Skip to main content

ที่ป้ายตึกคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีข้อความหนึ่งที่สะดุดสายตากับป้ายสาขาวิชา ‘คลีนิกบัณฑิตศึกษาทันตกรรมผู้สูงอายุและผู้มีความต้องการพิเศษ’ จนเกิดคำถามว่าแล้วคนกลุ่มนี้มีความต้องการต่างจากคนกลุ่มอื่นอย่างไร หากคนกลุ่มนี้ปวดฟัน และทุกคนคงพอจินตนาการออกว่า ปวดฟันนั้นทรมานแค่ไหน ยิ่งหากปวดฟันแล้วเข้าไม่ถึงการรักษา ความทรมานก็คงยิ่งทวีคูณ

Thisable.me ชวนคุยกับ ทพญ. มัทนา เกษตระทัต ประธานหลักสูตรทันตกรรมผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ (gerodontology and special care dentistry) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เธออธิบายให้เราฟังถึงความแตกต่างเหล่านั้น หลังการเรียนจบจากสาขาทันตกรรมผู้สูงอายุ  (Geriatric Dentistry) University of British Columbia และกลับมาทำหน้าที่อาจารย์และประธานหลักสูตรที่อยากสร้างความเข้าใจให้กับหมอฟันถึงการดูแลฟันของผู้สูงอายุ คนพิการและคนที่มีความต้องการพิเศษเฉพาะทาง ที่มากกว่าเรื่องถอนฟัน อุดฟันหรือรักษารากฟัน ระหว่างคุย หมอพาเราเดินไปตามทาง เพื่อดูคลีนิก เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงไอเดียที่จะผลักดันวิธีคิดของหมอฟันในการทำให้ทุกคนเข้าถึงการทันตกรรมได้มากขึ้น 

ห้องทำฟันสำหรับคนพิการ มีเตียงที่วีลแชร์เคลื่อนย้ายได้

ใครมาใช้บริการที่นี่บ้าง

ทพญ.มัทนา : จะเจอกลุ่มหลังสโตรก สมองเสื่อม พาร์กินสัน หรือ กลุ่มรักษามะเร็งแล้วมีผลข้างเคียงจากคีโมหรือรังสี นอกจากนี้ก็มีกลุ่มผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวลำบาก ช่วงหลังก็มีคนไข้ที่เป็นซีรีบรัล เพาร์ซี (Cerebral Palsy) ออทิสติก ดาวน์ซินโดรมที่อายุ 30 - 40 ปี มารับบริการที่คลินิกเราด้วยเหมือนกัน

จุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้คืออะไร 

คณบดีคนเก่า อาจารย์หมอประทีป พันธุมวนิช ชวนตั้งแต่ปี 2543 อาจารย์มีวิสัยทัศน์และมองว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่มี ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมา 50 ปีแล้ว อาจารย์จึงชวนให้ไปเรียน ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าคืออะไรเพราะเมืองไทยไม่เคยดูแลคนไข้กลุ่มนี้เลย คนกลุ่มนี้อยู่แต่บ้าน ไม่เคยเจอหมอฟัน กระทั่งได้ไปประชุมที่ญี่ปุ่นก็เหมือนเปิดอีกโลกหนึ่งเลย คนญี่ปุ่น ไต้หวัน ฝรั่งเขามีศาสตร์นี้ตั้งนานแล้ว ทำอะไรเยอะแยะ เราจึงตัดสินใจเรียน ระหว่างเรียนไปที่ไทยก็มีคนคอยผลักดันเชิงนโยบายและงบประมาณ เกิดแผนสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุทั่วประเทศ พอกลับมาก็เลยได้นำองค์ความรู้มาทำให้เป็นจริงได้พอดี

ตอนไปเรียนเป็นอย่างไรบ้าง แนวคิดเรื่องทันตกรรมผู้สูงอายุห่างไกลจากหมอฟันไทยแค่ไหน

