Skip to main content

“ดนตรีบำบัด” เป็นการใช้ดนตรีที่ช่วยให้มีพัฒนาการ การเรียนรู้ในกระบวนการความคิดต่อเด็กพิเศษทางสติปัญญาไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการเวโลคาร์ดิโอเฟเชียล กลุ่มอาการวิลเลี่ยม กลุ่มอาการฟีนิลคีโตนูเรีย กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี โดยดนตรีบำบัดช่วยให้กลุ่มเด็กพิเศษเหล่านี้มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆมากขึ้นและยังช่วยเสริมสร้างปรับเปลี่ยนทาง พฤติกรรม ร่างกาย จิตใจ นิสัย อารมณ์ ให้ดีขึ้น จนสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข

ThisAble.me พาไปรู้จักแฮมมี่ - จิตติภัทท์ ทองประเสริฐ ผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรมผ่านบทสนทนาของแม่ป๋อง - จินดามณี ทองประเสริฐ และครูสอ - ครู ฐานันดร ชูประกาย ที่จะทำให้เราเห็นว่า การใช้ดนตรีบำบัดเป็นอีกศาสตร์ทางเลือกหนึ่ง ที่อาจเสริมพัฒนาการและสร้างความมั่นใจให้กับบุคคลดาวน์ซินโดรมได้เช่นกัน 

ในระหว่างสัมภาษณ์ แฮมมี่เล่าให้เราฟังว่า ตัวเขานั้นชอบเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 7 ขวบช่วงแรกๆ เล่นดนตรีไทยอย่างขิม จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเล่นดนตรีสากล จากที่เล่นเปียโนมาปีครึ่ง ก็เปลี่ยนมาเป็นแซกโซโฟน และรู้สึกชอบมากกว่าเพราะเล่นได้ดี จนได้ไปเล่นดนตรีที่ร้านออโต้บาห์นและได้ไปเล่นที่ร้าน Happy Birth Day Music Town

นอกจากการเล่นดนตรีแล้ว แฮมมี่ยังชอบทำอาหาร ร้องเพลง และเล่นกีฬาปิงปอง และโปรดปรานรายการแข่งขันร้องเพลงอย่าง The Voice All Stars และ The Golden Song เอามากๆ จึงเอาศิลปินมาเป็นแรงบันดาลใจและนำเพลงที่อยู่ในรายการมาฝึกซ้อมด้วย

วันที่สัมภาษณ์แฮมมี่ใส่เสื้อเชิ้ตสีพาสเทลแล้วเป่าแซกโซโฟน

ทำไมถึงใช้ดนตรีเป็นศาสตร์ในการบำบัด

แม่ป๋อง: แฮมมีลองมาหลายอย่างแล้ว ทั้งอาชาบำบัดและดนตรี เราเคยพาเขาไปเรียนขี่ม้าที่ศูนย์ดูแลและกระตุ้นพัฒนาการเด็กพิเศษ ร่วมได้สักพักหนึ่ง  แฮมมี่ก็ทำได้และไม่ได้ต่อต้าน  แต่ที่เห็นว่าโดดเด่นก็คือเรื่องดนตรี ช่วงแรกก็ยังเรียนหลายๆ อย่าง แล้วเราก็คอยสังเกตว่าเขาชอบอะไร พอเห็นว่าเขาชอบและทำได้ดีเราก็ส่งเสริมเต็มที่ และมองว่า ดนตรีดีสำหรับลูกเราที่มีภาวะแบบนี้ 

ดนตรีบำบัดทำให้เกิดการปรับตัวอย่างไรบ้าง

ครูสอ: แฮมมี่เริ่มเรียนเปียโนตอนอายุสัก 10 ขวบ เมื่อลองเล่นเปียโนได้ปีกว่า ก็พบว่าพัฒนาการและความก้าวหน้าช้า จึงลองเครื่องดนตรีอื่น เช่น แซกโซโฟน และพบว่าเล่นได้ดี เห็นความสามารถเด่นชัดมากขึ้น ตอนนี้ก็เล่นมาเข้าสู่ปีที่ 6 ใกล้จะปีที่ 7 แล้ว

การสอนเด็กพิเศษมีความยากต่างกันในแต่ละเคส เนื่องจากไม่มีตำราสอนเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับการสอนประถมวัยหรือศิลปะประถมวัย การสอนดนตรีจึงต้องค้นหาสไตล์ของแต่ละคน ปรับการสอนจนเจอสิ่งที่เขาชอบและสามารถพัฒนาได้ดี

ตอนนี้แฮมมี่มีความสุขทุกครั้งที่มาเรียน และทำตามเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ดีพอสมควรการสอนเด็กพิเศษรอดหรือไม่รอดขึ้นกับการอยากทำ ถ้าเราให้เขาทำสิ่งที่ยากจนทำไม่ได้ เขาจะท้อและไม่อยากทำ ไม่อยากมาเรียน เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ หากเราลงทุนลงแรงก็ต้องได้ผลลัพท์ออกมาผ่านการทำให้เขาสำเร็จให้เร็วที่สุด ถึงแม้ไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ และทศปัญหาไว้ อย่างการอ่านโน้ต แค่อ่านเป็นก็ยากแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้อ่านเร็ว ฉะนั้นการเรียนคือการอดทน บางครั้งอาจต้องทำสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อก้าวไปข้างหน้า 

