Skip to main content
วันนี้ (30 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ซาบะ- มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ และเครือข่ายคนพิการกว่า 30 คน ร่วมฟังคำไต่สวนที่ศาลอาญารัชดา ถนนรัชดาภิเษกจากกรณีถูกฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาผ่านการโพสต์รูปที่จอดรถคนพิการ โดยศาลได้นัดอีกครั้งในวันที่ 13 ธ.ค.
 
ซาบะ- มานิตย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการระบุว่า ตนทำงานในประเด็นเรื่องที่จอดรถคนพิการมานานแล้ว คนพิการถูกละเมิดสิทธิ มีคนมาแย่งจอดอยู่ตลอด เขาจึงใช้โลกโซเชียลคอยกระทุ้งให้เกิดสำนึกสาธารณะ เคสนี้ที่มีข้อพิพาทเกิดจากมีสมาชิกส่งภาพรถที่จอดอยู่ในที่คนพิการ ขั้นตอนปกติก็คือเขาจะถามข้อมูลจนมั่นใจ หลังโพสต์แบบปิดเลขทะเบียน และเปิดเลขทะเบียนในภายหลังก็มีคนติดต่อเข้ามาและถามว่าซาบะเป็นใคร ทำไมถึงทำอย่างนี้
 
 
“เราพยายามพูดคุยเหมือนกับทุกๆ ครั้งความตั้งใจคือต้องการพูดคุยทำความเข้าใจว่า คุณไม่มีสิทธิจอดและจอดไม่ได้ เมื่อคุยกันไม่ลงตัวเขาก็แจ้งว่า เขาจะใช้สิทธิของเขา หลังจากนั้นก็หายไปปีครึ่ง กระทั่งศาลโทรมาว่า คุณมานิตย์ได้รับหมายศาลไหม ที่ส่งไปที่บ้าน” ซาบะกล่าว
 
ระยะเวลาปีครึ่งนานพอที่จะทำให้มีงานอื่นเข้ามาจนลืมกรณีดังกล่าว ซาบะเล่าว่า เขางงแต่ก็ต้องไปรื้อดูข้อมูลเก่า และมาตามนัดไต่สวนสาม กระทั่งครั้งที่สามศาลก็รับฟ้องว่ามีมูล แม้ทนายแนะนำว่าไม่ต้องมาศาลก็ได้เพราะเป็นคดีอาญาอาจจะถูกจับ แต่เขาก็ยืนยันที่จะแสดงความจริงใจ กระทั่งครั้งนั้นซาบะก็ถูกจับขังคุกชั่วคราวอยู่ครึ่งวัน เขาเล่าว่าเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ได้เตรียมตัว พอได้เข้าไปก็ได้สำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกในคุก และพบว่า ในคุกไม่มีห้องน้ำที่คนพิการเข้าได้
 
“ฝั่งเราเราก็สู้เพื่อสิทธิ ฝั่งของผู้ฟ้องก็เป็นสิทธิของเขาที่จะฟ้อง คนถูกด่าก็โมโหแต่ขณะเดียวกันฝั่งเราก็เกิดความเสียหาย เกิดค่าใช้จ่าย พี่น้องคนพิการเดินทางมาจากพัทยาสองรอบ เราเองก็ไปอยู่ในคุกมาแล้วครึ่งวัน ทั้งที่ตอนแรกความต้องการคือการพูดคุยเท่านั้น”ซาบะย้ำ
 
จากการทำงานที่ผ่านมา 8 ปีซาบะสะท้อนว่า ตนเองรู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้เป็นพื้นที่อันตราย เราสามารถโดนฟ้องได้เสมอและบอกทีมกฎหมายตลอดว่าเราอาจจะโดนกระทำได้ทุกเมื่อ แต่ก็ยังยืนยันว่าจะไม่ถอย เพราะหากถอยก็หมายความว่าแพ้และการต่อสู้เพื่อสิทธิจะล่มสลาย และคงไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องสิทธิอีก
 
ซาบะยังสะท้อนต่อว่า ต้นเหตุจริงๆ ของปัญหานี้เกิดจากจากกฎหมายที่ไม่พร้อมสมบูรณ์ จึงทำให้ระบบที่อยู่ภายใต้กฎหมายมีปัญหา สุดท้ายสังคมก็เกิดปัญหา เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ทำงานตามทำหน้าที่ของตัวเอง สุดท้ายสังคมที่อยู่ภายใต้กฎหมายที่ล้มเหลวก็ล้มเหลวเป็นทอดๆ คนที่เดือดร้อนก็ต้องออกมาสู้ด้วยตัวเอง สุดท้ายประชาชนก็ทะเลาะกัน จริงซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรต้องเกิดขึ้น
 
 
ด้านวรกรณ์ ไหลหรั่ง ทนายความของซาบะระบุว่า คดีนี้เป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเองจึงต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อแจ้งความร้องทุกข์หัวหน้าหน่วยสอบสวนก็จะต้องมีการผ่านสำนักงานอัยการประจำจังหวัดที่นั้นๆ เพื่อส่งฟ้อง ในกรณีของซาบะเป็นเรื่องหมิ่นประมาทโดยโฆษณา แม้คดีหมิ่นประมาทจะเป็นความผิดที่ยอมความได้ แต่โจทก์หรือผู้เสียหายตั้งกำแพงไว้ค่อนข้างสูงจากประเด็นที่หมิ่นประมาท กล่าวคือลูกเพจของซาบะได้ถ่ายภาพของรถที่จอดที่คนพิการและมีการวิจารณ์ ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการติดต่อไปหาเจ้าของรถโดยมีการพรางทะเบียนรถไว้ แต่ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ก็ยังไม่มีการติดต่อกลับ จึงมีการเปิดเลขทะเบียนในสื่อโซเชียล เจ้าของรถจึบติดต่อมาสอบถามว่า ทำไมถึงโพสต์เอารูปเหมือนประจาน และฟ้องหมิ่นประมาทด้วยสิทธิที่เขามีตามกฏหมาย
 
 
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการไต่สวนก็มีการขอไกล่เกลี่ย ผ่านการขอโทษผ่านสื่อและเรียกค่าเสียหาย ส่วนตัวมองว่า หากเรายินยอมในฐานะคนที่ต่อสู้มาเป็น 10 ปี ก็เหมือนศูนย์เปล่า เราสู้เพื่อให้เกิดประเด็นขึ้นมาในสังคม ทำให้คนเห็นว่า คนพิการคนหนึ่งพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิของคนพิการที่มองว่า สิทธิที่มีอยู่จริงตามกฏหมาย แต่กลับมีบุคคลอื่นมาจอด ที่จอดรถคนพิการควรจอดโดยคนพิการที่เป็นผู้ขับรถซึ่งมีสัญลักษณ์คนพิการ เพราะต้องการระยะในการเปิดประตูเข้าออก สามารถเอารถวีลแชร์ออกมาวางได้และโยกตัวจากเบาะออกมาได้ คนไม่พิการที่ขับให้คนพิการ อาจมีพ่อเป็นคนพิการทางสายตา หรือพิการประเภทอื่นสามารถไปส่งคนพิการที่หน้าประตูแล้วนำรถไปจอดที่อื่นได้เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ที่กว้างในการเปิดประตู กฎกระทรวงเองก็ออกมาเพื่อประโยชน์สำหรับคนพิการ ถ้าเกิดคนไม่พิการไปจอดก็ทำให้คนพิการที่จำเป็นจะต้องใช้นั้นเสียสิทธิ คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไปได้
 
 
กลับมาที่คดีนี้ การฟ้องจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้สาธารณะได้เห็นว่าสิ่งที่ซาบะพยามรณรงค์เพื่อคนพิการนั้นมีคุณค่า หากถามว่า วิตกกังวลไหม ผมก็คิดว่า ทุกคนเชื่อว่าว่ามีช่องทางไปต่อได้ไม่งั้นก็จะไม่ฝืนสู้ ถ้าเราพยายามและมีข้อพิพากษามาสนับสนุนการต่อสู้ก็จะชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายคนพิการไม่มีสภาพบังคับ เมื่อไม่มีสภาพบังคับคนก็ขาดความเคารพ ในต่างประเทศถ้าไม่เข้าแถวก็โดนปรับแต่บ้านเราไม่เข้าแถวก็ไม่เป็นไร อย่างมากก็โดนสายตาด่าแต่ไม่สามารถด่าได้จริงเพราะถ้าด่าก็เป็นดูหมิ่น ในฐานะเป็นคนพิการและนักกฏหมายผมอยากให้กฎหมายคนพิการจับต้องได้ ใครเห็นก็รู้สึกว่าต้องให้ความเคารพ ไม่ใช่คลอดกฎหมายออกมาแล้วบอกว่าเป็นกฎหมายในเชิงบวก ไม่จำเป็นต้องมีสภาพบังคับเพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ต้องมีกฏหมายเสียดีกว่า