เวลาทันตแพทย์เห็นคนปวดฟัน เสียวฟันก็รู้สึกว่าต้องรักษาให้หาย ไม่ว่าจะถอนหรือรักษารากฟันก็จะไม่ยอมให้เหลือหนองอยู่ พอไปเจอโลกแห่งความจริงของสังคมคนมีโรคประจำตัวซับซ้อนมากๆ มีความพิการ มียาหรือได้รับการรักษาทางการแพทย์มาเยอะๆเราอาจจะจะรักษาแบบอุดมคติเหมือนคนไข้ทั่วไปไม่ได้ แต่ต้องดูแลรักษาแบบเรื้อรังแทนที่จะถอน ทำอะไรรุนแรงหรือเกิดความเสี่ยงจากการรักษา คล้ายกับผู้สูงอายุที่มีหนองในปอดหรือสมอง หลายคนก็ไม่ได้ผ่าแต่ให้ยาปฏิชีวนะ ดูแลแบบประคับประคอง บางทีอยากรักษาราก แต่คนไข้ทนอ้าปากรักษานานๆไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทันตแพทย์ไม่ค่อยคุ้นวิธีการดูแลอาจจะจะลุยถอนฟันหรือทำอะไรที่คนไข้อาจทนไม่ได้ การเรียนด้านนี้ทำให้เห็นว่า มีวิธีรักษาและดูแลแบบอื่นเป็นทางเลือกด้วยเหมือนกัน หรือบางคนไม่รู้จะทำอย่างไรถ้าเจอคนไข้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมอ้าปาก มันก็มีศาสตร์การสื่อสารมีเทคนิกดูแลคนไข้กลุ่มนี้

แม้แต่การแปรงฟัน เดิมเราสอนคนให้แปรงถูกวิธี แต่ผู้สูงอายุหรือคนพิการก็บางคนอาจต้องมองว่าเขาทำเองหรือมีผู้ดูแลไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องปรับแผนการรักษาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง การรักษาเหล่านี้ในอนาคตจะจำเป็นมากขึ้นเพราะมีความต้องการจากประชาชนกลุ่มนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งนี้ควรเป็นนโยบาย ในต่างประเทศเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการเรียนสาขานี้เพราะนั่นเท่ากับคุณทอดทิ้งคนไข้กลุ่มนี้ แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าไม่นับรวมญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ฮ่องกง สิงค์โปรเราก็ยังใหม่กับเรื่องนี้กันทั้งภูมิภาค

ความต่างระหว่างคนพิการ คนทั่วไป หรือคนสูงอายุในการทำฟัน

ต่างทั้งเรื่องโรคประจำตัวที่มีผลต่อการใช้ยา ยาชา การปรับเก้าอี้เร็วช้า การสื่อสาร   สำคัญสุดคือเรื่องการกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน เขากลับไปแปรงฟันอย่างไร นอกจากนี้ก็มีเรื่องการออกแบบคลีนิกให้เข้าถึงได้และข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่ เช่น เก้าอี้ต้องมีที่วางแขน เบาะต้องไม่เตี้ยเกินไป วีลแชร์ต้องเข้าได้หรือความลาดเอียงของทางลาด 

มากไปกว่านั้นในมาตรฐานสากลคือพนักงานต้องฝึกภาษามือ (Visual hearing) แต่ของไทยไม่ถึงขนาดนั้น ยังดูแค่การเข้าถึงโดยวีลแชร์เป็นหลัก อย่างถึงเรามีทางเดินเข้าคลินิกให้คนที่พิการทางสายตา แต่เอาจริงๆถ้าคนไข้ที่มีความพิการทางสายตามาลงแท็กซี่หน้าธรรมศาสตร์ ก็ยังมาที่ตึกนี้ไม่ได้อยู่ดีก็ยังมีอะไรต้องทำอีกเยอะ 

หมอฟันที่นี่ทำงานกันอย่างไร 

เราต้องนุ่มนวล คลีนิกเรามีคนไข้สมองเสื่อมเยอะ กฎข้อหนึ่งเลยคือหมอต้องทำให้คนไข้ไม่รู้สึกถูกคุกคามเพราะคนไข้จะต่อต้าน และต้องมีการฝึกการใช้เสียง วิธีการพูดออกเสียงให้ดังแต่ไม่ดูตะคอก 

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่เรียกว่า Minimal intervention คือทำน้อย ทำเท่าที่จำเป็น ทำอะไรที่แก้กลับได้มากกว่าไปทำอะไรที่ย้อนกลับไม่ได้ เช่น แทนที่จะเปิดรักษารากทั้งหมดก็อาจทายาชะลอรอยผุไว้ก่อน เพราะหากทำเยอะขณะที่เขามีโรคประจำตัว ก็อาจทั้งแพงและใช้เวลาอ้าปากนาน เขากลับบ้านไปแปรงฟันไม่ได้ที่ทำไปก็ล้มเหลว การทำเยอะต้องมองบริบทเมื่อเขากลับบ้าน ระยะเวลาการทนอ้าปาก หลายคนแค่ต้องทนอ้าปากนานก็ไม่ได้แล้ว อย่างมากแค่ 20 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง

ที่ผ่านมาแนวคิดเก่าไม่คำนึงถึงความพร้อมของคนไข้เท่าไหร่ อาจคิดแค่เรื่องเงินว่าแพงไปไหมสำหรับคนไข้หรือเรื่องโรคประจำตัว แต่ไม่คิดถึงสภาพแวดล้อมว่าคนไข้อยู่กับใคร ดูแลตัวเองได้ไหม จะมีอายุอีกสักเท่าไหร่ ตัดสินใจเรื่องต่างๆ เองได้หรือไม่ หากวันหนึ่งสมองเสื่อมแล้วอยู่คนเดียวใครจะตัดสินใจ และสิ่งต่างๆ ที่คิดนั้นใช่ความต้องการจริงของคนไข้หรือเปล่า หมอฟันต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

เราคิดว่าทันตแพทย์ทั่วไปก็ทำสิ่งเหล่านี้ได้ จึงพยายามใส่ในหลักสูตรปริญญาตรีให้มากขึ้น แผนระดับประเทศชื่อแผนทันตสุขภาพผู้สุงอายุแห่งประเทศไทยบังคับให้คณะทันตแพทย์ทุกที่มีวิชานี้ ต้องพัฒนาอาจารย์ผู้สอนเพิ่มให้ทันตัวหลักสูตร สถานการณ์ตอนนี้คล้ายกับการมี พ.ร.บ.คนพิการ มีนโยบายที่ดี แต่การบังคับใช้นี่พอถึงช่วงปฏิบัติก็ต้องดูหน้างานอีกที 

อะไรทำให้คนพิการไม่อยากไปหาหมอฟัน

ไม่ใช่แค่คนพิการ คนทั่วไปก็ด้วย การเข้าถึงการบริการทันตกรรมในประเทศไทยเฉลี่ยะทุกสิทธิมีเพียงร้อยละ 10 เองนะ เรียกได้ว่าน้อยมากถ้าหากถามว่าใครหาหมอฟันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งบ้าง เพราะในอะไรมีหลายปัจจัย แต่ของผู้สูงอายุนี่ชีวิตแต่ละคนก็มีเรื่องอื่น เรื่องฟันอาจจะเป็นเรื่องหลังๆ จนกว่าจะปวดจริง เจ็บจริงถึงรู้สึกว่าต้องไปหาหมอ หรือฟันหัก เหงือกบวมมีเลือดออกก็เริ่มกังวล

อีกเหตุผลก็คือแพง บางคนไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ แต่ถึงรู้ว่ามีสิทธิก็เดินทางไปลำบาก เช่น มีชื่อที่โรงพยาบาลไกลบ้านแล้วไม่มีคนช่วยย้ายสิทธิให้ หรือว่าย้ายสิทธิแล้วก็ต้องไปเริ่มใหม่ ยิ่งถ้าใช้สิทธิประกันสังคมก็ยิ่งแย่เพราะได้ค่าทำฟันน้อยมาก ยังไม่นับว่าสมัยก่อนหมอฟันยังไม่มีหลักสูตรเรื่องนี้ เจอคนพิการโรคเยอะยาเยอะก็ไม่กล้าทำฟัน ถ้าพิการนั่งวีลแชร์แต่ร่างกายปกติ ไม่มีโรคประจำตัว เอาวีลแชร์เข้าคลีนิกได้เชื่อว่าหมอฟันแทบทุกคนก็ต้อนรับ ต่างจากโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจร่วมกับดาวน์ซินโดรม หมอก็จะกลัวว่าทำไปแล้วจะหัวใจวายหรือเปล่า หรือผู้สูงอายุที่เป็นทั้งโรคปอด โรคหัวใจ โรคไต-เบาหวาน-ความดันคุมไม่อยู่หมอก็ไม่อยากทำคนไข้กลุ่มนี้ ในกลุ่มคนไข้จิตเวชหมอไม่รู้จะพูดกับคนไข้ยังไง หรือคนหูหนวกที่เขียนได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าคนหูหนวกที่เขียนไม่ได้หมอก็คงมีปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้เป็นความกังวลของหมอที่กลัวว่าจะมีคนไข้เป็นอะไรไปที่คลีนิกด้วยนะ ไม่ใช่รังเกียจ แต่ไม่มั่นใจว่าจะดูแลได้ด้วย หากทำแล้วแย่กว่าเดิมหรือเสียชีวิตจะทำยังไง ทางแก้ก็คือหมอฟันจะต้องมีความรู้ สอนเรื่องพวกนี้ตั้งแต่ปริญญาตรี หรือถึงแม้จะจบไปแล้วก็ต้องมีคอร์สอบรมต่างๆก็หวังว่าในอนาคตจะดีขึ้น 

ทำไมค่าบริการด้านทันตกรรมต้องแพง

แพงด้วยวัสดุที่แทบจะไม่มีผลิตในไทย ส่วนมากเป็นของนำเข้าแทบทั้งหมดตั้งแต่เก้าอี้เลย เก้าอี้ยี่ห้อไทยก็มีคนไทยเองก็พยายามผลิตเอง บางศูนย์ก็ผลิตวัสดุต่างๆ ใช้เอง แต่ก็ไม่เยอะ ในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการนั้นใช้หลายวิธีมาก มีตั้งแต่คนต้องจ่ายเองถึงระดับหนึ่ง แต่ถ้าแพงไปมากกว่านี้รัฐจะช่วยจ่าย หรือบังคับว่าคุณต้องมาตรวจประจำปีทุกปีถึงจะได้เงินค่าทำฟันฟรี ตอนนี้ไทยยังใช้คำว่ารัฐออกให้ ยังไม่บังคับว่าต้องมาตรวจประจำปีเหมือนที่สวีเดน

ตอนนี้ก็มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วยหน้าของ สปสช.ที่สามารถทำฟันได้เยอะมาก แต่หากใช้ประกันสังคมก็ได้น้อยลง และคิวยาว แต่สำหรับสิทธิคนพิการนั้นสามารถทำฟันได้ทุกที่ รักษาฉุกเฉินได้นะเบิกได้ แต่ถ้ารักษารากทั้งหมดก็มีส่วนต่างหลักพัน ซี่ยากๆ อย่างฟันกรามล่างหากรักษาที่โรงพยาบาลรัฐก็จะมีส่วนต่างที่ต้องจ่าย 3,500 บาท 

ในเชิงนโยบายควรเพิ่มอะไรที่ทำให้คนพิการเข้าถึงได้มากขึ้น

ต้องทำให้ทันตแพทย์มีความรู้ที่จะทำฟันให้คนพิการทุกประเภท และปรับคลีนิกของตัวเองให้เข้าถึงได้ ตอนนี้ไทยกำลังเร่งเรื่องปฐมภูมิหรือ Primary care คือทำให้คนทำฟันใกล้บ้านได้ อย่างพอศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพฯรับคนไข้ในเขตทั้งหมดไม่ได้ก็จดทะเบียนเป็นเครือข่ายร่วมให้บริการกับคลีนิกทันตกรรมเอกชนใกล้ๆ แล้วเบิกสปสช. โมเดลคนพิการในอนาคตก็อาจคล้ายกันคือให้คนพิการไปคลีนิกเอกชนและเบิกได้เราก็ต้องมีคนทำงานเยอะขึ้น ในลักษณะแบบ public-private partnership อย่างไรก็ดี ในบางเคสที่ยากจริงๆ ก็ส่งตัวเข้าโรงพยาบาล คนไข้ที่มีโรคประจำตัวเยอะเขาก็รู้สึกว่ามาโรงพยาบาลปลอดภัยกว่า

สิ่งที่ต้องคือทำนโยบายที่เอื้อให้คนอยากเข้ามา อย่างที่สวีเดนกำหนดว่าถ้าจะเบิกค่าทำฟันได้ต้องมาตรวจและเอ็กซเรย์ประจำปี การเจอหมอฟันอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งก็ทำให้ปัญหารักษาง่าย แต่ถ้าหายไป 5 ปี 10 ปี จะเจอปัญหาที่ซับซ้อน รักษายาก แพง รัฐก็เสียเงินเยอะ และยิ่งบ้านเรายังมีปัญหาปากท้อง จะให้มาทำฟันโดยไม่มีอะไรจูงใจก็ยาก ถ้าอยากให้คนเข้าใจเรื่องการดูแลฟันก็ต้องย้อนกลับไปดูปัญหาโครงสร้าง ถ้าลดความเลื่อมล้ำได้ คนไม่ต้องตะเกียกตะกายหาเช้ากินค่ำ คนก็จะหันกลับมาใส่ใจ สนใจดูแลตัวเอง สนใจเรื่องฟันและสุขภาพช่องปากก็จะดีขึ้นเอง เอาจริงๆก็ระบบบริการปฐมภูมินี่แหละที่จะทำให้ไม่มีใครถูกทิ้ง มีหมอประจำพื้นที่ ประจำตัว 

คนที่มารักษาที่นี่เป็นกลุ่มไหนบ้าง

มีเคสที่เคลื่อนไหวลำบาก ใช้มือไม่ได้ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เราต้องปรับแปรงสีฟันหรือสอนผู้ดูแลว่าต้องแปรงฟันอย่างไร คนไข้หลายคนสำลักน้ำง่าย กลืนลำบาก เสี่ยงเป็นปอดอักเสบ ก็ต้องใช้ยาสีฟันไม่มีฟองหรือปรับท่าเวลาแปรง นอกจากนี้ก็มีคนไข้สมองเสื่อมและอัลไซเมอร์เยอะมาก มาแล้วไม่ยอมทำฟัน หรือมาเป็นเตียงโรงพยาบาลเพราะมีปัญหาการเคลื่อนไหว เช่นหกล้มมา เดินไม่ได้

คนใช้วีลแชร์ถ้ายังมีแรงย้ายตัวก็ยังย้ายที่นั่งได้ บางคนมาตรวจอย่างเดียวก็ไม่ย้ายตัว ราคาเตียงทำฟันปกตินั้นประมาณ 300,000 - 500,000 บาท แต่เตียงเหล่านี้อาจยกที่วางแขนขึ้นไม่ได้ คนใช้วีลแชร์ก็ขึ้นลำบาก เตียงที่เรามีราคาสูงถึง 900,000 บาทแต่มีฟังก์ชั้นที่อำนวยความสะดวกได้ นอดจากเตียงแล้ว การทำฟันก็ยังมีต้นทุนสูงเพราะระบบลมโดยไล่อากาศที่มีเชื้อโรค กรองและนำอากาศสะอาดเข้าเพื่อกันโรคอย่างวัณโรคหรือโควิด 

คิดว่าคนไทยจะสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างต่างประเทศได้ไหม

ไทยก็ไม่ได้เลวร้าย เพราะปัจจุบันมี สปสช. เพียงแต่เรามีความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิ ถ้าจะแก้ควรแก้ประกันสังคมและเฉลี่ยสิทธิข้าราชการที่ปัจจุบันได้เยอะกว่าคนอื่น ก็มีคนทำงานเบื้องหลังเรื่องนี้อยู่ 

เสียงสะท้อนจากคนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการเป็นอย่างไร

เขาก็รู้สึกดี บางทีเอาของมาฝาก หรือบางคนก็เห็นเราเป็นญาติ เป็นครอบครัว บางคนก็เล่าเรื่องที่บ้านให้ฟัง เราได้รับความไว้วางใจค่อนข้างเยอะ

บางคนก็สะท้อนว่า ไปที่อื่นแล้วเขาบอกให้มาที่นี่ บางคนบอกไปมาหลายที่หาที่ไหนก็ทำไม่ได้ หรือบางคนเพื่อนแนะนำให้มา จากที่ฟังหลายคนพูดเหมือนๆ กันว่า ที่นี่จะค่อยๆ ระวัง กลัวว่าคนไข้จะเจ็บ ให้เวลาเยอะกว่า ซึ่งก็แน่แหละเพราะเราไม่ใช่คลีนิกเอกชนจึงมีเวลา มีทั้งหมอที่เป็นนักเรียนเหมือนโรงเรียนแพทย์ เราจึงให้เวลากับคนไข้ค่อนข้างเยอะ ต้องตรวจให้ครบส่วนต่างๆ อยู่แล้ว ที่นี่เราได้เปรียบเรื่องมีประวัติคนไข้ในคอมพิวเตอร์เพราะคนไข้ส่วนมากหาหมอฟันแล้วมาหาหมอกระดูก หมอสมอง หมออายุรกรรมที่นี่ด้วย  

หากสนใจรักษาสามารถโทรมาที่คลีนิกในเวลาของแผนกทันตกรรมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ บอกว่าขอนัดคลีนิกทันตกรรมผู้สูงอายุ ถ้าเป็นคนไข้ทั่วไปจะต้องไปตรวจก่อน แต่ถ้าเป็นคนไข้ติดเตียงหรือคนไข้เร่งด่วนก็นัดได้ คนที่รับโทรศัพท์จะประเมินว่าอาการหนักมากน้อยแค่ไหน ถ้าอาการรุนแรงก็อาจจะนัดแทรกได้เมื่อวานก็มีญาติคนไข้เอาประวัติมาให้ดูก่อนและทำการนัดได้เลย 

ฝากอะไรถึงหมอฟันรุ่นใหม่ๆ

วันนี้เรามีเครือข่ายคนทำงานด้านนี้และองค์ความรู้เยอะขึ้นแล้ว ถ้ายังกลัวก็ไม่ต้องปฏิเสธความกลัว แต่ให้จำไว้ว่า งานวิจัยระบุไว้ว่า ถ้าหมอฟันไม่ลองลงมือทำฟันให้คนพิการหรือคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ไม่มีทางเลิกกลัว คุณจะเรียนจากทฤษฎียังไงก็ไม่มีทางเลิกกลัว สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องเปิดใจยอมรับ ปรึกษาอาจารย์เพื่อนร่วมวิชาชีพ หาเครื่อข่ายหากมีข้อสงสัย เราเองก็กำลังพัฒนาเว็บไซต์ให้ความรู้ และเว็บบอร์ดชุมชนนักปฏิบัติ ใครมีอะไรก็พิมพ์เข้ามาปรึกษาเพราะอยากมีพื้นที่ให้ทันตแพทย์เข้ามาเรียนรู้และคอยปรึกษาเคสได้ ในอนาคตความต้องการหมอฟันด้านนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากโครงสร้างประชากร ฉะนั้นเราควรเตรียมพร้อมให้ได้เยอะที่สุด