Skip to main content

ปัจจุบันมีแนวคิดเกี่ยวกับความพิการหลักๆ อยู่ 2 แนวคิดก็คือ แนวคิดทางการแพทย์ (Medical Model of Disability) และแนวคิดทางสังคม (Social Model of Disability) คนไทยส่วนใหญ่ยังมองเรื่องความพิการบนฐานแนวความคิดทางการแพทย์ โดยมองว่าความพิการเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากร่างกายและไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้คนต้องปรับตัวเอง ฝึก และฟื้นฟูตัวเองให้กลับสู่สังคมได้  

แต่สำหรับหมอโอ๋ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือที่รู้จักกันจากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กลับมีความคิดที่ต่างออกไป โดยไม่ได้มองความพิการเป็นความผิดปกติทางร่างกาย แต่วิธีการเข้าหาคนพิการต่างหากที่ผิดปกติ และความพิการก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายเหมือนกับการอยู่ในกลุ่ม LGBTQIA+ 

ถึงแม้หมอโอ๋จะไม่ได้มีสมาชิกครอบครัวเป็นคนพิการโดยตรง แต่จากเด็กหญิงที่เคยคิดว่าความพิการเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน จนกระทั่งโตมาเป็นกุมารแพทย์รักษาเด็กวัยรุ่นที่มีความพิการ อะไรทำให้หมอโอ๋เขียนคอนเทนต์  #สอนลูกเรื่องคนพิการ ลงเพจ และการรู้จักความพิการนั้นสำคัญอย่างไรกับเด็กๆ Thisable.me ชวนทุกคนหาคำตอบเพื่อสร้างความเข้าใจไปพร้อมกัน

ภาพหมอโอ๋นั่งไขว่ห้างมองกล้องแล้วยิ้มและพาดชื่อหัวข้อสอนพ่อแม่ให้ #สอนลูกเรื่องคนพิการ กับเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’

อะไรเป็นไอเดียที่ทำให้หมอเขียนคอนเทนต์ #สอนลูกเรื่องคนพิการ   

ผศ.พญ.จิราภรณ์: หมอทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี บริเวณใกล้ๆ กันมีโรงเรียนสอนคนตาบอดและกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บางทีเวลาเรียกวินมอเตอร์ไซด์ก็มักจะเจอคนตาบอดพร้อมกับได้ยินเสียงพ่อแม่ผู้ปกครองพูดถึงคนพิการว่า ‘ดูสิพี่เขาน่าสงสาร’ หรือ ‘เห็นไหมว่าเขาโชคร้าย เราโชคดี’ หมอก็ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องทำให้คนพิการน่าสงสาร พอได้ไปเรียนต่างประเทศก็ทำให้หมอเห็นว่า คนที่นู้นเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนพิการเท่ากันกับคนไม่พิการ คนไม่พิการขึ้นรถเมล์ได้ คนพิการก็ต้องขึ้นได้เหมือนกัน  

แต่สิ่งที่สร้างบทเรียนเรื่องคนพิการครั้งใหญ่ให้กับหมอก็คือลูก ครั้งนั้นเราไปเที่ยวต่างประเทศ ลูกสาวเห็นคนเดินแปลกๆ ก็เลยสงสัยและถามว่า “มามี้คนนั้นเขาเป็นอะไร” พอได้ยินลูกถาม หมอก็ตอบลูกไปโดยไม่ทันคิดให้ดีว่า เราไม่ควรเสียงดังในการถามแบบนี้นะลูก เพราะอาจจะทำให้พี่เขารู้สึกไม่ดี แต่ลูกสาวหมอตอบกลับมาว่า เขาฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องนะมามี้ (หัวเราะ) หลังจากนั้นหมอก็อธิบายให้ฟังว่า พี่เขาขาไม่เท่ากัน แล้วลูกก็ถามต่ออีกว่า ขาไม่เท่ากันเพราะอะไร ตอนนั้นหมอกำลังคิดว่าจะตอบลูกอย่างไร สุดท้ายก็ตอบว่า มามี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมขาเขาไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิดหรือเพิ่งมาป่วย แล้วโรคนั้นส่งผลให้เขาเดินผิดปกติ วันนั้นหมอจำได้ว่าสิ่งที่ตอบลูกน่าจะเป็นคำตอบที่คนพิการอยากได้ยินมากกว่าคำว่า เขาโชคร้าย เขาน่าสงสาร เขาทำกรรมมา เราเป็นคนใจดีได้ โดยที่ไม่ต้องทำให้คนอื่นต่ำลง เรามีคุณค่าได้เพราะว่าได้ช่วยเหลือคนอย่างเท่ากัน  

