Skip to main content

เพราะความเจ็บป่วยทางจิตใจอย่างจิตเภทรุนแรงนั้นต้องได้รับการดูแลจากคนใกล้ชิด และเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเจ็บป่วยมักมาจากคนดูแลเสียส่วนใหญ่ ซึ่งอาจมีอารมณ์ ทัศนคติส่วนตัวและอคติที่ซ่อนอยู่ในคำบอกเล่าเหล่านั้น แต่จะดีอย่างไรหากได้ยินเรื่องเล่าเหล่านี้จากผู้ป่วยเอง เนื่องในเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งการตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิต Thisable.me ถือโอกาสสัมภาษณ์ฐิติมา จันสมรัก แม่ที่เป็นจิตเภทที่ถูกพูดถึงในบทสัมภาษณ์หรือสเตตัสของจอมเทียน จันสมรัก ลูกสาวผู้เป็น Mental Health Advocate 

ระหว่างที่อีเมล์พูดคุยกัน จอมเทียนแจ้งเบื้องต้นว่า แม่ไม่มีอาการก้าวร้าว ช่วงแรกที่สัมภาษณ์แม่อาจจะรู้สึกอาย ไม่มั่นใจในตัวเอง และไม่ค่อยอยากตอบคำถาม แต่หากฟังคำถามแล้วเข้าใจก็สามารถตอบคำถามได้ เราจึงนัดเจอกันที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และพาเคเอซี สุนัขสายพันธุ์ชิวาวาไปเดินเล่น เราจึงได้มีโอกาสคุยกับแม่ เพื่อฟังเรื่องราวความคิดความอ่านของผู้ป่วยอย่างแท้จริง  

ภาพคุณฐิติมาหันไปด้านซ้าย และพาดหัวชื่อบทสัมภาษณ์ เพื่อนำเป็นปกหน้าเฟซบุ๊กและแชร์ลิ้งก์ไปยังโซเซียลมีเดียต่างๆ

ต้นตอของการป่วยเข้าโรงพยาบาล  

ฐิติมาเล่าว่า วันนั้นเธอมีอาการคลุ้มคลั่งหลังดื่มกาแฟ ตอนแรกเริ่มหงุดหงิด ปาข้าวของทิ้ง เพื่อนบ้านก็เรียกตำรวจมาจับส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หลังจากนั้นก็ไปหาหมอรับยา ปรับยา ครั้งสุดท้ายรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งดีกว่าทุกที่ที่เคยไป เธอตื่นเต้นที่ได้ยา ได้อาบน้ำ ใช้ยาสระผมกลิ่นหอมๆ ที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังเอาเงินที่ลูกให้มาซื้อขนมแบ่งพยาบาลกิน ได้ร้องเพลงและเต้นรำกับเพื่อนคนไข้

“ตลอดเวลาที่อยู่สถาบันกัลยารู้สึกปลอดภัย ถึงจะออกมาเป็นคนไข้นอกแล้ว ก็ยังอยากให้หมอนัดไปหาอีก ความคิดว่าหมอให้สถานะเราว่าเป็นคนบ้าหรือคนป่วยก็หายไป”

แม่ยังบอกต่ออีกว่า รู้สึกประทับใจคนที่ดูแลเราด้วยความรู้สึกจริงๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล หมอ และจอมเทียน จนแม่เต็มใจรับการรักษาและจดทะเบียนความพิการทางจิตเพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวเอง

พอออกมาเป็นคนไข้นอก ใกล้วันเวลาที่หมอนัด แม่จะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้นั่งมอเตอร์ไซต์ไปโรงพยาบาล แข่งเอาบัตรคิวเลขตัวเดียวกับคนอื่นๆ ต่างกับเวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาที่ระหว่างเดินทางจะรู้สึกกลัว รู้สึกคลื่นไส้จนต้องลงจากรถเมล์เพื่อมาอ้วก 

ความรู้สึกตอนโดนตำรวจจับ 

แม่ตอบเป็นสองช่วง ช่วงที่แม่อาละวาดนั้นรู้สึกตัวแต่ห้ามตัวเองไม่ได้ คิดว่าถ้าแย่แล้วก็แย่ให้สุดเลย ทั้งถีบ ทั้งต่อยทุกคนที่จะมาเข้าใกล้ อีกช่วงหนึ่งคือช่วงที่แม่อาการหนักจนจอมเทียนต้องข้อความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เป็นตำรวจให้มาช่วยพาไปโรงพยาบาล 

ชีวิตระหว่างเป็นผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล 

ครั้งแรกที่เห็นสภาพโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อนานมาแล้ว แม่รู้สึกว่าไม่ควรเรียกที่นี่ว่าเป็นโรงพยาบาลเพราะเห็นคนไข้ถูกล่ามโซ่เดินไปมา รู้สึกไม่เจริญสายตา ไม่เจริญความรู้สึก ชวนให้นึกถึงคุกสำหรับขังคนไข้จิตเวชในหนังฝรั่ง แต่ปัจจุบันเธอก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร สำหรับเธอแล้วครั้งที่หนักหนามากที่สุดตอนอาละวาดถีบหลาน ตบลูกก็คือใส่กุญแจมือไพล่หลัง 

ภาพถ่ายคุณฐิตินั่งไขว่ห้างและอุ้มเคเอฟซี เจ้าสุนัขพันธ์ชิวาวาอยู่

“ตอนเป็นคนไข้ในหมอไม่พูดอะไรเลย แค่เรียกมาถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง แต่แม่รู้ว่าป่วยเป็นโรคจิตเภทเพราะหมอและลูกเป็นคนบอก”

ตลอดการพูดคุยสังเกตว่าคุณแม่เข้าใจว่าโรคจิตเภทที่ตัวเองเป็นคือโรคเดียวกับที่จอมเทียนป่วยแต่มีอาการหนักกว่าจอมเทียน

ความสัมพันธ์ระหว่างจอมเทียนและแม่ตอนยังป่วยหนัก 

สมัยเด็กจอมเทียนไม่เข้าใจว่าโรคประสาทคืออะไร จอมเทียนเข้าใจแต่ว่า ‘แม่ทิ้งหนู’ และได้ยินคนอื่นเรียกแม่ว่าเป็น ‘คนบ้า’ จอมเทียนก็คงรู้สึกไม่ดี แต่เวลาที่แม่ได้ยินคนอื่นเรียกเราว่า คนบ้าปลูกต้นไม้ คนบ้าเลี้ยงหมาแม่ก็เฉยๆ ไม่ได้เถียงหรือต่อว่า  

“เราดำเนินชีวิตตามหลักศีล 5 แล้ว แต่ก็ยังงงว่าทำไมโรคภัยไข้เจ็บยังไม่หายสักที ทำไมเราต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า ทำไมต้องเป็นแบบนี้”

ศิลปะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่และจอมเทียนให้ดีขึ้นอีกครั้ง

หลังออกจากโรงพยาบาล จอมเทียนเริ่มหาอะไรให้แม่ทำ เช่น เริ่มต้นอ่านหนังสือที่จอมเทียนเคยอ่านแล้ว แม่บอกว่าช่วงเวลานั้นทำให้แม่เข้าใจลูกมากขึ้น รู้สึกว่าช่องว่างระหว่างวัยแคบลง พอจอมเทียนเห็นว่าแม่อ่านหนังสือเยอะแล้ว จอมเทียนมองหากิจกรรมอื่นๆ ให้แม่ทำอย่างเช่นการซื้อสมุดระบายสี ตอนระบายบนสมุดระบายสี สมองแม่ไม่รับรู้ว่าภาพในสมุดระบายสีคืออะไร การระบายสีจึงทำให้แม่ค่อยๆ ทำความรู้จักสิ่งที่อยู่ในภาพว่าคือต้นไม้ และเชื่อมโยงกับความจริงว่าระบายสีต้นไม้ต้องใช้สีอะไรบ้าง เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสมุดระบายสี 

ภาพคุณฐิติมานั่งถ่ายรูปกับเคเอฟซี (สุนัข) หลังกำแพงสีเทาขาว

จากนั้นจอมเทียนค่อยๆ เพิ่มเลเวลความซับซ้อนของงานศิลปะ จอมเทียนเปิดยูทิวบ์เกี่ยวกับตาข่ายดักฝันให้ดู แม่ก็ลองถักตาม โดยใช้ด้ายเย็บผ้าซ้อนกันสามเส้นมาถักเป็นโซ่ ผันห่วง ทำพู่ห้อย จนกระทั่งเริ่มเปิดออเดอร์รับทำตาข่ายดักฝัน จอมเทียนคุยกับเพื่อนอย่างไรไม่รู้ เขาก็ส่งพัสดุบริจาคอุปกรณ์งานถัก ไม่ว่าจะเป็นไหมพรม ไม้ถักนิตติ้ง ไม้ถักโครเชต์มาให้

“สิ่งที่จอมเทียนทำให้แม่รู้สึกดีที่ลูกไม่ทิ้งแม่ และงานที่ได้ทำก็ช่วยให้แม่รู้สึกว่าเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ามากขึ้น เวลาที่เครียดๆ พอได้ทำอะไรที่มีประโยชน์ก็ช่วยรักษาอาการแม่ได้”

ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ 

ตั้งแต่สัมภาษณ์มา เราก็จะได้ยินแต่ชื่อจอมเทียนจากปากของแม่ และไม่มีคนอื่นๆ ผุดขึ้นมาในแวดล้อมความสัมพันธ์ กระทั่งทราบจากจอมเทียนว่า ชีวิตของแม่ไม่เคยมีคนอื่น หลังจากที่ญาติทิ้งแม่ไปไม่กลับมาดูแล แม่ก็มีแค่เธอและแฟนของเธอ แม้แม่จะบอกว่าไม่ชอบให้จอมเทียนคบกับแฟน แต่แม่ก็เปิดประตูบ้าน เปิดไฟ ไว้รอแฟนลูกสาวกลับบ้านทุกครั้ง ตอนขอแม่ไปเดินป่ากับแฟน แม่ก็อนุญาตให้ไปง่ายๆ ต่างจากเแต่ก่อนที่คงไม่ยอมให้ไปอย่างแน่นอน