Skip to main content

“ปัญหาใหญ่ของเราคือการเป็นคนพิการทำให้หางานยาก ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่อยากจ้าง นายจ้างดูอย่างไรก็ไม่คุ้ม หรือแม้อยากรับคนพิการ แต่พอมีประวัติเขาก็ไม่อยากรับ เราจึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่เขาเลือก 

“พอไม่มีเงินใช้ เรื่องนี้ (ยาเสพติด) ก็แว็บขึ้นมาในหัวเลย ถึงเราพยายามไปทางอื่น พยายามออกห่างจากมัน แต่ไม่สำเร็จ พอถึงจุดๆ นึง ก็ต้องวกกลับเข้ามาในวงการยาเสพติดอีก” - ผู้ต้องขังพิการคดียาเสพติดเล่าให้ฟังผ่านรายการ “The Second Wall กำแพงที่ 2” ซึ่งบอกเล่าถึงชีวิตผู้ต้องขังพิการรายหนึ่งที่เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ เขาเคยต้องโทษคดียาเสพติดมาก่อน หลังรับโทษเขากลับมาประกอบสัมมาชีพเช่นสามัญชนทั่วไป จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้กลายเป็นคนพิการ หางานไม่ได้ สุดท้ายจึงหันหลังกลับสู่วงการยาเสพติดอีกครั้ง 

สำหรับสังคมไทย คนพิการกับปัญหาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป (และแน่นอนว่าคนไม่พิการหลายคนก็เผชิญเช่นเดียวกัน) นอกจากนี้คนพิการยังเผชิญกับหน้าฉากปัญหาอีกหลายด้าน ทั้งปัญหาเรื่องการเข้าถึงระบบการศึกษา การเข้าถึงอาชีพและค่าแรงที่เป็นธรรม การเข้าถึงกายอุปกรณ์รวมถึงบริการสาธารณสุขที่ยังไม่ครอบคลุม หรือเบี้ยความพิการ 800 บาทที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพจริง 

และอีกหลากหลายสาเหตุปัจจัยทางสังคมที่ล้วนผลักคนพิการเข้าสู่วงการยาเสพติด และงานผิดกฎหมายอื่นๆ  จนอาจกลายเป็นผู้พลาดพลั้งทำสิ่งผิดกฏหมายและกลายเป็นผู้ต้องขังในที่สุด

คำถามถัดมาคือเมื่อคุณเป็นผู้ต้องขังพิการ คุณจะอยู่ในเรือนจำได้อย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน เมื่อเดิมทีการดำรงชีวิตก็เต็มไปด้วยอุปสรรคอยู่แล้ว การอยู่หลังกำแพงซึ่งปิดกั้นซึ่งอิสรภาพบวกกับความพิการอาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าพิการซ้ำซ้อนได้อย่างเต็มปาก 

จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์เมื่อปี 2565 จากจำนวนผู้ต้องขังกว่าสามแสนราย มีอย่างน้อย 3,000 คนเป็นผู้ต้องขังพิการ หรือคิดเป็นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด คำถามคือเขาอยู่กันอย่างไร มีชีวิตแบบไหน มีสิ่งอำนวยความสะดวกบ้างหรือเปล่า ความสงสัยนี้นำไปสู่การพูดคุยกับเอม - ภัทราพร จันทร์เจริญ นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ เธอเป็นคนทำวิจัยเรื่อง การเข้าถึงและใช้ประโยชน์สวัสดิการสำหรับผู้ต้องขังพิการ: กรณีศึกษาเขตบริหารเรือนจำ เขต 10 (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี) คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับคนพิการในหลากหลายเรือนจำ 