ครูสอเอาดินสอเขียนในโน้ตของแฮมมี่

ดนตรีบำบัดช่วยอะไรบ้าง

ครูสอ: ส่งเสริมทักษะทุกด้านเลย ทั้งเรื่องสมาธิ ความอดทน ความพยายาม การสื่อสาร การแก้ปัญหา รวมทั้งบุคลิกภาพก็ดูดีขึ้น เมื่อก่อนแม่แฮมมี่ต้องเฝ้า ต้องอยู่กับลูกตลอด แต่เดี๋ยวนี้แฮมมี่สามารถหยิบเครื่องดนตรีขึ้นมาตั้งโปรแกรม ตั้งตารางซ้อมของตัวเองได้ เช่น วันนี้ซ้อมแซกโซโฟน 2 ชม. ต่อด้วยร้องคาราโอเกะ เขาว่างแผนของเขาเอง แล้วก็ตั้งเป้าเพื่อทำสิ่งต่างๆ เอง ทำเสร็จก็ถ่ายรูปไปให้ญาติๆ ดูว่าเขาทำได้

นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เห็นว่า คนทุกกลุ่มสามารถอยู่ด้วยกันได้ พอคนเห็นเด็กพิเศษก็ยอมรับ ทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น เด็กเองก็รู้สึกไม่แปลกแยก เขาก็เริ่มจะพูด เริ่มมีสิทธิมีเสียง สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้มากขึ้น และเกิดการเชื่อมกับสังคมได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน

ดนตรีทำให้แฮมมี่มีตัวตน เขาตั้งชื่อตัวเองว่า Super hammy และทำกิจกรรมต่างๆ ลงโซเชียลมีเดีย ก็หวังว่าจะทำให้เขาเป็นที่รู้จัก มีอาชีพและสังคมยอมรับในตัวตนของเขา เราก็ไม่รู้หรอกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนรับก็ต้องใช้เวลานี้ฝึกฝนความสามารถ ถ้าไม่ใช่เรื่องดนตรีก็คงเรื่องทำอาหาร 

รูปครูสอใส่เสื้อคอปกสีเทานั่งอยู่ทางด้านขวาของภาพ

สังคมมีทัศนคติต่อคนดาวน์ซินโดรมอย่างไร

แม่ป๋อง: คิดว่าส่วนใหญ่มองว่าคนดาวน์ซินโดรมทำอะไรไม่ได้เลย มองแต่ด้านลบอย่างเดียว  มองเหมือนเป็นคนไม่รู้เรื่อง ความรู้ความเข้าใจที่สังคมมียังน้อย ฉะนั้นถ้าเรามีภาพดีๆ หรือทำให้สังคมเห็นความสามารถก็น่าจะสื่อให้สังคมได้รู้ว่าสิ่งที่เขาคิดไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป 

แม้แต่ญาติมีอายุก็ยังพูดว่า ลูกเธอสมองไม่ดีเหรอ ไม่ปกติเหรอ ความคิดมันฝังหัวไปแล้ว เขาอาจจะไม่ได้รู้จริงๆ ว่าเด็กกลุ่มนี้ทำอะไรได้บ้าง ไม่สนใจและไม่อยากรับรู้ด้วย 

ครูสอ:  คิดว่าไม่ควรต้องสนใจ ทำเรื่องของเราให้ดี หากเห็นว่าเด็กมีศักยภาพก็ต้องพยายามพัฒนาความคิดเห็นของคนอื่นเป็นความเชื่อหรืออคติข้างในตัวเขา 

รูปแฮมมี่ใส่เสื้อเชิ้ตสีพาสเทลนั่งข้างกับคุณแม่ใส่ชุดเดรสปิดคอสีน้ำเงินลายจุด

อนาคตของแฮมมี่

แม่ป๋อง: อยากให้เขาทำในสิ่งที่เขารักและพัฒนาทางด้านดนตรี ทำช่อง Youtube Tiktok Instagram เพื่อให้ตัวเขาเองเกิดความภูมิใจ สังคมก็จะได้เห็นว่าเด็กพิเศษก็ทำได้ เขาไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่นเลย

ครูสอ: ไม่ใช่แค่แฮมมี่แต่อยากเห็นเด็กทุกคนที่สอนไปไกลได้มากที่สุด มีที่ยืนให้มากที่สุด  พยายามหาโอกาสให้เขาได้เรียนต่อด้านดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยแต่ก็ยังไม่มีใครรับ

อยากฝากอะไรถึงคนที่อ่านบทความนี้ไหมครับ

แม่ป๋อง: ฝากถึงครอบครัวอื่นๆ ว่า เด็กพิเศษอาจจะมีบ้างเรื่องที่ช้า อาจจะมีอุปสรรคอาจจะยากกว่าเด็กธรรมดา แต่ว่าเราต้องไม่ท้อ สู้ไปเรื่อยๆ และเรียนอย่างสม่ำเสมอ สักวันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน