Skip to main content

แม้ปัจจุบันสถาบันการศึกษาไทยจะพยายามสนับสนุนสวัสดิการและพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับอัตราส่วนของสถาบันการศึกษาทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอย่างระบบโครงสร้างพื้นฐานในสังคมไทย เช่น การเดินทาง ที่ถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวก คนพิการทางสายตานอกจากจะเจอสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อแล้ว สื่อการสอนต่างๆ ก็ยังเป็นอุปสรรค เช่น การไม่มีหนังสือเรียนอักษรเบรลล์ ไฟล์หนังสือเสียง ทำให้คนพิการทางสายตาหลายคนเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนสวัสดิการและมีสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง

ThisAble.Me จึงชวนคุยกับครูไอซ์ - ดำเกิง มุ่งธัญญา ครูพิการทางสายตา นักเรียนทุนฟูลไบรท์ในคณะการสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัย Portland State’s เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และแม็ก จากเพจประชาชนตาบอดไทยในเยอรมัน นักเรียนปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทั้งสองได้เล่าเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนตาบอดไทยในต่างแดน ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศและได้แชร์มุมมองของทั้งสองคนที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคนพิการ ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยให้ความสำคัญกับคนพิการทางสายตามากพอหรือยัง

ชีวิตตอนเรียนอยู่ที่ไทย ตั้งแต่มัธยม - มหาลัย

ครูไอซ์ : ผมจบปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกอังกฤษ ปัจจุบันเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย สอนวิชาภาษาอังกฤษ และได้ทุนฟูลไบรท์มาศึกษาต่อในสาขาการสอนภาษาอังกฤษที่ Portland State’s University เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ตอนประถมผมเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ที่นี่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อมสำหรับเด็กตาบอด ทั้งหนังสืออักษรเบรลล์ การเรียนการสอนด้วยอักษรเบรลล์ นอกจากวิชาการแล้วก็ยังมีวิชางานบ้าน และทักษะต่างๆ ที่คนตาบอดใช้ช่วยเหลือตัวเอง มีการฝึกใช้ไม้เท้าในการเดินทาง แม้ไม่ได้ช่วยนำทางแต่ไม้เท้าสำคัญมากเพราะสามารถเตือนสิ่งกีดขวาง

ช่วงมัธยมผมอยู่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สิ่งที่ต่างออกไปคือเวลาเรียนในห้องจะไม่มีอักษรเบรลล์ แต่จะมีครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าครู Resource รับเอกสารต่างๆ มาทำเป็นอักษรเบรลล์ หรืออัดเสียงเนื้อหาที่เรียนให้ เวลาสอบก็ต้องแยกสอบเพราะหากสอบร่วมกับคนอื่น ทุกคนก็จะได้คำตอบเรา การทำการบ้านเพื่อนบางคนก็เอากลับไปที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เพื่อให้อาสาสมัครช่วย ผมเองก็เอากลับไปให้แม่ช่วย โดยอ่านทุกอย่างให้ฟัง เราก็ตอบกลับแล้วแม่ก็เขียนให้ แต่หากงานไหนต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำหรือมีรูปภาพก็จะเป็นพ่อจะคอยช่วยทำ

ในส่วนมหาวิทยาลัยสิ่งที่ต่างออกไปคือไม่ค่อยมีหนังสืออักษรเบรลล์แล้วเพราะเนื้อหาที่เรียนมีมากขึ้น เราจึงใช้วิธีขอไฟล์จากอาจารย์แล้วอ่านด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้เวลาส่งงานก็สามารถพิมพ์ได้ไม่จำเป็นต้องเขียนลายมือ ช่วงนี้เพื่อนก็ช่วยเหลือ เช่น ในงานเรามักรับหน้าที่เป็นฝ่ายทำเนื้อหา ส่วนรูปเล่มและรูปภาพเพื่อนก็ช่วย สำหรับในบางวิชาที่เราไม่สามารถอ่านไฟล์ได้ เพื่อนก็อ่านให้ฟังแล้วอัดเสียงเอ็มพี 3 หากไม่มีใครช่วยเหลือจริงๆ เราก็สแกนและใช้โปรแกรมอ่านสำหรับคนตาบอด ซึ่งไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็รอดมาได้ และด้วยความโชคดีที่อยู่คณะครุศาสตร์ มีอาจารย์เอกการศึกษาพิเศษที่เข้าใจหากมีข้อติดขัด ต้องพิมพ์เอกสารเบรลล์ ก็สามารถประสานได้เลย 

แม็ก : ตอนนี้เป็นนักเรียนปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ที่เยอรมัน จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการต่างประเทศ เราเป็นคนพิการทางสายตาหรือที่เรียกกันว่าคนตาบอด

ตอนมัธยมเรียนโรงเรียนเดียวกับครูไอซ์แต่อยู่หอพักประจำที่โรงเรียน และหาอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ช่วยทำการบ้าน แต่ละวันก็ต้องลุ้นว่าจะมีอาสาสมัครมาช่วยทำการบ้านไหม เราเรียนสายวิทย์ - คณิต ก็ได้แต่ภาวนาว่า จะมีนิสิตวิศวะ หรือเรียนสายวิทย์ช่วยทำการบ้านที่ยุ่งยาก หากไม่มีเราก็จะส่งการบ้านช้าหน่อยหรือต้องเอาไปให้เพื่อนลอกส่งให้

ข้อดีของชีวิตประจำวันตอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์คือ สภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยดี เหมือนเป็นเมืองเมืองหนึ่งเลย เราอยู่หอในพอถึงเวลาไปเรียนก็เดินไปเรียนตามทางเบรลล์บล็อค ทางเดินเป็นอารยะสถาปัตย์ (Universal Design) คนนั่งวีลแชร์หรือคนตาบอดใช้ไม้เท้าเดินไปตรงไหนก็สะดวก โรงอาหารก็อยู่ใกล้มาก รวมถึงตึกเรียน อาคารต่างๆ ก็สะดวก เราเลยสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง ช่วงที่เรียนอยู่ธรรมศาสตร์เป็นช่วงที่ชอบที่สุดในชีวิตช่วงหนึ่งเลย เพราะตอนมัธยมเรายังต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน การเป็นคนตาบอดทำให้ชีวิตวนอยู่กับการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเสมอ แต่ที่ธรรมศาสตร์ไม่ต้องทำแบบนั้น เราไปเรียนเองได้ ไปกินข้าวเองได้ การบ้านก็พิมพ์ส่งได้ มีศูนย์บริการคนพิการที่มีหน้าที่พิมพ์หนังสือ เราเองก็สบายใจ ไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ สวัสดิการต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้

ช่วงที่เรียนต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง 

แม็ก : ชีวิตประจำวันที่เยอรมนีเราไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใครเลย เวลาออกไปเรียนก็สามารถเดินไปตามถนน ข้ามสี่แยกไฟแดงเอง ขึ้นรถเมล์เอง ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะประเทศแถบยุโรปเจริญเและมีเทคโนโลยีสูงกว่าประเทศเรา แต่พอมาอยู่ก็พบว่าถนนบ้านเขาไม่ต่างอะไรจากบ้านเราเลย แค่เพิ่มเบรลล์บล็อก หรือติดเสียงและจีพีเอสบนรถเมล์ชานต่ำ ของพวกนี้จ่ายเพิ่มไม่กี่บาทแต่สามารถเพิ่มความสะดวกให้กับคนพิการได้

เวลาออกจากบ้าน กูเกิ้ลแมพจะบอกว่ารถมากี่โมง ถึงไหนแล้ว ถ้าพนักงานขับรถเห็นว่าเป็นคนตาบอดถือไม้เท้า ก็จะจอดให้ประตูคนขับตรงกับเราเพื่อให้ถามว่ารถเมล์คันนี้สายอะไร ไปไหน ที่ป้ายรลเมล์ก็มีป้ายกดเพื่อเช็คสายรถเมล์ที่อ่านให้ฟังเสียงดัง การเดินทางได้เองนั้นมอบอิสระและทำให้คนตาบอดไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร

ชีวิตในมหาวิทยาลัยคณะรัฐศาสตร์ช่วงแรกเรียนออนไลน์อยู่ที่ไทยผ่านโปรแกรมซูม อาจารย์จะสแกนเอกสารต่างๆ ให้เป็นไฟล์ .Word ก็สะดวกและแม่นยำสูง บางทีมีรูปภาพอาจารย์ก็เขียนคำบรรยายใต้ภาพให้ ส่วนงานหรือการบ้านก็ทำผ่านคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว พอไฟล์ต่างๆ หนังสือ เอกสารเป็นภาษาอังกฤษโปรแกรมก็อ่านได้ ไม่เหมือนตอนอยู่ไทยที่เอกสารราชการไม่สามารถใช้โปรแกรมอ่านได้

แม้มีกลไกสนับสนุน แต่เราก็มองว่าศูนย์นักศึกษาพิการที่นี่ยังไม่มีความพร้อมเท่าไหร่ คอนเซปต์เรื่อง Inclusive Society ก็เพิ่งบูมเมื่อประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ครอบคลุมแบบศูนย์นักศึกษาพิการของอังกฤษและอเมริกา หากเรามีหนังสือที่ต้องอ่านเล่มหนึ่งอยากได้เป็นอักษรเบรลล์ เราก็ต้องไปทำที่ห้องสมุดเอง หรือเรื่องหอพัก ก็ต้องติดต่อไปทางหน่วยบริการนักศึกษา ศูนย์นักศึกษาพิการไม่ได้ทำงานครอบคลุมในทุกเรื่องและเพราะกฏหมายแต่ละที่บังคับใช้ไม่เหมือนกัน ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มิวนิค ศูนย์นักศึกษาพิการของที่นั่นเหมือนกับอเมริกาคือครบวงจรเลย

สุดท้ายแล้วเราก็ยังรู้สึกว่าที่เยอรมันดีกว่าไทย เพราะเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เยอะกว่า พอสวัสดิการและสิ่งแวดล้อมในมหาลัยวิทยาลัยดี ก็ทำให้เราสามารถอยู่เองได้ดีระดับหนึ่ง คนที่นี่ก็ไม่ต้องให้ความช่วยเหลือเรามาก

ครูไอซ์ : เราเคยส่งอีเมล์มาถามว่า เราเป็นนักเรียนต่างชาติจะได้รับซัพพอร์ตแบบเดียวกับนักศึกษาพิการคนอื่นหรือไม่ เขาตอบว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร สัญชาติใด ถ้าเป็นคนพิการก็อยู่ใต้กฎหมายและได้รับการสนับสนุนอย่างเท่าเทียม

ระบบสนับสนุนนักศึกษาพิการที่นี่จริงจังมาก พอรู้ว่ามีความพิการ เขาก็ส่งเรื่องต่อให้กับศูนย์ดีอาร์ซีหรือศูนย์นักษาพิการของที่นี่ เราได้คุยกับเจ้าหน้าที่ 3 คน คนแรกคือ ที่ปรึกษา Advisor ซึ่งสัมภาษณ์ว่า เรามีความพิการยังไงค่อนข้างละเอียดมาก มีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง ฝ่ายที่สองคือฝ่ายเทคโนโลยีที่ดูแลการผลิตสื่ออักษรเบรลล์ นอกจากเบรลล์แล้วก็ยังดูโปรแกรมที่เราใช้อ่านและทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงโปรแกรมอย่าง Google Doc ,Google Drive ฝ่ายสุดท้ายคือครูผู้ช่วยซึ่งทำหน้าที่อธิบายสิ่งที่อาจจะขาดตกไปในห้องเรียน และช่วยเหลือนอกห้องเรียน เช่น หากต้องจัดหน้าไฟล์รายงาน หารูปภาพ ก็จะมีเขาคอยเช็คให้โดยมีเวลา 1 ชั่วโมงต่อ 1 หน่วยกิตต่อสัปดาห์ ฉะนั้นเราก็ต้องวางแผน จัดระบบการทำงานให้ดี

ในทุกๆ เทอมเราจะได้ลงทะเบียนเรียนก่อนหนึ่งสัปดาห์ พอลงทะเบียนเสร็จศูนย์ดีอาร์ซีก็จะรีบติดต่ออาจารย์ผู้สอนว่าเนี่ยมีคนตาบอดมาลงทะเบียนเพื่อเตรียมการสอน เราจะต้องซื้หนังสือและนำใบเสร็จไปให้เขา เขาจึงทำเป็นไฟล์ให้เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องลิขสิทธ์ เราเองก็รู้สึกดีเพราะได้จ่ายค่าหนังสือและอ่านได้จริงๆ หนังสือไทยบางทีซื้อมาก็อ่านไม่ได้ รู้สึกไม่คุ้ม

สำหรับการสอบจะเพิ่มเวลาให้ เพราะเราใช้เวลานานกว่าในการอ่านด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีเรื่องหนึ่งที่ประทับใจคือ ตอนสอบเราต้องดูวิดีโอเกี่ยวกับรูปแบบการจัดสอนแล้ววิเคราะห์ว่าครูทำอะไร ทางดีอาร์ซีก็ทำ AD (Audio Description : เสียงบรรยายภาพ) มาให้ ซึ่งทำยากและต้องใช้เวลามาก

เทอมนี้เราได้ฝึกสอนผู้ใหญ่ที่ไม่เป็น English Native Speaker เวลาสอนต้องมีครูผู้ช่วย ทำให้เราต้องฟังทั้งนักเรียน ทั้งครูผู้ช่วยแล้วเสียงตีกัน ปกติถ้าสอนที่ไทยเราจะมีโน๊ตอักษรเบรลล์ แต่เราไม่ได้เอาที่พิมพ์อักษรเบรลล์มา จึงติดต่อดีอาร์ซีและทางศูนย์จะช่วยทำสไลด์อักษรเบรลล์ให้ โดยที่เราเตรียมการสอนล่วงหน้าหนึ่งอาทิตย์ส่งไป เราลองใช้วิธีอยู่ไม่กี่ครั้งก็ไม่ไหวจึงตัดสินใจซื้อจอเบรลล์ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ตามสิ่งที่ขึ้นบนหน้าจอ ลงทุนหน่อยแต่ใช้ได้ระยะยาว 

จุดเริ่มต้นของการไปเรียนต่อต่างประเทศ?

แม็ก : เราอยากเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็กแล้ว ช่วงมัธยมปลายก็เคยดูทุนรัฐบาลเรียนต่อต่างประเทศแต่ทุนก็ปิดไปซะก่อน พอเรียนที่ธรรมศาสตร์ก็ยิ่งอยากเรียนต่อ ยิ่งได้ฟังอาจารย์เอาเรื่องจากต่างประเทศมาเล่า พอได้เรียนภาษาเยอรมันเนื่องจากสาขาการต่างประเทศบังคับให้เรียนภาษาที่ 3 ก็รู้สึกสนุก จึงพยายามหาทุนที่เยอรมัน เพราะเยอรมันไม่เก็บค่าเทอมนักศึกษาต่างชาติ ค่าครองชีพก็ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นและสำนักคิดทางรัฐศาสตร์มีความแตกต่างจากที่อังกฤษ 

ครูไอซ์ : หลังเรียนจบมีอาจารย์ที่คณะส่งมาว่ามีทุนเรียนต่อ แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจเพราะอยากสอบบรรจุครูก่อน หลังทำงานแล้วก็พบว่าอยากพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเรียนที่ไทยก็ต้องเจอเอกสารที่อ่านไม่ได้  พอครูและเพื่อนกระตุ้นก็เลยลองสอบโทเฟล และเขียน Statement of Purpose จนได้ทุนและสมัครมหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์ การสมัครทุนต่างๆ เราก็แข่งขันกับคนไม่พิการ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าเราเป็นใคร ทำไมเขาต้องเลือกเรา หากไปเรียนจะสามารถนำอะไรกลับมาทำประโยชน์ได้บ้าง

สภาพแวดล้อมต่างจากที่ไทยอย่างไรบ้าง

ครูไอซ์ : ไทยมีเบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาท เราโชคดีที่มีงานทำก็เลยอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นลักษณะช่วยเหลือกัน ไม่ได้มีระบบซัพพอร์ท แม้แต่การเดินทางก็ต้องอาศัยน้ำใจของคนรอบข้าง ตอนอยู่ที่อเมริกาเราคือนักเรียนต่างชาติมาแบบวีซ่าประเภท J1 ไม่สามารถรับซัพพอร์ตจากรัฐ แต่สิ่งแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมกว่าที่ไทย ทางเดินดีมาก มีทางลาดสำหรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์ แม้ไม่ได้มีเบรลล์บล็อกตลอดทางแต่ก็มีในส่วนที่จำเป็นอย่างหัวมุมถนนที่เตือนให้รู้ว่า ควรยืนตรงนี้ บ้านเราบางที่มีเบรลล์ตลอดทางแต่ก็มีร้านค้าวางทับ หรือเดินไปแล้วชนเสาไฟฟ้า คนอเมริกันค่อนข้างใจเย็นและเคารพกฏจราจร ต่อให้ไม่ใช่ไฟแดงแล้วเห็นเราจะข้ามเขาก็หยุดให้ ไฟแดงที่นี่มีสองแบบคือกดก่อนแล้วรอให้มีเสียง หรือแบบที่มีเสียงติ๊ดๆ ก่อนแล้วค่อยข้ามซึ่งค่อนข้างดีแต่ก็มีแค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น  ปัจจุบันจึงต้องข้ามถนนที่ไม่มีไฟสัญญาณ

รถเมล์ที่นี่คนไม่ค่อยเยอะเพราะคนส่วนใหญ่ใช้วิธีการเดิน ไม่ก็ปั่นจักรยาน รถเมล์ที่นี่ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ แต่จะมีเสียงบอกว่าสายอะไร สุดสายไปที่ไหน บางคันก็ลำโพงพัง หรือคนขับเป็นคนตะโกนบอก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช้ว่าทุกคนจะเหมือนกัน บางคันก็ไม่มีเสียง คนขับบางคนก็ไม่พูด ถ้าเจอคนขับใจเย็นเขาก็จะรอเรานั่งก่อนค่อยออกรถ แต่ก็มีบางคนออกไวยังไม่ทันนั่งเลย เราก็ต้องระวังมากๆ 

เรื่องที่พักค่อนข้างต่างกัน หอในมหาวิทยาลัยเป็นมิตรต่อคนพิการมากกว่า ช่วงแรกมีเครื่องซักผ้าอยู่เครื่องเดียว ใช้เครื่องซักผ้าไม่เป็นเพราะไม่รู้ว่าต้องกดปุ่มไหน มีเพียงเครื่องเดียวที่ติดอักษรเบรลล์และเครื่องก็อาจไม่ว่าง หอก็เอาอักษรเบรลล์มาติดให้ทุกเครื่อง ครั้งหนึ่งสัญญาณไฟไหม้ดัง เราก็ไม่รู้ว่าของจริงหรือปลอม ก็จะมี Residence Assets หรือนักศึกษาที่คอยดูแลชั้น พาเราเดินลงไปด้านล่าง

เราไม่ค่อยได้เข้าห้องสมุดที่นี่เท่าไหร่ เพราะว่าส่วนใหญ่อ่านทางออนไลน์ แต่ว่าห้องสมุดที่นี่ดีมาก ครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยทำโครงการทดสอบระบบห้องสมุดว่าคนพิการจะสามารถใช้เว็บไซต์ได้ไหมโดยใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอ เราคิดว่า ดีมากที่ก่อนจะทำอะไร คนพิการได้ทดลองก่อน

แม็ก : อยู่ไทยได้เงินเดือนละ 800 บาท แต่พอต้องมาอยู่ที่นี่ 3 ปี เขาก็ให้ทำบัตรคนพิการ รู้สึกงงเหมือนกันที่เป็นนักศึกษาต่างชาติแต่ทำบัตรคนพิการได้ บัตรนี้ทำให้เราขึ้นขนส่งสาธารณะฟรีทั่วรัฐทางเหนือเลย ส่วนทางใต้ขึ้นได้แค่เฉพาะในเมืองตัวเอง นอกจากนี้ทางเหนือไม่เก็บค่าเทอมนักเรียนต่างชาติ นอกจากนี้คนไม่พิการจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมสื่อต่างๆ เช่น ทีวี และวิทยุ แต่คนพิการไม่ต้องจ่าย

ตอนอยู่ที่ไทยเราเคยคุยกับคณะกรรมาธิการเรื่องตู้เอทีเอ็มระบบสัมผัส ซึ่งคนตาบอดใช้ไม่ได้เพราะตู้แบบนี้ไม่มีเสียงบอก ปุ่มกดแบบเดิมอย่างน้อยยังมีอักษรเบรลล์ให้สัมผัส พอไปร้องเรียนเขาก็บอกว่า ให้ใจเย็นๆ ต้องทำเรื่องหลายขั้นตอน จะเปลี่ยนกลับต้องใช้เวลา เราเคยถามบริษัทที่ขายตู้กดเงินเลยรู้ว่า มีตู้ที่มีเสียงแต่เขาก็เลือกไม่ซื้อทั้งที่ราคาไม่ต่างกันมาก สิ่งเหล่านี้เกิดจากการไม่นึกถึงคนพิการทางสายตาที่อยู่ในสังคม ที่เยอรมนีมีตู้กดเงินที่คนตาบอดสามารถใช้ได้ โดยเสียบหูฟังที่บอกขั้นตอนต่างๆ และสามารถทำธุรกรรมออนไลน์โดยใช้โปรแกรมอ่านและกรอกฟอร์มได้ด้วยตัวเอง ต่างจากไทยที่อ้างเรื่องเทคโนโลยี แถมไปทำธุรกรรมธนาคารก็ไม่ได้เพราะมองว่าคนพิการเปราะบาง ตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องพาคนไม่พิการไปด้วย แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลแต่ถ้าทัศนคติไม่ไปไหนก็คงไม่พัฒนา 

ส่วนการไปหาหมอที่นี่เราต้องมีประกันสุขภาพและบัตรประกันสุขภาพก่อน ผ่านการส่งเอกสารนักเรียนไปทำ หมอที่นี่ไม่ได้รวมศูนย์กันที่โรงพยาบาล แต่ต้องโทรไปนัดหมายก่อน ในวันนัดก็เอาใบประกันสุขภาพไปไม่อย่างนั้นค่ารักษาจะแพงมาก หากได้ยาก็เอาใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา สิ่งที่ดีคือกล่องยามีอักษรเบรลล์ทุกกล่อง เป็นมาตรฐานของบริษัทผลิตต้องเขียนพิมพ์ฉลากยาเป็นอักษรเบรลล์ด้วย แม้จะไม่ได้ละเอียดมากแต่ก็บอกได้ว่า ควรกินยาอะไรหลังตามลำดับ ทำให้เราสามารถหยิบยากินเองได้

ความยาก - ง่ายในการใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ

ครูไอซ์ : อยู่ที่นี่มาสักพักก็ชินเพราะสิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อมค่อนข้างพร้อม สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ได้ลองคือการซื้อของที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยพาไปเคาท์เตอร์ เราเคยใช้แต่ออนไลน์ ไม่ต้องเสียเวลาแถมแพลทฟอร์มก็สะดวกกับคนพิการ 

อีกอย่างที่ต่างคือคนที่นี่ไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือคนพิการ ต่อให้เราจะเดินหลงทาง จะชนต้นไม้ก็ไม่มีใครบอก เขาอาจจะถือว่าถ้าบอกเป็นการดูถูก มีความพีซี (PC-Potical Correctness) มาก เพราะคนตาบอดที่นี่เอาตัวรอดได้ เราเลยต้องขอความช่วยเหลือก่อนเขาถึงจะเข้ามาช่วย คนที่นี่ค่อนข้างมีความเป็นปัจเจก เลิกเรียนก็กลับบ้าน กลางวันก็ไปกินข้าวไม่ต้องรอเพื่อน เราก็ใช้ชีวิตแบบเหงาๆ หน่อย อาศัยคุยกับที่บ้านหรือนักเรียนให้หายเหงา

แม็ก : เรื่องยากคือเรามีเพื่อนน้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคนเดียวเป็นหลัก ยังไม่มีเพื่อนสนิทกันแบบที่ไทย ในฐานะคนพิการสิ่งที่ยากลำดับแรกๆ ก็คือการเดินทาง โครงสร้างถนนต่างไปจากไทย รูปแบบตึก รูปแบบถนนก็ต้องปรับความเคยชิน ยิ่งบางตึกเป็นตึกเก่าทำให้หาทางเข้ายาก ถนนในยุโรปมักมีทางโค้งๆ วนไปวนมา หรือเราชินกับรถเมล์ที่จอดริมฟุตปาธ แต่ที่นี่บางป้ายก็จอดที่เกาะกลางถนน แต่เรามองว่า คนเยอรมันช่วยคนตาบอดได้ดีกว่าคนไทย สมมติเราลงป้ายรถเกาะกลางถนนแล้วไม่กล้าเดิน ไม่เกิน 1-2 นาที จะมีคนเดินเข้ามาถามว่าให้ช่วยมั้ย และไม่ค่อยมีคนปฏิเสธเมื่อขอความช่วยเหลือ รวมๆ แล้วอยู่เยอรมันโอเคกว่าเพราะโครงสร้างพื้นฐานที่นี่ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาใครเลย ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัยแต่ครอบคลุมทั้งประเทศ ยิ่งเราเป็นคนรักอิสระ อยากไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไปได้โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือ ถ้าเทียบกับที่ไทยในกรุงเทพฯ ก็ต้องขอความช่วยเหลือ ในต่างจังหวัดยิ่งแล้วใหญ่ แค่จะเดินไปกินก๋วยเตี๋ยวยังไปไม่ได้เลย 

แล้วมีอะไรเหมือนกันบ้าง

แม็ก : เรื่องอาชีพคล้ายไทย อย่างที่รู้กันว่าการศึกษานำไปสู่อาชีพ แต่การเรียนที่นี่ยังไม่ครอบคลุมคนพิการทั้งหมด เปอร์เซ็นต์คนพิการเรียนหนังสือกับคนไม่พิการเรียนหนังสือยังต่างกันมาก ส่งผลให้คนพิการได้เงิน ได้โอกาสน้อยกว่า เพื่อนคนตาบอดที่นี่เรียนได้แค่ 3-4 คณะ ถ้าเป็นหน่วยงานเอกชนก็จะเลือกได้ว่า จะรับคนพิการหรือไม่ ตอนเราหาโรงเรียนภาษาเยอรมันของเอกชน เขาก็บอกว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนตาบอดเรียน พอเอกชนไม่ได้การสนับสนุนจากรัฐก็ไม่ถูกบังคับให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก

ครูไอซ์ : สิ่งที่เหมือนกันคือไม่ว่าเร็วหรือช้าก็เห็นความพยายามทำให้เกิดความเท่าเทียม แต่ที่นี่เร็วกว่า ความตระหนักรู้ (Awareness) ของสังคมทำให้คนพิการรู้สึกอบอุ่นใจและถึงแม้จะมีซัพพอร์ทมากแค่ไหน เราก็ยังอยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองให้มากที่สุด อีกเรื่องที่คล้ายกันคือความไม่เข้าใจคนพิการ ถ้าเราบอกว่าตาบอด เพื่อนบางคนก็ไม่เข้าใจว่าตาบอดสนิท เขาก็ยังพูดว่า “ขอโทษที พอดีทำตัวอักษรมาเล็กไปหน่อย ต้องขยายให้ใหญ่ขึ้นใช่มั้ย” ทั้งที่ขยายให้ใหญ่แค่ไหนก็มองไม่เห็นอยู่ดี หรืออีกครั้งที่เราจะเข้าร่วมโปรแกรมสอนภาษาให้นักศึกษาญี่ปุ่น เกาหลี เขาก็ไม่เข้าใจว่า เราตาบอดแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครพูด 

คิดว่าอะไรทำให้ไทยไม่มีสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีได้เท่าต่างประเทศ

ครูไอซ์ : อาจเป็นเพราะเราไม่ใส่ใจเท่าที่ควร และเสียงของคนพิการอาจไม่ดังพอที่เขาจะรับฟัง เราไม่ค่อยตั้งคำถาม กลัวว่าเป็นคนพิการออกมาเรียกร้องแล้วจะดูเป็นคนเยอะ อีกด้านเรามองมองว่า เรื่องคนพิการถูกมองว่าไม่ต้องรีบ จะเปลี่ยนอะไรต้องใช้งบเยอะ แต่ยิ่งทำแบบขอไปที ไม่คิดถึงระยะยาวก็ยิ่งเสียเงินเยอะ

แม็ก : เรามองว่าไทยไม่ติดปัญหาอะไรเลย ติดที่ไม่ยอมทำ ในไทยคนตาบอดหรือคนพิการไม่เคยเข้าไปอยู่ในฝ่ายที่กำหนดนโยบายการพัฒนาเลย ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงส่วนนโยบาย ฉะนั้นการยกระดับคุณภาพชีวิตเลยไม่ครอบคลุมถึงคนพิการ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน หรือการศึกษา ไม่ได้มีตัวแทนคนตาบอดเข้าไปในกระบวนการเหล่านี้ ฉะนั้นกับการปรับหรือแก้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านกลไกรัฐจึงเป็นแบบนี้ เยอรมนีเป็นประเทศที่แคร์เสียงของประชาชน รัฐมีหลักการที่จะต้องทำตามหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจต้องสนใจประเด็นพวกนี้ และคิดถึงกลุ่มคนพิการด้วย แต่ประเทศเราไม่สนใจเสียงของประชาชนอยู่แล้ว ยิ่งเป็นคนพิการอีก แค่เรื่องธนาคารก็พูดกันมาเป็น 10 กว่าปี ก็ยังไม่มีกฎหมายหรือนโยบายชัดเจนว่าสิ่งนี้ต้องเข้าถึงได้ทุกคน พอนโยบายไม่สามารถทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ก็กลายเป็นว่าคนพิการน่าสงสาร ต้องคอยให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่สาเหตุเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่นี่ไม่เอื้อให้คนพิการใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง

แล้วพอจะมีอะไรที่สามารถเอามาปรับใช้ที่ประเทศไทยได้บ้าง

แม็ก : อันดับแรกขนส่งสาธารณะที่คนพิการทุกคนใช้ได้ เป็นทางออกที่ง่ายที่สุดและน่าจะดีมีผลที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้น ถ้าคนพิการขึ้นรถเมล์ไปไหนมาไหนเองได้ หมายความว่าเขาก็สามารถใช้ชีวิต ไปเรียนหนังสือ ไปทำงานและพึ่งพาคนอื่นน้อยลง และจะมีผลต่อการเปลี่ยนทัศนคติของคนด้วย อีกเรื่องคือมาตรฐานของสื่อสิ่งพิมพ์ในไทย ต้องมีกฏหมายที่ระบุว่า เอกสารราชการทุกฉบับ แบบฟอร์มคำร้องต่างๆ ที่ผลิตออกมาต้องมีมาตรฐานให้คนพิการอ่านได้  นอกจากนี้เราสนใจเรื่องกล่องยา อยากให้มีมาตรฐานอย่างคิวอาร์โค้ดที่สแกนโหลดข้อมูลได้ และการบังคับให้เว็บไซต์ต่างๆ มีรูปแบบที่คนตาบอดสามารถใช้โปรแกรมอ่านได้

ครูไอซ์ : การศึกษาที่ทำให้คนพิการรู้สึกว่ามีความช่วยเหลือที่มากพอ บางคนมองว่า คนพิการเก่งจังที่พยายามจนเรียนได้ ทั้งที่จริงแล้วรัฐควรซัพพอร์ตเพื่อทำให้คนพิการได้เข้าถึงสื่อการเรียนได้สะดวก ไม่ต้องให้คนตาบอดนั่งสแกนเอกสารเอง หน้าที่เขาคือเรียนไม่ใช่ผลิตหนังสือ

อยากฝากอะไรถึงสังคม หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ครูไอซ์ : ทุกที่ก็มีจุดที่โอเคและไม่โอเคเหมือนกัน คนพิการต้องการการซัพพอร์ตจากสังคมและรัฐเพื่อให้สิ่งแวดล้อมพร้อม เมื่อวันหนึ่งเราช่วยเหลือตัวเองได้มากพอ คนพิการจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เช่นกัน 

แม็ก : Inclusive Society ไม่ได้ทำให้แค่คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นหลักประกันให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม คนเราไม่สามารถแข็งแรงได้ตลอดทุกสถานการณ์ หากเราแก่หรือประสบอุบัติเหตุในสังคมที่พร้อมโอบรับ คุณก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เหมือนเดิม