หน้าที่หลักของเอม เธอดูแลกลุ่มผู้ต้องขังพิเศษ ทั้งผู้ต้องขังพิการ, ผู้สูงอายุ เด็กติดผู้ต้องขัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังติดเชื้อ HIV, และผู้ต้องขังไม่มีญาติ เธอย้ำกับเราว่า แม้ผู้ต้องขังจะรับโทษทางกฏหมาย แต่ความพิการทางร่างกายสมควรได้รับสิทธิอื่นในฐานะคนพิการดังเช่นคนพิการคนอื่นทั่วไป เพราะนี่ไม่ใช่การลงโทษซ้ำซ้อน ชวนเดินเข้าไปในรั้วเรือนจำเพื่อคุยกับเธอถึงชีวิตและสิทธิของผู้ต้องขังคนพิการ 

ผู้ต้องขังพิการอยู่ส่วนไหนของเรือนจำ

ภัทราพร: ของทัณฑสถานฯ หากมีบัตรคนพิการจะอยู่ที่สถานพยาบาลและเรือนนอนสำหรับผู้ต้องขังพิการและสูงอายุ (เรือนนอนเพทาย) ส่วนคนที่ไม่มีบัตรคนพิการจะอยู่ตามแต่ละเรือนนอน โดยในแต่ละเรือนนอนมีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ..(อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ)  คอยดูแลอยู่ตลอด 

ตอนนี้ทางเราผลักดันให้เป็นอารยสถาปัตย์หรือ Universal design ที่ปรับสภาพแวดล้อมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย เช่น สมัยก่อนห้องน้ำจะเป็นส้วมนั่งยอง ตอนนี้ปรับเป็นส้วมเป็นแบบนั่งราบ มีอิฐบล็อกปิด และมีราวจับไว้สำหรับพยุงตัว เราเน้นเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เช่น ราวจับและทางลาดต่างๆ เพื่อปรับให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่เจาะจงเฉพาะแค่คนพิการ

จำนวนผู้ต้องขังพิการในแต่ละปีเป็นอย่างไร

ในทุกๆ เดือน เราจะต้องมีการรายงานจำนวนผู้ต้องขังพิการ ประเภทความพิการให้กับทางกรมราชทัณฑ์เป็นประจำ เพื่อดำเนินการจัดโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูและจัดสรรสวัสดิการให้กับคนพิการทุกๆ ปี โดยปีนี้เรามีคนพิการประมาณ 30 คน โดยในการจัดสวัสดิการของเราไม่มองว่าเป็นสัญชาติใด แต่มองความพิการของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังพิการส่วนใหญ่สามารถดูแลตัวเองได้ มีนั่งรถเข็นไม่กี่คน หลายคนมีขาเทียมมาอยู่แล้ว สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ แต่ในส่วนของคนพิการจะได้รับสวัสดิการและการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับคนพิการ

คนพิการที่อยู่ภายในทัณฑสสถานฯ จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ. คอยดูแล ซึ่ง อสรจ. เป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมนี้จะเป็นผู้มีความรู้และทักษะพื้นฐานด้านสุขภาพ ครอบคลุมในการเฝ้าระวัง ควบคุม สนับสนุนการรักษา การป้องกันโรคติดต่อ และปัญหาสุขภาพ การอบรมดังกล่าวอิงจากหลักสูตรการฝึกอบรมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และมีเพื่อนผู้ต้องขังที่คอยช่วยกันดูแลอีกทางหนึ่ง

ส่วนกลุ่มที่เป็นคนพิการรุนแรงก็จะให้อยู่ที่สถานพยาบาล ทางนั้นจะมีอาสาสมัครคอยดูแล ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ได้รับการอบรมเรื่องสาธารณสุข ลักษณะคล้ายผู้ช่วยคนพิการ ดูแลทั้งเรื่องการเดิน การลุก และยังมีเพื่อนผู้ต้องขังช่วยกันดูแลกันและกัน

ทำไมจึงมีความสนใจเรื่องผู้ต้องขังพิการ 

เริ่มมาจากที่เราทำงานคลุกคลีกับคนพิการมาตลอดและมองเห็นถึงปัญหาของการอยู่รวมกันของผู้พิการในพื้นที่ที่ถูกล้อมลวดหนาม พื้นที่ที่ถูกจำกัด และจำนวนคนที่มากเกินไป จนเกิดความสงสัยว่าพวกเขาจะอยู่กันได้ไหม อยู่กันยังไง จะรู้ไหมว่าตัวเองมีสวัสดิการอะไรบ้าง บางคนถูกจับด้วยคดียาและลักทรัพย์ ซึ่งจริงแล้วๆ ปัญหาอาจเกิดจากที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองมีสวัสดิการหรือไม่ จึงทำให้พวกเขาหมดหนทางและไปทำความผิด

ผู้ต้องขังพิการก็คล้ายกับผู้ตัองขังส่วนใหญ่ที่ถูกจับด้วยคดียาเสพติด ขณะที่บางคนโดนคดีลักทรัพย์

อะไรคือสิ่งที่ผู้ต้องขังพิการเรียกร้อง

เขาเรียกร้องให้มีการอบรมเรื่องสิทธิคนพิการ อย่างเรื่องบัตรคนพิการ เพราะบางคนเข้ามาไม่มีบัตร ไม่รู้เลยว่าถ้าเป็นคนพิการต้องไปทำบัตร หรือพอมีบัตรคนพิการแล้วสามารถไปทำอะไรได้บ้าง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้ แต่สำหรับคนพิการบางคนที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ เราต้องติดตามญาติ ตามหาเอกสารต่างๆ เพื่อใช้สำหรับทำบัตรคนพิการ หากดำเนินการเรียบร้อยก็จะสามารถได้รับเบี้ยคนพิการ ในแต่ละปีทางเรามีการสำรวจข้อมูลคนพิการสำหรับจัดทำบัตร เมื่อเรียบร้อยแล้วจะประสานงานไปที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูศักยภาพคนพิการเพื่อทำกายอุปกรณ์

แต่ปัญหาคือสิทธิเหล่านี้ให้เฉพาะคนไทยและต้องมีบัตรคนพิการ คนที่ไม่มีบัตรและต่างชาติจะไม่ได้รับสิทธิ เช่น กายอุปกรณ์ ดังนั้นเราต้องหาทรัพยากรต่างๆ มาให้กับเขา ซึ่งขอความอนุเคราะห์ไปยังศูนย์คนพิการเพื่อขออุปกรณ์มา ซึ่งใช้ระยะเวลาพอสมควร บางคนจำเป็นต้องใช้รถเข็น walker หรือ ไม้เท้า ทางเรามีให้ยืม  สำหรับเรามองว่า เราพยายามจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เพื่อเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดร่วมกับคนอื่นได้ตามปกติ โดยไม่ให้รู้สึกว่าความพิการเป็นอุปสรรคกับเขา

ปัญหาเรื่องการรับรู้สิทธิ

จากที่รับรู้ว่าคนพิการมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะในวิทยานิพนธ์ไว้ว่า ควรมีการเสริมชุดความรู้ในด้านดังกล่าวให้กับคนพิการ เพราะเมื่อเขาอยู่กับเรา เราสามารถที่จะเข้าถึงเขาได้ และสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเขา การได้ให้ความรู้ทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมให้เขามีชุดความรู้ดังกล่าวไว้ และเมื่อวันนี้เขาออกไปสู่สังคมอีกครั้งหวังให้สามารถไปใช้ประโยชน์ในความรู้นี้ไม่มากก็น้อย หลายๆ กิจกรรมเป็นสิ่งที่คนพิการเสนอกันเอง บางคนเคลื่อนไหวยากบอกให้จัดหมากรุกให้หน่อย ข้างในจะมีกิจกรรมอยู่ตลอดโดยที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ เช่น การจัดกิจกรรมร้องเพลง การทำดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น 

แล้วมีกลุ่มความพิการอื่นบ้างไหม นอกจากกลุ่มพิการทางร่างกาย 

มีแต่น้อยมาก มีคนพิการทางการได้ยิน (หูหนวก) สมมติมีคนหูหนวกเพิ่งเข้ามาใหม่ จะมีการให้คำแนะนำต่างๆ หาคนที่สามารถสื่อสารภาษามือมาคุย และเพื่อนๆ จะพยายามสื่อสาร พาไปกินข้าว สิ่งเหล่านี้จะรู้ตั้งแต่สอบประวัติตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาภายใน ปัจจุบันล่ามภาษามือที่เฉพาะทางด้านในยังไม่มี ยกเว้นกรณีขึ้นศาลที่สามารถร้องขอได้ แต่คนข้างในก็พยายามหาวิธีคุยกันเป็นภาษามือกับเขา 

ส่วนคนพิการทางจิตใจ (จิตเวช) ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาจากข้างนอก กรณีที่ต้องโทษและจำเป็นต้องรักษาตัว จึงขึั้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในการให้ไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อพร้อมศาลจะส่งตัวกลับมาควบคุมภายในต่อไป โดยในกลุ่มพิการทางจิตใจและพฤติกรรมจะมีจิตแพทย์เข้ามารักษาภายในทัณฑสถานฯ อยู่เป็นประจำ  นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ผู้ต้องขังจิตเวชที่จะสามารถปรึกษาจิตแพทย์ หากแต่ผู้ต้องขังอื่นๆ สามารถที่จะพบจิตแพทย์ได้เช่นกัน

นอกจากเรื่องด้านสุขภาพ เรื่องกายอุปกรณ์ เรื่องการเสริมชุดความรู้ ที่พอจะเข้าถึงได้แล้ว จากการศึกษาพบว่ายังคงมีด้านกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีปัญหา ทั้งเรื่องการขอล่ามภาษามือ และปัญหาการไม่รู้เข้าถึงสิทธิในการขอล่ามภาษามือ 

เมื่อคนพิการได้สิทธิมากกว่าคนอื่น ถูกมองไม่ดีหรือไม่

ไม่เลย เพราะมองว่าแต่ละคนมีความเข้าใจและสามารถอยู่กับได้ ช่วยเหลือพึ่งพากัน การให้สวัสดิการต่างๆ นั้น โดยทั่วไปผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับเท่ากันหมด แต่กลุ่มผู้ต้องขังพิเศษที่กล่าวไปข้างต้น กรมราชทัณฑ์มีการจัดสรรสวัสดิการให้เฉพาะกลุ่มเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการอย่างเหมาะสมและเฉพาะทางกลุ่มนั้นๆ 

แนวโน้มเรื่องสิทธิและสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นแนวโน้มเรื่องสิทธิและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เราพยายามและให้ความสำคัญเพื่อว่าเมื่อเขามีสภาพกายใจที่พร้อม เขาก็จะพร้อมที่จะเข้ารับการแก้ไขพัฒนาอย่างเต็มที่ 

จะเห็นว่ามีการจัดสรรงบประมาณมาเป็นประจำ โดยให้แต่ละเรือนจำ/ทัณฑสถานปรับใช้งบประมาณให้เหมาะสมบริบทพื้นที่ของตนเอง เช่น บางแห่งมีความจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าก็สามารถจัดซื้อไม้เท้าไว้ บางแห่งไม่มีราวจับก็สามารถจัดสรรเองได้วันนี้มุมมองได้เปลี่ยนไป การพยายามทำให้พื้นที่ที่มีจำกัดสามารถให้ทุกคนเข้าถึงและอยู่ร่วมกันให้ได้ สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเอง และมองว่าเป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้จริงๆ

ท้ายที่สุด ขณะที่เขายังอยู่กับเราได้พัฒนาและแก้ไขพฤตินิสัยของเขาเท่าที่จะทำได้ การเสริมพลังและการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะพ้นโทษทั้งทางด้านกาย จิต และสังคม และการให้ทราบแหล่งสนับสนุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ ด้านความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัยต่างๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ภายหลังพ้นโทษโดยที่ไม่มีเราแล้ว ซึ่งจะทำให้เขาทราบว่าตัวเขาเองไม่จำเป็นต้องหวนกลับมากระทำผิดอีก และจริงๆ แล้วมีหน่วยงานต่างๆ ที่คอยช่วยเหลือ เพื่อให้เขาสามารถกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพอีกครั้ง