Skip to main content

เมื่อวันที่ 21 ก.ย 65 รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกับร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) โดยยกเลิกให้ “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่สมัครเป็นข้าราชการพลเรือน และเพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เข้าไปแทนที่โรควัณโรค โดยอ้างเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า ผู้ป่วยโรควัณโรคมีแนวโน้มลดลงและใช้ระยะเวลารักษา 2 สัปดาห์ก็หายได้ อย่างไรก็ดี ครม.และสำนักงาน ก.พ.ยังไม่ได้ชี้แจงว่า ทำไมจึงเพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) เป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัครเป็นข้าราชการ

ในวันเดียวกันเพจสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยหรือ Disabilities Thailand - DTH (อ่านต่อได้ที่นี่) เผยแพร่โพสต์ข้อความของชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยว่า

“ #เลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม

วันนี้ ข่าวแก้กฎ ก.พ. “เพิ่มโรคจิต-โรคอารมณ์ผิดปกติ ลักษณะต้องห้ามรับราชการพลเรือน

สงสัยว่า ทำไมร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคฉบับนี้ ทำไมต้องเพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้ามด้วย สำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน อย่างนี้ข้าราชการที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้อยู่แล้ว หรือผู้ป่วยจิตเวช จะมีช่องทางรับราชการต่อหรือเข้ารับราชการได้อย่างไร

#เลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ขอให้หน่วยงานรัฐที่ประกาศว่า จะสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำ ซึ่งหมายรวมถึง คนพิการทางจิตด้วย เช่น พก. ก.พ. จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ในฐานะคนที่เคลื่อนงานคนพิการ เห็นว่า “กฎ กพ. อาจเข้าข่าย เลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม” ต่อคนพิการ”
 

ชูศักดิ์ จันทยานนท์
สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
21 ก.ย. 2565

นอกจากนี้นายแพทย์เจษฎา ทองเถาว์ เจ้าของเพจคลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ได้โพสต์ข่าวเรื่องนี้บนเพจ (อ่านได้ที่นี่) ใต้โพสต์มีผู้คนมาแสดงความคิดเห็นมากมาย บางคนก็ตั้งคำถามต่อว่า หากระหว่างรับราชการแล้วป่วยเป็นโรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติจะถูกไล่ออกไหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบอย่างไร และข้อความที่บอกว่า ‘ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่’ มีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ผู้คนยังถกเถียงถามหาถึงเกณฑ์การพิจารณาอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังนี้อยู่

ส่วนทางสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยยังไม่แสดงท่าทีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น