Skip to main content

“หากคุณอยู่ในร้านอาหาร คุณเห็นพื้นที่สำหรับ “ทุกคน” แล้วหรือยัง? 

และคุณคิดว่าพื้นที่สำหรับผู้พิการควรถูกทำให้เห็นได้อย่าง “ชัดเจน” ในทุกร้านอาหารและทุกหนแห่งหรือไม่”

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสำคัญของโปรเจกต์ละครนิติบัญญัติ (Legislative Theatre) เรื่อง “พื้นที่ที่หายไป” ซึ่งเป็นโปรเจกต์ของนักศึกษาปริญญาโทอย่างธนวุฒิ ศรีสวัสดิ์, ณัฐวุฒิ ตินทุกะสิริ และทองศิริ ก่ำแดง ภายใต้การดูแลของทรงสิริ พุทธงชัย อาจารย์ที่ปรึกษาในรายวิชาสัมมนาประเด็นเฉพาะในสังคมปัจจุบัน สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้มีการเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กสมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ (Public Sociology Association: PSA) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา 


[ด้านบนซ้าย ณัฐวุฒิ ตินทุกะสิริ รับบทเป็นพงศ์ คนพิการที่ใช้วีลแชร์]
[ด้านบนขวา ทองศิริ ก่ำแดง รับบทเป็นบีม เพื่อนของพงศ์ที่ไม่พิการ]
[ด้านล่างซ้าย ธนวุฒิ ศรีสวัสดิ์ รับบทเป็นพันธ์เจ้าของร้านอาหาร]
[ด้านล่างขวา ทรงสิริ พุทธงชัย ผู้ดำเนินรายการ]

เรื่องเริ่มต้นจากการเล่าถึงพื้นที่ เมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกในร้านอาหารซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนควรสามารถใช้บริการได้ แต่กลับไม่ได้เอื้อต่อทุกคนเสมอไป หากผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายมากพอที่จะจัดสิ่งอำนวยความสะดวก จนทำให้คนพิการที่ใช้วีลแชร์ไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารได้อย่างปกติสุข เมื่อมีข้อจำกัดเรื่องโต๊ะและการถูกเลือกปฏิบัติ นักศึกษาในรายวิชา จึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้การละครนิติบัญญัติ หรือ “Legislative Theatre” ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมือง (political activity) ที่สำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย เปิดให้ทุกคนได้เข้ามาแสดงในเรื่องที่กำลังดำเนิน โดยมีผู้ดำเนินรายการ หรือโจ๊กเกอร์ (joker) เป็นผู้สั่งให้ละครหยุด แล้วให้ผู้ชมขึ้นมาแทรกสด เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือทดลองเล่นเป็นตัวละครในเรื่อง หรือกล่าวได้ว่า ร่วมทดลองหรือหาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลง 

แต่ไม่ใช่ว่าเล่นละครแทรกสดแล้วก็จบ เนื่องจากในตอนท้ายนั้นมีกระบวนการรวบรวมคะแนนจากข้อเสนอผ่านการโหวตของทุกคนและความเห็นจากคณะลูกขุน (metabolic cell) ทั้งผู้ที่เป็นนักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือลุ่มคนที่มีประสบการณ์ เพื่อขับเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย สภานิติบัญญัติ โดยมุ่งสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

เนื้อเรื่องก่อนมีผู้เข้าร่วมแทรกสด

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 1 : พงศ์เป็นตัวแทนคนพิการเข้าร่วมประชุมสมัชชาเครือข่ายการออกแบบพื้นที่เพื่อทุกคนครั้งที่ 1 และได้เสนอในที่ประชุมว่าขอให้ร้านอาหารทุกร้าน ห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง และทุกๆ คน ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้พื้นที่สาธารณะของคนพิการที่ใช้วีลแชร์ด้วย

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 2 : บีมมาถึงร้านบีเอ็มชิ และโทรศัพท์ไปขอบคุณน้ำอิงที่ส่งบทความเรื่อง “มองคนพิการผ่านหนังสั้น” มาลงในนิตยสาร บทความฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายในการดำเนินชีวิตของคนพิการ 

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 3 : พงศ์โทรศัพท์ไปสอบถามบีมถึงเส้นทางไปร้านบีเอ็มชิ จากนั้นจึงรีบหาแท็กซี่เพื่อเดินทางไปถึงร้านให้เร็วที่สุด ถึงแม้ไม่ค่อยมีแท็กซี่คันไหนอยากจะรับส่งคนพิการที่นั่งวีลแชร์ แต่พงศ์ก็หาแท็กซี่ไปจนได้ 

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 4 : พันธ์มารับรายการอาหาร หลังจากที่บีมสั่งอาหารเสร็จ บีมได้แจ้งให้พันธ์ทราบว่ามีเพื่อนอีกหนึ่งคนเป็นคนพิการนั่งวีลแชร์กำลังตามมา ช่วยหาโต๊ะที่สะดวกสบายและเหมาะสมสำหรับเพื่อนที่เป็นคนพิการที่นั่งวีลแชร์ด้วย พันธ์แจ้งว่าสามารถนั่งโต๊ะนี้ได้ไม่ติดอะไร 

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 5 : พงศ์มาถึงร้านอาหาร การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก สักพักพันธ์นำอาหารมาเสิร์ฟ และแจ้งขอให้พงศ์ขยับล้อรถเข็นวีลแชร์เข้าไปชิดข้างในโต๊ะเป็นครั้งที่หนึ่ง พงศ์แจ้งว่าพื้นที่คับแคบมาก แต่ก็ลองพยายามขยับอีกครั้งตามที่พันธ์บอก

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 6 : มีคณะลูกค้าจำนวนมากมาถึงร้านอาหาร พันธ์จึงเข้ามาแจ้งให้พงศ์ขยับล้อรถเข็นวีลแชร์เข้าไปชิดด้านในเป็นครั้งที่สอง พงศ์ลองขยับล้ออีกครั้ง แต่ก็สามารถเอาล้อชิดไปข้างในได้เท่าเดิม ทั้งพงศ์และบีมเริ่มรู้สึกไม่โอเคกับพันธ์ แต่ก็พยายามทานอาหารกันต่อ

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 7 : พันธ์เข้ามาแจ้งให้พงศ์ขยับล้อชิดในเป็นครั้งที่สาม พงศ์จึงพูดให้พันธ์ทราบถึงความยากลำบากในการนั่งรับประทานอาหารครั้งนี้ รวมถึงสอบถามถึงการเปลี่ยนโต๊ะที่นั่งทานอาหาร บีมรู้สึกไม่พอใจพันธ์มาก เกิดอารมณ์โมโห โวยวาย ทะเลาะกันเสียงดังลั่นร้าน จากนั้นจึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊ก พันธ์ยกมือไหว้และพยายามขอร้องไม่ให้บีมถ่ายทอดสด แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

ความเปลี่ยนแปลงของ “พื้นที่ที่หายไป” จากผู้เข้าร่วมแทรกสด

การแสดงรอบที่ 2 ผู้ดำเนินรายการได้เชิญชวนให้ผู้ชมได้เข้ามาแทรกสด หากผู้ชมรู้สึกไม่โอเค รู้สึกว่าตัวละครตัวใดไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนมีตัวละครที่ถูกกระทำ ในจุดใดสามารถพูดคำว่า “หยุด” “ยกมือขึ้น” หรือ “เปิดกล้อง” แล้วเข้ามาร่วมแทรกสดแสดงละครได้ทันที


เริ่มต้นโดยนักแสดงชุดเดิมออกมาแสดง บีมนั่งอยู่ในร้านบีเอ็มชิ พงศ์เดินทางมาถึงร้านอาหาร พันธ์นำอาหารมาเสิร์ฟ มีผู้ชมท่านหนึ่ง เปิดกล้อง แล้วบอกให้ “หยุด” ผู้ดำเนินรายการถามว่า อยากเป็นตัวละครตัวไหน และอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร และอนุญาตให้แทรกสด แต่เป็นการแทรกสดพร้อมกันจำนวน 2 คน

ผู้แทรกสดคนที่ 1  : สวมบทบาทเล่นเป็นพงศ์ตัวใหม่ สิ่งที่ต้องการเสนอเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิม คือ อยากให้พงศ์คนใหม่มีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถเรียกร้องสิทธิให้ตนเองได้ โดยแจ้งความประสงค์ให้พันธ์ทราบตั้งแต่แรกเลยว่าสะดวกนั่งทานโต๊ะไหน ในขณะเดียวกันพันธ์ไม่ควรคิดแทนคนอื่น
ควรต้องสอบถามความคิดเห็นของลูกค้าเป็นหลัก เพราะลูกค้าย่อมรู้ดีว่าพื้นที่ใดที่มีความสะดวกสบายและเหมาะสมสำหรับตัวเอง 

ผู้ดำเนินรายการถามผู้แทรกสดคนที่ 1 ว่าได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการแล้วหรือยัง

ผู้แทรกสดคนที่ 1  :  ตอบว่าได้ทำในสิ่งที่ต้องการแล้วเป็นเป้าหมายระยะสั้น หากในระยะยาวผู้บริหารควรมีการปรับปรุงและจัดอบรมเรื่องการให้บริการสำหรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์ให้กับพนักงานร้านอาหาร เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติต่อลูกค้าผู้พิการที่นั่งรถเข็นวีลแชร์อย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกับลูกค้าคนอื่น