แสดงว่าคอนเทนต์หลายชิ้นมีไว้สอนพ่อแม่หรือเปล่า  

จริงๆ เพจหมอสอนพ่อแม่มากกว่าสอนลูกนะ (หัวเราะ) ก่อนจะสอนลูกได้ พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจสังคมก่อน ตอนที่หมอคิดว่าตอบลูกอย่างไรดี ก็เป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้เหมือนกันว่า เราเลือกคำตอบได้ แต่ใครที่จะสอนให้ลูกกลัวบาปกรรม เช่น อย่าหักขาสัตว์ เดี๋ยวชาติหน้าเกิดมาขาเป๋ ก็ยังคงเป็นเรื่องของเขา เราแค่เสนอทางเลือกว่ามีวิธีการสอนแบบนี้ ถ้าชอบก็นำปรับใช้ในการสอนลูกตัวเอง 

นอกจากนี้เด็กยังเหมือนฟองน้ำที่ซึมซับทุกอย่าง ไม่ใช่แค่คำพูดคำสอนอย่างเดียว แต่เขาจะซึมซับสายตาของพ่อแม่ที่มองไปยังคนพิการด้วยความเวทนาสงสาร หรือความรู้สึกกลัวคนพิการของพ่อแม่ที่แผ่ออกมาด้วย ดังนั้นหมอคิดว่า การทำงานกับตัวของพ่อแม่ก่อนน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  

มีวิธีการตอบคำถามลูกเรื่องคนพิการอย่างไรบ้าง 

จากประสบการณ์ตอนที่ลูกถามแล้วเราตอบว่า เราไม่ควรถามเสียงดังนะลูก หมอก็ลองมาคิดดูว่า ถ้าเป็นตัวเองเดินผ่านผู้คน คงไม่ได้อยากได้ยินเสียงซุบซิบพูดคุยกันว่า คนนี้เขาเป็นอะไร แต่พอลูกถามพ่อแม่ก็อย่าตกใจจนต้องรีบเอามือไปปิดปากเด็ก ทำแบบนี้ เด็กก็จะยิ่งมองความพิการเป็นเรื่องแปลกประหลาด น่ากลัว ลี้ลับ ทั้งที่จริงความพิการเป็นเรื่องที่ถามได้ พูดถึงได้ เวลาอ่านหนังสือเด็กก็จะเห็นว่าคนมี 2 ขาตลอด พอเห็นคนที่มีขาข้างเดียวก็ต้องสงสัยเป็นเรื่องธรรมดา พ่อแม่ก็แค่ตอบคำถามตรงไปตรงมา ตอบด้วยท่าทีที่ดูเป็นปกติ  

ภาพหมอโอ๋ใส่เสื้อเชิ้ตแดงลายเส้นใส่กระโปรงยืนอยู่มุมสุดของภาพ

คำว่าสงสารมีผลอย่างไรกับคนพิการบ้าง 

หากพูดคำว่าสงสาร ผู้พูดจะรู้สึกว่าเราอยู่สูงกว่า เราโชคดีกว่า ส่วนผู้ฟังจะรู้สึกต้อยต่ำ โชคร้าย ซึ่งจะลดประสิทธิภาพการรู้จักตัวตนของตัวเอง (Self) และความสามารถการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง แต่ละคนมีรากความคิดเกี่ยวกับเรื่องคนพิการไม่เหมือนกัน ความสงสารที่เกิดขึ้นกับคนพิการบางคนก็เป็นเรื่องดี บ่งบอกถึงความเห็นใจของคนอื่น (Empathy) ของเรา คำว่าสงสารในภาษาอังกฤษมีคำจำกัดความที่หลากหลาย การที่เราเห็นคนพิการน่าสงสารอาจจะเป็นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจที่มีเยอะจนเกินเลยไปถึงความน่าสงสาร (Sympathy) ก็ได้ เช่น สมมติเราเห็นคนไม่มีแขนกินข้าว แล้วคิดว่าถ้าเราเป็นเขาคงกินข้าวไม่ถนัด แต่จริงๆ แล้ว เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบนี้เป็นปัญหา การมีแขนข้างหนึ่งก็สามารถใช้ชีวิตได้ แต่พอเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนพิการก็คิดว่า เขาต้องใช้ชีวิตลำบากแน่เลย ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกสงสารเมื่อมีความพิการ ดังนั้นหมออยากให้ใช้คำว่าเห็นใจ เพราะคำว่าเห็นใจแสดงความเข้าใจถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของเขา  

