป็นทรานส์ คนข้ามเพศหรือนอน - ไบนารี การไม่มีสิทธิเลือกอัตลักษณ์ทางเพศหรือคำนำหน้า ทำให้พวกเราในฐานะคนพิการกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนในสังคม สวัสดิการ สิทธิต่างๆ ในฐานะคนที่มีความหลากหลายทางเพศและคนพิการก็หายไป รวมทั้งเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ 

ที่ผ่านมา การคิดและตัดสินใจแทนอาจเกิดจากการที่สังคมมองว่า ร่างกายของคนพิการเป็นร่างกายที่ต้องถูกควบคุมและถูกจำกัด โดยเฉพาะเรื่องการแสดงออกและมิติทางเพศ ในหลายประเทศคนพิการถูกบังคับทำหมันทั้งที่ไม่ได้มีการยินยอมพร้อมใจ หรือหากเป็นคนข้ามเพศก็ห้ามแสดงตัวตนหรืออัตลักษณ์ออกมา เช่นเดียวกับในไทยที่มีสถานการณ์คล้ายกัน อย่างไรก็ดี แม้ต่างประเทศจะเผชิญกับข้อจำกัดนี้แต่ก็ยังโชคดีที่มีการพูดถึงและสร้างความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อนมากกว่าบ้านเรา 

จะเห็นว่าที่ผ่านมายังไม่มีคนพิการที่เป็นคนกำหนดนโยบาย ดังนั้นแน่นอนว่านโยบายต่างๆ เลยไม่เอื้อให้กับคนพิการ เราจึงควรมีตัวแทนคนพิการที่ทำงานจริงจังที่ไม่ใช่ไม้ประดับเข้าไปทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความหลากหลายทางระบบประสาท ยิ่งถ้าเป็นคนทำงานในรัฐสภายิ่งไม่ควรมีความเข้าใจผิดๆ และเอาความพิการไปล้อเล่น เรารู้สึกสยองนะที่คนทำงานระดับนั้นคิดแบบนี้ เลยมองว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้ระบบนั้นเอื้ออำนวยกับทุกคนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน

ออทิสติกตัดสินใจเองได้

ในต่างประเทศงานวิจัยต่างๆ ล้วนยืนยันแล้วว่า คนออทิสติกช่วยเหลือตัวเองได้ กลับกันบ้านเราระบบสังคมพึ่งพา (collective culture) ทำให้คนพิการถูกกกอยู่ในไข่ ไม่เข้าใจบริบทว่าคนพิการก็มีภาพแทน (agency) การตัดสินใจ และศักยภาพของตัวเอง แล้วทำไมไม่มอบพื้นที่นี้ให้กับพวกเรา คนออทิสติกหลายคนประสบความสำเร็จในงานของเขา แต่งงาน มีครอบครัว สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ผ่านระบบสนับสนุน สามารถตัดสินใจในสิ่งต่างๆ ได้เอง แม้วัฒนธรรมจะต่างกันแต่เชื่อว่าเปลี่ยนได้หากมีข้อมูลงานวิจัยที่เข้าถึงง่ายที่แสดงให้เห็นว่า ลูกออทิสติกก็ประสบความสำเร็จได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ความพิการไม่ใช่เรื่องน่าอาย และคุณสามารถสนับสนุนให้ลูกแข็งแกร่งในแบบที่เขาเป็นได้

คนมักมองว่า คนออทิสติกเป็นกลุ่มเปราะบาง (vulnerable ) และเข้ากับสังคมไม่ได้ แต่สำหรับเราคิดว่า ออทิสติกคือจุดแข็งที่ทำให้เราสนใจเรียนรู้เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ สังคม การพัฒนาระหว่างประเทศ และความหลงใหลในการช่วยเหลือคนนี่แหละทำให้เราสามารถทำงานเหล่านี้ได้

ในระยะหลังๆ บริบทของนักเคลื่อนไหวคนออทิสติกก็ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเชิงสังคม (social model) ว่า คนพิการไม่ใช่ปัญหาแต่สังคมนี่แหละเป็นปัญหา เพราะสังคมไม่เอื้อให้เกิดความเข้าถึงในระบบการเรียนรู้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ในห้องเรียนก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้ยอมรับการเรียนรู้ของคนที่มีระบบประสาทที่หลากหลายและคนออทิสติกหลายครั้งคนกลุ่มนี้ถูกตัดสินว่าโง่ แทนที่จะมองความต้องที่แตกต่างจากคนอื่น การมองความพิการเชิงสังคมจึงจะทำให้คนพิการไม่ต้องเจอการตัดสินระบบเวรกรรมเหมือนที่เคยเป็นมา 

สำหรับเราการได้เป็นตัวเองนั้นสำคัญมากเพราะเป็นการปลดปล่อยพันธนาการต่างๆ ที่สังคมคาดหวังและกดดันว่า เกิดมามีเพศกำเนิดหญิงต้องทำตัวแบบนั้น ต้องทำตัวแบบนี้ เราจึงได้รักตัวตนที่แท้จริงในฐานะคนออทิสติก ทรานส์มาสคิวลีนและนอน - ไบนารี่ ตั้งแต่เด็กเราไม่เคยเห็นคนที่เป็นต้นแบบจึงอยากจะมอบกำลังใจให้กับน้องน้องรุ่นต่อไปที่เจอกับประสบการณ์ชีวิตคล้ายๆ กัน อยากให้มองว่าสิ่งเหล่านี้คือความแข็งแกร่ง ไม่ใช่ความอ่อนแอ

