Skip to main content

จากรายงานผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวช ของระบบศูนย์กลางการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชประเทศไทย กรมสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ 2564 พบว่ามี ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์เข้ารับการรักษาทั้งหมด 10,368 ราย ติด 1 ใน 7 อันดับโรคทางจิตที่มีคนเป็นมากที่สุดรองจากโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคสมาธิสั้น และโรคจิตอื่นๆ เมื่อคาดการณ์จะพบว่า ผู้ป่วยไบโพลาร์นับเป็นร้อยละ 1-2 จากจำนวนผู้ป่วยจิตเวช

ถึงแม้โรคจิตเวชเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ดูทีท่าว่า โรคซึมเศร้าก็ยังเป็นโรคที่คนเข้าใจมากกว่าโรคอื่น เช่น ไบโพลาร์ ที่หลายคนยังไม่เข้าใจและยังคงตัดสินตีตรา เนื่องในวันไบโพลาร์โลก วันที่ 30 มีนาคม Thisable.me จึงถือโอกาสชวนคุยกับผู้ป่วยไบโพลาร์ทั้ง 3 คน เพื่อแชร์ประสบการณ์การเข้าใจผิด และความรู้สึกของผู้ป่วยเพื่อให้คนอื่นมองเห็นอีกแง่มุมที่ยากจะมองเห็นได้ 

ภาพกราฟฟิกแนว Collage ที่เอาภาพหน้าคนมาตัดแปะโดยมีพื้นหลังเป็นป่าสีเขียว

จ๋า—ชุติพร (สงวนนามสกุล) นักเขียน นักออกแบบฟรีแลนซ์ 

“ตอนแรกไปหาหมอ เราแอบไป แต่พอได้ยากลับมากินก็กลัวว่าแม่จะเห็นแล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงตัดสินใจบอกแม่ ตอนแรกแม่ก็ตกใจ สำหรับเขาเราไม่ได้ดูมีอาการใดๆ เกี่ยวกับไบโพลาร์อย่างคุ้มดีคุ้มร้าย ผีเข้าผีออก อย่างที่เขาเข้าใจ

“เวลาบอกใครว่าเป็นไบโพลาร์ หลายคนจะแปลกใจ เพราะเราดูไม่เหมือนคนที่ป่วยเป็นไบโพลาร์ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า หลายคนเข้าใจว่าคนที่เป็นไบโพลาร์จะต้องอารมณ์แปรปรวน เป็นคนเจ้าอารมณ์

“เราได้แต่อธิบายให้เพื่อนรอบตัวฟังว่า คนป่วยเป็นไบโพลาร์ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ทุกโรคมีระดับความรุนแรงของอยู่ รวมถึงปัจจัยที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลที่จะส่งผลต่อความรุนแรงของโรค ไม่ว่าจะเรื่องของพันธุกรรม การใช้ชีวิตและเหตุการณ์ในอดีต”

ตุ่น—รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ สื่อมวลชน

“ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Bipolar Disorder ไม่ใช่ Bipolar Disease ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด Disease จะใช้กับโรคที่มีมีการบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติทางชีวภาพ ผมเข้าใจว่า มีแยกศัพท์ความผิดปกติทางจิต ทางอารมณ์ ออกจากความผิดปกติทางกาย

“พอแปลเป็นภาษาไทยว่า อารมณ์สองขั้ว ความหมายก็ตรงตัวเลยก็คือ ขั้วเศร้า (Depress) และขั้วแมเนีย (Mania) คนป่วยจะมีอาการสองขั้วนี้สวิงไปมา โดยอาการแมเนียจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามจากอาการซึมเศร้า อาจจะมีความร่าเริงผิดปกติ หุนหันพันแล่น ใช้เงินเก่ง แมเนียไม่ได้แปลว่าคุ้มคลั่งแต่แปลว่าเยอะ เบื้องต้นอยากให้เข้าใจก่อนว่า ไบโพลาร์ไม่ใช่อาการคุ้มดี คุ้มร้ายหรือสองบุคลิก

“อย่างคนพูดว่าประยุทธ์พูดวันนี้พูดอย่าง อีกวันพูดอย่าง เป็นไบโพลาร์หรือเปล่า อันนี้คือคนละอย่างกัน 

“เวลาจะพูดว่า เรามีอาการดีขึ้นหรือแย่ลง เราต้องหาค่ากลางให้เจอก่อน แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ค่ากลางของตัวเองว่าอยู่ไหน ฉะนั้นคนที่ตอบได้ดีว่าอาการเราขึ้นหรือลงคือ คนรอบข้าง เขาจะบอกว่า ตอนนี้เราพูดเร็วเกินไป คิดเร็วเกินไป หรือตอนนี้มีอารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติ ถ้าคนที่ป่วยมีอาการร่าเริงขึ้น เขาก็มองว่าดีแล้วไม่ใช่เหรอ เป็นปกติแล้วไม่ใช่เหรอ แต่สำหรับคนรอบข้างอาจจะบอกว่าผิดปกติ”

กิ้ด —คุณัญญาพร จิระสมรรถกิจ นักเขียน

“เรารู้สึกว่าคำว่า Bi ที่แปลว่าสอง ไม่ควรยึดอยู่กับแค่นิยามอาการง่ายๆ ที่ขั้วตรงข้าม เช่น ร้องไห้กับยิ้ม เศร้ากับมีความสุข เพราะอาการของโรคไม่ได้ตรงไปมาอย่างนั้น อาการแมเนียจะมีอาการทางจิต หูแว่ว ใช้เงินเยอะ 

“เวลาเราได้ยินว่า ‘เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย’ ‘มึงอ่ะไบโพลาร์’ เรารู้สึกว่าความเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องตลก เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อให้หายป่วย พอเอาเป็นคำด่าเลยรู้สึกว่า สิ่งที่เราเป็นแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ คนในสังคมยังเข้าใจเรื่องนี้น้อย คนยังตระหนักไม่พอจึงเอาความเจ็บป่วยมาเล่นเป็นมุกแบบนี้ 

“การที่บอกว่า คนๆ หนึ่งเป็นไบโพลาร์ถูกตีความได้หลายแบบมาก เช่น คนนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้ คนนี้อารมณ์รุนแรง ถือเป็นการแปะป้ายอย่างหนึ่ง ถ้าคุณไม่ใช่หมอ ไม่ได้เข้าใจเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์อย่างถ่องแท้ ไม่ต้องสันนิษฐานว่าเขาเป็น

“สิ่งที่เราทำตอนยังโดนวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้า ทำร้ายตัวเองหรือรู้สึกอยากตาย ทุกคนเข้าใจ เป็นห่วงเรา พอมีอาการแมเนีย เราวาดรูปเยอะมาก อยากปริ้นท์เอารูปไปขาย ทั้งที่ไม่มีเงิน คนรอบตัวงงว่าเราเป็นอะไร การเป็นแบบนี้เจ็บปวดมากกว่า ทุกวันนี้เรายังรู้สึกอับอายกับอาการแมเนีย เราไม่เคยกลัวอาการเศร้า เรากลัวแมเนียมาก”

ขั้วแมเนีย (Mania)

คนไข้บางคนก็จะมีอารมณ์หงุดหงิด บางคนอารมณ์ดี มีความสุข แต่อาการดังกล่าวต้องเป็นอยู่นานทั้งวัน หรืออยู่ติดกันหลายๆ วันจนเป็นสัปดาห์ เมื่ออารมณ์ดีมากๆ คนไข้จะรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รู้สึกเก่งขึ้น สำหรับคนไข้ที่มีอาการหนักจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถพิเศษเด่นกว่าคนอื่น และมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น อยู่ไม่นิ่ง พูดเร็ว นอกจากนี้แล้วยังส่งผลต่อความคิดด้วย มีความสุขมากๆ ความคิดแล่นเร็วกว่าปกติ คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกันทำให้สมาธิไม่ดี ความต้องการนอนน้อยลง ยับยั้งชั่งใจได้ยากโดยพฤติกรรมบ่งชี้คือ ใช้เงินมากขึ้น

ขั้วเศร้า (Depress)

คนไข้จะมีอารมณ์เศร้าติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ความสนใจในสิ่งต่างๆ ที่เคยสนใจลดลงและสมาธิแย่การนอนผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับยาก นอนหลับๆ ตื่นๆ หรือ นอนแล้วตื่นเร็ว แต่บางคนก็นอนมากขึ้น นอนทั้งวัน ส่วนเรื่องความเศร้ากับการกินจะมีทั้งที่เศร้าแล้วกินเยอะขึ้นและเศร้ากินน้อยลง การเคลื่อนไหวช้าลง หากคนไข้มีอาการหนักจะมีความคิดแง่ลบ รู้สึกว่าไร้ค่า และคิดเรื่องการตาย มีความรู้สึกอยากตาย ซึ่งคนไข้ที่อยู่ในช่วงขั้วเศร้าก็จะรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ไม่ชอบที่ตัวเองเศร้า

อ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=vf_5C2qPAE4
https://www.youtube.com/watch?v=VAoWGlG8LqU