Skip to main content

23 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายคนพิการและภาคีร่วมภาคประชาชน ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม คณะเศรษฐศาสตร์และสถาบันปฎิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เวทีประชาชน คนพิการอยู่ไหนในการเมืองไทย” โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เข้าเสนอนโยบายพรรคการเมืองในด้านคนพิการ ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร Student Center มหาวิทยาลัยรังสิต

พัชรนันท์ นิธิยศจิระโชติ พรรคไทยสร้างไทย 

พัชรนันท์เล่าว่า เธอสมัครเป็นผู้แทนมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดได้อันดับ 2 จากเขต 1 จังหวัดปทุมธานี ถามว่าเพราะอะไรถึงต้องมุมานะบากบั่นที่จะเข้าไปร่วมในสภาผู้แทนราษฎร เธอให้เหตุผลว่าเพราะกฎหมายแต่ละฉบับไม่รู้ความต้องการคนพิการ มีแต่คนพิการที่รู้ความต้องการของตัวเอง กฎหมายคนพิการจึงควรออกแบบโดยคนพิการ

นอกจากนี้เธอเล่าถึงปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศไทยที่คนพิการพยายามขับเคลื่อนกันอย่างยากลำบาก เช่น กรณีลิฟต์รถไฟฟ้าที่คนพิการไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบจึงทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ จนทำให้มองเสมือนว่า คนพิการเป็นประชาชนชั้น 3 คนออกกฎมองไม่เห็นถึงปัญหาที่คนพิการเจอ อีกทั้งคนพิการหลายคนยังไม่รู้ว่าสิทธิตัวเองอยู่ตรงไหนทั้งที่ก็เสียภาษี จนต้องกลายเป็นขอทานคลานตามถนนและภาครัฐก็ไม่เคยสนใจ 

พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายบำนาญประชาชน พออายุ 60 จะได้ 3,000 บาทต่อเดือน และให้เบี้ยคนพิการตามอายุ ตามความพิการและตามความเหมาะสม หากพิการมากก็จะได้มากกว่า 800 บาท ต่อมาคือเรื่องของอาชีพที่จะสนับสนุนใน พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ มาตรา 33 และ 35 โดยลงไปคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อให้คนพิการมีงานทำมากกว่านี้และไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร สุดท้ายคือเรื่องของการกระจายอำนาจ ควรจะมีอนุกรรมการคนพิการในระดับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ทุกตำบลมีข้อมูลคนพิการจากการสอบถามความคิดเห็นและความต้องการของคนพิการจริงๆ 

นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา

เขาระบุว่า นโยบายหลักด้านคนพิการของพรรคชาติไทยพัฒนาคือ จัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุและพัฒนาฟื้นฟูคนพิการ ผ่านการให้การศึกษาและพัฒนาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยเสนอเบี้ยคนพิการเดือนละ 3,000 บาท สำหรับคนพิการที่มีอายุเกิน 60 ปีจำนวน 1 ล้านคน ต่อมาคือสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งงาน สวัสดิการและบริการสาธารณะอย่างเป็นธรรม และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและคุ้มครองสวัสดิภาพของคนพิการ

นิกรเล่าย้อนไปว่า ในยุคหนึ่งกีฬาคนพิการไม่มีใครสนใจ ตอนนั้นคุณกาญจนา ศิลปอาชา ก็เห็นว่าควรสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนพิการไม่ใช่ให้แบบทำบุญ ในสมัยคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีจึงเริ่มจัดกีฬาคนพิการในไทยเป็นครั้งแรก กลายเป็นจุดที่ทำให้คนพิการไทยมีตัวตนมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าคนพิการว่ายน้ำก็ได้ วิ่งแข่งก็ได้ ภายหลังก็ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อส่งเสริมคนพิการด้านกีฬาให้มากขึ้นตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน 

อนุสรี ทับสุวรรณ พรรคภูมิใจไทย

อนุสรีเล่าว่า เธอเคยมีบทบาทในการทำงานด้านสังคมมาก่อน เมื่อวันนี้ทำงานกับพรรคภูมิใจไทย ก็มีคนพิการก็อยู่ในหัวใจเสมอ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือความภูมิใจและศักดิ์ศรีในตนเอง เป็นพลังที่ไม่ใช่ภาระ ภูมิใจไทยอยากจะส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำและมีรายได้ 