ในความคิดเห็นของเรา คำว่าคนพิการในบ้านเราเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว จะพบว่าบ้านเราความพิการนั้นแบกอุ้มการตีตรา (stigma) ความน่าอายต่อวงศ์ตระกูลและการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ความพิการกลายเป็นวัตถุของความสงสารให้คนได้ทำบุญ ในเมืองนอกเขาพยามเปลี่ยนความหมายของคำว่าพิการใหม่ ให้กลายเป็นความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกับเรื่อง LGBT ที่สังคมต้องคอยสนับสนุนให้เขามีสิทธิ

อคติที่เกิดผ่านการพูดจาดูถูกว่า คนอย่างเราไม่มีใครรักหรอก หาแฟนไม่ได้หรอก เทำให้เราไม่กล้าที่จะมีเพื่อนเพราะมองว่าคนอย่างเราไม่มีใครอยากคบด้วย แต่พอได้เรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเอง คนอื่นก็เข้าหาเรามากขึ้น คนออทิสติกสามารถมีความสัมพันธ์ทั้งกับคนรักต่างเพศ เพศเดียวกันหรือไม่มีความรู้สึกดึงดูดทางเพศก็มี ไม่เหมือนกับที่คนมักมองว่า คนออทิสติกไม่ต้องการความสัมพันธ์หรือไม่ต้องการความรัก 

สังคมที่อยากให้ไปต่อ

คนบ้านเราต้องฟังผู้อื่นด้วยความเข้าใจ ด้วยความเคารพ ไม่เลือกปฏิบัติคนที่มีอัตลักษณ์ออทิสติก LGBT เราไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจทุกอย่างแต่ตราบใดที่คุณฟังโดยไม่ตีตราก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกจากนี้การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าของปัญหา เพื่อทลายกรอบคิดและอคติต่างๆ และเข้าใจคนออทิสติกในฐานะของความหลากหลาย ไม่ใช่สิ่งที่ต้องบำบัดแก้ไข ซึ่งเปรียบได้กับการจับ LGBT ไปบำบัดอัตลักษณ์ทางเพศ ถ้าพูดแบบไทยๆ ก็คือการแก้ทอมซ่อมดี้ การทำเช่นนี้นั้นฆ่าอัตลักษณ์ ฆ่าตัวตนของเขา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือการฆ่าตัวตายได้

ต้องอย่าลืมว่าพวกเราคือเจ้าของปัญหา รู้ว่าต้องการสิ่งสนับสนุนอะไรจากสังคม แต่ปัญหาปัจจุบันคือเราไม่มีพื้นที่ สังคมไม่เปิดรับ ไม่ให้โอกาสให้พวกเราได้ทำ คนไทยคิดว่า คนออทิสติกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดอะไรไม่รู้เรื่อง ก็เลยให้ผู้ปกครองหรือใครหน้าไหนก็ไม่รู้มาพูดแทนอยู่เสมอ

งานศึกษาในต่างประเทศพบว่าร้อยละ 20 ของ LGBT เป็นคนออทิสติก เรามองว่าอาจเป็นเพราะความคิดของพวกเราแหกกฎสังคม จึงมีแนวโน้มที่จะแหกกฏความหลากหลายทางเพศด้วย ถ้าคิดว่าเรื่องนี้น่าตื่นเต้นแล้ว ก็ยังมีอีกงานวิจัยที่ระบุว่า ที่นิวซีแลนด์มีงานวิจัยที่ชื่อ Counting on our self พบว่า คนข้ามเพศ นอน - ไบนารี่และความหลากหลายทางเพศอื่นๆ 1 ใน 5 คนเป็นคนออทิสติก แสดงให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนนี้เพื่อสนับสนุนให้พวกเราเข้าถึงสิทธิและการบริการเชิงสุขภาพ ไม่ใช่การมองว่า คนออทิสติกไม่สามารถตัดสินใจในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต การใช้ฮอร์โมน ขหรือการผ่าตัด การเข้าถึงบริการในกลุ่มคนข้ามเพศจะต้องเข้าใจอัตลักษณ์ของคนออทิสติกด้วยเช่นกัน

เราอยากบอกคนพิการที่เป็นทรานส์ นอน - ไบนารี่ และกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนอื่นๆ ว่า พวกเราจะเป็นกำลังใจให้กันและกันในสังคมที่กดทับพวกเรา ทั้งที่กดทับจากความพิการและกดทับจากอัตลักษณ์ทางเพศ การมีอยู่ของพวกคุณในสังคมนี้นั้นคือความกล้าหาญ และท้าทายสิ่งที่สังคมชายเป็นใหญ่และสังคมที่กำหนดเพศ เราจะเป็นกำลังใจให้กันและกัน 

ในสังคมวงกว้าง เราอยากให้คุณเรียนรู้  โอบรับ และเข้าใจความหลากหลายที่พ้นจากสิ่งที่พวกคุณคิดให้มากขึ้น และช่วยกันเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันในการซัพพอร์ตพวกเราต่อไป

สุดท้ายอยากชวนติดตามเพจเฟซบุ๊ก SAGA Thailand ซึ่งเป็นเพจแชร์ข่าวเรื่องความหลากหลายทางเพศ พวกเราเป็นกลุ่มที่เป็นกันเอง หากใครสนใจอยากเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อนก็สามารถติดตามได้เลยครับ

 
คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