Skip to main content

“พอไปสมัครเรียนผมเจอแต่คำปฏิเสธ ครูใหญ่คนหนึ่งเคยพูดเมื่อ 30 ปีก่อนว่า โรงเรียนนี้คือโรงเรียนของคนปกติไม่ใช่ของคนพิการ ถ้าคุณอยากให้ลูกคุณเรียน ก็ไปเรียนโรงเรียนคนพิการ”

หลายคนอาจรู้จัก เอกชัย วรรณแก้ว ในฐานะศิลปินไร้แขน ภาพเสมือนจริงที่เขาวาดพระและบุคคลสำคัญหลายคนได้รับเสียงชื่นชมในฐานะคนทำงานศิลป์ที่การันตีด้วยรางวัลและความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ฉายอยู่เบื้องหน้าในฐานะต้นแบบของคนจำนวนมาก

แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ากว่าเขาจะมีวันนี้ เอกชัยต้องฝ่าด่านแรกของปัญหาที่คนพิการเกือบทุกคนต้องเจอ และเป็นด่านที่หินที่สุดด่านหนึ่งนั่นคือปัญหาการศึกษา แม้จะอยากเรียนมากแค่ไหนก็ตาม เอกชัยถูกโรงเรียนปฏิเสธเพราะว่าพิการ และเขาต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้มีโอกาสไปสู่ทางที่ตัวเองตั้งใจ

เราชวนเอกชัยนั่งคุยท่ามกลางภาพวาด สี พู่กันที่รายล้อม ภาพวาดทุกภาพเกิดจากความคิดและความเชื่อของเขาในฐานะนิสิตปริญญาโท คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า กว่าจะประสบความสำเร็จนั้นเขาผ่านอะไรมาบ้าง

เอกชัย : ผมมองว่าตัวเองไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นคนที่ชอบงานศิลปะ ชอบเขียนรูป สำหรับผมคำว่าศิลปินนั้นยิ่งใหญ่ ต้องก้าวไปเยอะกว่านี้ ศิลปินที่ผมพูดได้เต็มปากก็มีอาจารย์ถวัล ดัชนีและอาจารย์เฉลิมชัย โกสิตพิพัฒน์ ส่วนผมก็แค่พู่กันเล็กๆ ที่อยากรู้จักงานศิลปะแค่นั้นเอง

ผมชอบงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นงานเขียนรูป ประติมากรรม ภาพพิมพ์หรือการทำสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ทุกอย่างคืองานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องเขียนรูปอย่างเดียว การร้องรำทำเพลงก็คืองานศิลปะ

เริ่มแรกผมเขียนรูปแล้วก็มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนๆ มาเห็นแล้วชอบ ตอนที่ผมเด็กๆ เพื่อนเห็นเราเขียนการ์ตูนเล่นแล้วเขาชมว่าสวย อยากให้เขียนในสมุดการบ้านและเอาลูกอมมาให้ 2-3 เม็ด ตอนนั้นผมรู้สึกว่างานมีค่าและทำตรงนี้ได้ดี

กว่าจะมีโอกาสได้เรียนหนังสือ

ผมโดนปฏิเสธเยอะจึงได้เข้าเรียน ป.1 ตอนอายุ 13  ทั้งอยากเรียนหนังสือตั้งแต่ตอน 6 ขวบเพราะอยากอ่านหนังสือออก เราเห็นหนังสือที่พี่ซื้อมาอย่างขายหัวเราะ แล้วเราเอามาเปิดแต่อ่านไม่ออก จึงจินตนาการว่าเขาพูดอะไรกัน จนพี่เข้ามาเห็นผมหัวเราะและเกิดความสงสัยว่าอ่านออกเหรอ ผมเลยบอกว่าไม่ออก แต่จินตนาการเอา 

ตอนนั้นคิดว่าถ้าอ่านหนังสือออกคงดีมาก จะได้ไม่ต้องรอพี่อ่านให้ฟัง เพราะพี่แต่ละคนก็ทำงาน ช่วยแม่ทำนา ทำไร่ เลี้ยงวัว อีกอย่างคือเราอยากมีเพื่อน พอเห็นเด็กคนอื่นไปโรงเรียนกันหมด แล้วมีเราคนเดียวที่อยู่บ้านก็ได้แต่ฟังเขาเล่าว่าโรงเรียนมีขนม 

เมื่อก่อนผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการ จนครั้งหนึ่งแม่พาไปตลาดนัด พอแม่เราอุ้มเราลงจากเอว ทุกคนหยุดแล้วจ้องเรา เรารู้สึกได้ว่าสายตาเป็นสิบๆ จากแม่ค้า คนเดินซื้อของมองด้วยสายตาที่ไม่เหมือนกับสายตาของแม่  มองราวกับว่ามึงคือตัวประหลาด ผมเกลียดสายตานั้นมากและอยากกลับบ้าน จากวันนั้นจึงไม่อยากออกไปไหน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า แตกต่างจากเพื่อนตรงไหนเพราะผมเกิดมาก็อยู่กับเด็กไม่พิการ ไม่รู้ว่าพิการคืออะไร เราทำทุกอย่างเหมือนเพื่อนได้ แค่ช้ากว่าคนอื่นเท่านั้นเอง 

พอไปสมัครเรียนผมเจอแต่คำปฏิเสธ ครูใหญ่คนหนึ่งเคยพูดเมื่อ 30 ปีก่อนว่า โรงเรียนนี้คือโรงเรียนของคนปกติ ไม่ใช่โรงเรียนของคนพิการ ถ้าคุณอยากให้ลูกคุณเรียน ก็ไปโรงเรียนคนพิการหรือโรงเรียนเด็กพิเศษ พ่อแม่ไปดูแล้วพบว่า 80% ของเด็กในนั้นคือคนพิการถูกทิ้งและส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

เราไปเรียกร้องสิทธิกับศึกษาธิการจังหวัดและเขารับเรื่องไว้ บอกว่าจะติดต่อกลับ แต่สุดท้ายก็เงียบไปตั้งแต่ผม 6 ขวบจนอายุ 13 รวมประมาณ 7 ปี จนผมเกิดคำถามว่าทำไมเพื่อนบางคนที่ไม่อยากเรียนกลับได้เรียน แต่ผมอยากเรียนกลับไม่ได้เรียน

จากโฆษณาเด็กไทยอยากเรียนต้องได้เรียน

ตอนอายุ 13 ผมดูโฆษณาหนึ่งในโทรทัศน์ เขาบอกว่าเด็กไทยทุกคนถ้าอยากเรียนต้องได้เรียน มีทุน กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ก็เลยเอาคำพูดในโฆษณาไปถามพ่อ พ่อก็เลยไปถามผู้ใหญ่และกำนัน เขาก็แนะนำให้ลองไปที่ศึกษาธิการจังหวัดเผื่อมีทางช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

เราบอกพ่อว่า ถ้าไปครั้งนี้แล้วเงียบอีกผมจะไม่ไปอีกแล้ว เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการรอ วันนั้นพ่อยื่นเอกสารและมีลุงคนหนึ่งไม่แต่งชุดข้าราชการมาเซ็นต์ชื่อ เขาถามผมว่า ตัวเล็กมาทำอะไรลูก ผมจึงเล่าสิ่งที่เจอให้เขาฟัง

ลุงถามผมว่า ถ้าได้เรียนกับเด็กไม่พิการ ต้องมีใครคอยช่วยไหม ตอนกินข้าว เข้าห้องน้ำ ต้องมีคนช่วยไหม ผมบอกกับเขาว่า ไม่ต้องครับ ผมทำเองได้ เขาก็ยังไม่เชื่อจึงให้ผมทำให้ดู ผมก็ถอดเสื้อ กินข้าว เขียนหนังสือให้แกดูว่าผมทำได้ แต่ผมก็บอกลุงว่าผมอ่านไม่ออก ลุงแกก็เขียนชื่อแล้วให้ผมเขียนตาม ผมก็เขียนตามได้ วันนั้นเป็นวันที่ผมได้เรียน ป.1 ลุงคนนั้นคือหัวหน้าศึกษาธิการจังหวัด ขนาดวันที่ผมไปกับลุงเขา ครูใหญ่ยังปฏิเสธเหมือนเดิมและบอกว่าเราเกินเกณฑ์แล้ว ลุงจึงพูดว่า ทำไมยังไม่ได้ทดสอบแล้วตัดสินว่าเขาเรียนร่วมกับคนอื่นไม่ได้ และคุณไม่ควรปฏิเสธ

ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากการปลูกฝัง คนเรามองว่า คนพิการต้องถูกช่วยเหลือตลอด เพราะเห็นคนพิการ 90% เป็นขอทาน ขายล็อดเตอรี่ ผมคิดว่ากระทรวงหรือรัฐบาลกำลังเดินทางผิด เพราะเขาให้แค่เงิน ให้ของ แต่ไม่ได้ให้โอกาส ความรู้หรืออาชีพแก่คนพิการ แถมบางทีให้อาชีพแต่เป็นสิ่งที่เขาไม่ถนัด ก็เหมือนคุณบังคับเขา เช่น คนพิการต้องทอผ้าเช็ดเท้า เขาชอบไหมก็เปล่าแต่ต้องทำเพราะเลือกไม่ได้ บางองค์กรหรือรัฐก็ให้ตังค์ เงินแค่นี้จะทำอะไรได้ ฉะนั้นควรปรับและให้โอกาสคนพิการได้ลองทำตามศักยภาพ ไม่ว่าจะพิการประเภทไหน 

ไม่ว่าจะใช้อะไรวาดก็ต้องฝึก

ผลงานของผมไม่ได้โดดเด่นอะไร แค่เขียนไปตามที่อยากเขียน มีคนเขียนสวยกว่าผมเยอะแยะ แต่สิ่งที่โดดเด่นก็คือคนอื่นใช้มือ แต่ผมต้องใช้ไหล่ ใช้เท้าเขียน ผมเคยได้ไปสอนพี่นทีป์ คนปากศิลป์ ที่เป็นสตันท์แมนแล้วเกิดอุบัติเหตุ จึงทำให้ใช้ได้แค่ปาก ผมก็ต้องเอาตัวเองมาฝึกใช้ปากวาดเพราะอาจารย์เคยสอนว่า ถ้าเราไม่รู้ อย่าไปบอกว่าเรารู้ คนจะจำในสิ่งที่เราสอนว่าคือสิ่งที่ถูก ผมจึงต้องลองใช้ปากว่าเขียนถนัดไหม ข้อดี ข้อเสียของการใช้ปากคืออะไร 

รูปแบบงานผมเป็น Realism ตัดทอนมาจากองค์ประกอบส่วนต่างๆ  เมื่อก่อนนี้ผมวาดแบบสมจริงสุดๆ เรียกว่า Super-Realism ต้องเก็บงานละเอียดมาก  หรือแม้แต่รูปในหลวงก็เก็บเหงื่อทุกเม็ด แต่เขียนๆ ไปเรารู้สึกว่าอิ่มตัว มองว่ามีอะไรที่พัฒนาไปได้มากกว่านี้และไม่อยากให้คนไทยยึดติดกับคำว่าสวยคือเหมือนจริง แต่ดูงาน Abstract หรือ Pop-art ไม่เป็น 

เคยมีคนบอกว่ารูปผมแพงแต่ไม่เห็นเหมือนเลย เราบอกอยากให้เหมือนก็ถ่ายรูปเลย เหมือนเป๊ะ ผมคิดว่ามูลค่าของของนั้นขึ้นอยู่กับสถานที่ที่มันอยู่ด้วย อย่างเหรียญหลวงปู่ทิม เมืองนอกเห็นก็มองว่าเป็นโลหะชนิดหนึ่ง แต่พอมาอยู่เมืองไทยเหรียญนี้มีมูลค่าถึงแสนสอง ช่วงหลังงานผมสอดแทรกเอกลักษณ์ส่วนตัวไว้ อย่างรูปน้ำตก มีต้นไม้ที่มีส่วนโค้งคล้ายหัวไหล่ผม สิ่งนี้แทนตัวตนของเรา 

มีความพิการอยู่ในภาพบ้างไหม

มีแต่ซ่อนไว้ในแต่ละภาพที่ต่างกัน ผมไม่ได้สื่อคำว่าพิการตรงๆ  สำหรับผมทุกคนพิการหมด เช่น เอาไปเปรียบกับช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายมีใครบ้างที่ไม่เปลี่ยนแปลง ความพิการของผมสื่อถึงสภาพที่ไม่แน่นอน บางคนอาจจะหูได้ยินไม่เท่ากัน สายตาไม่เท่ากันก็ได้ 

บางคนมองว่าเท้าเป็นของต่ำ 

คิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกปลูกฝังกันมาว่าเท้าเป็นของต่ำ ถ้าพูดตามหลักการแล้วเท้ากับมืออะไรสกปรกกว่ากัน เวลาไปไหนมาไหนคุณใส่รองเท้า แต่ใช้มือจับอะไรสารพัด คนถามควรต้องเปลี่ยนคำดูถูก เป็นการชื่นชมว่าเขาโคตรพยายามเลย เขาเจ๋งว่ะ ต่างชาติเวลาเห็นเขาไม่ได้ดูถูก แต่รู้สึกเซอร์ไพร์ ไม่มองหรอกว่าต่ำไม่ต่ำ แต่ชื่นชมในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ 

บางทีผมเห็นแววตาของคนซ้ำที่รู้สึกอยากได้ผมก็ขาย 10 - 20 บาท เพราะรู้สึกว่าเขาเห็นคุณค่าของงานผม แต่บางคนมาซื้องานให้ราคาเป็นหมึ่นเป็นแสน แต่รู้สึกสมเพศหรือสงสารที่ผมพิการ หรืออยากออกสื่อ ผมก็ไม่ขาย ผมอยากให้เขาเห็นงานคือสิ่งมีคุณค่า ไม่ใช่เห็นว่าพิการเลยซื้อ เพราะหากดูถูกผลงานก็เหมือนดูถูกเราไปด้วย

กฤษณะ ศรีทอง
นักศึกษาฝึกงาน