สิ่งแรกที่จะทำคือ ปฏิรูปกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตั้งแต่การลงทะเบียนคนพิการว่าทำไมมีการตกหล่น รวมถึงความยุ่งยากในการทำเอกสาร จะทำอย่างไรให้ทั้งบริการเข้าถึงทุกพื้นที่และเกิดการลงทะเบียนความพิการแบบออนไลน์ 

ต่อมาคือเรื่องของการคุ้มครองสิทธิคนพิการอย่างเท่าเทียม ปัจจุบันกฎหมายนี้มีถึง 4 หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการบังคับใช้ ต้องมีการบูรณาการที่ดีกว่านี้ 

ในเรื่องของสิทธิทางการแพทย์ เธอได้ยกตัวอย่างการเข้าถึงกายอุปกรณ์ ครั้งที่ยังทำงานในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีคนพิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องตัดขา แต่เมื่อลองใส่ขาเทียมที่ได้มาจากรัฐกลับพบว่า ใส่ไม่สบาย เดินลำบากจนต้องกลับไปนั่งวีลแชร์ จึงได้รู้ว่าขาเทียมดีๆ ที่ใช้ได้จริงราคาเป็นแสนบาท นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เธออยากผลักดันให้คนพิการเข้าถึงกายอุปกรณ์ให้ได้

เรื่องสิทธิการศึกษา คนพิการควรจะต้องไร้ข้อจำกัดในการเข้าถึง ต้องไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องของสถานที่หรือข้อบกพร่องในเชิงร่างกาย เพราะการศึกษาจะลดความเหลื่อมล้ำได้ 

เรื่องการเดินทาง เธอมองว่า แม้มีการขับเคลื่อนเรื่องอารยะสถาปัตย์กันมานานพอสมควรแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ องคาพยศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะ รถเมล์ เรือและเครื่องบินควรพร้อมสนับสนุนให้คนพิการเดินทางได้

เรื่องอาชีพ วันนี้หลักสูตรฝึกอาชีพนั้นเหมือนการตัดเสื้อโหลเพราะเป็นการฝึกอาชีพที่เน้นการทำงานแบบแรงงาน จึงควรเปลี่ยนให้เป็นงานที่สร้างรายได้ ไม่ใช่ทำแต่สบู่และแชมพู แต่ไม่สามารถขายใครได้เลย 

อนุสรีมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไม่มองว่าการทำนโยบายคนพิการเป็นการสงเคราะห์ หรือเมตตาธรรม เแต่ต้องมองเรื่องสิทธิและการบังคับใช้ ในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกามีบทลงโทษเมื่อละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ เธอจึงอยากเห็นการปรับปรุงเพื่อให้กฎหมายคนพิการมีบทลงโทษและทันสมัยมากขึ้น

กษิติ กมลนาวิน พรรคเสรีรวมไทย 

กษิติเล่าว่า ตนเข้าใจปัญหาคนพิการเนื่องจากมีเพื่อนเป็นคนพิการ และจากประสบการณ์การจัดงานกีฬาคนพิการปี 2542 ทำให้เข้าใจว่าคนพิการไม่ต้องการความสงสารหรือเวทนา แต่ต้องการโอกาสในการแสดงความสามารถ 

เขาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสกว่า 10 ปี ที่นั่นเป็นประเทศตัวอย่างของการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการที่ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะมีความพิการรุนแรงขนาดไหน ก็ต้องได้ใช้ชีวิต

กษิติย้ำว่า คนพิการหลายคนมีความสามารถเหนือคนไม่พิการ คนตาบอดแม้มองไม่เห็นแต่ประสาทหูดีกว่าคนตาดี เขาจึงต้องการผลักคนพิการเหล่านี้ไปสู่การทำงานให้ได้ และผลักดันให้คนพิการเข้าไปสู่การเสนอกฏหมายและออกกฏระเบียบโดยคนพิการ โดยนโยบายคนพิการของพรรคเสรีรวมไทยคือเบี้ยความพิการ 3,000 บาทต่อเดือน 

ศิริพงษ์ นามคงแนบ พรรคก้าวไกล 

ศิริพงษ์เล่าว่า พรรคให้ความสำคัญคำว่า คนเท่ากันมาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเองก็มีคนพิการเข้าไปเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศ ในรอบนี้เขาก็ขออาสาเป็นตัวแทนเข้าไปทำงานในฐานะคนพิการ 

เขามองว่า เพราะเป็นคนพิการจึงเข้าใจว่าคนพิการมีความลำบากและอุปสรรคอะไรในการใช้ชีวิต สิ่งที่คนพิการต้องการมากที่สุดไม่ใช่ความสงสาร หรือความเห็นใจ แต่ต้องการสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ 

หากดูเรื่องการศึกษา เขาระบุว่า คนพิการเข้าสู่ระบบการศึกษาน้อยมาก โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย นโยบายของพรรคคือสนับสนุนให้เกิดการเรียนรวมต่อมาคือการสร้างศูนย์การศึกษาพิเศษเพิ่ม และเพิ่มครูการศึกษาพิเศษ เพื่อทำให้คนพิการตกหล่นจากระบบการศึกษาน้อยที่สุด และต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรี

ต่อมาคือเรื่องเบี้ยยังชีพความพิการ พรรคเสนอปรับเป็นเดือนละ 3,000 บาท คำถามคือจะเอางบประมาณมาจากไหน อันดับแรกจะเอามาจากการปฏิรูปกองทัพ ตัดงบประมาณและเรียกคืนธุรกิจกองทัพ เช่น สนามมวย สนามม้า และสนามกอล์ฟ ลดงบประมาณกลางและงบโครงสร้างที่ไม่จำเป็น เก็บภาษีความมั่งคั่งกับคนรวยที่มีเงินเกิน 300 ล้านบาท สุดท้ายคือการคิดภาษีที่ดินแบบรวมแปลง หากมีที่ดินมากก็ต้องเสียภาษีมาก ทั้งหมดนี้เราจะดึงมาเป็นงบประมาณสร้างสวัสดิการให้ประชาชน

เรื่องการจ้างงานคนพิการนั้นจะต้องกดดันให้ภาครัฐจ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะ 20,000 ตำแหน่งที่ภาครัฐยังไม่ยอมจ้าง เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากก็คือการเข้าถึงกายอุปกรณ์อย่างเท่าเทียม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการผลิตกายอุปกรณ์ในไทย ไม่ว่าจะเป็นวีลแชร์หรือวอล์คเกอร์ นอกจากเป็นการสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงได้มากขึ้นแล้วยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทยมากขึ้นด้วย 

ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย พรรคประชาธิปัตย์ 

ดรุณวรรณ มองว่านโยบายคนพิการของพรรคประชาธิปัตย์เป็นตามแนวทางของนโยบายพรรคภาพใหญ่ คือสร้างเงิน สร้างคนและสร้างชาติ แนวนโยบายนี้จะนำไปสู่ความยั่งยืน โดยจะเปลี่ยนคนพิการผู้ด้อยโอกาสเป็นผู้ได้โอกาส และต้องส่งเสริม 2 ประเด็นหลัก คือเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้และเจตคติที่ดีและยอมรับคนพิการ อีกเรื่องคือการศึกษาเพราะการศึกษาคือความมั่นคงของชาติ 

สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำแน่นอนคือเรื่องของการศึกษาของคนพิการโดยเฉพาะในเรื่องของการออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่สอดรับกับความพิการแต่ละคน หรือ Individual Education Program คือทุกคนจะต้องมีสิทธิเลือกที่จะเรียนรู้ ภายใต้ความชอบและความสามารถของตัวเอง การศึกษาคนพิการต้องเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โรงเรียน 245 แห่งต้องเป็นโรงเรียนเรียนร่วมอย่างแท้จริง 

หลายคนอาจจะคิดว่าคนพิการหลังเรียนจบจะทำอย่างไรให้มีงานทำ แต่พรรคประชาธิปัตย์คิดไกลมากกว่านั้นคือ จะทำยังไงให้คนพิการมีรายได้ในระหว่างเรียน การศึกษาพิเศษควรส่งเสริมและสร้างอาชีพให้กับคนพิการตั้งแต่รั้วสถานศึกษา 

เรื่องต่อมาคือการปรับเบี้ยความพิการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ เราเป็นพรรคที่ประกาศเพิ่มเบี้ยความพิการถ้วนหน้าจาก 500 เป็น 800 บาท และในปีปัจจุบันที่พยายามเพิ่มให้เป็น 1,000 บาทถ้วนหน้าในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลโดยหัวหน้าพรรค คุณจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ประธานบอร์ดคนพิการแห่งชาติ แม้ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ แต่ยืนยันว่าจะผลักดันให้ได้ในสมัยหน้าแน่นอน

ประสงค์ แก้ววิจิตร พรรคไทยชนะ 

เขาระบุว่า พรรคไทยชนะมีนโยบายตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย จนถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทุกนโยบายเรื่องคนพิการมีการปรึกษาหารือกับคนพิการ ก่อนจะออกมาเป็นนโยบาย 

สิ่งแรกที่จะทำคือ ยกระดับศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศ เพื่อสำรวจว่าคนพิการอยู่ตรงไหนและมีความต้องการอะไร เราจะได้มีจุดบริการคนพิการทั่วประเทศ ต่อมาคือการสร้างอาชีพที่อิสระให้กับคนพิการ ส่งเสริมศักยภาพให้กับคนพิการได้ออกไปทำงาน รวมถึงแก้ปัญหากฎหมายมาตรา 33 และ 35 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ที่ยังมีการปฏิเสธคนพิการเข้าทำงาน โดยจะมีการออกนโยบายลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้คนรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น เช่น 1 คนลดหย่อนได้ 100,000 บาท ซึ่งจะดีกว่ากฎหมายที่บังคับให้มีอย่างกฎหมายปัจจุบันเป็น

อีกเรื่องที่พรรคจะทำก็คือ กฎหมายคนพิการที่ออกมาต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและไม่ถูกละเมิด มีการปรับเงินผู้ที่ละเมิดสิทธิคนพิการ เช่น ปรับเงินคนไม่พิการที่เอารถไปจอดในที่จอดคนพิการ 

ดร. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย 

ดร. ธีรรัตน์ กล่าวว่า จะต้องสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกคนก่อน วันนี้มีคนพิการที่ลงทะเบียนกับภาครัฐ 2 ล้านคนแต่คนที่ได้รับการดูแลจริงๆ มีไม่ถึง 1 ล้านคน สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากใจผู้บริหารที่อยากจะดูแลคนเหล่านี้ให้เข้าถึงสิทธิได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือการลงทะเบียนให้คนเข้ามาในระบบมากขึ้น 

เรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกจะต้องทำให้คนพิการเข้าถึงได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการหรือสถานศึกษา รวมถึงการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 

สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและเพิ่มการคัดกรองความพิการ หากพบความพิการได้เร็วก็จะสามารถรักษาหรือดูแลได้เร็ว และเป็นการบรรเทาความลำบากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

วรรธนะ ลือมงคล พรรคไทยภัคดี 

วรรธนะเล่าว่า พรรคไทยภักดีมีนโยบายในการสร้างความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนไม่พิการ คนพิการก็มีความสามารถไม่ต่างกับคนทั่วไป มีการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการ รวมถึงนโยบายที่จะสนับสนุนค่าครองชีพทุกคนไม่ว่าจะเป็นลดรายจ่ายเกษตรกรด้วยหญ้าเนเปียร์ ค่าไฟฟ้าและค่าแก๊ส เพื่อให้ค่าครองชีพถูกลง ที่สำคัญก็คือพรรคไทยภักดีมีนโยบายปราบโกง ปราบทุจริตคอรัปชั่น 

สวิชญา วาทะพุกกะณะ พรรคชาติพัฒนากล้า 

พรรคชาติพัฒนากล้าเป็นพรรคที่เน้นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ แต่ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน ตอนนี้พรรคชาติพัฒนากล้าออกนโยบายอารยะสถาปัตย์ คือให้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุและคนพิการ หลังละ 5 หมื่นบาท เพราะตามสถิติมีตัวเลขของคนที่หกล้มหรือประสบอุบัติเหตุภายในบ้านของตัวเองปีละ 3 ล้านคน สามารถนำงบประมาณตัวนี้ไปใช้ในการปรับห้องน้ำหรือสร้างทางลาด เพื่อทำบ้านให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ 

อีกนโยบายหนึ่งที่ส่วนตัวอยากจะทำคือการสนับสนุนให้ผ่าตัดประสาทหูเทียม และการสนับสนุนเรื่องใบอนุญาตล่ามที่ปัจจุบันยังมีการสอบที่ค่อนข้างยาก