ผู้ดำเนินรายการถามผู้แทรกสดคนที่ 2  ว่าอยากเป็นละครตัวไหน และอยากจะทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปและแตกต่างไปจากเดิมบ้าง 

ผู้แทรกสดคนที่ 2  : สวมบทบาทเล่นเป็นดา ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้วีลแชร์ที่มาใช้บริการอีกคนหนึ่ง สิ่งที่ต้องการเสนอเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมคือ ดาพูดคุยสอบถามกับพันธ์ถึงการเปลี่ยนโต๊ะที่นั่งรับประทานอาหาร โดยเข้าไปนั่งที่โต๊ะหัวมุมสุด นอกจากนี้ยังเจรจาต่อรองเปลี่ยนโต๊ะกับคณะลูกค้าที่มากันเป็นจำนวนมาก ข้อเสนอของผู้แทรกสดครั้งนี้เพื่อให้ร้านอาหารคำนึงหรือจัดพื้นที่ โต๊ะอาหารไว้ให้สำหรับคนพิการใช้วีลแชร์ต่อไปในอนาคต

 

พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 7 : นักแสดงชุดเดิมออกมาแสดง บีมรู้สึกไม่พอใจพันธ์มากที่เห็นคณะลูกค้าจำนวนมากสำคัญกว่า มีผู้ชมท่านหนึ่งเปิดกล้องขึ้นมาแล้วบอกให้ “หยุด” ผู้ดำเนินรายการถามว่า อยากเป็นละครตัวไหน และอยากจะทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป และแตกต่างไปจากเดิมบ้าง และอนุญาตให้แทรกสด

ผู้แทรกสดคนที่ 1  : สวมบทบาทเล่นเป็นบีมตัวใหม่ สิ่งที่อยากเสนอและอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมคือ จะพูดคุยเจรจาปรับความเข้าใจกับพันธ์ให้ปฏิบัติต่อคนพิการที่นั่งวีลแชร์ในฐานะลูกค้าคนหนึ่ง และทางร้านควรมีนโยบายประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนว่าลูกค้าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ข้อเสนอของผู้แทรกสดครั้งนี้เพื่อให้ทางร้านตระหนักถึงลูกค้าคนพิการที่ใช้วีลแชร์ที่มารับประทานอาหารที่ร้าน ควรมีพื้นที่นั่งรับประทานอาหารได้เหมือนคนปกติทั่วไป ลูกค้าคนพิการไม่ควรต้องนั่งในที่แอบ หรือต้องซ่อนอยู่ในซอกหลืบ 


พื้นที่ที่หายไปฉากที่ 7 : นักแสดงชุดเดิมออกมาแสดง พันธ์เข้ามาแจ้งให้พงศ์ขยับล้อชิดในเป็นครั้งที่สาม เพราะขณะนี้ คณะลูกค้าจำนวนมากมาถึงหน้าร้านแล้ว พงศ์จึงพูดให้พันธ์รับรู้ถึงความยากลำบากในการนั่งรับประทานอาหาร บีมรู้สึกไม่พอใจพันธ์มาก จึงเกิดอารมณ์โมโห โวยวาย ทะเลาะกันเสียงดังลั่นร้าน และถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก มีผู้ชมท่านหนึ่งเปิดกล้องขึ้นมาแล้วบอกให้ “หยุด” แล้วเข้ามาร่วมแทรกสด

ผู้แทรกสดคนที่ 3  : สวมบทบาทเป็นลูกค้าปกติคนหนึ่งเข้ามาทานอาหารในร้าน สิ่งที่ต้องการเสนอเพื่อทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมคือ การพูดคุยเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งพันธ์ควรเข้าใจเรื่องข้อจำกัดของลูกค้าพิการที่นั่งวีลแชร์ด้วย นอกจากนี้พงศ์ควรช่วยพูดคุยเจรจากับบีมไม่ให้ถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กเกิดขึ้น ข้อเสนอของผู้แทรกสดครั้งนี้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญพันธ์ควรปฏิบัติต่อลูกค้าทุกคนอย่างมืออาชีพ 

ผู้ดำเนินรายการถามคุณโอ๋ต่อว่าได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการแล้วหรือยัง

ผู้แทรกสดคนที่ 3   : ได้ทำแล้วแต่ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ การเข้ามาเจรจาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกันมีระยะเวลาที่กระชั้นชิดมาก ประกอบกับทั้งสองฝ่ายยังอยู่ในอารมณ์ระดับรุนแรง หากมีเวลาพูดเจรจาโน้มน้าวใจทั้งสองฝ่ายมากกว่านี้ เชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จได้และจะไม่มีการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กเกิดขึ้น

ข้อเสนอจากละครนิติบัญญัติ “พื้นที่ที่หายไป” 

หลังจากการแสดงและการแทรกสดของละครจบลง คณะลูกขุน (metabolic cell) ได้ทำการเปิดห้องสนทนาแยกออกมาจากห้องหลัก เพื่อพิจารณาประเด็นข้อเสนอหรือแนวทางการแก้ปัญหาในสถานการณ์ของละครดังกล่าว หลังจากที่คณะลูกขุนกลับเข้ามาในห้องรวมก็ได้มีการนำเสนอประเด็นข้อเสนอต่าง ๆ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร้านอาหารให้คนพิการที่นั่งวีลแชร์เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในร้านอาหารมากขึ้น และทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้เข้าใจถึงสภาวะของคนพิการ ซึ่งจะทำให้ร้านอาหารเข้าใจและสร้างมาตรฐานการบริการที่เหมาะสมสำหรับคนพิการต่อไป 

โดยคณะลูกขุนมีข้อเสนอ ได้แก่ การกำหนดให้มีการจัดลำดับคะแนนให้ร้านอาหารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่นั่งวีลแชร์ การมีนโยบายสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจร้านอาหารได้เข้าใจสภาวะความพิการ การให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนเฉพาะร้านอาหารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและการกำหนดข้อบังคับให้ทุกร้านอาหารต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสม หลังจากรวมข้อเสนอต่างๆ แล้ว ผู้ดำเนินรายการได้จัดให้ผู้ร่วมรับชมละครทุกคนสามารถโหวตข้อเสนอที่เห็นด้วยและพบว่า ข้อเสนอแทบทุกข้อสามารถเป็นไปได้และควรผลักดันให้มี “พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก” ที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับคนพิการในร้านอาหารทั้งในเชิงนโยบายและการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจร่วมกัน จึงมีการพัฒนาข้อเสนอจากละครนิติบัญญัติ “พื้นที่ที่หายไป” ดังนี้

1. เสนอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในความพิการและสภาวะความพิการในการใช้บริการร้านอาหาร โดยเสนอให้มีการจัดอบรมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับพนักงานและเจ้าของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารโดยตรง เช่น การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างการมีทางลาดสำหรับวีลแชร์เข้าไปใช้บริการ การมีพื้นที่นั่งซึ่งมีสัญลักษณ์เฉพาะสำหรับคนพิการ หรือการมีโต๊ะยกสูงสำหรับการนำล้อวีลแชร์เข้าใต้โต๊ะได้ 

2. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและจดทะเบียนธุรกิจร้านอาหาร หรือออกใบอนุญาตเปิดร้านอาหาร พิจารณาทบทวนเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจร้านอาหารให้มีประเด็นการรองรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์ให้ชัดเจน สำหรับการประเมินคุณภาพของร้านอาหาร ทั้งขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตเปิดธุรกิจร้านอาหาร ไปจนถึงการจัดอันดับคุณภาพ การให้ดาว หรือการให้คะแนนรีวิว 

เพราะคนพิการเป็นคนๆ หนึ่งในสังคมเหมือนกับพวกเราทุกคน ไม่ควรถูกมองในฐานะผู้ที่มีข้อจำกัด หรือเป็นผู้ที่ถูกสังคมมองแค่ในมิติที่น่าสงสารหรือเห็นใจ คนพิการควรถูกมองในฐานะผู้ที่มีสิทธิและเสียงอย่างเท่าเทียมกับทุกคนในสังคม ควรได้รับ สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในร้านอาหารและได้รับการบริการที่เหมาะสม ทางออกที่ดีที่สุดคือความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน สังคม รัฐ และเอกชน ในการผลักดันให้คนพิการได้เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งอาจไม่ใช่แค่เพียงในร้านอาหารอย่างบทเรียนของละครนิติบัญญัติเรื่องนี้ แต่ยังหมายรวมถึง “ทุกพื้นที่” เพื่อทุกคนที่หลากหลาย

อ้างอิง

http://www.rebeccakellyg.com/uploads/3/2/0/9/32090279/legislativetheatre_report_12.21_screen.pdf

ดูไลฟ์สดบันทึกละครนิติบัญญัติ “พื้นที่ที่หายไป” ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “สมาคมวิทยาสาธารณะ-PSA”
หรือที่ลิงก์ https://web.facebook.com/psa.Thai/videos/1411736609299102

 

ผู้เขียนบทความ

1. ผศ.ดร.ทรงสิริ พุทธงชัย อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2. ธนวุฒิ ศรีสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. ทองศิริ ก่ำแดง นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4. ณัฐวุฒิ ตินทุกะสิริ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์