คนพิการไม่อยากให้ใครสงสารแต่เราก็ยังรู้สึกสงสาร ควรจัดการความรู้สึกนี้อย่างไร  

เรารู้สึกสงสารได้นะ แต่ระมัดระวังวิธีการแสดงออกกับความรู้สึกสงสารนั้น ถ้าสงสารแล้วรีบพุ่งไปเอาตังค์ให้เขา อยู่ๆ ดีจับมือเขาเดินโดยที่อาจจะไม่ได้ต้องการ อันนี้เป็นความสงสารที่ไม่เฮลตี้ แต่ถ้าเจอทางเท้าไม่ดีและคนพิการเดินทางลำบาก เรามาไลน์ไปหาแอพฯ เพื่อนชัชชาติให้เจ้าหน้าที่มาซ่อมทางเท้า แบบนั้นก็อาจเป็นความสงสารที่เฮลตี้กว่า  

ภาพถ่ายหมอโอ๋ใส่เสื้อเชิ้่ตลายเส้นสีแดงและกระโปรงสีดำที่สวนในบ้าน

การสอนลูกเรื่องคนพิการจะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน  

คำว่าสงสารมีผลต่อกระบวนการการทำงานของสมองเด็ก หากเด็กได้ยินคำนี้บ่อยๆ จะทำให้สมองไม่เกิดทักษะกระบวนการคิด (Cognitive Skill) แต่ใช้วิธีเข้าหา ทำความรู้จักกับสิ่งต่างๆ ด้วยอารมณ์ ส่งผลให้เป็นคนทำอะไรโดยไม่ทันคิด เช่น เห็นคนพิการแล้วรู้สึกสงสาร เดินไปให้เงินเขาดีกว่า หรือเห็นคนพิการเป็นโอกาสที่จะได้ทำความดี จะได้เป็นนางฟ้า เลยวิ่งเข้าไปช่วยเขาโดยไม่ถามความต้องการของคนพิการก่อน แต่ถ้าเด็กมีทักษะกระบวนการคิดที่ดีและมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เขาจะช่วยเหลือคนพิการด้วยความมีสติมากกว่า มองวิธีการช่วยเหลือด้วยการใช้ความคิดมากกว่า นอกจากนี้เวลาที่พ่อแม่สอนอะไรมาเขาก็จะไม่ได้เชื่ออย่างนั้นเลย จะเกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่พ่อแม่สอนก่อน ส่งผลให้ความคิดที่มองคนพิการว่า เป็นคนน่าสงสาร เป็นคนที่ด้อยกว่าคนทั่วไป เป็นคนที่โชคร้ายจากบาปกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติไม่ถูกส่งต่อรุ่นลูกรุ่นลูกหลาน แล้ววันหนึ่งถ้าเกิดเขาต้องเป็นคนพิการเขาก็จะไม่ได้เชื่อว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น  

หากพ่อแม่สอนให้ลูกเข้าใจเรื่องคนพิการ หมอคิดว่าเด็กจะโตมาเป็นคนที่เข้าใจโลก รักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นได้ เพราะเชื่อว่าทุกคนบนโลกไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และวันหนึ่งที่เห็นคนอื่นที่แตกต่างจากตัวเอง เขาก็ยอมรับความแตกต่างนั้นได้โดยที่ยังมองคนๆ นั้นเป็นมนุษย์ที่เท่ากันกับเขา ไม่ยกตัวเองมากดคนอื่นให้ด้อยค่าเพื่อทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า วันหนึ่งที่เขาเจอกับเรื่องราวบางอย่างในชีวิต เช่น วันหนึ่งเขามีโอกาสเป็นคนพิการ เขาก็ไม่ได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ เพียงแต่เป็นคนเดิมที่แตกต่างไป 

 
ภาณิชนันทน์ ทิพนัด
นักศึกษาฝึกงาน
แมวเหมียวใส่ CI ที่รักการกินและการนอนเป็นชีวิตจิตใจ (และกลายร่างเป็นนกฮูกบ่อยๆ)
เด็กฝึกงานที่สู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับ และเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว